ถอดบทเรียนในการจัดการปัญหาสถานะบุคคล:การรับรองการเกิดกรณีนายวิษณุ บุญชา (ตอนที่ ๑)


ถอดบทเรียนในการจัดการปัญหาสถานะบุคคล:การรับรองการเกิดของนายวิษณุ บุญชา 

โดยกิติวรญา รัตนมณี[1]

เพื่อโครงการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และกลไกการทำงานเครือข่ายด้านสถานะบุคคลและสิทธิ

เพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

โดยการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล

และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุุขภาพ (สสส.)

ฉบับวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

 

 

ดูเหมือนในวง(วิชาการ)ของเราได้ยินชื่อวิษณุ สมาชิกในครอบครัวของป้าสันทีมานานแล้วเสมือนหนึ่งเป็นญาติใกล้ชิดสนิทสนม จนท่านผู้ใหญ่ที่ฉันนับถือท่านหนึ่งกล่าวเปรยๆว่า “พี่ได้ยินชื่อครอบครัวป้าสันที(แสนถี)มานานมากแล้ว จนรู้สึกคุ้นเคยราวกับเป็นญาติสนิทของเราเองเลยล่ะ” ประโยคนี้ทำเอาฉันที่เป็นคนฟังถึงกับอึ้งไปเลยล่ะ…เพราะนี่คือความจริง ความจริงที่ว่าครอบครัวป้าสันทีอยู่กับเรามานานมากแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ นี่ก็ย่างเข้าปีที่ ๔ แล้ว แต่ทำไมปัญหาของครอบครัวนี้ โดยเฉพาะกรณีของหลานชายชื่อวิษณุจึงยังไม่สามารถแก้ไขได้ซักที?

 

-๑-

บทนำแห่งปัญหา

วิษณุเป็นหลานชายคนโตของครอบครัว ยายของเขาคือนางแสนถี(หรือ นางสันที)เป็นคนเชื้อสายมอญจากทวายที่อพยพเข้ามาอาศัยรับจ้างทำงานเพื่อหาเลี้ยงปากท้องในประเทศไทย

ยายเล่าว่า ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในขณะที่มีอายุได้ ๑๕-๑๖ ปี ยายและคนในหมู่บ้านเดียวกันทนต่อความอดอยากเพราะไม่มีงานทำและไม่มีที่ดินให้ทำกินไม่ไหวจึงได้ตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิดมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศไทย ยายเดินทางมาตามคำชวนของเพื่อนบ้านที่เคยเข้ามาทำงานในประเทศไทยก่อนแล้ว เพื่อนบ้านคนนั้นบอกว่าคนที่ไปทำงานกับเถ้าแก่พายัพ[2]ที่เมืองไทยจะมีรายได้ดี ดังนั้น เมื่อมีข่าวจากทางโน้นว่าเถ้าแก่กำลังรับสมัครลูกจ้างจำนวนมาก จึงมีคนจากหมู่บ้านของยายเดินเท้าเข้ามาหางานทำ ยายและหลายๆคนเดินเท้าข้ามเขามาหลายลูกเพื่อมุ่งหน้ามายังด่านเจดีย์สามองค์[3] ยายของวิษณุก็เหมือนกับคนอื่นๆที่เดินทางมาจากพม่าคือออกเดินทางมาโดยไม่เคยมีบัตรประชาชน ไม่เคยมีทะเบียนบ้าน และการเดินทางข้ามเส้นเขตแดนของยายก็ไม่เคยใช้พาสปอร์ต ไม่ใช่เพราะยายมีเอกสิทธิ์เหนือคนอื่น แต่เพราะในสมัยนั้นประเทศพม่ายังไม่มีระบบทะเบียนราษฎรที่เคร่งครัดอย่างเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น การเดินทางออกจากประเทศพม่าโดยไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆจึงเป็นเรื่องปกติ จึงไม่แปลกเลยที่พบว่ามีคนรุ่นเดียวกับยายจำนวนมากเดินทางเข้ามาอาศัยทำมาหากินอยู่ในประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย

หลังจากเดินทางผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาแล้ว ยายก็มาอาศัยรับจ้างทำงานอยู่ในไร่ของเถ้าแก่พายัพที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และพบรักกับตา(นายสอน)ซึ่งทำงานอยู่ในไร่ของเถ้าแก่เช่นกัน หลังจากนั้นไม่นานยายกับตาก็ให้กำเนิดทายาท คือ ลุง แม่ และน้าๆ รวมทั้งหมด ๗ ชีวิต[4] แม่ของเขาเป็นลูกคนที่สอง แม่เกิดที่กระต็อบในไร่ของเถ้าแก่พายัพ ที่บ้านทุ่งก้างย่าง ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แม่ของเขาไม่ได้แจ้งเกิด แม่ไม่เคยมีหนังสือรับรองการเกิด ไม่เคยมีสูติบัตร ไม่เคยมีเอกสารอะไรที่บอกว่าเกิดในประเทศไทย เพราะยายไม่รู้กฎหมาย ยายไม่รู้ว่าจะต้องแจ้งเกิด ยายจึงไม่ได้ไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน และไม่ได้ไปแจ้งที่อำเภอ ยายบอกว่าเวลาคนมอญเหมือนๆกับยาย เค้าคลอดลูกเค้าก็ไม่ได้ไปแจ้งอะไร เพียงแต่อาศัยการบอกกันปากต่อปากว่าบ้านไหนคลอดลูกก็จะมีผู้หญิงในหมู่บ้านมานอนเฝ้าและเตรียมข้าวของเพื่อประกอบพิธีอยู่ไฟแบบมอญ หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปทำมาหากิน ไม่เฉพาะแม่ของเขาเท่านั้นที่ไม่ได้แจ้งเกิดแต่น้าๆของเขาก็เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้แม่และน้าๆของเขาจึงไม่เคยมีตัวตนตามกฎหมายไทย จนกระทั่งยายและตาได้พาทุกคนในครอบครัวไปเข้ารับการสำรวจเพื่อทำบัตรที่ยายเรียกจนติดปากว่า “บัตรสีชมพู”[5] ยายเคยสำรวจบัตรนี้ถึง  ๒ ครั้ง แต่ครั้งแรกบัตรหาย ยายจึงสำรวจอีกครั้ง เป็นครั้งที่ ๒ คราวหลังนี้ราวปี พ.ศ.๒๕๒๗ ยายกับตาได้พาแม่และน้าๆ[6]ย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านมองสะเทอ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่กลุ่มคนเชื้อสายมอญที่เดินทางมากับหลวงพ่ออุตมะอพยพย้ายมาจากวังกระเนื่องจากมีการทำเขื่อน หลังจากย้ายไปมองสะเทอได้ไม่นาน ยายตาและแม่รวมถึงน้าๆของเขาได้รับการสำรวจและกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย “๖” มีทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ แต่ยังไม่ทันได้รอรับบัตรจากทางอำเภอ ก็ต้องย้ายออกมาจากหมู่บ้านเสียก่อนเนื่องจากตาเสียชีวิต เพราะความยากจนยายจึงตัดสินใจพาทุกคนย้ายกลับไปที่หมู่บ้านทุ่งก้างย่าง อำเภอไทรโยค ยายอยู่ที่นั่นนานพอควรจนกระทั่งน้าคนเล็กเรียนชั้น ป.๔ ยายโดนทางการไล่ที่จึงต้องย้ายที่อยู่อีกครั้งและตัดสินใจย้ายมารับจ้างทำงานในโรงงานที่สมุทรปราการ และมาเช่าบ้านเล็กๆอยู่ที่ซอยวัดคู่สร้าง ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

สำหรับวิษณุ เขาเกิดในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในช่วงที่ยายย้ายที่อยู่มาที่สมุทรปราการแล้ว ตอนที่เขาเกิดนั้นทั้งแม่และพ่อไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ พ่อของวิษณุเป็นคนเชื้อชาติมอญที่อพยพเข้ามาจากพม่า ส่วนแม่แม้จะเคยสำรวจและมีทะเบียนบ้านแต่เมื่อไม่ได้ถ่ายบัตรประจำตัวแม่จึงไม่กล้าใช้เอกสารอะไร

แม่บอกว่าตอนที่ไปฝากท้องที่โรงพยาบาล แม่แจ้งชื่อที่คนทั่วไปใช้เรียกกันว่า “บุญมี” ไม่ได้แจ้งชื่อที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ ที่เคยทำที่สังขละบุรี เพราะแม่กลัวเจ้าหน้าที่ไม่รับฝากท้องเพราะแม่ไม่มีบัตร และแม่กลัวว่าลูกจะไม่มีนามสกุลจึงได้ขอยืมนามสกุล “ศรีวาร” ซึ่งเป็นนามสกุลของเพื่อนบ้านที่ทำงานในโรงงานที่ อำเภอบ้านโป่ง มาใช้ตอนฝากท้องด้วย

แม่จำได้ดีว่าวิษณุเกิดวันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ตอนกลางคืนราว ๒ ทุ่ม ในช่วงที่มีละครภาคค่ำ จำได้แม้กระทั่งน้ำหนักแรกเกิดว่าเขาหนักประมาณ ๒,๕๐๐ กรัม นอกจากนี้แม่ยังจำได้ว่าเคยได้รับ ท.ร.๑/๑ ตอนที่ ๑ จากทางโรงพยาบาล แม่รู้จากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าจะต้องนำอาเอกสารฉบับนี้ไปแจ้งเกิดลูกที่อำเภอ แต่ด้วยความที่แม่กลัวตำรวจจะจับ เพราะแม่เองก็ไม่มีบัตรประจำตัว แม่จึงไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้วิษณุ จนกระทั่งเอกสารฉบับนั้นหายไป และแม่ก็ไม่เคยไปติดต่อให้โรงพยาบาลออกหนังสือรับรองใหม่ เพราะเกรงว่าโรงพยาบาลจะขอให้แม่ไปแจ้งความเอกสารหายที่สถานีตำรวจ แม่กลัวว่าเมื่อไปถึงสถานี ตำรวจแล้วจะโดนจับเข้าคุก เพราะเหตุนี้เองแม่จึงไม่ได้ไปติดต่อโรงพยาบาลอีกเลย

ในระหว่างนี้แม่และพ่อก็ดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆตามปกติ จนกระทั่งวิษณุมีอายุครบเกณฑ์ต้องเข้าเรียน แม่จึงพาไปเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดคู่สร้างซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน ช่วงนั้นแม่ต้องบอกครูที่โรงเรียนว่าลืมสูติบัตรไว้ที่ราชบุรีครูจึงรับเขาเข้าเรียน และเมื่อเรียนได้ซักพักครูประจำชั้นก็เรียกให้นักเรียนที่เตรียมเอกสารสมัครเรียนมาไม่ครบส่งเอกสารสูติบัตร เขาจึงกลับบ้านมาถามแม่ว่าสูติบัตรอยู่ไหน แม่อธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆว่า..มันหายไปตอนเราย้ายบ้าน ยิ่งนานวันเข้าเมื่อทุกคนเอาสูติบัตรไปส่งจนครบแล้วมันจึงกลายเป็นปมด้อยของเขาที่เป็นนักเรียนในชั้นเรียนเพียงคนเดียวที่ไม่มีสูติบัตรไปให้ครู

เวลาล่วงเลยมาจนเขาอายุ ๑๒ ปี ใน พ.ศ.๒๕๔๙ เมื่อน้าชายคนเล็กของเขาไปขายของแล้วโดนตำรวจจับที่สนามหลวงเพราะไม่มีบัตรประชาชน ตำรวจกำลังจะส่งน้าชายของเขาออกไปพม่า เรื่องราวของทุกชีวิตในครอบครัวจึงถูกนำมาหารือในโครงการการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในสังคมไทย[7]คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และส่งต่อมาอยู่ในความดูแลของโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ และนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล ของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒[8]

ปัจจุบันนี้ วิษณุในวัยย่าง ๑๖ ปี ยังคงเป็นนักเรียนไร้สัญชาติแห่งโรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน(ท.ร. ๓๘ข) เพิ่งมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักในฐานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนซึ่งเรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทย[9]เมื่อต้นปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา และเพิ่งได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อปลายเดือนก่อน(ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓)

 

-๒-

ปัญหาที่เผชิญ

ปัจจุบันวิษณุประสบปัญหาสถานะบุคคลเนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองการเกิด ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จำเป็นต่อการจัดการความไร้สัญชาติของเขา อย่างไรก็ตามหากสามารถยืนยันได้ว่าวันเดือนปีและสถานที่เกิดของวิษณุเป็นความจริง และวิษณุเกิดจากแม่ที่เกิดในประเทศไทยและถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗ จริง  วิษณุก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยตาม มาตรา ๒๓ แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔ )พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนั้น การจัดการในปัญหาความไร้สัญชาติของวิษณุจึงต้องเริ่มจากการหาพยานหลักฐานรับรองการเกิด ไม่เฉพาะแต่เอกสารรับรองการเกิดของตัวเอง แต่หมายรวมถึงเอกสารรับรองการเกิดของแม่ด้วย เพื่อยืนยันว่าทั้งเขาและแม่เกิดประเทศไทยจริง

 

-๓-

กฎหมายและนโยบายในการจัดการปัญหา

ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ที่วิษณุเกิดนั้น เด็กๆทุกคนที่เกิดในประเทศไทยอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของบทบัญญัติมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งวางหลักว่า “เมื่อมีคนเกิดหรือคนตาย ผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลต้องออกหนังสือรับรองการเกิดหรือการตายตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๑” 

จากบทบัญญัติดังกล่าว “แบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งตามมาตรา ๑๘” สำหรับกรณีบุคคลที่เกิดในสถานพยาบาล คือ “ท.ร.๑/๑ ตอนที่ ๑” ที่สถานพยาบาลมีหน้าที่ออกให้แก่เด็กทุกคนเพื่อนำไปแจ้งเกิดเพื่อขอออกสูติบัตร ท.ร.๑(กรณีแจ้งเกิดภายใน ๑๕ วัน) และ สูติบัตร ท.ร.๒(กรณีแจ้งเกิดเกินกว่า ๑๕ วัน) ในกรณีบุตรของคนสัญชาติไทยและบุตรของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร และสูติบัตรท.ร.๓ ในกรณีบุตรของบุคคลต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

มาตรา ๘๓ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ บัญญัติว่า “กรมการอำเภอต้องตรวจตราแลจัดการปกครองตำบล แลหมู่บ้านให้เปนไปได้จริงตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๒๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

 


[1] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

[2] เถ้าแก่พายัพ หรือ นายพายัพ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีฐานะร่ำรวยเป็นคหบดี มีหน้าตาในสังคมสมัยนั้น เป็นเจ้าของที่ดินในแถบ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี  คนเชื้อสายมอญ ชาวบ้านที่อพยพเข้ามาจากประเทศพม่าในช่วงนั้น(สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี) ส่วนใหญ่เข้ามารับจ้างทำงานในไร่/สวน/นา ของนายพายัพ (ที่มา: บันทึกการให้ถ้อยคำของ นายแจ้ง(ไม่มีนามสกุล) นายปี(ไม่มีนามสกุล) และนางตี(ไม่มีนามสกุล) ชาวบ้านเชื้อสายมอญที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านทุ่งก้างย่าง ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี  บันทึกโดยนางสาวกิติวรญา รัตนมณี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2553)

[3] ปัจจุบันด่านเจดีย์สามองค์อยู่ในตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

[4] นางแสนถี(หรือ นางสันที) และนายสอน มีบุตรทั้งหมด ๗ คน ดังนี้ ๑. ด.ช.เอมิต เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก
๒.นางปัจจรา(หรือนางบุญมี)  ๓.น.ส.เบญจพร เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก  ๔. นายอำพล  ๕.นายอดุลย์  ๖.นายสัญชัย
๗.นายบุญชัย

[5] บัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เปิดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ แก่บุคคลที่หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศพม่าและเข้ามาอาศัยในประเทศไทยก่อนวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า) บุคคลกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ชั่วคราวตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙ และต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ กำหนดสถานะให้ผู้ที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย(ไม่ได้เกิดในประเทศไทย)เป็นผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย(ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)และให้บุตรที่เกิดในประเทศไทยระหว่างวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ – ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ให้ได้รับสัญชาติไทย

[6] นางแสนถี(หรือสันที) และนายสอน ได้พาบุตร ๖ คน คือ ๑.ปัจจรา ๒.เบญจพร ๓.อำพล ๔.อดุลย์ ๕.สัญชัย ๖.บุญชัย ย้ายไปอาศัยที่หมู่บ้านมองสะเทอ ส่วน ด.ช.เอมิต เสียชีวิตที่หมู่บ้านทุ่งก้างย่าง

[7] อยู่ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[8] หนังสือถึงประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง เรื่อง การพัฒนาต้นแบบการพิสูจน์สถานะบุคคลของบุคคลที่ตกหล่นจากการพิสูจน์สัญชาติพม่า กรณีนางแสนถีและครอบครัว โดยนางสาวอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ เลขานุการและผู้ช่วยทางวิชาการของรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

[9] การสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษาในประเทศไทย เป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ โดยมีการสำรวจตาม ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ 

หมายเลขบันทึก: 403263เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท