ส่งดีๆ ที่พบมา


สิ่งดีๆ ที่พบจากการประเมินตามประเด็นผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนในโซนคุณภาพกำแพงแสน๒

  • การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล
    ของผู้อำนวยการโรงเรียน

ความเป็นมา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครปฐม เขต 1 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเยี่ยมและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผู้อำนวยการโรงเรียน ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการคณะที่ 5 ทำการประเมินผู้บริหารโรงเรียนในโซนคุณภาพกำแพงแสน 2 จำนวน 27 โรงเรียน

วัน เดือน ปี

โรงเรียนที่ประเมิน

14 กันยายน 2553

  1. วัดหนองกระทุ่ม
  2. บ้านห้วยปลากด
  3. บ้านอ้อกระทุง

15 กันยายน 2553

  1. วัดราษฎร์วราราม
  2. วัดดอนเตาอิฐ
  3. วัดสระสี่มุม
  4. บ้านสามัคคี
  5. บ้านหนองกร่าง

16 กันยายน 2533

  1. บ้านหนองเขมร
  2. บ้านหนองไม้งาม
  3. วัดนิยธรรมวราราม

17 กันยายน 2533

  1. วัดทะเลบก
  2. วัดท่าเสา
  3. วัดห้วยม่วง
  4. วัดปทุมทองสุทธาราม

20 กันยายน 2553

  1. บ้านหนองพงเล็ก
  2. บ้านหนองพงนก
  3. วัดโพธ์งาม
  4. ประถมฐานบินกำแพงแสน

21 กันยายน 2553

  1. บ้านหนองโสน
  2. วัดศาลาตึกสิทธิชัยวิศาล
  3. วัดห้วยผักชี
  4. บ้านห้วยรางเกตุ

22 กันยายน 2553

  1. วัดหนองจิก
  2. วัดหนองศาลา
  3. วัดประชาราษฎร์บำรุง
  4. บ้านบัวแดง

 

สิ่งดีๆ ที่พบจากการประเมินตามประเด็นผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนในโซนคุณภาพกำแพงแสน๒ ดังนี้

งานวิชาการ

  1. การบริหารหลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร โรงเรียนทุกแห่งที่ไปตรวจเยี่ยม มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แต่ถ้ากล่าวถึงการบริหารหลักสูตรซึ่งหมายถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำหลักสูตรไปใช้ อันครอบคลุมไปยังการจัดกิกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนด ตลอดจนกระบวนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ แต่ละโรงเรียนยังมีความแตกต่างกันเนื่องจากไม่มีโอกาสไปสังเกตการสอน จึงอาศัยวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารที่โรงเรียนนำเสนอก็พบว่า โรงเรียนที่เป็นต้นแบบในประเด็นนี้ได้ ได้แก่โรงเรียนประถมฐานบินกำแพงแสน โรงเรียนวัดหนองศาลา และโรงเรียนวัดประชาราษฎร์บำรุง
  2. การจัดแหล่งเรียนรู้ ประเด็นนี้จะมุ่งไปที่ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนพิเศษอื่น เช่น ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนภาษาอังกฤษ และแหล่งเรียนรู้ภายนอกอาคาร เช่นสนาม โรงเพาะเห็ด แปลงเกษตร ฯลฯ

          2.1 ห้องสมุด ทุกโรงเรียนมีห้องสมุดเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ขนาดของห้องเล็กบ้าง ใหญ่บ้างตามความพอเพียงของอาคารสถานที่     มีโรงเรียนหลายแห่งจัดห้องสมุดได้เหมาะสม เพียงพอและสวยงาม เช่นโรงเรียนวัดท่าเสา โรงเรียนบ้านห้วยปลากด โรงเรียนบ้านสามัคคี แต่เมื่อดูที่พัฒนาการด้านการให้บริการห้องสมุดให้ทันสมัยเช่นบันทึกการเข้าใช้ห้องสมุดด้วยบาร์โค้ดประจำตัวนักเรียนแต่ละคน ต้องที่โรงเรียนวัดหนองศาลา หลายโรงเรียนก็พัฒนาระบบยืมคืน ค้นหาหนังสือด้วยบาร์โค้ดด้วยเช่นกัน ไปดูงานได้ที่โรงเรียนประถมฐานบินฯ โรงเรียนวัดศาลาตึกสิทธิชัยวิศาล โรงเรียนวัดท่าเสา เป็นต้น (ยังมีที่อื่นอีก ขออภัยกล่าวถึงได้ไม่หมด)

        2.2ด้านแหล่งเรียนรู้ภายนอกที่เด่นๆ คือโรงเพาะเห็ดของโรงเรียนวัดหนองศาลาและโรงเรียนวัดห้วยผักชี โดมผักสวนครัวของโรงเรียนบ้านหนองเขมร สวนพืชทะเลทรายของโรงเรียนวัดดอนเตาอิฐ บ่อหมักก๊าซชีวภาพที่โรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม ผักกางมุ้งที่โรงเรียนบ้านหนองโสน สวน12 ราศีที่โรงเรียนวัดหนองจิก  สวนม้าลายที่โรงเรียนวัดห้วยม่วง โรงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (การปลูกพืชลงบนสารละลายธาตุอาหารพืช) ที่โรงเรียนวัดสระสี่มุม เป็นต้น

การส่งเสริมการใช้สื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรมทางการศึกษาและการวิจัย ในประเด็นนี้ แต่ละโรงเรียนมีการพัฒนาในระดับน่าพอใจทุกโรงเรียน หลายโรงเรียนจัดให้มีคอมพิวเตอร์ประจำห้องเรียนทุกห้องเรียน วางระบบแลนให้ใช้อินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ตได้ โรงเรียนที่เป็นตัวอย่างได้เช่นโรงเรียนวัดดอนเตาอิฐ โรงเรียนวัดราษฎร์วราราม โรงเรียนบ้านหนองเขมร โรงเรียนวัดประชาราษฎร์บำรุง โรงเรียนวัดท่าเสา โรงเรียนประถมฐานบินกำแพงแสน นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนที่วางระบบโทรทัศน์วงจรปิด มีช่องโทรทัศน์ของโรงเรียนเองเช่น โรงเรียนวัดราฎร์วราราม โรงเรียนวัดศาลาตึกสิทธิชัยวิศาล โรงเรียนวัดดอนเตาอิฐ โรงเรียนบ้านหนองเขมร (ต้องขออภัยหากเอ่ยชื่อโรงเรียนต่างๆ ไม่ครบ) ทุกโรงเรียนมีโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม

สำหรับประเด็นของการวิจัย ทุกโรงเรียนส่งเสริมให้ครูทำการวิจัยอย่างน้อยปีละ 1 เรื่อง

    3. การส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามที่กล่าวแล้ว่า ไม่มีโอกาสสังเกตุการสอนจึงไม่เห็นพฤติกรรมการสอนของครู พบเพียงร่องรอยหลักฐานของการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่นการทำงานกลุ่ม การทำโครงงาน ฯลฯ

    4.การจัดการวัดผล ประเมินผล ทุกโรงเรียนมีการกำหนดระเบียบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของสถานศึกษา บางโรงเรียนจัดทำคู่มือการวัดผลประเมินผลเพื่อบอกว่าแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีการวัดผลอย่างไร มีการเก็บคะแนนกี่ครั้ง มีการสอบประมวลความรู้เมื่อไรบ้าง บางโรงเรียนพัฒนาระบบการจัดเก็บสารสนเทศด้านการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นโรงเรียนวัดท่าเสา โรงเรียนวัดประชาราษฎร์บำรุง (ที่อื่นๆก็อาจจะมีอีกแต่ผู้เขียนไม่ทราบ)

งานบริหารงานบุคคล

  • การวางแผนอัตรากำลังในสถานศึกษา โรงเรียนที่ไปประเมินมากกว่าครึ่งอยู่ในภาวะขาดครู โรงเรียนที่ครูมาก นักเรียนมากหน่อยก็ใช้วิธีรวมห้อง เพื่อลดชั่วโมงสอนครูจะได้พอสอน ผลกระทบก็คงทราบดีว่าจะเป็นอย่างไร หลายโรงเรียนต้องเจียดเงินรายหัวไปจ้างครูมาสอน บางโรงเรียนได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เบาแรง โรงเรียนขนาดเล็ก จะน่าเห็นใจหน่อย เพราะ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มาไม่ค่อยถึง เงินรายหัวก็น้อยแต่ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยความสามารถส่วนตัว เช่น โรงเรียนบ้านห้วยปลากด โรงเรียนวัดหนองจิก โรงเรียนบ้านสามัคคี โรงเรียนวัดราษฎร์
    วราราม โรงเรียนวัดห้วยผักชี โรงเรียนบ้านอ้อกระทุง  บางโรงเรียนต้องการครูที่มีความสามารถเฉพาะทางเช่นเอกภาษาอังกฤษ ก็จ้างมาเสริม เช่นโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ เอกคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนบ้านหนองกร่าง หรือครูต่างชาติ (ภาษาอังกฤษ)ที่โรงเรียนบ้านสามัคคี
  • ในประเด็นที่เกี่ยวกับ การพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง การจัดทำมาตรฐานภาระงานสำหรับบุคลากรในสถานศึกษา การประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานภาระงาน การจัดสวัสดิการให้แก่บุคลากรในสถานศึกษา ทุกโรงเรียนมีการดำเนินการตามที่ระเบียบและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกำหนด ที่จะแตกต่างกันบ้างก็คือเรื่องการจัดสวัสดิการ ซึ่งมีโครงการสร้างขวัญกำลังใจด้วยการไปทัศนศึกษา พักผ่อนประจำปีร่วมกันเป็นต้น

งานบริหารแผนงานงบประมาณ  

  • ทุกโรงเรียนมีการจัดทำและใช้แผนพัฒนาสถานศึกษา ซึ่งโดยมากจะเรียกว่าแผนกลยุทธ์  3 ปี 4 ปี สำหรับแผนปฏิบัติการประจำปี มีหลายโรงเรียนที่จัดทำแผนได้ดี มีความสอดคล้องกับผลการแประเมินตนเองประจำปี สอดคล้องกับผลการประเมินภายนอกและข้อเสนอแนะ โครงการหรือกิจกรรมที่กำหนดในแผนปฏิบัติการ สอดรับกับมาตรฐานการศึกษา โรงเรียนที่จัดทำแผนได้ชัดเจน เป็นตัวอย่างดีก็ เช่น โรงเรียนวัดศาลาตึกสิทธิชัยวิศาล โรงเรียนวัดหนองศาลา โรงเรียนวัดท่าเสา โรงเรียนวัดทะเลบก เป็นต้น
  • สำหรับการบริหารงบประมาณ โรงเรียนมีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณได้คล่องตัว สอดคล้องกับความต้องการ จำเป็นมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้จากพัฒนาการของโรงเรียนในด้านต่างๆ เช่น วัสดุ ครุภัณฑ์ อาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการพัฒนานักเรียน การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการจัดสวัสดิการอื่นๆที่เหมาะสม

งานกิจการนักเรียน

  • ปัจจุบันโรงเรียนทุกแห่งมีระบบงานกิจการนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่เห็นชัดเจนคือระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หลายโรงเรียนจัดหาทุนให้นักเรียนเกือบทุกคน ทุกโรงเรียนมีกิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน

งานอาคารสถานที่ 

  • ในปีการศึกษานี้ หลายโรงเรียนมีการพัฒนาด้านอาคารสถานที่ไปอย่างมาก ทำให้โรงเรียนสวยงาม น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน อาคารและบริเวณสะอาด เรียบร้อยสวยงาม เช่น โรงเรียนบ้านห้วยปลากด โรงเรียนวัดห้วยผักชี โรงเรียนบ้านสามัคคี โรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม โรงเรียนบ้านหนองเขมร โรงเรียนวัดท่าเสา  ส่วนโรงเรียนอื่นๆ มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและรักษาสภาพได้ดี
  • โรงเรียนที่มีการก่อสร้างพร้อมปรับภูมิทัศน์ใหม่ เช่น โรงเรียนบ้านหนองโสนส้วมสวยมาก โรงเรียนวัดหนองศาลา ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ปรับปรุงถนนและก่อสร้างส้วมใหม่ โรงเรียนวัดนิยมธรรมวราราม ก่อสร้างอาคารเรียนและโรงจอดรถพร้อมรั้วโรงเรียน โรงเรียนวัดศาลาตึกสร้างเรือนพยาบาล (ครูบริจาค) โรงเรียนบ้านบัวแดงสร้างอาคารเรียนโดยเงินบริจาค 1 หลังพร้อมปรับปรุงสนามเด็กเล่น โรงเรียนวัดประชาราษฎร์บำรุง กำลังสร้างห้องสมุด โรงเรียนวัดโพธิ์งามปรับปรุงสนามใหม่ โรงเรียนบ้านหนองพงนกร่วมกับ อบต.ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็ก โรงเรียนวัดทะเลบกกำลังก่อสร้างอาคารเรียนใหม่

งานประกันคุณภาพการศึกษา

  • ในปี 2553 กระทรวงศึกษาธิการประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ให้สถานศึกษาต้องจัดระบบประกันคุณภาพ ตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย 8 องค์ประกอบดังนี้

องค์ประกอบที่ 1  กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
องค์ประกอบที่ 2  จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐาน
                             การศึกษาของสถานศึกษา
องค์ประกอบที่ 3  จัดระบบบริหารและสารสนเทศ
องค์ประกอบที่  4  ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
องค์ประกอบที่  5  จัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
องค์ประกอบที่ 6  จัดให้การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษา
                             ของสถานศึกษา
องค์ประกอบที่ 7 จัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายใน
องค์ประกอบที่ 8 จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

  • องค์ประกอบที่ 2 – 8 เป็นเรื่องที่โรงเรียนถือปฏิบัติอยู่แล้ว แต่เรื่องใหม่คือ องค์ประกอบที่ 1 กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา หลายโรงเรียนยังไม่มี ไม่เข้าใจ แต่โชคดี มีหลายโรงเรียนที่เป็นต้นแบบเรื่องนี้ได้ เช่น โรงเรียนวัดท่าเสา โรงเรียนบ้านหนองเขมร โรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม โรงเรียนวัดหนองศาลา โรงเรียนวัดศาลาตึกสิทธิชัยวิศาล (จากที่เคยเห็นเอกสารและโรงเรียนนำเสนอให้ดู) เรื่องนี้ถ้าจะให้ชัดเจน ต้องปรึกษา ผอ.สมศักดิ์   รอบคอบ หรือ ศน.นิธิ ชำนิวณิชนันท์

งานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ชุมชน และการระดมทรัพยากร

  • ปัจจุบันจะพบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งชุมชนผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับโรงเรียนเป็นอย่างดี ความศรัทธาของชุมชนต่อโรงเรียนช่วยให้โรงเรียนพัฒนาได้เป็นอย่างมาก เช่นโรงเรียนวัดสระสี่มุม สามารถสร้างอาคารที่มีมูลค่านับสิบล้านจากเงินบริจาค ลักษณะเดียวกับชาวบ้านบริจาคที่ดินให้โรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุเมื่อปีก่อน

สรุป  จากที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงมุมมองที่เห็นในระยะเวลาอันจำกัด ยังมีรายละเอียดอีกมากที่อาจมองไม่เห็น การประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นที่โรงเรียนต้องทำ จะด้วยวิธีใด้ก็ตาม เพื่อเผยแพร่ผลงานให้ชุมชนเกิดความศรัทธาเชื่อมั่น ผลการปฏิบัติของโรงเรียน จะสะท้อนและสัมผัสได้จากศรัทธาของชุมชน

หมายเลขบันทึก: 401317เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2010 06:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท