นักเรียนชายขอบ (maginalization student)


เกณฑ์ชุดหนึ่ง วิชาการชุดหนึ่ง ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งกลายเป็นนักเรียนชายขอบ

ได้มีโอกาสได้ศึกษาดูงานในโรงเรียนดัง ๆ มีชื่อเสียงหลายโรงเีรียน
หลายจังหวัดในภาคเหนือ แต่จะไม่เอ่ยว่าเป็นโรงเรียนอะไรบ้าง
โรงเรียนได้นำเสนอสิ่งที่เป็นเชิงระบบทั้งหลักฐานเอกสาร และตัวนักเรียน
จำนวนหนึ่ง เพื่อแสดงถึงคุณภาพของโรงเรียนนั้น ๆ ทุกครั้งที่ไปผม
ก็มักจะเข้าไปถามเด็ก หรือไม่ก็คนที่คาดว่าเขาเป็นคนที่ไม่สำคัญ
เสร็จแล้วก็พูดทักทายกันธรรมดา และก็ถามคำถามที่อยากรู้จริง ๆ
ว่าเป็นอย่างไร  ส่วนใหญ่โรงเีรียนในโลกนี้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เหมือน ๆกัน
ก็คือรังเกียจนักเรียนที่เรียนไม่เก่ง นักเรียนที่ไม่ได้แย่งกันสอบเข้ามา
ข้อมูลนี้เป็นการนำเสนอของผู้บริหารของโรงเรียนนั้นเอง เขาบอกว่า
นักเีรียนที่ต้องรับจากเขตบริการนี้แย่มาก เป็นตัวฉุดเกรด และความสำคัญ
ของโรงเรียนลง โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนดี เด่น ดัง เวลาสอบระดับชาติ
ก็ได้คะแนนเฉลี่ยเป็นต้น ๆ ของประเทศ เมื่อปีก่อนรับเด็กในเขตบริการ
นี้มาก ทำให้คะแนนเฉลี่ยของการสอบระดับชาตินี้ลดลง ทำให้เกียรติภูมิ
ของโรงเรียนลดลง ผมฟังแล้วขนลุกว่าโรงเีรียนที่โด่งดังเหล่านี้พยายาม
สอบเอานักเรียนที่เรียนเก่งที่สุดสอบแข่งขันกันเข้ามา และประวัติศาสตร์
ของโรงเรียนก็ยาวนานจนทรัพยากรอะไรเต็มโรงเรียน ครูก็ครบพร้อม
ดูเหมือนจะเกินเพราะมีครูที่มีสามีเป็นคนสำคัญมาช่วยราชการโรงเรียนเหล่านี้
ครูแทบจะสอนคนละวิชาด้วยซ้ำไป  แต่ทำไมเมื่อพูดถึงเด็กกลุ่มที่ว่านี่
ทำไมเขาถึงไม่อยากได้ ทั้งที่ทุกอย่างจัดการเชิงระบบไม่ว่าจะเอาอะไรใส่เข้าไป
แล้วคุณภาพนักเรียนก็จะกระฉูด แต่ทำไมเขาจึงไม่อยากได้เด็กในเขตบริการ
เขาบอกว่าเด็กเหล่านี้เรียนไม่เก่ง เรียนไม่รู้เรื่อง เกเร มีปัญหากับครู ฯลฯ

เสียงบ่นจากอีกโรงเรียนหนึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
เหมือนกัน แม้ว่าโรงเรียนนี้จะเป็นแนวหน้าในภาคเหนือ นักเรียนที่จะเข้ามา
ต้องสอบเข้าคัดเลือกเอานักเรียนที่เก่งที่สุดมาเรียนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
และรับเด็กที่เป็นโควต้าของพนักงานในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ อีกเป็นเปอร์เซ็นต์
ที่เหลือ  บังเอิญเพื่อนของผมก็สอนในโรงเรียนนั้นด้วย เขาก็จะบ่นให้ฟังอยู่
เสมอว่า เด็กที่สอบรับเข้ามานั้นทำอะไรก็ดีไปหมด แต่เด็กในเขตบริการนี้แย่
เหนื่อย หมายถึงเด็กที่รับอีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้สอบเข้านี้ทำอะไรก็แย่ไป
เสียหมด ทำให้อิดหนาระอาใจ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะกลาย
เป็นข้อมูลสำคัญ ประกอบกับอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยนั้นมาบรรยาย
และกล่าวถึงโรงเรียนข้าง ๆ คณะนั้นที่เป็นลูกอาจารย์หมอ หรือคณาจารย์
ที่สอบแข่งขันเข้ามาัันั้น แม้ไม่สอนอะไรเลยมันก็ฉลาดอยู่แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง
มีความพร้อม แตกต่างกับสิ่งที่เป็นตัวปัญหาก็คือนักเรียนที่มาจากยี่สิบเปอร์เซ็นต์
ที่ไม่ได้สอบเข้ามาเป็นตรงกันข้ามเลย ผมนึกขึ้นได้ว่าประโยคนี้เพื่อนของผม
เคยบ่นให้ผมฟังเป็นข้อมูลตรงกันเป๊ะเลย 

ก็เลยตั้งคำถามขึ้น นักเรียนเหล่านี้กลายมาเป็นนักเรียนชายขอบได้อย่างไร
อะไรทำให้นักเรียนเหล่านี้คล้ายจะไม่ใช่มนุษย์ในสถาบันการศึกษา และเขา
ถูกกีดกันไปสู่ชายขอบการศึกษาด้วยเกณฑ์อะไร หรือความคิดชุดใดกันแน่
ที่แน่ ๆ คือความคิดชุดหนึ่งของทฤษฎีเชิงระบบ ความคิดชุดนี้ลอกแบบมาจาก
โรงงานในระบบทุนนิยมที่มีการผลิตโดยการป้อนทรัพยากร บุคคล เพื่อทำการ
ผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยกระทำโดยมีขั้นตอน และการควบคุมคุณภาพเพื่อให้
สินค้าที่มีุคุณภาพเหมือน ๆ กัน เมื่อ output ของโรงงานออกมาก็จะมีสินค้า
ชุดหนึ่งดูดีีมีราคา และมีสินค้าที่เสีย ก็จะคัดสินค้านั้นออก ไปขายเป็นเกรดสอง
การวัดและประเมินสินค้าว่าดูดีมีราคา หรือเสีย นั่นแหละเป็นตัวคัดสินค้า
ทฤษฎีระบบผลิตคนก็เหมือนกัน ก็พยายามเลียนแบบระบบโรงงานโดยไม่คำนึง
ความแตกต่างกันเป็นอย่างมากของวัตถุดิบ อันนี้ยังไม่พูดถึงโรงเรียนชายขอบ
ที่ให้วัตถุดิบแค่จักรยานเก่า ๆ ผุ แต่เอาไปเข้ากระบวนการให้ได้รถยุโรปชั้นดี
ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก

สำหรับนักเรียนชายขอบเหล่านี้ถูกประทับตราว่าโง่ สร้างแต่ปัญหาไม่หยุดหย่อน
ทำให้เกียรติภูมิของโรงเรียน(การสอบระดับชาติ การสอบทุกระดับนั้น) นั้นมีค่าตกต่ำลง
ถ้านักเรียนเหล่านี้ย้ายออกไป หรือลาออกไปเหลือแต่นักเรียนเก่ง ๆ นั้นโรงเรียน
จะมีคุณภาพมากขึ้น (การสอบระดับชาติ การวัดผลทุกระัดับชั้น)ได้คะแนนสูง
ภาคภูมิใจ ได้มาตรฐาน  

สินค้าชั้นสองสามเหล่านี้ไม่มีค่าที่โรงเรียนจะกล่าวถึงเขา ยกเว้นว่าภายหลังเขา
กลับกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจ โรงเรียนเหล่านี้ก็จะเริ่มกล่าวถึงเขาในฐานะที่เขาสร้าง
ชื่อเสียงให้กับโรงเรียน โดยลืมตอนที่ผลักดันเขาไปสู่ชายขอบ สินค้าชั้นสอง
ชั้นสามนี้เป็นความจงใจของระบบทุนนิยมที่จะต้องการคัดเขาให้เป็นแรงงาน
โดยอัตโนมัติ ส่วนผู้ที่ถูกคัดชั้นยอดที่มีสถานภาพที่ดีอยู่แล้วก็ยังคงดำรงสถานภาพ
ที่ดีอยู่เหนือคนที่เป็นแรงงานทั้งแรงงานราคาถูกที่ไม่มีฝีมือ หรือแรงงานที่มีฝีมือ


การกีดกันนักเรียนไปสู่ชายขอบ (maginalization) หรือสร้างความเป็นอื่นให้กับ
นักเรียนกลุ่มไม่เก่ง เป็นการใช้เกณฑ์ ทฤษฎี วิชาการ ที่ดูเหมือนจะเป็นกลาง
ดูเหมือนไม่รุนแรง แต่แฝงไว้ด้วยความรุนแรง แบ่งแยก อย่างแนบเนียนโดยที่
คนไม่รู้สึก เป็นเทคนิควิทยาแห่งอำนาจ (technology of power)ที่ทำงานได้ผล

หมายเลขบันทึก: 400352เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2010 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท