การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์


การเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร

         1. เลือกวารสารที่จะตีพิมพ์อย่างไร ?...  ควรเลือกวารสารที่ได้รับการยอมรับของหน่วยงานต่างๆ เช่น สกว. หรือ สกอ. และเป็นวารสารที่มี impact factor ต่อเนื่อง (“จำนวนครั้งโดยเฉลี่ย ที่บทความของวารสารนั้นได้รับการอ้างอิงในแต่ละปี” อ่านเพิ่มเติมจาก http://stang.sc.mahidol.ac.th/text/pdf/if.pdf) และวารสารนั้นควรออกสม่ำเสมอตามวาระที่กำหนด เราสามารถสืบค้นรายชื่อวารสารทั้งระดับชาติและนานาชาติได้จาก http://www.kmutt.ac.th/jif/public_html/journal%20quality.html

          2. นื้อเรื่องที่จะตีพิมพ์ควรพิจารณาอย่างไร ? ... งานวิจัย 1 เรื่องอาจจะเขียนหลายบทความก็ได้ โดยแบ่งหัวข้อหรือรายละเอียดปลีกย่อยออกไป แต่หนึ่งบทความควรจะลงในวารสารฉบับใดฉบับหนึ่งเท่านั้น และบทความที่ดีจะต้องมาจากงานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นองค์ความรู้ใหม่ หรือต่อยอดจากองค์ความรู้เดิม คำว่า “งานวิจัยที่มีคุณภาพ” ความหมายถึงตั้งแต่ ชื่อเรื่อง หลักการ เหตุผล การวางแผนการทดลอง การวิเคราะห์ผลและสรุปผล ตลอดจนอุปกรณ์หรือเครื่องมือวัดต้องมีความแม่นยำและเที่ยงตรง

          3. รูปแบบของการเขียน.. เขียนอย่างไร ? ...เมื่อตัดสินใจว่าจะส่งบทความตีพิมพ์ในวารสารใด ให้นำรูปแบบการเขียนของวารสารนั้นๆ มาเป็นต้นแบบ

          4. ขั้นตอนการเตรียมต้นฉบับ.. เตรียมอย่างไร ? ...มี 6 ขั้นตอนดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 กำหนดประเด็นหลักที่เป็นหัวเรื่อง โดย

           §  กำหนดให้ชัดว่าจะบอกอะไร อะไรคือองค์ความรู้ใหม่ หรือวิทยาการใหม่

           §  ลองเขียนสรุปสั้นๆ เพียง 1 ประโยค เหมือนพาดหัวข่าว

           §  หรือเล่าเรื่องสั้นๆ ให้เพื่อฟังในเวลา 1 นาที

           §  คิดให้ดีว่า “อะไร” ที่ต้องการจะให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับงานของเรา

         ขั้นตอนที่ 2 เขียนโครงร่างของรายงาน นำสาระจากประเด็นหลักในขั้นตอนที่ 1 มาขยายตามรูปแบบของบทความวิจัย ซึ่งประกอบด้วย

           §  ชื่อเรื่อง-ผู้เขียน (Title and Authors)

           §  บทคัดย่อ (Abstract)

           §  บทนำ (Introduction)

           §  อุปกรณ์และวิธีการ (Materials and Methods)

           §  ผลการทดลอง (Results)

           §  สรุปและวิจารณ์ผล (Discussion and Conclusion)

           §  กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments)

           §  เอกสารอ้างอิง (References)

    (ในรายละเอียดแต่ละหัวข้อจะเขียนข้อแนะนำในรายละเอียดครั้งต่อไป)

          ขั้นตอนที่ 3 เขียนร่างครั้งแรก ไม่จำเป็นต้องเขียนตามลำดับหัวข้อ ขึ้นอยู่กับแต่ละท่าน อาจคิดว่าส่วนใดง่ายเขียนก่อน บางท่านแนะนำว่าเขียนหัวข้ออุปกรณ์และวิธีการ ซึ่งถือว่าง่ายเพราะเป็นส่วนที่เราทำและกำหนดเอง แล้วจึงเขียนผลการทดลอง สรุปผล บทนำ เอกสารอ้างอิง ส่วนบทคัดย่อไว้สุดท้าย ท่านวิทยากรแนะนำว่า “เขียนให้เร็ว อะไรติดขัดเว้นไว้ ภาษา สำนวน ไว้แก้ไขที่หลัง”

          ขั้นตอนที่ 4 แก้ไขฉบับร่าง เมื่อเขียนเรียบร้อย วางทิ้งไว้สัก 2-3 วัน แต่อย่าทิ้งไว้นาน อ่านอีกสักครั้งแก้ไข เพิ่มเติม ลำดับ ขัดเกลาสำนวนภาษา ความต่อเนื่อง

         ขั้นตอนที่ 5 แก้ไขฉบับร่างครั้งที่ 2 ครั้งนี้ให้คิดว่าเราเป็นผู้ตรวจบทความก่อนตีพิมพ์ (Reviewer) พิจารณาถึงความสมบูรณ์ของเนื้อหา ครบถ้วนหรือไม่ในแต่ละหัวข้อว่าดีแล้วหรือต้องแก้ไข เพิ่มเติม แล้วนำมาปรับแก้

         ขั้นตอนที่ 6 ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ควรส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยอ่านให้ หรือหากเป็นชาวต่างชาติเจ้าของภาษายิ่งดี แล้วนำมาปรับแก้อีกครั้ง เมื่อคิดว่าสมบูรณ์ส่งตีพิมพ์

   

หมายเลขบันทึก: 399445เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท