ภาคประชาสังคมจากกลุ่มอาสาสมัคร


การทำงานของ “ภาคประชาสังคม” จะต้องอยู่ในพื้นที่ อยู่ในสนาม และอยู่ในชุมชน จะต้องไม่ติดกับดักการเดินเข้า-ออกห้องประชุมมากและนานเกินไป เพราะจะทำให้ความคิดเปลี่ยน จิตใจเปลี่ยน หลงตัวเองไปกับการสร้างวาทกรรมสวยหรูดูดี แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างสังคมเข้มแข็งขึ้นมาได้

ในการแสดงความคิดเห็นให้กับ ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดย อ.ปรีชา อุยตระกูล ซึ่งทำหน้าที่ศึกษา องค์ความรู้ในการวางรากฐานสู่การขับเคลื่อนโยบายประชาสังคมเพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ของสำนักงานปลัดฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีคำถามข้อหนึ่งถามว่า “ท่านคิดว่าภาคประชาสังคมจะต้องทำอะไรบ้าง และทำอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็ง ?” และนี่คือความเห็นของผม

 

กลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาสังคม” จะต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองอย่างจริงจังในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะแนวความคิดที่ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง มีวิถีปฏิบัติบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองและพึ่งกันเองในกลุ่มผูกพัน โดยมีหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบในการวิเคราะห์ชีวิต หมั่นแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่ม ให้เกิดศักยภาพใหม่ใน “ภาคประชาสังคม” นำไปสู่การสร้างทางเลือกใหม่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการชี้นำสังคมไปสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

 

การทำงานของ “ภาคประชาสังคม” จะต้องอยู่ในพื้นที่ อยู่ในสนาม และอยู่ในชุมชน จะต้องไม่ติดกับดักการเดินเข้า-ออกห้องประชุมมากและนานเกินไป เพราะจะทำให้ความคิดเปลี่ยน จิตใจเปลี่ยน หลงตัวเองไปกับการสร้างวาทกรรมสวยหรูดูดี แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างสังคมเข้มแข็งขึ้นมาได้

 

กลุ่มประชาสังคมในจังหวัดชุมพรเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน จากการติดตามและเฝ้าดูโครงสร้าง การรวมตัว บทบาท การเคลื่อนไหว ฯลฯ ของกลุ่มต่าง ๆ ขอยกตัวอย่างสักหนึ่งกลุ่ม คือ กลุ่มประชาสังคมที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้ง “อาสาสมัคร” ของภาครัฐ ดังนี้

 

หน่วยงานราชการเกือบทุกกระทรวงมีนโยบายเหมือน ๆ กันที่จะจัดตั้งอาสาสมัครจากภาคประชาชนเพื่อสร้างกลไกการทำงานในพื้นที่ให้สนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันภารกิจของตนเองไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จตามที่คาดหวัง กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้เมื่อมีจำนวนมากขึ้นและขยายตัวในชุมชน/พื้นที่ทุกระดับจะได้รับการชี้นำให้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรในนามของ “ชมรม” เป็นส่วนใหญ่

 

ในการเรียกหา “ภาคประชาสังคม” เพื่อเข้ามามีบทบาทร่วมกับภาครัฐ โดยการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ผู้นำโดยตำแหน่งและตัวบุคคลที่โดดเด่นจากชมรมของกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้มักจะได้รับการเสนอชื่ออยู่เสมอ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหน่วยงานนั้น ๆ

 

ตัวอย่างของกลุ่มอาสาสมัครที่มีบทบาทชัดเจน มีกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ที่เข้มแข็ง มีการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐให้สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสังคม ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

 

กลุ่มอาสาสมัครของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) อาสาสมัครช่วยคนพิการ อาสาสมัครผู้สูงอายุเพื่อสวัสดิการชุมชน สภาเด็กและเยาวชน ฯลฯ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัครจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีลักษณะงานใกล้เคียงกัน ได้แก่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครคุมประพฤติ อาสาสมัครส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครพิทักษ์ป่า ฯลฯ

 

กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้เกิดขึ้นจากการจัดตั้งตามนโยบายและแรงผลักดันของภาครัฐเป็นหลัก นอกเหนือจากกลุ่ม อสม. แล้ว กล่าวได้ว่าสังคมในวงกว้างส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ไม่เคยได้รับผลจากการทำงานโดยตรง และไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของอาสาสมัครเหล่านี้ คงมีแต่ในพื้นที่/ชุมชนที่มีโครงการเฉพาะกิจลงไปปฏิบัติการก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น ดังนั้น แนวทางการพัฒนา “อาสาสมัคร” เพื่อยกระดับความสามารถให้ทำหน้าที่เป็นกลุ่มประชาสังคมได้ดียิ่งขึ้นจึงเป็นภารกิจที่จะต้องดำเนินการต่อไป

 

 ขอย้ำว่าคำตอบเหล่านี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผมเท่านั้น ถ้าตัดสินกันด้วยมาตรฐานถูก-ผิด เชื่อว่าต้องมีความแตกต่างทางความคิดเกิดขึ้นแน่ ๆ ผมพร้อมจะเรียนรู้ครับ

หมายเลขบันทึก: 403336เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 00:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ตรงใจมากครับ ต้องอยู่ในพื้นที่ ในสนาม ในชุมชน มากกว่าติดกับดักในห้องประชุมมากเกินไป ผมเห็นด้วยเพราะส่วนราชการที่ขับเคลื่อนไปไม่ได้ผลมากเนื่องจากชอบประชุมๆๆๆๆๆ

ขอบคุณครับ ครูหยุย สำหรับความเห็นดี ๆ ที่มีให้อย่างสม่ำเสมอ

สวัสดีครับคุณไอศูรย์.

ตามมาจากที่ท่านไปตอบอ.สุรเชษฐ ครับ

ชอบในมุมมองของท่าน

ขออนุญาตนำบล็อกนี้เข้าแพลนเน๊ตนะครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ คุณต้นสเต็ก
ยินดีต้อนรับเพื่อนใหม่ที่มีมุมมอง ความคิดไปในทางเดียวกัน
"ประโยคเดียวง่าย ๆ ->ทำแต่ความดีนะลูก<- ง่าย ๆ"

อ่านบันทึกอาจารย์ แล้ว ตอบตัวเองไม่ถูกว่าเราเป็นอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรเราต้องทบทวนตัวเอง

(“ภาคประชาสังคม” จะต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองอย่างจริงจังในทุก ๆ )

หลายคนจากผู้นำธรรมชาติ ถูกภาครัฐจัดการ โดยการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ แล้วถูกกลืนในห้องประชุม

หลายคนเป็นวิทยากร"มะม่วงบ่มแก๊ส" แล้วหลง

ขอน้อมรับ เสียงทักจากอาจารย์ ในการทำงานชุมชน ทบทวนๆ ไม่จะเป็นอะไรต้องทบทวนหลบไปหาที่มา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท