กระยาสารท..วันสารทไทย


กระยาสารท สารทไทย

กระยาสารท..วันสารทไทย

  

  

      8 ตุลาคม เป็น"วันสารทไทย"ขอเชิญเพื่อนพ้องพี่น้องชาว GOTOKNOW มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องวันสารทไทย

  

 

 ปัจจุบันเราอาจจะรู้จักแต่ประเพณีของชาวตะวันตก ไม่ค่อยได้ใส่ใจกับพิธีไทยมากเท่าไหร่นัก ยิ่งชื่อพิธีสารท บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อแต่ "วันสารทจีน" ไม่เคยได้ยินชื่อ "สารทไทย" มาก่อน เพื่อเป็นความรู้ วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับวันสารทไทยมาฝากกัน


ความหมายของ "สารท"


          พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาล และประเพณีไทยว่า คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "ออตอม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติ และผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal Festival"


          โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น


          สำหรับในพจนานุกรมไทย สารท มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราวๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม


ต้นกำเนิดของ "สารทไทย"


          ในประเทศไทย การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เหตุใดต้องมีพิธีสารทไทย


          เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข


          ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระบาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน


          เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่


          เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้


          เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป


          ป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจาก สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบ

การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้


           ภาคกลาง เรียกว่า "สารทไทย"


           ภาคเหนือ เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"


           ภาคอีสาน เรียก "ทำบุญข้าวสาก"


           ภาคใต้ เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต" 

 

ขนมประจำวันสารทไทย


          กระยาสารท เป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ด้วยมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้


          สำหรับการกวนกระยาสารทนั้น ต้องใช้เวลาและแรงคนหลายๆ คนจึงจะทำเสร็จได้ ดังนั้นการกวนกระยาสารทจึงต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัว เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของประเพณีวันสารทไทยมิใช่เป็นเพียงเรื่องของขนมที่ใช้ในการทำบุญเท่านั้น หากแต่อยู่ที่กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย

 

พรุ่งนี้ไปทำบุญวันสารทไทยกันค่ะ

ที่มา: http://hilight.kapook.com/view/28943

หมายเลขบันทึก: 401442เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2010 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ที่ปักษ์ใต้ จะเรียกว่าวันทำบุญเดือนสิบค่ะ ไม่มีกระยาสารทอย่างภาคกลาง

จะมีขนมลา ขนมเจาะหู ขนมพอง ต้มใบกะพ้อ

ขนม 5 อย่างที่ใช้ในวันทำบุญเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้

ใบกะพ้อกับต้มเดือนสิบ ตอนที่2.

 

สวัสดีครับ พี่คุณครูป.1

สงสัยนิดหนึ่ง เห็นหลายๆ ท่านเวลามอบกระยาสารทให้กัน ต้องพ่วงกล้วยไข่ด้วยครับ

แต่ยังไงก็ตามแต่อร่อยดีครับ ขอบคุณครับสำหรับขนมประจำสารทไทย

อ้าว  ไม่บอกไม่รู้นะเนี่ยะ

ทางเหนือเริ่มตานก๋วยสลากแล้วล่ะค่ะ  ตามแต่จะสะดวกของแต่ละวัด

ไม่ได้เจาะจงเฉพาะวันพรุ่งนี้วันเดียว

ช่วงนี้เลยมีการทำบุญทำทานกันเยอะ....สบายใจดี

Ico32
สวัสดีค่ะหนูรี
กระยาสารทเป็นของดีแท้
มีมาแต่โบราณเก็บไว้ทานได้นานค่ะ
Ico32
สวัสดีค่ะน้องภควัตคีย์ตา
กระยาสารทกับกล้วยไข่
เป็นของคู่กันแต่เมื่อไร..ไม่รู้นิ
แต่ก็..อร่อยดีแหละค่ะ
Ico32
สวัสดีค่ะพี่krugui Chutima
ภาคกลางกำหนดวันทำบุญวันสารท
แค่วันเดียว จึงต้องไปทำบุญพรุ่งนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

        รวมใจกันกวน กระยาสารท จึงเป็นขนมที่อร่อยมากนะคะ ขอบคุณเรื่องความเป็นมาของสารทไทยและภาพน่ากินมากเลย มีกล้วยไข่สักหวี อิ่มอร่อยค่ะ

              

           แล้วดื่มน้ำหนวดข้าวโพดด้วยนะคะ ช่วยลดน้ำตาลพอดีเลย

Ico32
สวัสดีค่ะพี่กานดา น้ำมันมะพร้าว
สมัยเด็กๆแม่จะกวนกระยาสารททุกปี
เพราะเก็บเป็นของหวานไว้กินแก้เหนื่อยได้
เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่แยบยล ยอดเยี่ยมนะคะ

แม่ทำกระยาสาทรแบบร่วนๆค่ะ..ไม่ใสแบะแซ..อร่อยค่ะ...

Ico32
สวัสดีค่ะน้องอ้อยเล็ก
แม่พี่ก็ชอบทำแบบไม่ใส่แบะแซ
เพราะมันจะไม่แข็งมากนัก

-สวัสดีครับครู ป.1

 -ขอบคุณที่ไปร่วมเปิดงานนะครับ.....

-มีเมนูจากกล้วยมาฝากด้วยครับ....

Ico32
ขอบใจน้องเกษตรเพชรน้ำหนึ่ง
ภูมิปัญญาไทยไม่แพ้ใคร
ในเรื่องการสร้างสรรค์นะคะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราวนะคะ

กระยาสารทน่าทานมากๆ เลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ^__^

Ico32
สวัสดีค่ะน้องต้นเฟิร์น
พิษณุโลก มีกระยาสารทไหมคะ

สวัสดีวันครอบครัวค่ะ

   น่ากินทั้งนั้นเลยค่ะ งั้นอันนี้ขอเลยละกันนะคะ อิอิ

Ico32
น้องคุณยายเจ้าขา
กระยาสารทกินตอนนี้ไม่ได้นะคะ
ทั้งหวาน ทั้งแป้ง..อิอิ

มาช้าไปหน่อยนะคะ  เพิ่งทราบว่าวันสราทไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10

 แต่งานตานก๋วยสลากทางภาคเหนือ เริ่มเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบ

เรียกตามภาษาเหนือว่า เดือนสิบสองเป็งค่ะ

                         

    ภาพงานตานก๋วยสลาก หรือทำบุญสลากภัตรที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูนค่ะ

ประเพณีต่าง ๆ ที่ชาวไทยแต่ละชุมชนได้กระทำต่อกันมา นับเป็นประเพณีที่ดีงาม คนไทยเราเป็นชาติที่รู้จักคุณค่าของขนบธรรมเนียมประเพณี ที่เราทำสืบต่อกันมา และเราจะรักษาประเพณีให้คงอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป

สุพรรษา รักเเต่งาน

หนูชอบเรื่องนี้มากเลยค่ะ อยากให้รักษาเอาไว้

จากเด็กรักความเป็นไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท