ถอดบทเรียนในการจัดการปัญหาสถานะบุคคล:การรับรองการเกิดกรณีนายวิษณุ บุญชา (ตอนที่ ๒)


-๔- 

ห้องทดลองเพื่อการจัดการปัญหา 

เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะเกิดนั้นพ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และแม้ต่อมาหลังจากวิษณุเกิดแล้วพ่อกับแม่ก็ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้นวิษณุจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของแม่[1]

ในขณะที่วิษณุเกิด แม่ของเขามีสถานะเป็น “คนต่างด้าว” เนื่องจากถูกถอนสัญชาติไทยโดยผลของข้อ ๑ แห่งประกาศคณะปฏิวัติที่ ๓๓๗[2] ซึ่งปกติแล้วจะต้องไปร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แต่เมื่อแม่ของวิษณุไม่มีเอกสารใดๆเลยจึงถูกสันนิษฐานโดยผลของกฎหมายไปโดยปริยายว่าเป็นคนต่างด้าว[3]เข้าเมืองผิดกฎหมาย[4] และถูกสันนิษฐานเช่นนี้ไปจนกว่าจะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์สถานะที่แท้จริงได้

อย่างไรก็ดี สถานะบุคคลของแม่ไม่ได้กระทบต่อสิทธิที่วิษณุจะได้รับเอกสารรับรองการคลอดจากโรงพยาบาล หรือที่ทางราชการเรียกว่า “หนังสือรับรองการเกิด” หรือ “ท.ร.๑/๑ ตอนที่ ๑” แต่อย่างใด ดังนั้น อย่างน้อยวิษณุจะต้องมี“ท.ร.๑/๑ ตอนที่ ๑” ที่ออกโดยโรงพยาบาล และมีสิทธิที่จะร้องขอหนังสือรับรองสถานที่เกิดได้ตาม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ได้ตั้งแต่เกิด

และต่อมาเขายังมีสิทธิร้องขอหนังสือรับรองสถานที่เกิด(ท.ร.๒๐/๑)ตามมาตรา ๒๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมา

หลังจากทราบสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของวิษณุแล้วคณะทำงานจึงออกแบบการจัดการปัญหาโดยเริ่มจากการรวบรวมข้อเท็จจริงโดยการสอบถามพูดคุยกับพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดได้แก่แม่พ่อ และน้าๆรวมถึงยายของวิษณุ

ข้อด้อยของพยานหลักฐานที่คณะทำงานรวบรวมได้ในเบื้องต้นก็คือ มีเพียงคำบอกเล่าจากพยานบุคคลซึ่งเป็นญาติสนิทเท่านั้น ส่วนพยานที่อาศัยในละแวกบ้านปัจจุบันของวิษณุ ได้แก่คุณยายลี่ และคุณยายทา สามารถยืนยันได้แต่เพียงว่าเคยเห็นวิษณุตั้งแต่เป็นเด็กแบเบาะและยืนยันได้ว่าเป็นลูกของนางปัจจราและนายเล็ก แต่ไม่สามารถยืนยันถึงสถานที่ที่เขาเกิดว่าเขาเกิดที่ไหน เนื่องจากคนที่รู้และอยู่ในเหตุการณ์จริงๆมีเพียงแม่และพ่อ และเพื่อนร่วมงานของแม่ที่ช่วยขับรถไปส่งที่โรงพยาบาลเท่านั้น ส่วนน้าๆและยายก็เห็นตอนที่แม่ตั้งครรภ์และตอนที่วิษณุคลอดออกมาแล้ว

อย่างไรก็ดี โชคยังเข้าข้างที่วิษณุคลอดในโรงพยาบาล ประกอบกับแม่จำวัน-เวลาคลอดและ น้ำหนักแรกเกิดของวิษณุได้ จึงได้มีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล[5]เพื่อประสานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น จึงทำให้ทราบว่ามีการคลอด ด.ช.วิษณุ ในวันเวลาตามที่แม่บอกจริงๆเพียงแต่ทางโรงพยาบาลยังไม่แน่ใจว่าเป็นแม่คนเดียวกันเนื่องจากนามสกุลที่แม่แจ้งนั้นไม่ตรงกับปัจจุบัน

เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลฯ คณะอนุกรรมการได้เห็นชอบให้จัดทำเป็นโครงการสร้างและพัฒนาต้นแบบการพิสูจน์สถานะบุคคลของบุคคลที่ตกหล่นจากการพิสูจน์สัญชาติพม่า : กรณีศึกษาครอบครัวนางสันที(แสนถี) โดยหนึ่งในนั้น คือ การจัดการปัญหาสถานะบุคคลให้กับวิษณุ อันเป็นที่มาของการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อเท็จจริงและเพื่อยื่นคำร้องในการจัดการปัญหาไร้เอกสารรับรองการเกิดของวิษณุ

ก่อนการเดินทาง

การเดินทางเพื่อจัดการปัญหาไร้เอกสารรับรองการเกิดของวิษณุได้เริ่มขึ้นในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๓ โดยมีฝ่ายเลขาของคณะอนุกรรมการฯช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ดังนี้

๑.    ทำหนังสือขออนุญาตผู้อำนวยการโรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ เพื่อขอให้วิษณุเดินทางไปดำเนินการจัดการปัญหาด้วยตนเอง

๒.   ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขออนุญาตพาวิษณุออกนอกพื้นที่เพื่อไปดำเนินการขอหนังสือรับรองการเกิดยังจังหวัดราชบุรี

๓.    ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโป่ง เพื่อประสานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าวิษณุเกิดที่โรงพยาบาลจริงหรือไม่ และหากเกิดที่โรงพยาบาลบ้านโป่งจริงก็ขอให้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ ตอนที่ ๑ หรือ ออกเอกสารอื่นเพื่อรับรองการเกิด

๔.   ทำหนังสือถึงเทศบาลบ้านโป่ง เพื่อประสานในเบื้องต้นว่าจะมีการเดินทางไปขอหนังสือรับรองการเกิด

๕.   ทำหนังสือถึงอำเภอบ้านโป่ง เพื่อประสานในเบื้องต้นว่าจะมีการเดินทางไปขอหนังสือรับรองการเกิด

๖.    นอกจากนี้ยังได้มีการทำหนังสือประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเพื่อแจ้งว่าจะมีการเดินทางไปขอหนังสือรับรองการเกิดที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

 

การเดินทาง ครั้งที่ ๑[6] การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้เรามีเป้าหมายเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด โดยมีผู้ร่วมการเดินทาง คือ คณะทำงาน และสมาชิกครอบครัววิษณุ ได้แก่ แม่ และน้าชายอีก ๒ คน และลูกพี่ลูกน้องของวิษณุอีก ๑ คน

๑.ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด ณ สำนักงานเทศบาลบ้านโป่ง 

เราเริ่มต้นทริปนี้ด้วยการเดินทางไปสำนักงานเทศบาลบ้านโป่งเพื่อยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร.๒๐/๑)ให้วิษณุเนื่องจากวิษณุเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขอสูติบัตร

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของคณะทำงานทำให้วิษณุยื่นคำร้องขอสูติบัตร แทนที่จะเป็นการร้องขอหนังสือรับรองการเกิด เนื่องจาก

คณะทำงานคนหนึ่ง เห็นว่าแม่ของวิษณุมีเลข ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วย “๖” ในขณะที่วิษณุเกิด แม้ว่าปัจจุบันเลขดังกล่าวจะถูกระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรไปเมื่อปี ๒๕๕๒ ดังนั้น จึงต้องยื่นขอสูติบัตร ท.ร.๓

ในขณะที่อีกอีกคนเห็นว่า วิษณุก็มีเลข ๑๓ หลักแล้ว สามารถยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดได้โดยไม่ต้องแจ้งเกิดใหม่ประกอบกับยังอยู่ระหว่างดำเนินการพิสูจน์ว่าเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก นั้นเป็นของแม่วิษณุจริงหรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถพิสูจน์ได้แล้ววิษณุก็ไม่อาจมีสูติบัตร ท.ร.๓ ได้

เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน สุดท้ายแล้วก็ใช้วิธีการยื่นคำร้องขอสูติบัตร และให้ทางเทศบาลบันทึกคำพยานของแม่และน้าอีก ๒ คนเพื่อเป็นพยานรับรองการเกิด

ณ จุดนี้เอง ข้อผิดพลาดประการสำคัญของเราก็คือ

ประการแรก เราควรเดินทางไปหาพยานหลักฐานที่แสดงว่าวิษณุคลอดในโรงพยาบาลจริงๆมาให้ได้เสียก่อน เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานประกอบในการยื่นคำร้อง อย่างไรก็ดีไม่หมดหนทางเสียทีเดียวเมื่อเจ้าหน้าที่เทศบาลบอกว่าจะตรวจสอบโดยการทำหนังสือไปสอบถามทางโรงพยาบาลบ้านโป่ง และให้ทางโรงพยาบาลทำหนังสือตอบมา เพื่อนำหนังสือนั้นมาเป็นพยานหลักฐานซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทางเทศบาลมีอำนาจทำได้

ประการที่สอง การที่แม่ของวิษณุมีชื่อหลายชื่อ ก็เป็นอุปสรรคประการหนึ่งด้วย เนื่องจากในเอกสารทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ ที่ถูกระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรนั้น ระบุว่าชื่อ “ปัจจรา” ส่วน ท.ร.๓๘ข ของวิษณุระบุชื่อ “ปัญจรา”แต่ในเอกสารการเรียน และเอกสารอื่นระบุชื่อ “ปัจจรา บุญชา”บ้าง “บุญมี บุญชา”  บ้าง “บุญมี (ไม่มีนามสกุล)”บ้าง ที่สำคัญในเอกสารทะเบียนห้องคลอดที่โรงพยาบาลบ้านโป่งระบุชื่อ “บุญมี ศรีวาร” ซึ่งไม่ตรงกัน ทำให้ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลเองก็ไม่ค่อยเชื่อ ว่าทุกชื่อที่กล่าวมานี้เป็นคนๆเดียวกันจริง และไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อไหน

ในประเด็นนี้ได้แก้ปัญหาโดย ให้ทางเทศบาลสอบถามและบันทึกคำพยานของแม่ไปในเบื้องต้นว่ามีการใช้หลายชื่อและรับรองว่าเป็นคนเดียวกันจริง

กว่าจะสอบพยานทั้ง ๓ คน รวมถึงวิษณุเสร็จเรียบร้อย เวลาก็ล่วงเลยไปถึงบ่ายสองโมงกว่าเราจึงได้ออกเดินทางไปยังอำเภอบ้านโป่ง

๒. หาพยานหลักฐานรับรองการเกิดเพื่อยืนยันว่าวิษณุเกิดที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง 

หลังจากแวะเยี่ยมเทศบาลบ้านโป่ง เราตรงไปที่โรงพยาบาลบ้านโป่งเพื่อหาพยานหลักฐานว่าวิษณุเกิดที่โรงพยาบาลบ้านโป่งจริง ที่นี่ทางเจ้าหน้าที่นำทะเบียนห้องคลอดมาเปิดให้ดูและบอกว่าวิษณุน่าจะคลอดที่โรงพยาบาลนี้จริง ทางโรงพยาบาลยินดีออกหนังสือตอบไปยังเทศบาล และแจ้งว่ากรณีแบบนี้ทางโรงพยาบาลเคยออก ท.ร.๑/๑ ตอนที่  ๑ ไปให้ตั้งแต่มาคลอดแล้ว และโรงพยาบาลไม่มีต้นขั้วของ ท.ร.๑/๑ แล้วเนื่องจากมีการทำลายไปทุกๆ ๕-๑๐ ปี ไม่สามารถออกให้ซ้ำได้ จะออกเป็นหนังสือตอบไปยังเทศบาลว่า นางบุญมี ศรีวาร มาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลจริงตามข้อมูลในทะเบียนห้องคลอดเท่านั้น 

 

๓. แวะเยี่ยมอำเภอบ้านโป่ง 

 เนื่องจากในตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าทางเทศบาลจะดำเนินการจัดการออกหนังสือรับรองการเกิด หรือสูติบัตรให้หรือไม่ และไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลบ้านโป่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของเทศบาลหรืออำเภอ เราจึงกันเหนียว ไปทั้งสองที่ ที่นี่เป็นการบอกเล่าและแจ้งว่ามายื่นคำร้องขอเอกสารเพื่อรับรองการเกิด

 

การเดินทาง ครั้งที่ ๒[7] การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้เรามีเป้าหมายเพื่อเตรียมพยานหลักฐานให้พร้อม และทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่เทศบาลอีกครั้ง เพื่อเตรียมให้วิษณุเดินทางมายื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดด้วยตนเองในคราวต่อไป เนื่องจากวิษณุมีสอบกลางภาคจึงไม่สามารถเดินทางมาพร้อมกันได้ เรา[8]เริ่มต้นการเดินทางโดยมุ่งหน้าไปยัง โรงพยาบาลบ้านโป่ง เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อยืนยันการเกิด

 

๑. หาพยานหลักฐานรับรองการเกิดเพื่อยืนยันว่าวิษณุเกิดที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง  

เนื่องจากในการเดินทางครั้งแรกเรายังไม่ได้อธิบายข้อกฎหมายในการออกหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ แก่เจ้าหน้าที่ จึงต้องกลับมาทำความเข้าใจในประเด็นนี้อีกครั้ง และได้รับการยืนยันจากทางโรงพยาบาลเหมือนเดิมว่าวิษณุเกิดที่โรงพยาบาลจริง และจะออกหนังสือรับรองว่าคลอดให้แต่ไม่สามารถออก ท.ร.๑/๑ ตอน ๑ ได้เพราะเคยออกไปแล้ว

การมาคราวนี้อดทำให้เรามีคำถามเกิดขึ้นไม่ได้ว่า ถ้าเจ้าของปัญหาเดินมาขอให้ทางโรงพยาบาลรับรองการเกิดด้วยตนเองโดยที่ทางเทศบาลไม่ได้ส่งหนังสือมาถาม ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการให้หรือไม่?  ในประเด็นนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่าไม่จำเป็นว่าทุกกรณีจะต้องมีหนังสือสอบถามจากเทศบาลหรืออำเภอ แต่โรงพยาบาลจะพิจารณาจากวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้เป็นรายกรณีๆไป 

๒. เตรียมทำความเข้าใจข้อกฎหมายเพื่อนำวิษณุมายื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด ณ เทศบาลบ้านโป่ง

ก่อนมาคราวนี้ทางเทศบาลมีประเด็นที่ไม่เข้าใจ และเป็นข้อจำกัดที่บอกว่าไม่สามารถดำเนินการออกเอกสารรับรองการเกิดให้วิษณุได้ หลายประการเราจึงต้องทำความเข้าใจกับทางเจ้าหน้าที่เทศบาล ดังนี้

ประการแรก เจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่สามารถรับคำร้องได้เพราะ ท.ร.๓๘ข ระบุเลข ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย “0” ในขณะที่ทะเบียนนักเรียนสมัยประถมระบุเลข ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย “G”[9] ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่แน่ใจว่าถ้ารับคำร้องแล้วจะต้องถือเอาตามเลขประจำตัวเลขใด  

ในประเด็นดังกล่าว ได้มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องใช้เลขประจำตัวบุคคลที่ขึ้นต้นด้วย “0” ซึ่งเป็นเลขประจำตัว ๑๓ หลักที่ถูกต้องเพียงเลขเดียวในปัจจุบัน เนื่องจากเลขที่ขึ้นด้วย “G” เป็นเลขที่ทางกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้แก่เด็กที่ไม่มีเลข ๑๓ สามารถเข้าเรียนได้เหมือนเด็กที่มีเลข ๑๓ หลัก ไม่ใช่เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักในระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง ดังนั้น จึงไม่สามารถนำมาใช้ระบุสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรในการยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดได้

ประการที่สอง เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดตาม ม. ๒๐/๑ เนื่องจากเคยยื่นคำร้องขอแจ้งเกิดเกินกำหนด หรือขอสูติบัตร ท.ร.๓ แล้ว จึงต้องรอผลการพิสูจน์สถานะบุคคลของแม่ว่าเป็นคนเดียวกับนางปัจจราซึ่งมีเลขประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๖ จริงและเป็นคนเดียวกับ “บุญมี ศรีวาร”  ซึ่งมาคลอดวิษณุที่โรงพยาบาลบ้านโป่งจริง

ในประเด็นนี้ จึงได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ว่าวิษณุมีอายุเกิน ๑๕ ปี แล้วจึงต้องมาดำเนินการถอนคำร้องเก่าและยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดใหม่ด้วยตนเอง

และเมื่อถอนคำร้องเก่า เพื่อดำเนินการตามคำร้องใหม่ก็สามารถดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิดไปได้เลยโดยไม่ต้องรอผลการพิสูจน์สถานะบุคคลของแม่ เพราะการขอหนังสือรับรองการเกิดนั้นสามารถทำได้โดยไม่จำกัดสถานะบุคคลของแม่ว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวหรือได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยเหมือนกับการขอสูติบัตร ท.ร.๓

ประการที่สาม เจ้าหน้าที่กล่าวว่าไม่สามารถรับคำร้องได้เนื่องจากวิษณุ รวมถึงพ่อและแม่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน

ในประเด็นนี้ ได้มีการทำความเข้าใจว่าหากผู้ยื่นคำร้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดและมีพยานหลักฐานตามที่กำหนดก็สามารถยื่นคำร้องได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารแสดงตน กฎหมายเพียงระบุว่า “ให้นำบัตรประจำตัวมาแสดงถ้ามี” ดังนั้น การที่บุคคลทั้งสามไม่มีบัตรประจำตัวจึงไม่เป็นอุปสรรคในการขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑ แต่อย่างใด

ประการที่สี่ เจ้าหน้าที่เรียกร้องขอพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือที่จะยืนยันการเกิด โดยระบุว่าต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น  

ในประเด็นนี้ ได้มีการทำความเข้าใจว่าพยานที่น่าเชื่อถือคือพยานที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีอาชีพแน่นอน ไม่ใช่พยานรับจ้าง ต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว และมีอายุมากกว่าคนที่รับรอง ไม่จำต้องเป็นข้าราชการเสมอไป แต่จะต้องเป็นบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของวิษณุจริง สามารถยืนยันได้ว่าวิษณุเกิดในประเทศไทย  

ประการที่ห้า เจ้าหน้าที่บอกว่าแบบบันทึกคำพยานบุคคลที่เคยสอบถามเพื่อรับรองการเกิดไปก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ จะต้องทำบันทึกคำพยานบุคคลใหม่ทั้งหมด เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องใหม่ แม้ว่าจะเป็นการสอบเพื่อยืนยันการเกิดในประเทศไทยก็ตาม

ในประเด็นนี้ ได้มีการทำความเข้าใจว่าถือเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิที่จะเรียกพยานมาสอบและบันทึกคำพยานเนื่องจากเจ้าหน้าที่จะต้องเป็นผู้ชั่งน้ำหนักคำพยานนั้นประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด แต่อย่างไรก็ดีได้ย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่ควรสร้างภาระให้แก่ผู้ร้องเกินสมควร มิเช่นนั้นจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งอาจถูกผู้ยื่นคำร้องดำเนินคดีได้

หลังจากทำความเข้าใจในประเด็นที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าเข้าใจสถานะบุคคลของวิษณุมากขึ้น และจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

 

๓. แวะเยี่ยมอำเภอบ้านโป่ง อีกครั้ง 

หลังจากเสร็จภารกิจที่เทศบาลบ้านโป่งแล้ว คณะของเราได้เดินทางมายังที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่เราเดินทางมาที่อำเภอเพื่อขอหารือเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับวิษณุ คราวนี้เราหารือวิธีการถอนคำร้องเก่าซึ่งได้ข้อสรุปว่าผู้ยื่นคำร้องเดิมจะต้องไปยื่นเรื่องขอถอนคำร้องที่เทศบาลบ้านโป่งซึ่งเป็นที่ที่ไปยื่นคำร้องไว้เดิม แล้วทางเจ้าหน้าที่เทศบาลจะดำเนินการส่งเรื่องขอถอนคำร้องเดิมมาที่อำเภอเอง

ที่นี่คณะทำงานของเราพบว่านายทะเบียนเข้าใจสถานะบุคคลของวิษณุและแม่เป็นอย่างดี คณะของเราแทบไม่ต้องอธิบายอะไรเลย แถมนายทะเบียนยังกล่าวกับคณะของเราว่า “ผมว่าถ้ายายของวิษณุไม่ย้ายที่อยู่ ป่านนี้ก็ได้ใบต่างด้าวไปแล้ว แม่และวิษณุก็จะได้ลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา ๒๓ (หรือ มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑) ไปเรียบร้อยแล้วล่ะ”

ฉันอดที่จะชื่นชมนายทะเบียนท่านนี้ไม่ได้ นับแต่ลงพื้นที่มาแทบจะนับครั้งได้ที่เราเจอนายทะเบียนที่ศึกษากฎหมายมาเป็นอย่างดี มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายอย่างถ่องแท้ และเข้าใจประชาชน ขอให้นายทะเบียนไทยเป็นเช่นนี้ทุกอำเภอไป

 

การเดินทางครั้งต่อไป..และเป้าหมาย

แม้ว่าการเดินทางสองครั้งที่ผ่านมานี้ยังไม่สามารถจัดการปัญหาของวิษณุและครอบครัวได้ทั้งหมด เรา(ฉันและคณะทำงาน)จึงมีแผนการที่จะเดินทางกลับมาที่เทศบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีอีกครั้ง ในช่วงเดือนตุลาคมที่วิษณุปิดภาคเรียนเพื่อนำเขากลับมายื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดด้วยตนเอง เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะดำเนินการจัดการปัญหาด้วยตนเอง แต่ปัญหาของการเดินทางครั้งที่สามนี้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเวลาและภาระงานซึ่งไม่ค่อยลงตัว เนื่องจากนั้น ฉันเองมีภาระกิจหลายอย่างที่ต้องจัดการทั้งเคลียร์งานเก่าที่ค้างส่งและมีกำหนดส่งช่วงนี้พอดี และตรวจข้อสอบ รวมถึงต้องเตรียมการสอนและเริ่มสอนในวิชาใหม่ๆ

ในขณะที่ฉันต้องจัดการปัญหาของตัวเอง วิษณุเองก็ต้องการคนที่จะพาเขาเดินทางไปจัดการปัญหาที่ค้างมานานกว่า ๑๖ ปี เช่นกัน ฉันควรจะตัดสินใจอย่างไรดี...ฉันตัดสินใจเปิดสมุดนัดเพื่อหาเวลา ห้าวัน กับการเดินทางจากพิษณุโลกมุ่งสู่บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อให้การเดินทางครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด บทเรียนจากชีวิตจริงในการจัดการปัญหาของวิษณุและครอบครัวควรได้รับการนำกลับมาถ่ายทอดเป็นบทเรียนในห้องเรียนเพื่อการจัดการประชากรโดยกฎหมายไทยในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ห้องเรียนเคลื่อนที่และบทเรียนนอกหลักสูตรกำลังเริ่มต้นแล้ว

โปรดติดตามการเดินทางครั้งต่อไป

 

 

 


[1] เนื่องจากพ่อและแม่ของวิษณุปรากฎตัว และอาศัยสร้างบ้านเรือนในประเทศไทย จึงมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ในประเทศไทย เมื่อไม่ปรากฎพยานหลักฐานที่เพียงพอว่าทั้งพ่อและแม่มีสัญชาติไทย จึงตกอยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานว่าเป็นคนต่างด้าว และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีรัฐใดเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ จึงถือได้ว่าทั้งพ่อและแม่ของวิษณุ “ไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง” (de facto nationalitylessness)

เป็นไปตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามีของมารดาในขณะที่บุตรนั้นเกิด ถ้าหากในขณะที่กล่าวนั้น สามีได้ถึงแก่ความตายเสียแล้วก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของสามีในขณะที่ถึงแก่ความตาย”

ประกอบกับ มาตรา ๖ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฎให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ”

และมาตรา ๑๕๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น”

ดังนั้น วิษณุจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของแม่เท่านั้น

[2] ประกาศคณะปฏิวัติที่ ๓๓๗

ข้อ ๑ ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักร โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(๑)  ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นพิเศษเฉพาะราย

(๒)  ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นเพียงชั่วคราว หรือ

(๓)  ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

[3] เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งวางหลักว่า

“...ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยถ้าไม่ปรากฎหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย...”

[4] เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งวางหลักว่า

“คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีหลักฐานการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามมาตรา ๑๒(๑) หรือไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามพระราชบัญญัตินี้ และทั้งไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนต่างด้าวผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้”

[5] ติดต่อครั้งแรกเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๕๑? โดย อ.ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ครั้งที่สองเมื่อประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๒? โดยนางสาวบงกช นภาอัมพร คณะทำงานโครงการบางกอกคลินิกฯ และครั้งที่สามเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒? โดยนางสาวกิติวรญา รัตนมณี

[6] ภายใต้กิจกรรมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในโครงการสร้างและพัฒนาต้นแบบการพิสูจน์สถานะบุคคลของบุคคลที่ตกหล่นจากการพิสูจน์สัญชาติพม่า : กรณีศึกษาครอบครัวนางสันที(แสนถี) ระหว่างวันที่ ๕-๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อำเภอไทรโยค และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี คณะทำงานประกอบด้วย ๑.นายมานะ งามเนตร์ และ ๒.นางสาวกิติวรญา รัตนมณี อนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล ของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะผู้ร่วมเดินทางซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวนางแสนถี(หรือสันที) จำนวน ๗ คน ได้แก่ ๑.นางแสนถี ๒.นางบุญมี ๓.นายอำพล ๔.นายอดุลย์ ๕.นายสัญชัย ๖.นายบุญชัย และ ๗.นายวิษณุ

[7] ภายใต้กิจกรรมลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเชิงกัลยาณมิตร และติดตามความคืบหน้าในการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ในโครงการสร้างและพัฒนาต้นแบบการพิสูจน์สถานะบุคคลของบุคคลที่ตกหล่นจากการพิสูจน์สัญชาติพม่า : กรณีศึกษาครอบครัวนางสันที(แสนถี) ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ณ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อำเภอไทรโยค และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

[8] คณะทำงานและผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ประกอบด้วย ๑.อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT) และอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล ของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๒.คุณกรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมายประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)   ๓.คุณพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักกฎหมายฝึกงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)  ๔.คุณวัฒชนะ วงศ์สินนาค เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๕.อาจารย์กิติวรญา รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล ของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ๖.สมาชิกครอบครัวนางแสนถี(นางสันที) จำนวน ๗ คน ได้แก่ นางแสนถี นางบุญมี นายอำพล นายอดุลย์ นายสัญชัย นายบุญชัย และนายวิษณุ

[9] ได้รับมาในขณะเป็นนักเรียนประถม ในช่วงที่ยังมีการกำหนดรหัสประจำตัวนักเรียนให้แก่นักเรียนที่ไม่เคยมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักมาก่อน โดยทางกระทรวงศึกษาจะกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ให้เป็น “G-xxxxxxxxxxxx” (ก่อน พ.ศ.๒๕๔๘) อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้นมา โดยแนวทางตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  พ.ศ.๒๕๔๘ ทางกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้ทำการสำรวจบุคคลที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทย โดยทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้มีการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ให้กับบุคคลกลุ่มนี้เป็น “0-xxxx-89xxxxxx” และจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน(ท.ร.๓๘ข) รวมถึงบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

หมายเลขบันทึก: 403266เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท