คติธรรม


คติธรรมจากงานศพ

คติธรรมจากงานศพ

 เคยคิดไหมว่าเราไปงานศพแล้วเราได้อะไร ?

 ไปทำไม ?  ไปเพื่ออะไร ?  ไปตามบัตรเชิญ หรือ ไป

 เพราะเป็นญาติสนิทมิตรสหายกัน แค่นั้น หรือ ?

 

คติธรรมจากงานศพ

“กุสะลา  ธัมมา  อะกุสะลา  ธัมมา...”

        พระสวดไปใจยังวุ่นวาย  รับรู้ไม่ได้ว่าสวดอะไร  คงสวดให้ผู้ตายฟัง  เรานั่งเฉย ๆ ก็พอ  ฟังพระสวดเพื่อมารยาท  คงพลาดอานิสงส์  ใจคงไม่เข้าใจ  ถ้าฟังไปภาวนาไป  ใจคงเห็นความจริง  ว่าที่นอนนิ่ง ๆ นั่นมิใช่ใคร  เคยมีหัวใจเช่นเรา  วันนี้เป็นโอกาสเขา   “พรุ่งนี้อาจเป็นโอกาสเรา” จงพิจารณาเถิด...

 

“เคาะโลง”

           เสียงเคาะโลง  มีเสียงพูดเบา ๆ จากผู้เคาะว่า  “รับศีลน๊ะ  ทานข้าวน๊ะ  ฟังพระสวดน๊ะ” ทำไปเพื่ออะไร  หรือว่า  “เคาะประชดคนเป็น”  ในยามมีชีวิตอยู่  เตือนแค่ไหนก็เตือนเถิด    ดูเหมือนไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้  ในยามนี้เตือนไปก็คงไร้ความหมาย  คนตายจะไปรับรู้อะไร  เคาะเตือนคนเป็น  ให้เห็นถึงความจริงว่า  “สิ่งที่ดีรีบเร่งขวนขวาย”  วัว  ควาย  ช้าง  ม้า   ยามมันมรณาไป ยังหาประโยชน์ได้  มนุษย์  ซิเน่าเปื่อยสูญเปล่าไป  ดีชั่วที่ทำไว้ส่องให้โลกเห็น (เอาคนตายเป็นครู..คนอยู่เป็นนักเรียน..)

 

“อาหารหน้าโลง”

           ชีวิตใครบางคน  ถ้าไม่ตาย  ก็คงไม่มีใครให้ความสนใจมากมายเช่นนี้  อาหาร  ผลไม้นานาชนิด  จัดเรียงรายด้านหน้าโลง  สิ่งใดที่ผู้ตายชอบใจ  แพงแค่ไหนก็แสวงหามา  เพื่อเป็นเครื่องเซ่น  แด่ดวงวิญญาณ  ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น  ในยามผู้ตายมีชีวิตอยู่  เราคงได้เห็น สีหน้า  และได้รับคำขอบใจ  อาหารก็ยังคงเป็นประโยชน์แก่ผู้รับด้วย  แต่เวลานี้...ทุก ๆ  สิ่ง  ทุก ๆ อย่างคง   อยู่สภาพเดิม  บุคคลที่จะรับวัตถุสิ่งของ ๆ เรา  ขณะนี้  เขาไม่รับรู้อะไรแล้ว  หรือว่า  ทำไป  เพียงเพื่อสนองความรู้สึกเราในยามมีชีวิต  ถ้าเราแสดงออกซึ่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน  คงจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าเหตุการณ์  “อาหารหน้าโลง”  เป็นแน่

 

“ชุดสีดำ” 

           ในยามสูญเสีย  บุคคลอันเป็นที่รัก  หรือญาติมิตร  คงไม่มีใครคิดที่จะดีใจ  พกพาความสุขและรอยยิ้มหรอกน๊ะ  สีดำ...เป็นสีแห่งความทุกข์  โลกให้ความหมายไว้เช่นนั้น  ในยามมีงานศพ  เรามักพบแต่คนใส่ชุดสีดำเป็นส่วนมาก  บ่งบอกว่า “กำลังไว้ทุกข์”  ความจริงแล้วความทุกข์ของคน  ไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องความตาย  สิ่งเดียวนั้นหาได้ไม่  “การเกิด  การแก่  การเจ็บ  ความผิดหวัง ไม่สมหวังทุกอย่าง”  สิ่งเหล่านี้ก็คือความทุกข์ทั้งสิ้น  การใส่ชุดสีดำมางานศพ  เพื่อบอกว่าเป็นการไว้ทุกข์  เป็นการทำตามประเพณี  แต่ถ้าจะให้ดี  ต้องไว้ทุกข์ด้วยใจ  เพ่งถึงสภาวะ  ความพลัดพราก  ความไม่แน่นอน(ตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา)  และบอกตัวเองว่าเหตุการณ์  เช่นนี้  คงต้องเกิดขึ้นกับเราเป็นแน่แท้

 

“ทอดผ้าบังสุกุล”

             เสียงพระบริกรรม  ในขณะพิจารณาผ้าบังสุกุล  ว่า...  “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา  อุปปาทะวะยะธัมมิโน  อุปปัชชิตตะวา  นิรุชฌันติ  เตสัง  วูปะสะโม  สุโข”  แปลความว่า...ร่างกายนี้หนอ  ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  มีการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และแตกสลายดับไป  เป็นธรรมดา  การพิจารณาร่างกายให้เห็น  เป็นธรรมดา  นั่นแหละหนา  “คือ  ความสงบสุข”  บทพิจารณาบทนี้  ถ้ามีในใจใคร  ถ้าสิ้นลมหายใจไป   ก็คงไม่จำเป็นที่จะให้พระรูปใด  ต้องมาพิจารณา  แต่ .. ดูเหมือนว่า  คนไม่กล้าพิจารณา  เพราะกลัวว่า  “จะตายไว”

 

“ดอกไม้จันทร์”

             ดอกไม้จันทน์  นับพันดอกที่เหล่าญาติมิตรวางไว้  เพื่อไว้อาลัยกับการจากไป  ของบุคคลที่ตนรัก  บางคนวางลงทั้งน้ำตา  ในใจบ่นว่า  “ไม่น่าเลย”  บางคนวางลงพร้อมกับเสียงร้องไห้ในใจบ่นว่า  “ทำไมต้องตายด้วย”  บางคนวางลงพร้อมด้วยความสลดใจ  ในใจบ่นว่า  “เราก็จะเป็นเช่นเดียวกับเขา”  บางคนวางลงพร้อมใจสงบนิ่ง  ในใจ  “ไม่ได้คิดอะไรเลย”  ดอกไม้จันทน์ดอกนั้น  ไม่คู่ควรกับตัวฉันในวันนี้  แต่จะคู่ควรกับฉัน  ในวันที่ฉันสิ้นลมหายใจ...**

 

“เหรียญบาทในปากผี”

             การกระทำที่เกิดจากความคิด  หวังให้ผู้ตายได้มีเงินใช้  จึงปรากฏเหรียญบาทในปากผี  มนุษย์มีสติปัญญา  มองเห็นว่า...นี่หนามนุษย์  ในที่สุด  แม้เงินที่ใส่ไว้ในปาก  ก็ไม่อาจเอาไปได้  แต่ ... ทำไมหนอชีวิต  ทั้งชีวิต  จึงบ้าแต่กับคำว่า  “เงิน”  อยู่ตลอดวันตลอดคืน “เงิน”  คือพระเจ้าที่สามารถดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างได้  แต่ไม่อาจดลบันดาลให้มนุษย์พบแสงสว่างแห่งความจริงได้ว่า... “ชีวิต  คือ  ความทุกข์” เพราะว่า..เงิน  คือ  สิ่งโกหกมนุษย์อยู่ตลอดเวลาว่า  “ชีวิต  คือ  ความสุข”

 

“ดูหน้า...ครั้งสุดท้าย”

             ต่างอยากเห็นหน้าว่า  เวลานี้เจ้าเป็นเช่นไร  พอเปิดโลงไป  ทุกคนต่างเมินหน้าหนี  ถึงจะสวยงดงามดังเทพี  ก็คงไม่มีใครที่จะสนใจเจ้า  ดูหน้าศพแล้วย้อนดูหน้าเรา  คนมีชีวิตเขลาหรือไม่หนอ  พยายามเสริมแต่งตามคำยอ  เพื่อลวงล่อให้คนชมอยู่เรื่อยมา  แท้ที่จริงนั้นเห็นความจริงมั้ยว่าสวยสักปานใด  พอเปิดโลงไป  ทำไมต้องเมินหน้าหนี  “ความสวยคงแพ้ความดี”  พึงทำให้มีดีจะสวยตลอดกาล

 

“กลิ่นศพ”

           ในสมัยยังมีชีวิตอยู่  สู้แสวงหาเครื่องสำอางที่มีราคา  เพียงเพื่อว่า...ให้ร่างกายข้าสวยสดงดงาม      มาบัดนี้...เพียงสิ้นลมไม่กี่นาที  กลิ่นที่ดีก็สูญสิ้นไป  คนเคยชมเจ้าว่า...งามสง่า  กลิ่น   กายาเจ้าแสนหอม  คนเคยยื้อแย่งและรุมตอม  มาบัดนี้...จ้างก็ไม่ยอมเข้าชิดกายา  แถมยังบ่นว่า...เจ้าช่างเหม็นจัง  คิดบ้างเถอะว่าอย่าบ้าไปกับสังขาร  อย่าหลอกตัวเองเลยนงคราญ  อีกไม่นาน   ก็ทุเรศสิ้นดี  เพียรสร้างตัวให้มีแต่ความดี  อยู่ในศีลธรรม(ศีล ๕) กลิ่นเจ้านี้ก็จะหอมมั่นคง  ชั่วนิจนิรันดร์โดยไม่มีวันจืดจาง  ดังพุทธดำรัส ว่า ศีลหอมไปตามลมก็ได้ ทวนลมก็ได้

 

“เมรุ”

              เมรุมาศ  สวยบาดตา  รู้มั้ยว่าเขาไว้ทำอะไร  ชีวิตก็แค่นี้  ถ้าไม่ฝังก็เผา  เราเคยเดินขึ้นเมรุ  เพื่อวางดอกไม้จันทน์นับครั้งไม่ถ้วน  วางดอกไม้ลงปลงใจไม่ได้ว่า  “เราก็จะเป็นเช่นเขา”     เดินลงจากเมรุเริ่มคิดโครงการถึงเรื่องงาน  และเรื่องเงิน  คิดจนเพลินจนลืมคิดว่า    “คนเราไม่พ้นเมรุ”

 

“ไฟ”

           ไม่กี่นาที  ร่างกายนี้ที่ไร้วิญญาณ  ก็ถูกไฟเผาผลาญจนเป็นเถ้าถ่านโดยสิ้นเชิง  แต่นั่น  ไฟมันเผาตอนที่ตายแล้ว  ในตอนที่มีชีวิตอยู่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  “มนุษย์  ที่ยังไม่พ้นจากกิเลสตัณหา  ย่อมถูกกระแสแห่ง  (ไฟโทสะ  ไฟโมหะ  ไฟโลภะ)  เผาอยู่ตลอดเวลา”  ยอมไม่ได้  ให้อภัยไม่ได้  รู้สึกไม่พอใจยิ่งนัก  จมปลักกับกระแสแห่งโลกีย์  จนใคร ๆ เตือนไม่ได้  ปรารถนาจนนอนไม่หลับ  ดูซิ...ถูกเผาแค่ไหน     น่าสงสารใจดวงนี้จัง

 

“กระดูก”

            สัปเหร่อ  บรรจงเก็บกระดูกใส่ถาดเพื่อนำไปเก็บไว้  มองดูไม่เห็นมีอะไรคงเห็นเพียง  “เศษกระดูก”  ชีวิตคนถ้ากระดูกจะมีค่าก็ต่อเมื่อ  ชีวิตทั้งชีวิตเป็นคนดี  ถ้าไร้ซึ่งความดี  กระดูกกองนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับกระดูกของสัตว์  บางครั้งยังสู้กระดูกสัตว์ไม่ได้  เห็นกระดูกในถาด    อาจเห็นธรรมในใจได้ถ้าคิดเป็น      ไม่สักแต่ว่าเห็น  ว่านั่นคือกระดูกคน

 

“ที่เก็บกระดูก”

              ยามมีชีวิตอยู่ใครก็รู้ว่า  ที่อยู่เจ้าใหญ่โต  มาบัดนี้ที่อยู่เจ้าช่างคัยแคบเหลือเกิน  แสวงหา  กอบโกย  คดโกง  ต่อสู้  เพื่อให้ได้มาทุกวิถีทาง  ในที่สุดแห่งชีวิต “ก็...แค่นี้”  ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม

 

“ฝากไว้สะกิดใจ”

              คนที่ไม่เคยบอกความจริงกับชีวิตตัวเองว่า  “เดี๋ยวก็ตาย”  เป็นคนที่น่าเป็นห่วงยิ่งนัก  คนที่ไม่ยอมรับความจริง  บนความจริงที่ปรากฏกับชีวิต  เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดในโลก...ฯ

 

                                     เตือนใจคนต้องตาย

         ในโลกนี้มีใครไม่ตายบ้าง                     ตายเร็วบ้างช้าบ้างอย่างที่เห็น

บาปและบุญหนุนนำเป็นกรรมเวร                     มองให้เห็นความเป็นจริงสิ่งได้มา

เมื่อไม่ตายท่านทั้งหลายอย่าประมาท               อย่าได้พลาดในความดีที่ควรหา

ทั้งให้ทานรักษาศีลภาวนา                             ตายไม่ว่าถ้ามีธรรมค้ำจุนใจ

        ในโลกนี้มีใครไม่ตายบ้าง                      ถึงรูปร่างจะสวยงามสักเพียงไหน

ยศสูงศักดิ์หรือมั่งมีกว่าใครใคร                       หนีไม่ได้ก็ต้องตายวายชีวัน

คิดถึงตายมันช่วยคลายไม่ให้ติด                     ชวนให้คิดถึงความจริงสิ่งที่เห็น

แม้แต่เราก็ต้องตายใจเย็นเย็น                         ฝึกให้เป็นตายก่อนตายสบายเอย...

 

                      ขอความสุขจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน...เทอญ.ฯ

 

หมายเลขบันทึก: 400199เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ป็นคิตธรรมที่ดีมากๆค่ะ

สอนให้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต คนเราทุกคนเกิดมาไม่มีใครหนีพ้นความตาย

ฉนั้น ตอนที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็ควรทำประโยชน์ให้กับโลกใบนี้บ้าง

     " ขอบคุณนะคะสำหรับคติธรรมดีๆในการใช้ชีวิต"

                   **  D_D jung เลย  **

ได้ความรู้ความคิดดีมากเลยครับ ขอบคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท