แปรวิกฤติน้ำท่วมเป็นโอกาสเรียนรู้ตนเองของคนหนองบัว เพื่อทำวันนี้...ให้พรุ่งนี้ดีกว่าเดิม


  ปี ๒๕๕๓ นี้ ของชุมชนอำเภอหนองบัว  ฝนได้ตกผิดฤดูมาโดยตลอด เมื่อเริ่มการทำนา ฝนก็ทิ้งช่วงและแล้งอย่างต่อเนื่อง ข้าวกล้าแห้งกรอบ วัชพืชและเพลี้ยลงจนใบข้าวเหลืองเหมือนหญ้าแห้งอยู่เต็มผืนนา แต่พอปลายฤดูเข้าพรรษา ฝนก็เริ่มตกอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับจะเป็นฝนปลายฤดู แต่ก็ไม่มีเค้าว่าจะหยุดและผ่านเข้าสู่ฤดูหนาวดังที่ควรจะเป็น กระทั่งประมาณวันที่ ๑๔-๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ กรมอุตุนิยมวิทยาก็ประกาศเตือนฝนตกหนักว่ากำลังจะนำไปสู่การเกิดน้ำป่าไหลหลาก หลังจากนั้นก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

ภายในไม่กี่วัน นครสวรรค์ก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่อุบัติภัยเนื่องจากน้ำได้ท่วมทุกอำเภอทั่วทั้งจังหวัด ครอบคลุมไปจนถึงอำเภอหนองบัว อำเภอซึ่งอยู่บนพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นที่ดอน และโดยมากแล้วก็จะแห้งแล้งและขาดน้ำท่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ต่างๆอีก ๑๔ อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์..ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าหนองบัวจะเกิดน้ำท่วมได้

   

ภาพที่ ๑-๔  น้ำท่วมอำเภอหนองบัวปี ๒๕๕๓ และพื้นที่ทั้งจังหวัดนครสวรรค์ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเนื่องจากน้ำท่วมไปทั่วทุกอำเภอ

ผลการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาซึ่งลดหลั่นต่อเนื่องกันหลายลูกอยู่เบื้องตะวันออกและทิศเหนือของหนองบัว ไหลบ่าเข้าท่วมโรงพยาบาลหนองบัว ทางโรงพยาบาลต้องเร่งขนย้ายคนใข้หนีน้ำ รวมทั้งเกิดความเสียหายต่อคลังยาและต้องระดมคนงานมาช่วยกันขนเวชภัณฑ์หนีน้ำอย่างโกลาหล

นอกจากนี้ ในข่าวของสื่อมวลชน รวมทั้งสื่อท้องถิ่น ก็ได้รายงานว่าน้ำป่าได้บ่าเข้าท่วมวัดหนองกลับ หรือวัดหลวงพ่อเดิม (วัดหลวงพ่ออ๋อย ศิษย์หลวงพ่อเดิม) ท่วมกุฎิสงฆ์จำนวน ๔ หลัง และห้องน้ำสาธารณะ ๘ ห้อง ทำให้พระไม่สามารถใช้ห้องน้ำ ห้องฉัน และเสนาสนะเพื่อประกอบศาสนกิจอันเป็นวัตรปฏิบัติต่างๆ

ขณะเดียวกัน น้ำก็ยิ่งหลากเข้าท่วมตัวตลาดและชุมชนโดยรอบซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกับวัดหนองกลับ สร้างความเสียหายและเป็นที่เดือดร้อนกันอย่างฉับพลันเนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับชุมชนอำเภอหนองบัว แม้นไม่มากนัก แต่ก็ได้ส่งสัญญาณให้เกิดความตระหนักและเกิดความรับรู้ในสิ่งที่เป็นอุบัติภัยอย่างใหม่จากธรรมชาติ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อนต่อคนหนองบัว

                          

ภาพที่ ๕ แสดงภูมิประเทศของอำเภอหนองบัวและพื้นที่โดยรอบ

                         

ภาพที่ ๖ ตัวเมืองอำเภอหนองบัวและศูนย์กลางที่สำคัญของชุมชน

                         

ภาพที่ ๗ ตัวเมืองอำเภอหนองบัวและศูนย์กลางของชุมชนที่สำคัญ เห็นเทศบาลเมืองอำเภอหนองบัว โรงพยาบาลหนองบัว สำนักงานอำเภอหนองบัว สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองบัว สถานีอนามัยตำบลหนองบัว โรงเรียนหนองบัวหรือโรงเรียนหนองคอก โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) วัดหนองกลับ รวมไปจนถึงตัวตลาด ตลาดสดเจริญผล ศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์

  อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ : Nong-Bua Community Profile 

อำเภอหนองบัว อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งแบ่งเขตพื้นที่การปกครองเป็น ๑๕ อําเภอ คืออําเภอเมืองนครสวรรค์ อําเภอลาดยาว อําเภอตาคลี อําเภอชุมแสง อําเภอบรรพตพิสัย อําเภอท่าตะโก อําเภอพยุหะคีรี อําเภอไพศาล อําเภอหนองบัว อําเภอตากฟา อําเภอโกรกพระ อําเภอเก้าเลี้ยว อําเภอแม่วงก์ อําเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบงซึ่งแยกออกมาจากอำเภอลาดยาว อำเภอหนองบัวนั้นเป็นอำเภอที่รวมเอาพื้นที่ตำบลจากบางส่วนของอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอท่าตะโกและอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มาก่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี ๒๔๙๒ และยกระดับเป็นอำเภอเมื่อปี ๒๔๙๙ โดยมีนายอรุณ วิไลรัตน์ เป็นนายอำเภอคนแรก[๑] ล่าวได้ว่า นับแต่ก่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี ๒๔๙๒ กระทั่งเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับหนองบัวในปี ๒๕๕๓ นี้ เป็นวาระครบรอบ ๖๐ ปีพอดี 

ปัจจุบันอำเภอหนองบัวมี ๙ ตำบลและ ๑๐๕ หมู่บ้าน ครอบคลุมอาณาบริเวณ ๘๑๙.๕ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยตำบลหนองบัว หนองกลับ ห้วยถั่วเหนือ ห้วยใหญ่ ธารทหาร ทุ่งทอง ห้วยร่วม วังบ่อ และตำบลห้วยถั่วใต้ มีองค์กรปกครองท้องถิ่น ๑๐ แห่ง ประกอบด้วยเทศบาลตำบล ๑ แห่ง คือ เทศบาลตำบลหนองบัว และองค์การบริหารส่วนตำบลอีก ๙ แห่ง ประกอบด้วย

  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกลับ 
  • องค์การบริหารส่วนตำบลธารทหาร 
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม 
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยถั่วใต้   
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยถั่วเหนือ  
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยใหญ่   
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งทอง
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังบ่อ

อำเภอหนองบัว มีประชากรตามสำเนาทะเบียนบ้านเมื่อปี ๒๕๕๒ จำนวน ๗๐,๑๗๒ คน ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่จำนวน ๘๕.๖๒ คนต่อตารางกิโลเมตร จัดว่ายังเป็นพื้นที่ชนบทมาก นายอำเภอคนปัจจุบันคือ นายเมธี ปรัชาสกุล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองบัว คือ พ.ต.อ.เผ่าพงษ์ พูราษฎร์ มีโรงพยาบาลหนองบัว [๒] เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ ขนาด ๖๐ เตียง ๑ แห่งซึ่งได้รับการจัดเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ที่รองรับอุบัติเหตุ เมื่อปี ๒๕๔๒ วัดที่เป็นศูนย์กลางของอำเภอคือวัดหนองกลับ[๓]หรือวัดหลวงพ่อเดิมหรือวัดหลวงพ่ออ๋อยศิษย์หลวงพ่อเดิม[๔] เป็นวัดที่มีความเป็นมาเก่าแก่และเป็นศูนย์กลางของชุมชนสืบเนื่องมายาวนาน

  ทุนทางสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และทุนทางสังคมของชุมชน 

อำเภอหนองบัวจัดว่าเป็นพื้นที่ชายขอบของจังหวัดนครสวรรค์ อยู่ห่างจากอำเภอชุมแสง ๓๐ กิโลเมตร และหากเดินทางโดยทางหลวงหมายเลข ๑๑ ขึ้นไปยังภาคเหนือก็จะผ่านอำเภอตากฟ้า ท่าตะโก และไพศาลี เข้าสู่อำเภอหนองบัวก่อนถึงอำเภอบางมูลนากจังหวัดพิจิตร และอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมและการขนส่งจากภาคกลางและภาคเหนือเข้าสู่เส้นทางซึ่งเปิดไปยังจังหวัดชัยภูมิของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงเชื่อมต่อกับที่ราบสูงโคราช ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ 

คนหนองบัวเป็นกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยประกอบด้วยคนพื้นถิ่นจากหลายแหล่งมาตั้งถิ่นฐานด้วยกัน อันได้แก่ชาวไทยโคราช ลาวโซ่ง ลาวพรวน ชาวไทยลาวจากชัยภูมิและภาคอีสาน รวมทั้งชาวไทยจีนที่ขยายตัวกระจายออกไปจากอำเภอชุมแสงและปากน้ำโพ[๕] สำเนียงการพูดในพื้นถิ่นเป็นเสียงเหน่อและมีความเป็นเอกลักษณ์ของสำเนียงการพูดคนหนองบัว

เทศกาล กิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งงานประเพณีที่สำคัญของคนหนองบัว มีบทบาทสำคัญมากต่อการหล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนหนองบัว ที่สำคัญคือ ประเพณีการบวชนาคหมู่[๖] กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นซึ่งริเริ่มโดยหลวงพ่ออ๋อยหรือพระครูนิกรประทุมรักษ์ ศิษย์หลวงพ่อเดิมและเจ้าอาวาสองค์ก่อนของวัดหนองกลับ เทศกาลงานประจำปีเจ้าพ่อเจ้าแม่และฤาษีณารายณ์[๗] ซึ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมเหล่านี้ นับว่าเป็นทุนทางสังคมที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวบ้านในท้องถิ่นให้มีความเป็นคนหนองบัวร่วมกัน

ภาพที่ ๘  ชาวบ้านหนองบัวระดมแรงงานเสาะหาและขนไม้ทำศาลาวัดหนองกลับด้วยไม้สักทั้งหลัง ทำวัดเทพสุทธาวาส โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) และสถานีตำรวจภูธรเมื่อแรกมีในหนองบัวนั้น เริ่มต้นใช้สถานที่ในวัดหนองกลับเป็นกองกำกับการ

นอกจากนี้ คนหนองบัวจัดว่ามีความเป็นปึกแผ่นสมานสามัคคี[๘] สามารถระดมพลังสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมอันเป็นความภูมิใจของชุมชนหลายกรณี เช่น การร่วมกันสร้างศาลาวัดด้วยไม้สักทองทั้งหลัง[๙]อันเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคี ตั้งอยู่ ณ วัดหนองกลับจนถึงปัจจุบัน การร่วมกันสร้างวัดเทพสุทธาวาสและโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส การร่วมกันสร้างโรงเรียนอนุบาลหนองบัว (เทพวิทยาคม) และโรงเรียนหนองบัว อันเป็นโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ[๑๐] การร่วมกันขุดสระเพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ของสาธารณะ ๓ ลูกทั้งที่วัดหนองกลับและข้างที่ว่าการอำเภอหนองบัว[๑๑]

สิ่งเหล่านี้ นับว่าเป็นทุนศักยภาพและความเข้มแข็งทางสังคมของชุมชน ส่งเสริมการบรรลุผลการพัฒนาด้านอื่นๆในระดับดีพอสมควรให้เกิดขึ้น ทั้งทางด้านสุขภาพ การศึกษา ตลอดจนการทำอยู่ทำกิน การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ถึงแม้จะเป็นแหล่งที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ และขาดปัจจัยพื้นฐานเพื่อการพัฒนาตนเองหลายอย่างด้วยกัน

ทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น พื้นฐานเดิมเลยทีเดียวของหนองบัวนั้น จัดว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับผืนป่าตะวันออกดงพญาไฟและดงพญาเย็น ซึ่งก่อนทศวรรษ ๒๕๐๐ นั้นมีความเป็นป่าหนาแน่น เป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งวัตถุดิบปฐมภูมิที่สำคัญของประเทศหลายอย่าง ที่สำคัญคือการเป็นแหล่งผลิตแร่ยิบซั่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งตัดไม้และทรัพยากรธรรมชาติจากป่า สู่แหล่งแปรรูปทั้งในนครสวรรค์และในกรุงเทพมหานคร กระจายไปสู่ผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆของประเทศ รวมทั้งส่งออกไปยังทั่วโลกเพื่อเป็นเศรษฐกิจรายได้ของประเทศอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ

ภาพที่ ๙  ทุ่งเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ทำไร่ทำนา และทำอ่างเก็บน้ำ เชื่อมต่อกับแนวเขาหลายลูกด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองอำเภอหนองบัว ซึ่งเป็นแหล่งรวมน้ำจากฝนและไหลบ่าเข้าท่วมตัวเมืองหนองบัว ก่อให้เกิดน้ำท่วมในปี ๒๕๕๓ ครั้งนี้

ปัจจุบัน พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ได้หมดสภาพป่า กลายเป็นแหล่งป่าเสื่อมโทรมและถูกบุกเบิกทั้งจากชาวบ้านและกลุ่มนายทุนเพื่อทำไร่ ทว่า สภาพพื้นที่ของอำเภอหนองบัวซึ่งเป็นที่ดอน เชื่อมต่อเป็นลูกฟูกกับที่ราบสูงโคราช ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ทำให้มีสภาพเป็นแหล่งกันดาร มีภูเขาต่อเนื่องลดหลั่นกันหลายลูกสลับกับมีพื้นที่ป่าหลงเหลือเป็นหย่อมๆ บางแห่งมีการพัฒนาเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ บางส่วนได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งอนุรักษ์ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และพันธุ์ไม้หายากซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ดังนั้น ในสภาพที่ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ได้เกือบหมดสิ้นไปแล้ว อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ก็มีความเสื่อมโทรมไปมากพอสมควรนี้ อำเภอหนองบัวก็มีทุนศักยภาพทางสังคมและทุนทางสิ่งแวดล้อม ที่สามารถพลิกฟื้นวิกฤติให้เป็นโอกาส สำหรับการพัฒนาตนเองได้อีกอยู่หลายด้าน ทว่า มิใช่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบแบบปฐมภูมิซึ่งต้องขายถูกในปริมาณมากๆแต่ต้องเสียเปรียบในการซื้อสินค้าได้เพียงเล็กน้อยจากต่างประเทศด้วยราคาแพงกว่าหลายเท่า อีกทั้งนำมาใช้ประโยชน์แล้วก็สูญเสียไปเลยอย่างไม่สามารถนำมาฟื้นฟูได้ อย่างในอดีต

  หนองบัวในปัจจุบันและอนาคต 

ในช่วง ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมานี้ อำเภอหนองบัวเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วและพัฒนาการไปในทิศทางที่แตกต่างจากในอดีตเกือบสิ้นเชิง แต่เดิมนั้น ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น กล่าวได้ว่าศูนย์กลางการติดต่อกับโลกภายนอกของอำเภอหนองบัวอยู่ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และบางมูลนากกับตะพานหินจังหวัดพิจิตร โดยมีการคมนาคมและติดต่อกันทางกิจกรรมเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญคือทางรถยนต์และรถไฟ [๑๒] ชุมชนหนองบัวจึงมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ

ต่อมา ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับมหภาคของประเทศและผ่านเข้าสู่พื้นที่ของอำเภอหนองบัว ที่สำคัญก็คือการสร้างทางหลวงหมายเลข ๑๑ ซึ่งเชื่อมโยงการขนส่งทั้งประเทศจากเหนือสุดสู่ใต้สุดโดยมีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลาง ผ่านอำเภอหนองบัวขึ้นสู่ภาคเหนือโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวเมืองนครสวรรค์และอำเภอชุมแสง อีกทั้งการสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชื่อมต่อภาคกลาง ภาคเหนือ และการขนส่งจากภาคใต้ขึ้นมาจากกรุงเทพฯมายังหนองบัว แยกเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายการคมนาคมติดต่อออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านตลอดแนวชายแดนของประเทศในภาคตะวันออก

ภาพที่ ๑๐  ชุมชนในตลาดหนองบัว ด้านขวาเป็นเกาะลอย ตรงไปเป็นสระน้ำวัดหนองกลับและวัดหนองกลับ และเลี้ยวซ้ายไปตามมอเตอร์ไซค์จะเป็นตลาดสดหนองบัว

ภาพที่ ๑๑  ชุมชนตลาดหนองบัวขยายตัวเป็นชุมชนเมืองและมีความหนาแน่นมากขึ้น เมื่อมองผ่านออกไป จะเห็นภูเขาเป็นแนวลดหลั่น ได้แก่เขาพระ เขาเหล็ก เขาสูง เขามรกต ซึ่งกลางแนวเขามีเหมืองแร่ยิบซั่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันป่าไม้ แร่ยิบซั่ม และทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากได้หมดไปแล้ว

กระบวนการดังกล่าว ทำให้ภูมิศาสตร์ทางสังคมและเศรษฐกิจของอำเภอหนองบัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งกลายเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายมากกว่าชุมแสงอันเป็นศูนย์กลางเดิมของชุมชนโดยรอบเสียอีก การขยายตัวทางด้านต่างๆของชุมชนจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสำนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์มากกว่า ๓ ธนาคาร มีสถานบริการสุขภาพและคลินิคเอกชนมากกว่า ๕ แห่ง มีโรงสีและแหล่งซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรกว่า ๑๐ แห่งครอบคลุมไปถึงภาคอีสาน เป็นโชว์รูมและแหล่งกระจายเครื่องจักรทางการเกษตรและค้าขายรถยนต์ ตลอดจนเครื่องยนต์และสินค้าสำหรับกลุ่มตลาดชนบท ตัวเมืองของอำเภอหนองบัวขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรับสภาพจากชุมชนหมู่บ้านอันหนาแน่นเป็นสุขาภิบาล และต่อมาก่อนปี ๒๕๔๕ ก็ยกระดับเป็นหน่วยจัดการท้องถิ่นระดับเทศบาลตำบล สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ตลอดจนโครงข่ายของโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งจัดการน้ำในธรรมชาติได้หมดความหลากหลาย รวมทั้งเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ภาพที่ ๑๒  พริกเกลือ อาหารเอกลักษณ์ท้องถิ่น เช่นเดียวกับดอกอุ้มน้อง พันธุ์พืชในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความภูมิใจของคนหนองบัว ในภาพ กลุ่มหนุ่มสาวคนหนองบัว รวมตัวกันจากกลุ่มเพื่อนและกลุ่มความสนใจเป็นกลุ่มพริกเกลือ ของคนหนองบัว

โรงเรียนประจำอำเภอทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มพลเมืองประชากรผู้ได้รับการศึกษาเริ่มเป็นกลุ่มที่กระจายเข้าไปเป็นเครือข่ายคนชั้นกลางในภาคต่างๆ ทั้งภาคการศึกษา ธุรกิจเอกชน การเมืองและการปกครงท้องถิ่น สุขภาพและสาธารณสุข และอื่นๆ ซึ่งกล่าวได้ว่าลูกหลานคนหนองบัวรุ่นใหม่ได้กระจายอยู่ในทุกสาขาการพัฒนาที่สำคัญของอำเภอหนองบัว ศิษย์เก่าหลายคนของโรงเรียนประจำอำเภอหนองบัวได้กระจายออกไปเป็นผู้นำการพัฒนาในสาขาต่างๆทั้งของท้องถิ่นและในระดับประเทศ ทั้งเป็นนายทหาร นายแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและบุคลากรทางการศึกษา นักปกครองและผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ บุคลากรในระบบสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพดำเนินงานระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นเจ้าของกิจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทั้งระดับชุมชนและระดับประเทศ หลายสาขา ต่างจากในอดีตเมื่อก่อน ๔-๕ ทศวรรษที่ผ่านมาที่หนองบัวมีสภาพเป็นชุมชนในชนบทเงียบๆอยู่กลางป่า

  ปัจจัยพื้นฐานในอนาคตของหนองบัวเปลี่ยนไปสู่คน ชุมชน ท้องถิ่น และการผสมผสานตนเองกับโลกกว้าง 

ด้วยบริบทของท้องถิ่นดังที่กล่าวมานี้ ก็ช่วยให้พอจะประมาณได้บางประการว่า ปัจจัยหนุนเสริมความเข้มแข็งยั่งยืนทางการพัฒนาของหนองบัวยุคใหม่ ๔-๕ ประการ อันได้แก่ 

             (๑) โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยพื้นฐานสำหรับการเข้าถึงโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของกลุ่มคนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมเพียงพอและยุติธรรม ซึ่งมีบทบาททั้งต่อท้องถิ่น ชุมชนโดยรอบ และขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคอินโดจีน 
             (๒) ทุนมนุษย์และทุนทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นเครือข่ายทางสังคมซึ่งมีความเชื่อมโยงทั้งสองมิติ ทั้งกับสังคมสมัยใหม่อันกว้างขวางและกับเครือข่ายความเป็นปึกแผ่นดั้งเดิมของชุมชน 
             (๓) ความมีบทบาทในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นกลไกจัดการทางสังคมมากยิ่งๆขึ้นขององค์กรปกครองท้องถิ่น
             (๔) กลไกทางปัญญาและกลไกขับเคลื่อนสาธารณะของภาคประชาสังคมในท้องถิ่น โดยเฉพาะสถานศึกษาซึ่งมีเครือข่ายศิษย์เก่าเชื่อมโยงคนทั้งอำเภอ วัด และสถาบันผู้สูงอายุ 
             (๕) ปัจเจกที่มีความตื่นตัวและเอาใจใส่ต่อความเป็นส่วนรวมต่างๆของสังคม เป็นอาทิ

สิ่งต่างๆดังที่กล่าวมาโดยลำดับนี้ จะเป็นทุนทางสังคมที่ให้ความหวังแก่โอกาสการพัฒนาสู่อนาคตของชุมชนอำเภอหนองบัว ทดแทนพื้นฐานเดิมในอดีตซึ่งช่วยกระตุ้นกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางด้านต่างๆของสังคมท้องถิ่น รวมทั้งทำให้ชุมชนหนองบัวเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกซึ่งก่อให้เกิดพัฒนาการตนเองขึ้นในทางอ้อม ทว่า ปัจจุบัน ได้เสื่อมสูญเกือบหมดสิ้นไปแล้วด้วยเงื่อนไขและสาเหตุต่างๆ.

...........................................................................................................................................................................

  เชิงอรรถ อ้างอิง และบทความสำหรับอ่านประกอบ   :

[๑] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ๓๐. ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์
[๒] ก่อนที่จะมีโรงพยาบาลอำเภอหนองบัวดังปัจจุบันนั้น หนองบัวมีสถานบริการสุขภาพที่สำคัญในบริบทของท้องถิ่นอยู่ ๓ แห่งคือ สถานีอนามัยชั้น ๒ ข้างที่ว่าการอำเภอซึ่งมีหมอหนิมเป็นหมออนามัยเก่าแก่ของคนหนองบัว ร้านขายยาหมอหลุยส์ ในตลาดหนองบัวข้างสระหลวงพ่ออ๋อย และโรงพยาบาลคริสเตียนที่ ๔ แยกหัวตลาดหนองบัว อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ๓๐. ทุนสังคมของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์
[๓] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ๔๕. แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๓) : โรงเรียนประจำอำเภอ วงดนตรีและดุริยางค์โรงเรียน สนามบาสมาตรฐาน
[๔] อ่านเพิ่มเติม ใน พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : หลวงพ่ออ๋อย ศิษย์หลวงพ่อเดิม : ผู้ร่วมสร้างพื้นฐานความเป็นปึกแผ่นชุมชนหนองบัว
[๕] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ตลาดแลกข้าวกับสินค้าในอดีตที่ชุมแสง นครสวรรค์
[๖] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ๖๕. บวชนาคหมู่ เอกลักษณ์ของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ : เบ้าหลอมชุมชน
[๗] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ๔๔. แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๒) : โทรทัศน์สี ร้านหนังสือ น้ำบ่อทราย ห้วยปลาเน่า เรือโดยสาร ป่าช้าวัดหนองกลับ สามล้อถีบ
[๘] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : การลงแขกของชาวบ้านหนองบัว : กระบวนการเรียนรู้ ความเป็นชุมชน และการบริหารจัดการเป็นกลุ่ม
[๙] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : การเลื่อยกระดาน ทำเสาจากไม้ทั้งต้น และการสุมไฟทำครก
[๑๐] อ่านเพิ่มเติม ใน พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ที่มาของ "เทพวิทยาคม" หลังชื่อโรงเรียนหนองบัว และวัดเทพสุทธาวาส ของอำเภอหนองบัว
[๑๑] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ๕๖. แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๔) : น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ
[๑๒] อ่านเพิ่มเติมใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : ตลาดแลกข้าวกับสินค้าในอดีตที่ชุมแสง นครสวรรค์

หมายเลขบันทึก: 405184เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2010 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

พี่ขอให้กำลังใจทุกท่านในพื้นที่น้ำท่วมของ อ.หนองบัวค่ะ..เป็นความเสียหายที่ส่งผลกระทบทุกด้าน โดยเฉพาะจิตใจที่หดหู่และรอคอยความหวังที่จะฟื้นคืนกลับมาอีกรอบวัฏจักรหนึ่งบน.. "ทุนทางสังคมที่ให้ความหวังแก่โอกาสการพัฒนาสู่อนาคตของชุมชนอำเภอหนองบัว ทดแทนพื้นฐานเดิมซึ่งเคยเป็นจุดแข็งในอดีต.."

*ขอให้ได้เห็นวิธีการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม..อย่างเป็นขั้นตอน..บนความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในชุมชนนะคะ..

        

 

  • งอกงามและเติบโตอย่างต้นไม้ในไรแดด อย่างนั้นเลยใช่ไหมครับพี่นงนาทครับ
  • มีความเป็นธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป มั่นคงและพอเพียงแก่ตนเอง เคารพแสงแดด นอบน้อมต่อขอบกระถาง
  • ที่หนองบัวมีคนที่ทำงานแนวเศรษฐกิจพอเพียงเด่นๆทั้งของท้องถิ่นและของระดับประเทศหลายเจ้าอยู่เหมือนกันครับ
  • พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

    • ขออนุญาตเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอใหม่ล่าสุดในจังหวัดนครสวรรค์ มาฝากชาวหนองบัว เรื่องนี้เคยถูกญาติโยมที่วังทองถาม ในปีที่แล้วมีคณะศรัทธากลุ่มหนึ่งจากนครสวรรค์ไปบอกบุญที่วังทอง โยมที่รู้จักกันท่านรับซองผ้าป่าไว้ วันหนึ่งก็ถามอาตมาโดยระบุชื่ออำเภอด้วย พอฟังชื่อที่โยมบอก ก็ตอบว่าไม่แน่ใจ ที่ตอบไปเช่นนั้น เพราะไม่ทราบจริงๆ
    • ต่อมาก็ทราบว่ามีอำเภอเกิดขึ้นใหม่จริงๆ เป็นอำเภอที่แยกมาจากอำเภอลาดยาว คืออำเภอชุมตาบง
    • มีข้อมูลจากวิกิพีเดีย ดังนี้  กิ่งอำเภอชุมตาบง อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอลาดยาว วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอชุมตาบง

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • ขอบพระคุณครับที่พระคุณเจ้าได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติม นี่ต้องถือว่าเวทีหนองบัวของเรามีกระบวนการช่วยกันตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพของข้อมูลช่วยกันอย่างเป็นระบบมากยิ่งๆขึ้นนะครับ
    • ผมก็เลยไปค้นหาเพิ่มเติม ก็เลยพบว่าในวิกิพีเดียนั้น ทั้งสองกิ่งอำเภอที่เหลือก็ได้ยกเป็นอำเภอไปแล้วพร้อมกับอำเภอชุมตาบง แต่พอไปสอบทานกับข้อมูลท้องถิ่นของเว็บตำบลดอทคอม ก็ยังเป็นกิ่งอำเภออยู่ เลยขอยืนไปกับข้อมูลของวิกิพีเดียซึ่งเชื่อว่าจะมีคนหลายคนเข้ามาช่วยกันปรับปรุงข้อมูลล่าสุดได้ดีกว่านะครับ

    ไม่น่าเชื่อว่าอำเภอที่แห้งแล้งและสูงที่สุดของจังหวัดนครสวรรค์เราจะเกิดอุกทักน้ำท่วมได้

    เพื่อนผมเกิดหนองบัวและตอนนี้ก็มีร้านขายของอยู่ในตลาด บอกว่าไม่เคยเห็นน้ำท่วมถึงตลาดเลย ตอนที่น้ำท่วมเข้าไปในบ้าน ก็ถึงกับทำอะไรไม่ถูกเอาเลย

    ไม่ทราบมาก่อนเลยว่าปลายปีที่แล้วน้ำท่วมหนองบัว ดูข่าวก็เห็นว่าท่วมรอบๆ หนองบัว ดิฉันก็เคยได้ยินอย่างที่ อย่างที่คุณสมพร บอกว่าอำเภอหนองบัวเป็นที่ที่แห้งแล้งและมีพื้นที่สูงที่สุดในจังหวัด

    จำได้ ตอนเรียนประถมที่โรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส น้ำได้ท่วมที่โรงเรียนและในตลาดหนองบัว

    ตอนนั้นด้วยความที่เราเป็นเด็ก ก็ตื่นเต้นดีใจ เห็นน้ำเยอะ เวลาลุยน้ำไปตลาด ไปโรงเรียน และได้จับปลาที่โรงเรียนด้วย

    ครั้งเดียวในชีวิตจริงๆ ที่เห็นน้ำท่วมหนองบัว นั่นก็ผ่านมาก ๓๐ กว่าปีได้แล้วค่ะ

    สวัสดีครับคุณ BlueFlower14 ครับ

    ดีใจนะครับที่ชาวหนองบัวอีกคนได้เข้ามาเสวนากันในเวทีคนหนองบัวของเรานี้ หากเป็นมัธยมปลายรุ่นแรกที่หนองคอกนี่ ก็คงจะเป็นรุ่นน้องผม ๒-๓ ปีน่ะครับ เวทีคนหนองบัวของเรามีสมาชิกเข้ามาเยือนจากสวีเดน ๕ คนแน่ะครับ คุณ BlueFlower14 เป็นหนึ่งใน ๕ คนนั้น แล้วก็เป็นสุภาพสตรีท่านแรกของชาวหนองบัวที่เข้ามาคุยในเวทีคนหนองบัวเลยกระมังครับเนี่ย อีกทั้งเป็นคนชุมชนวัดเทพสุทธาวาสอีกด้วย

    นำเรื่องราวสังคม วิถีชีวิต ของผู้คนต่างบ้านต่างเมืองที่สวีเดน มาฝากพวกเราบ้างเป็นนะครับ หรือคนไกลบ้านที่เป็นคนไทยในสวีเดน ก็น่าสนใจมากนะครับ เหมือนเป็นเครือข่ายการเรียนรู้โลกกว้างให้เวทีคนหนองบัว และเวทีคนหนองบัวก็ได้เป็นสื่อกลาง ให้คนหนองบัวและคนไทย ไม่ว่าจะอยู่แห่งไหนในโลกที่ไกลบ้านเกิดเมืองนอน ก็ยังสามารถได้รับข้อมูข่าวสาร เห็นชีวิตความเคลื่อนไหว พอได้คลายความคิดถึงบ้านนะครับ

    คุณ BlueFlower14 ยังดีที่จำความได้ว่าเคยมีน้ำท่วมหนองบัว ๑ ครั้ง แต่ผมนี่จำไม่ได้เลย นึกภาพไม่ออกเลยละครับ ครั้งนี้ก็เห็นแต่จากสื่อและญาติพี่น้อง เพื่อนๆ กับคนในพื้นที่เขาเล่าให้ฟัง แต่พอจะนึกภาพออกว่าน้ำเจิ่งท่วมแถวทุ่งนารอบนอกตัวเมืองแถวหน้าโรงพยาบาลและออกไปทางวัดป่ามะเขือนั้นเป็นอย่างไร เพราะเป็นบริเวณระหว่างทางเดินไปโรงเรียนและเคยกระโดดเล่นน้ำกันเมื่อหน้าน้ำหลาก

    เราเปี๊ยกนะจบ ม.ศ.3จำปีไม่ได่แล้ว2523มั้งเกิด2505มีไรข่วยบอกนะ

    อีกอย่างช้วยเช็คคนชื่อ นายสมจิตร แก้วไพฑูลย์ด้วยครับอยู่ที่ไหนครั้งสุดท้ายเป็นตำรวจ

    ประจำที่ สภอ นาแก นครพนมรุ่นเดียว มนตรา อินทรประสาทลูกจ่าศักดิ์ ขอบคุณครับ 

    คุ้นชื่อสมจิตร แก้วไพฑูลย์จังเลยนะครับ
    เอ้า ใครเพื่อนๆของคุณสมคิด อินสุขธา ช่วยติดต่อกันและบอกกล่าวถึงคุณตำรวจสมจิตร แก้วไพฑูลย์ด้วยนะครับ เพื่อนฝูงคิดถึง นี่ขอให้เช็คชื่อเสียด้วยนะ สงสัยติดมาจากตอนขานชื่อให้ห้องเรียนตอนเรียนด้วยกัน หรือตอนตรวจกำลังพลในแถวแบบตำรวจๆ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท