ข้อเสนอแนะของคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีต่อ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการสาธารณสุข


ข้อเสนอแนะของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีต่อ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการสาธารณสุข

 บ่ายวันนี้ (28 ก.ย.) เริ่มประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการ นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส นายกแทพยสมาคมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศนำทีมวอล์คเอาท์ ในห้องประชุมเหลือแค่ตัวแทนกระทรวง สธ., โรงเรียนแพทย์, สภาวิชาชีพอื่นๆ และตัวแทนผู้บริโภค ผู้ป่วย           

      รศ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แถลงจุดยืนของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ข้อเสนอแนะของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบด

                 บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ติดตามความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นของ พ.ร.บ.แห่งนี้ ทั้งจากฝ่ายตัวแทนผู้รับบริการ ฝ่ายเพื่อนร่วมวิชาชีพ ผ่านทางแพทยสภา แพทยสมาคม ราชวิทยาลัยต่างๆมาโดยตลอด ทางสภาอาจารย์รามาธิบดีได้จัดทำประชาพิจารณ์ โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนของแพทยสภา แพทยสมาคม ฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าชี้แจงตอบข้อข้องใจของบุคลากรโดยตรง การแสดงความเห็นที่อิสระดังกล่าว ได้นำเข้าเป็นข้อมูลในการประชุมกรรมการบริหาร กรรมการประจำคณะฯ ซึ่งมีมติร่วมกัน เห็นชอบในหลักการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ขอให้มีการทบทวนทำความเข้าใจ และแก้ไข ในบางมาตรา เช่น มาตรา 6(1) และ (2) มาตราที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของสภาวิชาชีพ ที่มาของกองทุน เป็นต้น

                ความเห็นชอบดังกล่าวของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น เพื่อนร่วมวิชาชีพหลายคนพูดว่าเป็นการเอาตัวรอดของโรงเรียนแพทย์ แต่จริงๆแล้ว เราพยายามหาทางรอดหรือเราหาโอกาสรอดจากผลกระทบของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มากกว่า

                จากการรับฟังข้อมูลทุกฝ่ายเราเข้าใจดีว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไดเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยจากแบบอุปถัมภ์ เป็นแบบพันธสัญญา จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เราจึงไม่สามารถใช้ความสามัคคีเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องใช้สติเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง ใช้องค์ความรู้ด้านการบริการจัดการที่มีอยู่ทุกด้าน เพราะเราเชื่อว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ภาพสุดท้ายที่เราทุกคนต้องการเห็นคือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมผู้ให้บริการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีที่สุด ภายใต้การใช้ทรัพยากรสุขภาพที่เหมาะสม เราไม่อยากเห็นภาพที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ซึ่งแม้จะมีความเจริญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง แต่ความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย ชักนำทำให้เกิดลักษณะการแพทย์แบบป้องกันตนเองทางเทคโนโลยีสูง แต่ความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย ชักนำทำให้เกิดลักษณะการแพทย์แบบป้องกันตนเอง (Defensive Medicine) ซึ่งนำไปสู่การใช้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับความไม่ไว้วางใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ

                ปัจจุบัน เรายอมรับว่าธรรมชาติของกระบวนการรักษายังมีความพลาดพลั้ง หรือผลการรักษาที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แม้จะให้การรักษาตามมาตรฐานตามวิชาชีพแล้ว <span>กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการพลาดพลั้งหรืออาการแทรกซ้อนควรได้รับการเยียวยาในกรณีเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพควรได้รับการคุ้มครอง</span> เพื่อให้สามารถทำงานได้ด้วยความสบายใจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เข้าใจดีและเห็นใจแพทย์ที่ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ท่านเป็นผู้รับผิดชอบภาระงานในการรักษาพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ภายใต้ทรัพยากรที่ถูกจัดสรรให้อย่างจำกัด ขอเรียนให้ทราบทั่วกันว่า ผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลรามาธิบดีมีสถานภาพและเผชิญปัญหาไม่ต่างจากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ นอกจากนี้ผู้รับการบริการของเราส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลของท่าน เนื่องจากมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการดูแลรักษาซึ่งย่อมทำให้การรักษามีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนหรือไม่เป็นไปตามความคาดหวังได้มากกว่า แม้การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนถ้าใช้จำนวนผู้ป่วยเป็นหลัก ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีคงต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนมากกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ แต่สิ่งที่บุคลากรของเราสามารถก้าวข้ามประเด็นข้อขัดแย้งของ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เนื่องจากฝ่ายบริหารของคณะซึ่งมีท่านคณบดี (ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน) เป็นประธานได้ทำการศึกษาผลกระทบและนำไปสู่การบริหารจัดการโดยใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร (enterprised risk management) ตามแนวทางของ CoSo และ ISO ตามนโยบายมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลได้ปรับโครงสร้างองค์การโดยจัดตั้งหน่วยงานของโรงพยาบาลเข้ารับผิดชอบทำหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้รับบริการ ขณะเดียวกันที่จะทำหน้าที่ดูแลเรื่องร้องเรียนจากผู้รับบริการแทนแพทย์ผู้รักษา ซึ่งจะทำให้ทีมผู้รักษาสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องร้องเรียน ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบ (Accountability) ของผู้บริหาร

                ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เชื่อว่าการที่บุคลากรเข้าใจวิธการและเห็นการเตรียมพร้อมเพื่อบริหารจัดการผลกระทบจากพ.ร.บ.ดังกล่าวจากผู้บริหาร ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราก้าวข้ามปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การมีมติ เห็นชอบในหลักการของ พ.ร.บ.ดังกล่าว

                สุดท้ายนี้ ทางคณะขอร้องฝ่ายตัวแทนผู้รับบริการให้ความเห้นใจและเข้าใจการปฏิบัติงานของฝ่ายแพทย์และทีมผู้รักษา ขณะเดียวกันขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก้าวข้ามประเด็นแห่งความขัดแย้งเพื่อความสามารถและองค์ความรู้ทั้งหมดมาใช้ในการบริหารจัดการผลกระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริงโดยยึดหลักการคำนึงถึงผู้ที่ส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

รศ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี

28 ก.ย.53

 

คำสำคัญ (Tags): #123
หมายเลขบันทึก: 399241เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ละเอียดอ่อนมากเรื่องนี้ คงต้องค่อยๆ พิจารณาไปอย่างช้าๆ ทีละมาตราครับ ทางออกมีเสมอ อย่าเพิ่งใจร้อนนักทั้งสองฝ่าย ผมเองอยู่วงกลางครับ พยายามดูทั้งสองฉบับเทียบเคียงกันอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท