การประเมินผลการปฏิบัติงาน


ประเมินผล ประเมินงาน ประเมินคน
การประเมินผลการปฏิบัติงาน            เรามักคุ้นเคยกับคำว่า "การประเมินผลการปฏิบัติงาน" แต่อาจไม่คุ้นเคยกับการเป็นผู้ถูกประเมิน คือ เคยได้ยิน ได้อ่าน ได้เห็นคนอื่นทำกัน ได้เห็นหน่วยงานอื่นเขาทำกัน แต่ไม่ส่วนใหญ่ยังไม่นำมาใช้กับตัวเองหรือในหน่วยงานของตัวเอง แต่ถ้าถามผู้บริหาร ผู้บริหารทุกคนอยากเห็นผลการประเมิน อยากเห็นผลการปฏิบัติงานของบุคลากร เพราะจะเป็นคำตอบที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน และต้องการให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานในทุกส่วนงานขององค์กรแต่ในทางปฏิบัติเชื่อว่าในองค์กรต่างๆยังมีการดำเนินการกันไม่มากนัก บางคน บางหน่วยงานอาจกลัวผลการประเมิน หรือคิดว่ามีความยุ่งยาก/เพิ่มภาระงาน อยู่เฉยๆดีกว่า ทำงานกันไปตามหน้าที่ในแต่ละวันก็เพียงพอ หรือคิดว่างานที่ต้องทำในแต่ละวันก็ยุ่งพอแล้ว จะไปประเมินอะไรกันอีก.....เป็นคำพูดที่เคยได้ยินมาบ้างจริงๆ                ในขณะที่ผมปฏิบัติงานอยู่ที่คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี  เมื่อปี พ.ศ.2545 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านบริการการศึกษา ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่  ได้เห็นแนวทางการประเมินการให้บริการของงานบริการการศึกษา ในขณะที่หน่วยงานของตัวเองไม่เคยดำเนินการในลักษณะนี้ จึงทำให้เกิดการแนวคิดและเห็นถึงความสำคัญของการประเมินดังกล่าว  ต่อมาประมาณปลายปี 2545 ผมได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานบริการการศึกษา  จึงมีโอกาสที่จะนำไปใช้ได้ และในช่วงต้นปี พ.ศ.2546 จึงนำการประเมินผลการให้บริการ/การปฏิบัติงาน มาใช้ในการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการที่มีต่อผู้ให้บริการ  วัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าว เพื่อต้องการทราบว่า ในส่วนงานต่างๆ มีผลของการให้บริการแก่ผู้รับบริการในระดับไหน อย่างไร ผู้รับบริการมีข้อเสนอแนะในการให้บริการ/ปฏิบัติงานอย่างไร ผลการประเมินที่ได้จะนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุง/พัฒนาการให้บริการ ปรับปรุง/พัฒนาการปฏิบัติงานงานของบุคลากรในงานบริการการศึกษา ของคณะฯ ต่อไป                ในการดำเนินการประเมินความพึงพอใจการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ของงานบริการการศึกษา เป้าหมายของการประเมิน คือ ทุกงานย่อยในแต่ละงาน ภายในงานบริการการศึกษา ที่ประเมินมีด้วยกัน 5 ส่วนงาน คือ หน่วยส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ หน่วยทะเบียนและประเมินผลการศึกษาหน่วยพัฒนานักศึกษา หน่วยบริการวิชาการแก่สังคม หน่วยฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หน่วยวิเทศสัมพันธ์ หน่วยบัณฑิตศึกษา และห้องสมุดคณะศึกษาศาสตร์ กลุ่มผู้ประเมิน ได้แก่ นักศึกษา และอาจารย์ โดยได้ดำเนินการ ดังนี้                1.  จัดทำ "ใบรับความคิดเห็น" เพื่อให้ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นนักศึกษาและอาจารย์ ได้ประเมินให้ความคิดเห็น                2.  จัดหาตู้รับใบรับความคิดเห็น ติดตั้ง 3 จุด คือ บริเวณหน้าห้อง/ระหว่างห้อง 10104 และห้อง 10103 จำนวน 1 ตู้, หน้าห้องสมุด จำนวน 1 ตู้, บริเวณชั้น 3 อาคาร 10 จำนวน 1 ตู้ โดยจัดทำกล่องสำหรับใส่ใบรับความคิดเห็น ติดตั้งไว้ใกล้กับตู้รับใบความคิดเห็น                3.  ประชาสัมพันธ์ ให้กลุ่มเป้าหมายผู้ประเมิน ได้ทราบ และเชิญชวน/ขอความร่วมมือในการประเมินให้ความคิดเห็นต่อการให้บริการและการปฏิบัติของบุคลากรในส่วนงานต่างๆของงานบริการการศึกษา โดยประชาสัมพันธ์ทาง e-mail ประชาสัมพันธ์ผ่าน website ของคณะฯ ทำโปสเตอร์ ติดประกาศ                 4.  หัวหน้างานบริการการศึกษา รวบรวมแบบประเมิน ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำรายงานผลการประเมินฯ นำผลการประเมินฯ แจ้งในที่ประชุมบุคลากรงานบริการการศึกษา และแจ้งเลขานุการคณะ/ คณบดี เพื่อทราบ                ในการนำผลการประเมินความพึงพอในการให้บริการ/การปฏิบัติงาน แจ้งในที่ประชุมบุคลากรงานบริการการศึกษา เพื่อรับทราบ และร่วมกันพิจารณาให้ความคิดเห็นในการปรับปรุง/พัฒนางาน โดยเฉพาะในบางส่วนงานที่มีผลการประเมินฯ อยู่ในระดับปานกลาง ต้องได้รับการปรับปรุง ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกำหนดแนวทางในการพัฒนา หรือในบางส่วนงานที่ผู้รับบริการให้ความเห็น/ข้อเสนอแนะไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องปรับปรุง/พัฒนาการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ที่พบ เช่น เจ้าหน้าที่บางคนพูดไม่สุภาพ ไม่ค่อยเต็มใจให้บริการ การทำงานไม่เป็นระบบ มาติดต่อแล้วไม่ค่อยพบเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ ถ้าไม่มีการประเมินฯ เราก็จะไม่ทราบ ประโยชน์อีกประการที่ตามมาเมื่อมีการประเมินฯ  เจ้าหน้าที่จะมีความตระหนัก และใส่ใจในการปฏิบัติงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากทุกคนอยากเห็นผลการประเมินออกมาดี                ในการประเมินความพึงพอในการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ของบุคลากร ได้กำหนดแผนการดำเนินการไว้ 6 เดือน/ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงปี พ.ศ.2548 ได้มีการประเมินฯ ไป 3 ครั้ง ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548-ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติให้ผมโอนย้ายไปปฏิบัติราชการที่โครงการจัดตั้งคณะการแพทย์แผนไทย ม.อ.หาดใหญ่ ปัจจุบันจึงไม่แน่ใจว่างานบริการการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ยังมีการประเมินความพึงพอในการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ของบุคลากร ต่อไปอีกหรือไม่                                                                                                                        
คำสำคัญ (Tags): #การประเมิน
หมายเลขบันทึก: 40036เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท