หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เด็กรักบ้าน


“...โยนก้อนหินลงไปถูกหลังคาบ้านไหน เจอเลยคนค้ายา...”

            “...ยุคนั้นขายยาเหมือนขายขนม ขายกันริมฟุตบาท ชุมชนเป็นแหล่งค้ายาแหล่งใหญ่ของจังหวัด...”

            บูรณา แสงทอง แกนนำกลุ่มเด็กรักบ้าน กล่าวถึงอดีตของชุมชนลับแลเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ครั้งหนึ่งยาเสพติดระบาดอย่างหนัก แกนนำชุมชนอีกคนก็ย้ำเช่นเดียวกัน

            การระบาดยาเสพติดอย่างหนักทำให้ชุมชนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และเมื่อสื่อมวลชนนำเสนอปัญหานี้ ก็ยิ่งทำให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบไปอย่างกว้างขวาง

            “...ไอทีวีมาถ่ายมาแอบถ่ายแล้วเอาไปออกทีวี มันก็เลยดังไปทั่ว แล้วก็ผลมันตามมา เยาวชนประวัติดี เรียนดี ที่ไม่เคยข้องแวะกับยา ไปสมัครงานที่ไหนพอเขารู้ว่ามาจากที่นี้เขาก็ไม่รับเข้าทำงาน เด็กเล็ก ๆ ในชุมชนที่ยังไม่รู้ประสีประสา ก็ถูกหลอกใช้ให้เป็นเด็กเดินยาด้วย มันก็เลยเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง...”

            ที่ชุมชนลับแลในขณะนั้น ปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าอย่างสาหัส แกนนำชุมชนที่พยายามจะทำงานขับเคลื่อนจัดการกับปัญหาชุมชนก็ขยับอะไรได้ไม่มาก ในที่สุดก็ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน เริ่มต้นทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ด้วยการจัดค่ายฯ จากนั้นก็มีกิจกรรมของเยาวชนค่อย ๆ ขยายตัวขึ้น

            “...กลุ่มเด็กรักบ้านเกิดขึ้นเริ่มแรกก่อนที่ชุมชนลับแล ตอนนั้นทีมพัฒนาที่อยู่อาศัยเขาได้ลงไปทำงานกับชาวบ้านกับชุมชนแล้วก็ได้ตั้งกลุ่มเยาวชนกันขึ้น หลังจากจัดค่ายเยาวชนเราก็มารวมกลุ่มคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรดีเพื่อจะแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดให้ลดลง ก็เลยตั้งกลุ่มแกนนำเยาวชนขึ้นมา มีสมาชิก ๑๕ คน ทำกิจกรรมมาเรื่อย ๆ จากชุมชนลับแลก็ขยายไปชุมชนอื่น ชุมชนหนองผัง ชุมชนเกตุแก้ว หาดเสริมสุข...”

            กลุ่มเด็กรักบ้าน ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ สมาชิกกลุ่มเป็นลูกหลานของชาวบ้านในเครือข่ายชุมชนเมืองอุบลราชธานี กิจกรรมของกลุ่มมิได้มุ่งไปแก้ที่ปัญหายาเสพติดโดยตรง แต่อ้อมไปทำงานอื่น ๆ ก่อน เช่น การพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม การรณรงรงค์ให้มีนิสัยการประหยัดไม่ฟุ่มเฟือยตามกระแสสังคม มีกลุ่มออมทรัพย์ พี่กิจกรรมดูแลน้อง การทำกิจกรรมดนตรีประสานเสียงร้องเพลงรณรงค์ และการสืบทอดการฟ้อนรำแบบพื้นบ้านอีสาน กระทั่งกลุ่มเข้มแข็งขึ้นและค่อย ๆ จัดการกับปัญหายาเสพติดได้ในที่สุด

            กลุ่มเด็กรักบ้านไม่เพียงช่วยป้องกันและแก้ปัญหาเยาวชนในพื้นที่ได้เท่านั้น แต่การทำงานของเยาวชนยังช่วยเสริมงานพัฒนาของชุมชนให้เข้มแข็งตามไปด้วย แกนนำชุมชนท่านหนึ่งกล่าวว่า

            “...อันนี้เป็นแนวของเครือข่ายเลยว่างานของเยาวชนไม่ได้แยกไปโดด ๆ แต่มีเป้าหมายว่ามีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน เพราะฉะนั้นนอกจากกิจกรรมเฉพาะของเขาไม่ว่าจะเป็นออมทรัพย์ เก็บขยะ เขาก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องผู้ใหญ่ด้วย บางคนก็ยกระดับขึ้นมาเป็นแกนนำของชุมชน...

            ...ปัจจุบันกลุ่มเด็กก็มาเข้าร่วมในเวทีของผู้ใหญ่ เริ่มเรียนรู้ปัญหาของชุมชน ทั้งเรื่องที่ดิน เรื่องสวัสดิการ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กทำทั้งหมดถือว่าเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนคนรุ่นก่อน...”

            การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและทั้งชาวบ้านทั่วไป รวมทั้งการบริจาคจากบุคคลภายนอก และการได้รับสนับสนุนทุนจากองค์กรทุนต่าง ๆ รวมทั้งจากเครือข่ายพุทธิกาและสำนักงานกองทุนสยับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ชุดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา

            โครงการที่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ในชุมชน ได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ปลดปล่อยและแสดงศักยภาพของตนเอง สร้างโอกาสให้พวกเขารับรู้ซึมซับเรื่องราวทั้งในด้านที่เป็นคุณค่าและปัญหาของชุมชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนป้องกันและแก้ปัญหาชุมชน โดยดำเนินการผ่านกิจกรรมละครหุ่นมือ...

            หลายเดือนผ่านไปหลังได้รับสนับสนุนโครงการ...

            พื้นที่ด้านหน้าศูนย์ประสานงานชุมชนอุบลราชธานี คราคร่ำไปด้วยผู้คน พื้นที่ว่างเปล่าถูกแปรสภาพเป็นตลาดนัดขายสินค้าหลากหลายชนิดจากชาวบ้านในชุมชน มีเวทีขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า

            กิจกรรมบนเวทีเริ่มตั้งแต่ช่วงสาย มีกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่เช้า ทั้งกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงของเด็กเล็ก ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าไฮไลท์ของงานคือการแสดงละครหุ่นมือจำนวน ๙ เรื่อง จาก ๘ ชุมชน ในช่วงบ่าย

            กว่าที่ละครหุ่นมือจะทั้ง ๙ เรื่องจะลงเวทีให้ผู้คนได้ชมกันอย่างออกรสนั้นไม่ธรรมดา เนื่องจากหลังจากที่ตัวแทนจากแต่ละชุมชนที่ไปเข้าค่ายฯ เพื่อฝึกอบรมทำละครหนุ่นมือแล้ว พวกเขาในแต่ละชุมชนจะต้องกลับมาสร้างตัวละครหุ่นมือด้วยตัวเอง และที่สำคัญคือ การสร้างสรรค์บทละครที่จะนำมาแสดง โดยจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชนตนเองแล้ะวสะท้อนออกมาเป็นบทละคร

            ในการตระเตรียมทำละครของเยาวชนแต่ละชุมชนนั้น ไม่เป็นเพียงเป็นกระบวนการที่ฝึกฝนเด็กและเยาวชนมาก ทั้งเรื่องการทำงานร่วมกัน ความรับผิดชอบ การเรียนรู้และทำความเข้าใจชุมชนตนเอง การฝึกความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ เท่านั้น แต่กระบวนการดังกล่าวก็สร้างความคึกคักให้กับชาวบ้านในชุมชนได้ไม่น้อย พ่อแม่ผู้ปกครองและชาวบ้านทั่วไปได้เห็นศักยภาพของเด็กและเยาวชนอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน รวมทั้งเกิดความไว้วางใจระหว่างชาวบ้านผู้ปกครองกับทีมทำงานมากขึ้น แกนนำเครือข่ายชุมชนท่านหนึ่งเล่าถึงกระบวนการทำงานของเยาวชนที่ลงไปทำละครหุ่นมือว่า

            “...ก่อนที่จะมีงานมหกรรม จะมีการลงพื้นที่ไประดมกับน้อง ๆ ว่าอยากทำละครเรื่องอะไร เด็กเขาก็จะคิดของเขาเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาของชุมชน ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดก็สะท้อนปัญหายาเสพติด มีปัญหาเด็กติดเกมส์ก็สะท้อนเรื่องเกมส์ เรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ฯลฯ...”

            การทำละครของเด็กและเยาวชนในแต่ละชุมชน เป็นเรื่องที่เอาจริงเอาจัง เป็นการสะท้อนเรื่องราวปัญหาของชุมชนอย่างตรงไปตรงมา ที่สำคัญเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง

            ละครของเด็ก ๆ จบลงแล้ว แต่ภารกิจของพวกเขายังไม่จบสิ้นลงไปด้วย กุศโลบายจากกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ลงไปเรียนรู้ ซึมซับเรื่องราวของชุมชน ผลพวงที่ตามมาคือ การค่อย ๆ ซึมซับรักถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ชุมชนของพวกเขาด้วยน้ำมือน้อย ๆ ของพวกเขาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 404496เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2010 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การเรียนรู้ปัญหาและการเรียนรู้วิธีจัดการกับการป้องกันปัญหาชุมชนโดยการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง

อ่านเรื่องราวการนำเสนอด้วยความสนใจและชื่นชมคะ

สวัสดีค่ะ

รวบรวมเรื่องแบบเดียวกันนี้เป็นตอน ๆ เพื่อนรวมเล่มน่าจะดีนะคะ

เรียนท่านIco64

  • ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆนะคะ
  • เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติจริงๆค่ะ
  • ฝากความคิดถึงน้องเฌวาด้วยนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท