เราจะรับมือกับ "มะเร็ง" กันอย่างไรดี?


          สวัสดีค่ะ บันทึกนี้หนึ่งตั้งใจเขียนสำหรับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย คนใกล้ชิด เพื่อน คนรัก ผู้ดูแลผู้ป่วยทุกท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในทีมสุขภาพด้วยค่ะ
          สงสัยมั้ยคะว่าบางครั้งทำไมผู้ป่วยถึงแสดงกิริยาอาการก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย ไร้เหตุผล งี่เง่า บางครั้งซึมเศร้า บางครั้งปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง อาจต่อว่าคนใกล้ชิด อาจแสดงกิริยาที่ทำให้ผู้ดูแลหมดกำลังใจ ฯลฯ แบบนี้
          โดยปกติแล้วมนุษย์เรานั้นเมื่อต้องเผชิญกับภาวะที่ต้องรับรู้ข่าวร้าย(ในที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องการรับรู้ว่าเป็นมะเร็งนะคะ) จะมีกลไกการปรับตัว 6 ระยะด้วยกัน 1.ระยะช้อค 2.ระยะปฏิเสธ 3.ระยะโกรธ 4.ระยะต่อรอง 5.ระยะซึมเศร้า และ 6.ระยะยอมรับความจริง โดยที่ในผู้ป่วยแต่ละรายก็อาจแตกต่างกันไป และอาจไม่ได้เริ่มตั้งแต่ 1-6 ตามลำดับ อาจเริ่มต้นจากข้อไหนก่อนก็ได้ และอาจครบหรือไม่ครบทั้ง 6 ระยะที่กล่าวมาก็ได้ค่ะ
          มาดูกันในแต่ละระยะนะคะว่าบุคคลอันเป็นที่รักของเราที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ตอนนี้อยู่ในระยะไหน และเราจะให้การดูแลช่วยเหลือ ผู้ป่วยในแต่ละระยะให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยดีได้อย่างไร 
ระยะช้อค  
          ระยะนี้ส่วนมากจะเกิดในวันที่แพทย์นัดฟังผลชิ้นเนื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการช้อค อึ้ง นั่งนิ่ง เหมือนสมองว่างเปล่าไปชั่วขณะ (คำนี้ได้มาจากตัวผู้ป่วยเป็นคนบอกความรู้สึกในตอนนั้นค่ะ) ระยะช้อคนี้จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานแค่ไหนขึ้นกับหลายปัจจัยค่ะ ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงที่ชัดเจนเช่นมีก้อนโตขึ้น มีเลือดออก จะมีปฏิกิริยาน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน ผู้ป่วยอายุมากๆจะมีปฏิกิริยาน้อยกว่าผู้ป่วยอายุน้อยๆ
          หนึ่งเคยพบว่าปฏิกิริยาระยะช้อคเมื่อรับรู้ข่าวว่าผู้ป่วยป่วยเป็นมะเร็งนี้ เกิดขึ้นกับญาติรุนแรงกว่าตัวผู้ป่วยเองก็มีค่ะ เพราะตัวผู้ป่วยบอกว่าพอจะรู้ตัวเองบ้างแล้วจากอาการที่เป็นอยู่ แต่ญาติจะไม่รู้เพราะผู้ป่วยยังดูสดใสแข็งแรงดี และเป็นญาติเองที่รับไม่ได้แทนผู้ป่วย มีการมากระซิบบอกเจ้าหน้าที่และหมอด้วยว่า ห้ามบอกความจริงกับผู้ป่วย กลัวผู้ป่วยจะช้อค
          แล้วถ้าพบว่าผู้ป่วยอันเป็นที่รักของเรานั้นอยู่ในระยะช้อคเมื่อรับรู้ข่าวว่าเป็นมะเร็ง เราจะช่วยเหลือดูแลอย่างไรดี ...

เที่ยงคืนซะแล้ว ... วันนี้หนึ่งขอหยุดชั่วคราว แค่นี้ก่อนนะคะ พรุ่งนี้และวันต่อๆไปจะเข้ามาเขียนต่อค่ะ ฝันดีนะคะทุกท่าน ^^

          มาต่อเลยดีกว่าค่ะ เมื่อต้องมารับฟังผลชิ้นเนื้อ ก่อนอื่นเลยผู้ป่วยและญาติต้องตั้งสติให้ดี และขอให้เชื่อมั่นว่าแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด้านโรคมะเร็งทุกคนพร้อมที่จะให้ข้อมูลผู้ป่วยทุกรายค่ะ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นยิ่งต้องตั้งสติให้ดี เมื่อตั้งสติได้แล้วให้สอบถามแพทย์ผู้แจ้งผลว่า เราเป็นระยะไหน และจะมีแนวทางรักษาอย่างไร ซึ่งแพทย์จะแนะนำแนวทางรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย บางที่อาจมีการส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมตอไปด้วยค่ะ
ระยะปฏิเสธ
          หนึ่งมักจะพบผู้ป่วยอยู่ในระยะนี้บ่อยๆค่ะ เป็นระยะที่ผู้ป่วยหรือญาติรู้สึกว่าตนเองหรือญาติป่วยเป็นมะเร็งจริงหรือ? ไม่เชื่อในผลการตรวจ หรืออาจสงสัยว่าโรงพยาบาลที่มาตรวจน่าเชื่อถือจริงมั้ย? แพทย์บอกผลผิดคนรึเปล่า ระยะนี้ผู้ป่วยและญาติจะไปตรวจตามโรงพยาบาลต่างๆ เพราะไม่เชื่อผลการตรวจ ไม่เชื่อว่าตนเองหรือญาติจะเป็นมะเร็ง (ทีมสุขภาพจะเรียกพฤติกรรมนี้ว่าการไปช้อปปิ้งค่ะ ^^) ซึ่งถ้าผู้ป่วยและญาติไม่สามารถปรับตัวผ่านระยะนี้ไปได้โดยเร็ว จะมีผลทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า และทำให้โรคมะเร็งลุกลามรุนแรงขึ้น
ระยะนี้ต้องทำอย่างไร?
          หากผู้ป่วยและญาติไม่แน่ใจจริงๆว่าผลการตรวจครั้งแรกนั้นจะถูกต้องจริงหรือ ก็สามารถขอรับการตรวจเพื่อความมั่นใจได้ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง เช่นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งมีเครื่องมือทันสมัยและมีแพทย์เฉพาะทาง ไม่ควรไปช้อปปิ้งหลายโรงพยาบาลค่ะ จะเสียโอกาสในการเริ่มรักษา
ระยะโกรธ
          ระยะนี้ก็พบได้บ่อยมาก...จะพบว่าผู้ป่วยมักจะคิดว่าทำไมต้องเป็นเราด้วย ทั้งที่เราทำดีมาตลอด ทำไมไม่เป็นกับคนอื่น บางรายที่อายุยังไม่มาก อยู่ในช่วงวัยรุ่น ก็จะคิดว่า ทำไมต้องเป็นตอนอายุเพียงเท่านี้
ระยะนี้ต้องทำอย่างไร?
          ตั้งสติให้ดีค่ะ หาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้สามารถผ่านระยะนี้ไปให้ได้ มีผู้ป่วยรายนึงเป็นเจ้าหน้าที่สา-สุขเองด้วยป่วยเองด้วย เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นรู้สึกและคิดแบบในทฤษฎีจริงๆค่ะ คิดวนไปมาว่าทำไมต้องเป็นเราด้วย แต่ก็ตั้งสติเตือนตัวเอง และเค้าใช้ศาสนาเข้ามาช่วย ทำสมาธิ ใส่บาตร ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้ป่วย  ก็ทำให้จิตใจสบายขึ้น คนรอบข้างก็รับรู้ได้และสบายใจขึ้น ผ่อนคลายขึ้น
          ระยะนี้ญาติ เพื่อนๆ คนรัก ก็สามารถให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้ป่วยผ่านระยะนี้ไปได้โดย ช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาที่ผู้ป่วยนับถือ ผู้ป่วยจะรู้สึกดี และรับรู้ได้ถึงความรักความห่วงใยที่ทุกคนมีให้ ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และไม่เคว้งคว้างค่ะ
ระยะต่อรอง

          เมื่อพ้นระยะโกรธไปแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากต่อรอง "ขอทำใจก่อน" "ขอรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนได้มั้ย" "ยังไม่รักษาตอนนี้ได้ไหม" เป็นต้น
          เท่าที่ผ่านมาผู้ป่วยที่ขอไปทำใจก่อน มักไม่กลับมารับการรักษา แต่จะกลับมารักษาอีกครั้งเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งเป็นผลเสียแก่ผู้ป่วยอย่างมาก
ระยะนี้ต้องทำอย่างไร?
          ผู้ป่วยและญาติต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง เมื่อมีโอกาสรักษาอย่ารั้งรอ อย่าต่อรองการรักษา แผนการรักษาที่แพทย์แจ้งกับผู้ป่วยนั้น จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย เพื่อหวังผลการรักษาที่ดี อย่ากลัวผลกระทบจากการรักษา ถ้าไม่มั่นใจให้สอบถามจากเจ้าหน้าที่ได้เลยค่ะ บางรายได้ยินคนอื่นพูดกันมาว่าฉายแสงแล้วผมร่วง ถึงขั้นไม่ยอมรักษาเพราะไม่อยากผมร่วงกันเลยทีเดียวค่ะ เมื่อพยาบาลอธิบายให้ฟังว่าถ้าไม่ได้ฉายแสงที่ศีรษะผมก็จะไม่ร่วง ถึงยอมรับการรักษา ,กรณีต้องให้เคมีบำบัด มีโอกาสผมร่วง แต่จะร่วงแบบชั่วคราว หลังครบการรักษาไปแล้วผมจะงอกขึ้นมาใหม่ค่ะ บางรายก่อนรักษาผมหงอกทั่วศีรษะ แต่หลังรักษาครบ ผมงอกใหม่กลายเป็นสีดำ และนุ่มสลวยเหมือนผมเด็กๆเลยค่ะ ^^
ระยะซึมเศร้า

          เป็นระยะที่ผู้ป่วยและญาติรู้สึกท้อแท้ คิดมากกับการเจ็บป่วย หมดหวัง หากปล่อยไว้นานๆจะทำให้ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา
ระยะนี้ต้องทำอย่างไร?
          เป็นระยะที่ญาติ เพื่อนร่วมงาน คนรัก ควรเข้ามาให้กำลังใจผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยรับรู้ว่ายังมีคนรอบตัวที่รัก ห่วงใย และคอยให้กำลังใจ
          ส่วนตัวผู้ป่วยหากได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ป่วยกลุ่มโรคเดียวกันที่เคยรับการรักษาครบตามแผนการรักษาไปแล้ว จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้นที่จะรักษาต่อให้ครบตามแผนการรักษา ในกลุ่มนี้ผู้ป่วยจะสามารถไขข้อข้องใจที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยที่เคยรักษามาแล้วจะสามารถให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงได้ดี
ระยะยอมรับความจริง

          ระยะนี้ผู้ป่วยจะค่อยๆหันมาเผชิญหน้ากับความจริงโดยยอมรับว่าป่วยเป็นมะเร็งจริง
ระยะนี้ต้องทำอย่างไร?
          ผู้ป่วยและหรือญาติ ต้องสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับแผนการรักษา การปฏิบัติตัว ก่อน ขณะ และหลังครบการรักษา
ในผู้ป่วยแต่ละราย อาจไม่ได้เกิดทั้ง 6 ระยะก็ได้ หรืออาจเกิดแล้วเกิดอีกในบางระยะ

          เป็นอย่างไรบ้างคะ เมื่อรู้แบบนี้แล้ว คงเป็นส่วนนึงที่เป็นคำตอบให้ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้ไข้ข้อข้องใจในพฤติกรรมแปลกๆของผู้ป่วยมะเร็งบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ บางครั้งหนึ่งพบว่าญาติ หรือผู้ดูแลผู้ป่วยบางราย เมื่อรู้ว่าบุคคลอันเป็นที่รักป่วยด้วยโรคมะเร็งนั้น จะดูแลเอาใจใส่ อย่างดีมาก แต่ก็ต้องมาหมดกำลังใจ อาจเกิดการทะเลาะกับผู้ป่วยขึ้นได้ในระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังปรับตัวปรับใจยอมรับโรคมะเร็งอยู่นี้ หนึ่งขอให้กำลังใจทั้งผู้ป่วยและญาติ ผู้ดูแลทุกท่านนะคะ การมีผู้ป่วยมะเร็งอยู่ในบ้านอาจต้องเหนื่อยทั้งกายและใจบ้าง อย่าเพิ่งหมดกำลังใจนะคะ สิ่งที่ท่านทำนั้นงดงามและมีคุณค่ามากๆ บางครั้งเราเพียงไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยถึงมีอาการก้าวร้าว หงุดหงิด งี่เง่า อะไรแบบนี้ ซึ่งอาจจะพาลใส่ผู้ดูแลเพียงคนเดียวก็ได้ อย่าเพิ่งท้อนะคะ จริงๆแล้วผู้ป่วยเองอาจทำลงไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ตั้งใจค่ะ มันเป็นกลไกการปรับตัวทางจิตอย่างที่กล่าวมาแล้วด้วย หากเราเข้าใจจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ต่อได้อย่างมีความสุขค่ะ คนในครอบครัวก็จะมีความสุขไปด้วย  

สุวิญญา ธนสีลังกูล บันทึก 15/10/53

ขอขอบคุณ

-ทุกท่านที่เข้ามาอ่านค่ะ ^^

-ทุกท่านที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์

-ผู้ป่วยทุกท่าน

-ภาพสวยๆจาก internet

-ขอบคุณเป็นพิเศษ "พี่ครูป.1" ที่เป็นคนจุดประเด็นให้หนึ่งเขียนบันทึกนี้ค่ะ ^^

 

หมายเลขบันทึก: 402712เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2010 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท