หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ฟื้นพลังท้องถิ่นด้วยการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน


 

         เสียงหัวเราะดังกึกก้องดังลอดออกมาจากอาคารเป็นระยะ...

         บางคนหัวเราะงอหงายแบบขำกลิ้งแทบจะลงไปดิ้นปัด ๆ กับพื้น แต่เหตุการณ์เดียวกันนั้นมีบางคนเพียงหัวเราะแบบเจื่อน ๆ

         บทบาทสมมุติที่พวกเขาชมอยู่ในขณะนี้ มาจากกิจกรรม “ข้ามลวดไฟฟ้า” หนึ่งในกิจกรรมเมื่อวานนี้ เป็นการสะท้อนท่าที ปฏิกิริยา การร่วมกิจกรรมของพวดเขากันเอง การแสดงสมจริงจนเป็นที่มาของเสียงหัวเราะกึกก้อง

         คืนก่อน... ก่อนที่บทบาทสมมุตินี้จะปรากฏต่อสายตาบรรดาเยาวชนผู้เข้าค่ายฟื้นพลังท้องถิ่นด้วยการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้ชาวดินแห่งนี้ พี่เลี้ยงค่ายเกือบ ๑๐ ชีวิตนั่งลงพูดคุยสรุปบทเรียนประจำวันร่วมกันหลังจากน้อง ๆ แยกย้ายกันไปนอนหลับพักผ่อนแล้ว

         สิ่งที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันคือ ในกิจกรรมข้ามลวดไฟฟ้า มีน้อง ๆ บางคนมีท่าทีที่ไม่เหมาะสม บ้างก็ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงต่อกัน บ้างก็เห็นแก่ตัวไม่ช่วยเหลือเพื่อนคนอื่น บ้างก็ดีแต่พูดแต่ไม่ยอมลงมือทำ ขณะที่มีเพียงน้องบางคนที่พยายามจะช่วยเพื่อนคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ

         โจทย์ที่ท้าทายในฐานะพี่เลี้ยง คือ จะสื่อสารให้น้องรับรู้และแก้ไขโดยไม่ใช่การสอนได้อย่างไร การแสดงบทบาทสมมุติจำลองเหตุการณ์กิจกรรมลวดไฟฟ้า เป็นข้อเสนอที่พวกเขาเลือก พวกเขาทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นอย่างละเอียด โดยเฉพาะการระบุท่าทีพฤติกรรมต่าง ๆ นา ๆ ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เพื่อสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของแต่ละคนนั้นมีผลอย่างไรต่อการทำงานของกลุ่ม

         เมื่อความสนุกสนานจากกิจกรรมบทบาทสมมุติจากพี่เลี้ยงสิ้นสุดลง คำถามหนึ่งที่โยนลงไปให้น้อง ในค่ายฯ ช่วยกันคิดเพื่อสรุปบทเรียนจากกิจกรรมว่า “พี่ ๆ แสดงบทบาทสมมุตินี้ ต้องการสื่ออะไร ?” คำตอบพรั่งพรูออกมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องสอนหรือบอกกล่าว

         นี่เป็นบรรยากาศหนึ่งในค่ายฯ ที่เยาวชนจากหลายหมู่บ้าน จำนวน ๓๒ คน จาก จ.ขอนแก่น และสุรินทร์ มาเข้าค่ายฯ ร่วมกัน ระยะเวลา ๑๐ วัน เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจ สามารถเรียนรู้พัฒนาตนเอง จนสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น

         ค่ายฯ นี้ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพุทธิกาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ชุดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ซึ่งมีแนวคิดการทำงานที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ทวีศักดิ์  สุวรรณชะนะ ทีมกระบวนกรในค่ายฯ กล่าวถึงว่า

         “...ฐานคิดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา กับแนวคิดของโครงการมันเป็นฐานคิดเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญญานี่เป็นฐานคิดหลักที่เราใช้เป็นกรอบในการทำงานด้วย เรามีทุนที่สามารถทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ได้ เช่นสุขภาวะทางกายก็จะพูดถึงเรื่องอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ การปลูกผักกินเอง การดูแลสุขภาพ การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี การมีตัวอย่างที่ดีที่มีมุมมองการดำเนินชีวิตหรือการเข้าถึงหรือเข้าใจชีวิต...”

         กระบวนการเรียนรู้ในค่ายฯ แบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้ กิจวัตรประจำวัน กิจกรรมเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและสังคม กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ และการเรียนรู้ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น

         แม้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในค่ายฯ ตลอดทั้ง ๑๐ วัน แม้จะไม่ยากลำบากแต่ก็ไม่สะดวกสบายนักเมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่บ้านหรือโรงเรียน แต่ความไม่สะดวกสบายนี้ก็มิได้ทำให้พวกเขาไม่มีความสุข กล่าวได้ว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นในการอยู่ร่วมค่ายฯ นั้น ก็ยิ่งเพิ่มพูนความสุขมากขึ้น ทั้งที่มิได้พึ่งพิงวัตถุ ความสุขเหล่านั้นเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งกลุ่มผู้เข้าร่วมเอง กับพี่เลี้ยงและวิทยากรต่าง ๆ การได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวบ้าน การได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ กระทั่งการใช้แรงกายในการทำงานต่าง ๆ ระหว่างค่ายฯ

         นอกจากนั้นการมีโอกาสได้ไปเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน แกนนำชุมชนต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนรุ่นหลัง วิถีชีวิตของผู้คนเหล่านี้ “วัตถุ” มิใช่เป็นคำตอบของชีวิต และมิใช่ต้นเหตุของความสุขที่มีอยู่ในเนื้อในตัว เช่น การเรียนรู้ชีวิตของ มาร์ติน วีลเลอร์ ชาวอังกฤษผู้หลบหลีกจากสังคมที่มีความเจริญทางวัตถุ มาอยู่เมืองไทยที่ชุมชนคำปลา ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งเขากล่าวย้ำให้ผู้เข้าค่ายเกี่ยวกับความสุข

         ในการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านคำปลา พวกเขาได้ร่วมกันสรุปบทเรียนไตร่ตรองตอบโจทย์ว่า “ความสุขของชาวบ้านคืออะไร” คำตอบที่ได้จากผู้เข้าร่วมก็มิได้สะท้อนเลยว่าความสุขที่เกิดขึ้น มีขึ้นนั้นมาจากการเสพวัตถุ ซึ่งนี่คือคำตอบของพวกเขา

         ความสุขของชาวบ้านคือ การมีชีวิตที่พอเพียง, ดีใจที่ลูกหลานสนใจวัฒนธรรม, มีความสุขกับการได้ลงมือทำเอง, ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ, มีความสุขกับการได้ลงมือทำเอง, ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ, มีความสุขที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ดี, ภูมิใจกับงานที่ตนทำ, ได้ร่วมงานกับคนอื่น, ทุกคนร่วมมือกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม, พวกเรา/ลูกหลานเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ, การสร้างรายได้ และได้แบ่งปันกัน การพึ่งพากัน, การผลิตของทำเองใช้เอง, การทำงานโดยไม่ต้องรอเวลา, พอใจในสิ่งที่ตนมี และได้อยู่กับสิ่งที่ตนเองรัก

         กระบวนการเรียนรู้ในค่ายฯ มีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทัศนคติ “เชื่อมั่นในความพากเพียรของตนเอง” การออกแบบกิจกรรมในค่ายฯ มีภารกิจให้ผู้เข้าค่ายฯ ได้กระทำการกิจการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จด้วยความเพียรของตนเอง เช่น การมอบหมายให้ทำงานต่าง ๆ ในศูนย์ (ทำความสะอาดสถานที่ ปลูกต้นไม้ สร้างบ้านดิน ฯลฯ) การมอบหมายงานเดี่ยวและกลุ่มในแต่ละกิจกรรม โดยเฉพาะการคิด/ไตร่ตรองเพื่อตอบโจทย์สรุปบทเรียนจากกิจกรรมจากทีมกระบวนกร ฯลฯ

         นอกจากนั้นในบรรดาหลาย ๆ กิจกรรม ก็มุ่งเน้นการฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการปลุกฝังความเพียรพยายามไม่น้อย ทั้งเรื่องการจับประเด็นจากการอ่าน ฟังและชม การฝึกการตั้งคำถาม การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่ศึกษา กระทั่งการพูดต่อหน้าชุมชน ผลงานที่ได้ของผู้เข้าร่วมต่างสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความเพียงของตนเอง ซึ่งผลสำเร็จที่ได้มานั้นจะทำให้เจ้าตัวมีความสุข

       สำหรับการเรียนรู้กับบรรดาผู้รู้และปราชญ์ชาวบ้านนั้น ความสำเร็จจากความเพียรของตนเองซึ่งเป็นที่มาของความสุขในชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่ผู้เข้าค่ายฯ ได้พบเห็นเรียนรู้สัมผัสอย่างชัดเจน เช่น มาร์ติน วีลเลอร์ ที่หลังจากทิ้งความศิวิไลซ์ไว้ข้างหลัง เขาก็เริ่มลงเรี่ยวแรงทำการเกษตรบนที่ดินของตนเองด้วยความพากเพียรพยายาม กระทั่งประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้สนใจทั่วประเทศ

หมายเลขบันทึก: 404590เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 07:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

อ่านเรื่องของพ่อใหญ่มาร์ติน  รู้สึกอายแทนคนไทยนะคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท