เรียนรู้ระหว่างเดินทางไป Shopping ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย


          ไป Shopping ความรู้ที่ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย   ได้อะไรมากมาย              

        ผมโชคดีมากที่ได้เป็นคนหนึ่งที่ได้ไปชอบปิ้งความรู้และความรู้สึกที่ดีๆที่ตลาดนัดความรู้ ซึ่งกรมอนามัยจัดขึ้น 2 วันระหว่าง19-20 ก.ค.49 ที่โรงแรมฟิลิกซ์ ริมแม่น้ำแคว กาญจนบุรี

         วันที่ 18 ก.ค.49 เป็นวันเดินทาง เมื่อผมเดินทางถึงกรมอนามัย ดื่มกาแฟมิตรภาพ 1 ถ้วย ด้วยความรู้สึกที่อบอุ่น จากน้ำใจทีมKM กรมอนามัย ผมไม่เคยรู้จักท่านทั้งหลายมาก่อนเลย ยกเว้นหมอนนทลี ท่านเดียวที่เคยได้พบตัวจริง ซึ่งก็พบกันครั้งเดียวที่งานครบรอบปี gotoknow นอกนั้นไม่เคยได้พบตัวจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณศรีวิภา ไม่เคยเห็นตัวจริงเลย รู้จักท่านและงานท่านทั้งหลายแบบ B2B และด้วยการพูดคุยกันทางโทรศัทพ์เท่านั้น แต่อบอุ่นมากเหมือนว่าสนิทกันมานาน ดื่มไปก็ชื่นชมทีมงาน KM ไป ที่เตรียมงานกันอย่างขะมักเขม้น ประมาณว่าเตรียมแผงผัก ร่ม โต๊ะ เก้าอี้ อย่างแม่ค้าในตลาดทั่วไปแหละครับ

         พอสายๆราวสัก 10 โมงกว่าๆ ก็เคลื่อนขบวนไปกาญจนบุรี ด้วยรถตู้ของกรมอนามัย ผมมีความรู้สึกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของงานไปโดยปริยาย เพราะกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนรถตู้ มันพรั่งพรูออกมาเยอะมาก เสียดายในรถตู้มันจดไม่ได้ ถ้าจดได้จะเป็นคลังความรู้มหาศาล ผมจึงอาศัยการจำเอา ซึ่งก็คงเป็นส่วนน้อยนิด ผมได้เรียนรู้จาก คุณศรีวิภา หมอนทลี และคณะแบบจับใจความว่า กรมอนามัยต้องการจะเปลี่ยนตนเองเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ LO ตามแนว กพร. โดยพัฒนาให้หน่วยงานของกรมอนามัยเป็นหน่วยงานต้นแบบในการจัดการความรู้ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำมาตรฐานงานจัดการความรู้ ประชุมชี้แจงเกณฑ์และมาตรฐานงานจัดการความรู้ ปรับปรุงเว็บไซต์ศูนย์ความรู้กรมอนามัย ส่งเสริมและติดตามการจัดการความรู้ของหน่วยงานต้นแบบ ซึ่งมีการส่งเสริมและติดตามกันอย่างเข้มข้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว จนมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ จึงมาสู่กิจกรรมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้(ตลาดนัดความรู้)การจัดการความรู้สำหรับกลุ่มแกนนำและทีมการจัดการความรู้ ที่ผมได้มาร่วมด้วยในครั้งนี้

         ผมขอบอกว่าผมนี้โง่เอาการ ไม่ทราบว่ากรมอนามัยงานหน้าตักเขาคืองานวิชาการ ผมนึกว่ากรมอนามัยไปส่งเสริมสุขภาพชาวบ้าน ชุมชน ได้เอง โดยผ่านกลไก สอ.(สถานีอนามัย) ของตน ผมทำงานใกล้ชิดกับอนามัยตำบลในพื้นที่มานาน ภรรยาก็เป็นพยายบาล ข้อมูลแค่นี้ก็ไม่รู้ เข้าใจผิดคิดว่าเขาสังกัดกรมอนามัย หลงเข้าใจผิดอยู่นาน ที่แท้ สอ.(สถานีอนามัย) สังกัด สป.สธ.โน่น คนละกรมว่าอย่างงั้นเถอะ ไม่ได้คำอธิบายในห้องเรียนรถตู้ ก็คงจะเข้าใจผิดไปอีกนาน ขอบคุณคุณศรีวิภานะครับ ที่ให้คำตอบ

        เมื่องานหน้าตักของกรมอนามัยคืองานวิชาการ แต่กรมอนามัยจะต้องทำงานกับชาวบ้านจะทำกันอย่างไร คุณศรีวิภา ก็อธิบายต่อว่ากรมอนามัยก็ใช้หน่วยงานของกรมซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศที่เรียกว่าศูนย์อนามัยเขตต่างๆ........ เป็นตัวเดินเรื่อง ชุบตัวเองให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้ได้ กำหนดเนื้อหาเด่นในแต่ละหน่วยงานเองว่าจะเด่น จะเป็น CoP ในด้านใด เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานอื่นที่ต้องการใช้ความรู้ต่อไป ผมเป็นครูนอกโรงเรียน ผมประมาณว่าที่คุณศรีวิภาอธิบายก็น่าจะคือครูแกนนำ หรือครูต้นแบบ ที่กระทรวงศึกษากำลังทำอยู่ เมื่อชุบตัวเองได้แล้ว เป็น CoP ด้านใดได้แล้ว จึงจะเชื่อมต่อหรือต่อท่อไปยังหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำความรู้ปฏิบัตินี้ที่ปฏิบัติจนได้ผลแล้วนี้ ไปปรับใช้ C@D ในแต่ละพื้นที่ต่อไป เป็นกระบวนการคิดที่เยี่ยมมากๆ

         ผมว่านี่คือนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทยที่กรมกรมหนึ่งที่ทำงานทางวิชาการได้พัฒนาขึ้นมา น่าจะใช้เรียนรู้ได้กับกรม/กองหรือหน่วยงานวิชาการอื่นๆ เพราะมันคือวิชาการที่ใช้ได้จริง ผ่านการใช้มาแล้ว มันคือวิชาการที่พื้นที่ต่างๆสร้างขึ้นมา ไม่ใช่วิชาการที่นำเข้าเข้ามา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะสอดคล้องหรือใช้ได้กับบริบทของชาวบ้านหรือเปล่า

         เนื่องจากกรมอนามัยต้องการจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ กองต่างๆในส่วนกลางก็ตื่นตัว คึกคักกันมากในการทำงานที่ใช้ความรู้เป็นเครื่องมือ ไม่แพ้ศูนย์อนามัยเขตต่างๆ......ซึ่งกิจกรรมการทำงานและการเรียนรู้ที่กำลังเข้มข้นดังกล่าวนี้ คุณศรีวิภา เปรียบเทียบว่าเหมือนน้ำที่กำลังเดือด มีฟองปุดๆ ลอยขึ้นมา เมื่อบรรยากาศการเรียนรู้คึกคัดเช่นนี้ ก็เป็นโอกาสที่กรมอนามัยจะได้เชิญผู้ปฏิบัติที่เรียกว่าหน่วยงานต้นแบบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในกิจกรรมที่เรียกว่าตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ตีเหล็ก คุณศรีวิภา ย้ำว่าต้องตียามที่มันร้อนๆ

         คุยกันไม่ทันไร ก็เที่ยงเสียแล้ว แวะทานข้าวหมูแดง สเต็กหมู แถวนครปฐม ราวๆ 45 นาที จากนั้นก็เดินทางต่อ บรรยากาศห้องเรียนในรถตู้ก็กลับมาพูดคุยกันต่อ สกัดความรู้กันต่อ ผมมีความรู้สึกว่าองค์กรแห่งนี้มีการกำหนดหัวปลา กระบวนการเรียนรู้ การจัดทัพหรือโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน ใครคือคุณเอื้อ ใครคือ CKO ใครคือคุณอำนวย ใครคือคุณกิจ คุณศรีวิภา เล่าต่อว่าทุกขั้นตอนล้วนเป็นการเรียนรู้หน้างานทั้งสิ้น ศูนย์อนามัยเขต หลายเขต โทรมาปรึกษา เล่าปัญหาอุปสรรค ท้อแท้ ในฐานะของคุณอำนวย คุณศรีวิภา ก็ไปทำวงเรียนรู้แก้ไขปัญหาร่วมกัน ร่วมกับทีม KM ส่วนกลางท่านอื่นๆ ที่ศูนย์อนามัยเขตนั้นๆ ผมว่านี้คือบทเรียนสำคัญอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับกรม/กอง หรือหน่วยงานที่จะเป็น LO จะต้องตระหนักและเตรียมพร้อม อย่าปล่อยคุณกิจต้องโดดเดี่ยวเด็ดขาด

        ขณะเดินทางผมกลัวว่าผมจะเป็นคนแปลกหน้าไปงานนี้เพียงคนเดียว ผมก็โทรเช็คกับคุณสิงห์ป่าสักว่าเดินทางหรือยัง ถึงไหนแล้ว คุณสิงห์ป่าสักน้องเขาต้องขับรถจากกำแพงเพชรถึงเมืองกาญจน์เกือบ 500 ก.ม. เมื่อทราบว่าลงมาแถบชัยนาทแล้ว ผมก็ใจชื้นขึ้นมาหน่อย ว่างานนี้มีเพื่อนแล้ว มีผู้ชายให้คุยแล้ว นี่ก็เป็นความรู้ใหม่ของผมอีกเช่นกันว่า กรมอนามัยนี่บุคลากรเป็นสุภาพสตรีเสียส่วนใหญ่ นึกไม่ถึงจริงๆ ครับ

        บ่ายสี่โมงกว่าๆก็ถึงที่พักอันแสนสบายจังหวัดกาญจนบุรี ไม่นานจากนั้น คุณสิงห์ป่าสักก็เดินทางไปถึง บรรยากาศและกลิ่นอายของการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ที่ตลาดนัดความรู้กรมอนามัยจะเป็นอย่างไร ค่อยติดตามนะครับ บันทึกนี้ดูจะยาวมากไปแล้ว พอก่อนนะครับ

ยืนยันด้วยภาพนี้ว่าผมถึงตลาดก่อนตลาดจะเปิดครับ



ความเห็น (4)
  • พลาดที่จะได้พบกับพี่นงครับ
  • ผมดันมามหาวิทยาลัยก่อน เลยอด F2F
  • ไว้ B2B ก็แล้วกันครับ
  • ลืมบอกว่าบ้านผมอยู่เมืองกาญจนบุรีครับ
  • เล่าได้ละเอียดมากครับ
  • นี่ขนาดไม่ได้จดนะครับ
ติดตามอ่านอยู่ น่าสนใจมากค่ะ ประยุกต์ใช้กับงานดิฉันได้มาก ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท