เกษียณอายุราชการหรือเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดแล้วยังต้องรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งให้เกษียณอายุราชการหรือเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดหรือไม่


ได้รับทราบข่าวสารข้อมูลมาว่าผู้บริหารสถานศึกษาที่เกษียณอายุราชการและเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ในสถานศึกษาบางแห่งยังต้องปฏิบัติราชการต่อไปเพราะยังไม่มีคำสั่งให้พ้นจากราชการ โดยยังต้องไปทำงานตามปกติ ซึ่งเข้าใจว่ายังคงต้องรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ สั่ง อนุญาต อนุมัติ อยู่ตามเดิม ท่านที่รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษาก็ยังคงทำหน้าที่อยู่ตามเดิม กรณีนี้เป็นที่น่าสงสัยในข้อกฎหมายว่าจะยังมีอำนาจหน้าที่อยู่จริงหรือ จะเป็นปัญหายุ่งเหยิงเหมือนกับกรณีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ว่าการตัวจริงหรือไม่

กรณีของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่มีข้อกฎหมายซับซ้อนเหมือนกับกรณีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอย่างแน่นอน โปรดพิจารณาข้อกฎหมายดังต่อไปนี้

๑. กรณีเกษียณอายุราชการ มีพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๙ กำหนดว่า ข้าราชการซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วเป็นอันพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ มาตรา ๑๙ สัตต ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญหรือระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสหรือระดับทักษะพิเศษและจะต้องพ้นจากราชการตามมาตรา ๑๙ อาจรับราชการต่อไปได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน มาตรา ๒๐  ให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการแต่ละประเภท เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการประเภทนั้น เว้นแต่ข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าหน้าที่ และมาตรา ๒๑  ก่อนสิ้นปีงบประมาณทุกปีไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตามมาตรา ๒๐ ยื่นบัญชีรายชื่อข้าราชการผู้มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญ เนื่องจากการเกษียณอายุตามมาตรา ๑๙ ในปีงบประมาณถัดไปต่อประธานศาล เจ้ากระทรวง หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของผู้นั้น แล้วแต่กรณี และต่อกระทรวงการคลัง จากข้อกฎหมายดังกล่าวข้าราชการที่ครบกำหนดเกษียณอายุราชการจะต้องพ้นจากราชการไปโดยกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ โดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องมีคำสั่งใด ๆ อีก สำหรับกรณีมีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งจะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๑๒๐ นั้น ไม่ว่าจะได้ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลไปแล้วหรือไม่ ข้าราชการผู้นั้นก็จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ อยู่ดี เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ไม่มีอำนาจหน้าที่อีกต่อไป จะอยู่ต่อเพื่อมอบหมายหน้าที่การงานหรือเพื่อรอผู้ดำรงตำแหน่งใหม่มารับมอบงานก็ไม่ได้ หากยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาคนใหม่ ผู้ที่จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนไปก่อนได้แก่รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ถ้ามีรองผู้อำนวยการสถานศึกษาหลายคน ผู้รักษาราชการแทนได้แก่รองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีคำสั่งแต่งตั้ง ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาก็จะแต่งตั้งข้าราชการในสถานศึกษาคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๕๔

๒. กรณีลาออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่รีไทร์ ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ หากยังไม่มีคำสั่งให้ออกจากราชการจะพ้นจากหน้าที่หรือไม่ กรณีนี้เห็นว่าเมื่อได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะออกจากราชการในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ และมิได้ขอระงับในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๓๐ น. แล้วก็เป็นอันพ้นจากหน้าที่ตามที่ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ ถ้าจะอยู่ต่อเพื่อรอคำสั่งก็ได้ แต่จะไม่ได้รับเงินเดือนหรือเงินวิทยฐานะตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ทราบหรือควรได้รับทราบคำสั่ง เท่ากับทำงานฟรี แถมยังหมิ่นเหม่ตรงที่ถ้ายังใช้อำนาจหน้าที่ราชการ สั่ง อนุญาต อนุมัติอยู่ ก็อาจเป็นปัญหาความถูกต้องสมบูรณ์ของการกระทำ นำไปสู่การโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของผู้ได้รับผลกระทบได้ สู้นอนเล่นอยู่กับบ้าน โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่าสถานศึกษาของตนเองจะล่มจมเพราะไม่มีผู้รับผิดชอบ จะดีกว่า เพราะทางราชการมีกลไกการรักษาราชการครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการอยู่แล้ว กรณีนี้อาจเทียบเคียงได้กับการขอลาออกจากราชการตามมาตรา ๑๐๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ที่กำหนดว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ เป็นผู้พิจารณาอนุญาต ในกรณีที่ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ พิจารณาเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการ จะยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้เป็นเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันขอลาออกก็ได้ แต่ต้องแจ้งการยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ขอลาออกทราบ และเมื่อครบกำหนดเวลาที่ยับยั้งแล้วให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเวลาที่ยับยั้ง ถ้าผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ ไม่ได้อนุญาตให้ลาออกและไม่ได้ยับยั้งการอนุญาตให้ลาออก ให้การลาออกนั้นมีผลตั้งแต่วันขอลาออก

 

วิพล นาคพันธ์

๓ ตุลาคม ๒๕๕๓

อ่านข่าวสารทั้งหมดของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc

หมายเลขบันทึก: 400756เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท