การสมัครงานแบบมืออาชีพ


สมัครงานอย่างไรให้ได้งาน

การสมัครงานแบบมืออาชีพ

                ในยุคที่สภาพเศรษฐกิจผันผวนเช่นนี้ งานเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนาโดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ที่ต้องเผชิญความเครียดจากการขับเคี่ยวแข่งขันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในตลาดแรงงาน ซึ่งนอกจากความกลัวเรื่องหางานไม่ได้จะบั่นทอนความสุขแล้ว คนที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาหลายคนอาจยังมีความวิตกกังวลกับการจะต้องเผชิญสถานการณ์และสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ในที่ทำงาน ซึ่งต่างจากรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม หากก่อนที่จะสำเร็จการศึกษานิสิตนักศึกษาได้วางแผนอนาคตการทำงานไว้ก่อนล่วงหน้า การสมัครงานหรือเข้าทำงานที่ใดก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแต่ละคนจะรู้แน่ชัดว่าตนเองกำลังจะไปทำงานที่หน่วยงานไหน มีอุปสรรคการทำงานเช่นไร หน่วยงานมีปรัชญาหรือเป้าหมายอย่างไร และงานนั้นเป็นงานที่เรามีความถนัดหรือชำนาญพิเศษสอดคล้องกับที่ได้วางแผนชีวิตไว้หรือไม่

                แต่สำหรับบางคนที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าตัวเองควรเลือกทำอาชีพอะไร เพราะยังไม่รู้ความสนใจหรือความถนัดของตนเอง ก็ต้องใช้เวลาและความพยายามในการหาข้อมูลและตัดสินใจให้ดี ไม่ควรรีบตัดสินใจโดยคิดว่าทำอาชีพอะไรก็ได้ ขอแค่ให้ได้ค่าตอบแทนสูงๆ ก็พอ ความคิดนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะการที่เราเข้าไปทำงานโดยที่ไม่มีใจรักในอาชีพนั้น จะทำให้เราไม่มีความสุขในการทำงาน แรกๆ อาจจะไม่รู้สึกทุกข์ใจอะไรมาก แต่พอนานๆ ไปก็จะเริ่มมีความเบื่อหน่ายในงาน ความรู้สึกอันนี้จะส่งผลมายังพฤติกรรมการทำงานของเรา ทำให้หย่อนประสิทธิภาพในการทำงานลงได้ นายจ้างของเราก็จะเสียผลประโยชน์ หน่วยงานของเราก็จะด้อยประสิทธิภาพ และอาจทำให้คนอื่นๆ มองเราว่าเป็นคนทำงานไม่จริงจัง เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ และอาจส่งผลเสียไปยังสถานศึกษาของเราด้วย เวลาที่รุ่นน้องของเราเข้ามาสมัครงาน นายจ้างอาจเกิดอาการเข็ดขยาด และไม่อยากรับคนจากสถาบันการศึกษานี้เข้าทำงานอีก  เพราะฉะนั้นเราควรจะสำรวจความถนัด ความชอบในงานของตนเองให้ดีก่อนที่จะสมัครเข้าทำงาน

                วิธีสำรวจตนเองว่างานใดเป็นงานที่เราต้องการ มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การสำรวจโดยตรง กับการสำรวจโดยอ้อม รายละเอียดมีดังนี้ 

            การสำรวจโดยตรงก็คือ การลองเข้าไปมีประสบการณ์ในอาชีพที่เราคิดว่าต้องการจะทำโดยตรง วิธีการนี้ในสถานศึกษาจะเรียกว่าการฝึกงาน ให้เราใช้เวลาเรียนรู้งานในหน่วยงานภายนอกสถานศึกษาเป็นระยะเวลาประมาณสองหรือสามเดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราเรียนรู้ชีวิตของเราในอนาคต ได้พบกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการทำงาน ได้ทำงานกับคน และเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้เรามีข้อมูลซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานจริงๆ ของเราได้ อีกทั้งยังมีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ประกอบในการสัมภาษณ์งานในหน่วยงานต่างๆ ได้

            สำหรับอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การสำรวจทางอ้อม เราสามารถจะหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ เพื่อดูว่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จในแต่ละอาชีพนั้น มีปรัชญาในการใช้ชีวิตอย่างไร มีวิธีการแสวงหาหนทางสู่ความสำเร็จอย่างไร มีบุคลิกภาพหรือแนวคิดอย่างไรจึงสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และจะดีอย่างยิ่งถ้าหากเราสามารถค้นหาข้อมูลของเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เราต้องการสมัคร หรือนโยบายของบริษัทนั้นๆ ว่าตรงกับที่เราตั้งเป้าหมาย หรือเป็นสิ่งที่เราสามารถจะพัฒนาไปสู่แนวทางที่หน่วยงานตั้งเป้าหมายไว้ได้หรือไม่ หากเป้าหมายและแนวทางการทำงานของหน่วยงานและของเรามีความสอดคล้องกัน ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะได้รับเลือกเข้าไปสู่หน่วยงานนั้นๆ และสามารถใช้ชีวิตในหน่วยงานนั้นได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าตัวเรายังไม่สามารถทำได้เหมือนกับที่หน่วยงานนั้นต้องการ เราก็ต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติให้เหมาะสมต่อไป

            เมื่อเลือกงานที่อยากทำได้แล้ว ก็มาถึงวิธีการเขียนใบสมัคร เวลาที่เราไปสมัครงาน เราจะพบแบบฟอร์มต่างๆ มากมายซึ่งแต่ละหน่วยงานออกแบบมาเพื่อให้เรากรอกรายละเอียดส่วนตัวต่างๆ เช่น เรียนจบจากที่ไหน สาขาอะไร เกรดเฉลี่ยเท่าไร มีประสบการณ์การทำงานมาก่อนหรือไม่ มีพันธะและภาระอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน แม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะขอข้อมูลคล้ายๆ กัน แต่ว่าแต่ละบริษัทก็จะมีแบบฟอร์มของตนเองซึ่งแตกต่างกันออกไป หากเรายังไม่เคยมีประสบการณ์การเขียนใบสมัครงานมาก่อน อาจเกิดความสับสน ไม่ทราบว่าควรเขียนอย่างไร มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ ควรฝึกหัดเขียนรายละเอียดลงในตัวอย่างใบสมัคร ซึ่งอาจหาได้ตามร้านหนังสือทั่วไป หรือหากมีนิทรรศการจัดหางานตามสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งจะมีห้างร้านต่างๆ มาตั้งบูธรับสมัครพนักงานอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ลองสอบถามรายละเอียดต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ที่มาออกบูธด้วย

            เวลากรอกรายละเอียดลงในใบสมัครควรไตร่ตรองให้รอบคอบ  ก่อนเขียนควรตั้งสติให้ดีว่าจะเขียนอะไร ไม่ควรรีบร้อน ให้ลองอ่านแต่ละบรรทัดอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป จากนั้นจึงลงมือเขียน เพราะหากรีบเกินไป อาจทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้น การปล่อยให้มีรอยลบขีดฆ่าในกระดาษจะทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเราเพราะคนที่อ่านใบสมัครอาจเข้าใจว่าเราทำงานไม่เรียบร้อย ขาดสติและไม่รอบคอบ และที่สำคัญคือเราจะต้องจำให้ได้ว่าเราเขียนอะไรลงในใบสมัคร เวลาที่เราถูกเรียกตัวไปสอบสัมภาษณ์งาน เวลาเขาถามแล้วเราตอบไม่ตรงกับที่เขียน เพราะจำไม่ได้ว่าเคยเขียนอะไรลงไป ผู้สัมภาษณ์อาจเข้าใจว่าเราโกหกซึ่งอาจทำให้เราไม่ได้รับเลือกเข้าทำงานได้

                หลังจากยื่นใบสมัครแล้ว เราก็ต้องเตรียมตัวเข้ารับการสัมภาษณ์ให้พร้อมไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ เพราะบรรยากาศขณะสัมภาษณ์งานอาจทำให้เรามีอาการประหม่าและ ตื่นเต้น ยิ่งถ้ามีคู่แข่งน่ากลัวหรือผู้สมัครที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา มารับการสัมภาษณ์ร่วมกับเราก็จะยิ่งทำให้เราเกร็งมากขึ้น จนบางครั้งทำให้มีอาการอ้ำอึ้ง แม้คำถามง่ายๆ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ทำให้ผู้สัมภาษณ์รับรู้ว่าเราเป็นคนที่ด้อยกว่าคนอื่นไป ทั้งที่จริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย

                อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ เราก็จะไม่กลัวการสัมภาษณ์ เพราะเมื่อใดที่เราได้รับจดหมายเรียกตัวไปสัมภาษณ์ แสดงว่าเรามีคุณสมบัติที่เหมาะสมในเบื้องต้นแล้ว แต่ผู้สัมภาษณ์อาจจะยังต้องการข้อมูลอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับตัวเรานอกเหนือไปจากข้อมูลในใบสมัคร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มากขึ้นสำหรับตัดสินใจรับเราเข้าทำงาน และการตั้งระดับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้

                ดังนั้น ในการเตรียมตัวไปรับการสัมภาษณ์ เราจึงควรคิดล่วงหน้าว่านายจ้างอยากรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเรา ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาต่างๆ ที่เราเรียนว่าสามารถนำมาใช้กับตำแหน่งที่เราสมัครเข้าทำงานได้หรือไม่ อย่างไร และอาจอยากรู้ว่าบุคลิกภาพของเราเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน กระตือรือร้น ไม่ย่อท้อต่องานหนักหรือเปล่า แล้วอะไรจะเป็นเครื่องยืนยันว่าเราเป็นคนแบบนั้น เราคงจะต้องย้อนดูอดีตของตัวเราเองว่าเคยผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง และเราสามารถดึงประสบการณ์ใดออกมาบอกเล่าเพื่อเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะที่ดีในตัวเราได้บ้าง

                นอกจากนั้นแล้ว เราควรเตรียมหาความรู้รอบตัว หรือความรู้พิเศษนอกเหนือจากที่เรียนมาไว้ด้วย เพราะสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจในสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ความใฝ่รู้ และรักความก้าวหน้า เราควรพยายามมองการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมกับงานที่เราสนใจสมัครด้วยว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความสามารถในการคิดของเรา และเป็นสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ต้องการให้พนักงานของตนมี นอกจากนี้ นายจ้างจะพิจารณาว่าเรามีความสามารถอื่นด้านใดบ้าง สิ่งที่เราควรหาความรู้เพิ่มเติมเอาไว้ก็คือ ความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ และทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และทักษะอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานที่เราสมัคร การที่เราเคยมีประสบการณ์เข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ และสามารถถ่ายทอดให้นายจ้างฟังได้อย่างคล่องแคล่วก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นายจ้างใช้พิจารณาว่าเราเป็นคนที่มีความสนใจในอาชีพและรักความก้าวหน้าหรือไม่

            บางครั้งเราอาจถูกถามถึงโครงการในอนาคตว่ามีเป้าหมายอะไรในชีวิตบ้าง เป็นการดูวิสัยทัศน์ในการวางแผนชีวิต ซึ่งบางครั้งถ้าเขาเห็นว่าเรามีเป้าหมายที่จะไปเรียนต่อในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เขาอาจไม่แน่ใจว่าควรรับเราเข้าทำงานหรือไม่ เพราะกว่าจะใช้เวลาสอนงานเราจนเป็นงาน ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร แล้วพอทำงานได้ไม่นาน เราก็จะลาไปเรียนต่ออีก อย่างไรก็ตาม หากเราวางแผนจะไปเรียนต่อจริงก็ควรให้ความมั่นใจกับหน่วยงานที่เราสมัครเข้าทำงานว่า การไปเรียนต่อของเราจะไม่ทำให้งานเสียหาย เพราะเราจะมีการเตรียมทีมงานไว้ล่วงหน้าเรียบร้อย   

                 นอกจากการเตรียมข้อมูลและคำตอบที่ดีให้พร้อมแล้ว สิ่งที่เราอาจมองข้าม แต่เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังให้ดีเมื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ ก็คือบุคลิกภาพ และวิธีการนำเสนอเรื่องราวของเรา บุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อการรับรู้ของผู้สัมภาษณ์ เวลาที่เราเข้าไปรับการสัมภาษณ์ ควรมีความสำรวมกิริยา นั่งอย่างสุภาพ ไม่หลุกหลิกหรือสอดส่ายสายตามากเกินไป และสิ่งที่ไม่ควรทำอีกประการคือการวางท่าโอ้อวด แสดงความคิดเห็นโต้แย้งในทุกเรื่อง หรือตรงกัยข้าม คือ ยอมตามมากเกินไป จนเหมือนไม่มีความคิดของตัวเอง

                และเพื่อให้เราโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ที่เข้ารับการสัมภาษณ์งานเดียวกับเรา เราควรฝึกหัดเล่าเรื่องของตนเองให้น่าสนใจด้วยนะครับ ถ้าเราตื่นเต้นจนเล่าไม่ถูก หรือพูดมากเกินไปเหมือนน้ำท่วมทุ่ง ก็จะดูน่าเบื่อ หรือถูกมองเป็นคนไม่มั่นใจในตนเองไป เราจึงควรฝึกพูดให้เป็นขั้นเป็นตอน มีการกล่าวถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิต ว่ามีผลส่งเสริมคุณสมบัติเด่นในตัวเราอย่างไร และสามารถนำมาปรับใช้กับงานได้อย่างไร      

                จากวิธีทั้งหมดที่ได้แนะนำไป คงทำให้นักศึกษาจบใหม่หลายคนคลายความเครียด และความวิตกกังวลในการสัมภาษณ์งานลง สุดท้ายยะครับ ขอให้จำไว้ว่าในวันที่เราไปเข้ารับการสัมภาษณ์งานนั้น ควรเป็นวันที่เราพร้อมเต็มที่ เตรียมสุขภาพให้แข็งแรง มีจิตใจสดชื่น ไร้กังวล พูดทุกสิ่งออกมาจากใจ และพูดตามความเป็นจริง ไม่โอ้อวด แม้บางคนอาจต้องผิดหวังจากการไม่ได้รับคัดเลือกเข้าทำงานในบางงานที่สมัครไป แต่ก็ต้องไม่หมดกำลังใจนะครับ ต้องกลับมาเตรียมตัวใหม่ให้พร้อมมากขึ้น แล้วความสำเร็จต้องเป็นของคุณสักวันแน่นอนครับ

หมายเลขบันทึก: 403669เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2010 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท