KM สร้างเสริมสุขภาพ : ความประทับใจเมื่อเข้าฐาน


ช่างเป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้จริงๆ ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการบีบบังคับว่าต้องเรื่องอะไร อย่างไร

ผศ.ดร.เพ็ญจันทร์ เลิศรัตน์ หนึ่งในทีมจัดการแผนงาน พย.สสส. ระยะที่ ๒.๒ ส่ง e-mail บอกความประทับใจเมื่อเข้าฐานการเรียนรู้ในการประชุมมหกรรมการเรียนรู้ "เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : เครือข่ายพยาบาลศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ" มาให้ จึงขอนำมาบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของ AAR และความทรงจำดีๆ

วัลลา ตันตโยทัย

 

ซ้าย รศ.ผ่องพรรณ อรุณแสง กลาง ผศ.ดร.เพ็ญจันทร์ เลิศรัตน์

ขวา รศ.พิมพา สุตรา ภาพจาก พย.สสส.

ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นทีมงานและมีส่วนเข้าร่วมการเรียนรู้ในแต่ละฐานความรู้ โดยก่อนวันงาน 1 วันได้รับมอบหมายจากพี่วัลลาให้เป็นผู้ทำ BAR และ AAR ตอนแรกที่รับรู้ว่าต้องดำเนินการ มีความกังวลใจมาก เพราะไม่เคยเข้าเวทีแบบนี้ และยังต้องมารับผิดชอบทำ BAR และ AAR แต่ด้วยความมั่นใจในพี่วัลลาที่มีประสบการณ์ในการทำเรื่องนี้และในตนเอง (เล็กๆ) ที่ได้อ่านหนังสือมาก่อนและมีโอกาสเข้ากลุ่มเรียนรู้เรื่อง KM ก็พยายามดูวิธีการสะท้อนคิดของวิทยากร

ช่วงที่ดำเนินการ BAR ในฐานวันแรก (วันที่ ๑๖ กันยายน) ก็เกร็งๆ เพราะว่าไม่แน่ใจว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็ทำตามที่พี่วัลลาบอก โดยพี่วัลลามีบท BAR เป็นสไลด์... ไม่ยาก จากการทำ BAR วันแรก ก็เห็นว่าผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อยากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน เสนอแนะเมื่อหมดแต่ละฐาน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร เพราะยังเกร็งกับงานที่ต้องทำอยู่อย่างต่อเนื่อง 5 ฐานแรก

ต่อเมื่อดำเนินการเสร็จ 5 ฐานแรกก็มานั่งคิด ก็คิดไว้ว่าเนื่องจากฐานการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องกัน แม้เป็นการสร้างเสริมสุขภาพเหมือนกัน แต่ละคนเหมือนมีความรู้สึกที่ค้างคาใจ  แต่ยังไงก็ตามวันที่ 2 (วันที่ ๑๗ กันยายน) ก็ทำเหมือนเดิมอีก เพราะว่าบางครั้งผู้เรียนรู้อาจยังไม่คุ้นเคยกับวิธีนี้ หรืออาจเป็นเฉพาะกลุ่มที่ตนเองดำเนินการอยู่

แม้การทำ BAR จะดูไม่เข้มข้นเท่าไร แต่ก็ได้ข้อคิดว่าการจัดฐานในแต่ละวันนั้น เรื่องที่เล่าหากเป็นเรื่องที่หลากหลายในมิติต่างๆ ของการสร้างเสริมสุขภาพและจากบุคลากรเครือข่ายที่แตกต่างกันแล้ว ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวาง ทั้งในเรื่องการจัดการเรียนการสอนโดยอาจารย์กับนักศึกษา กิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพที่ทำโดยนักศึกษาจากการสนับสนุนของอาจารย์ เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพในพยาบาลเอง ในภาคประชาชนจากพยาบาลและนักศึกษา ทำให้เห็นว่าเป็นยุคแห่งการเรียนรู้วิชาการและทักษะการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ การศึกษา การบริการ อาจารย์ พยาบาล และนักศึกษา

ส่วน  AAR ที่ทำเมื่อสิ้นสุดการเรียนรู้ทั้ง 5 ฐานในแต่ละวัน เป็นบรรยากาศที่ตนเองประทับใจมาก เมื่อมีการให้สะท้อนคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว คนที่เข้าฟังในกลุ่มมีตั้งแต่รุ่นเกษียณ (ย่ายาย) รุ่นอาจารย์ของอาจารย์ หรือพยาบาลรุ่นทำงานปัจจุบัน นักศึกษาพยาบาลจากที่ต่างๆ ได้บอกเล่าความรู้สึกว่าดีใจที่ได้มีการจัดมหกรรมการเรียนรู้ครั้งนี้

อาจารย์หรือพยาบาลรุ่นย่ายาย ก็เปิดรับความคิดเห็น ยอมรับผลงานของนักศึกษารุ่นใหม่ที่เสนอ อาจารย์พยาบาลรุ่นกลางเก่า ก็ยอมรับความคิดเห็นของนักศึกษา ช่างเป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้จริงๆ ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการบีบบังคับว่าต้องเรื่องอะไร อย่างไร ตามเหตุผลของแต่ละคน แต่ละคนเกิดการเรียนรู้ 

ในฐานะคนเป็นครู ประทับใจที่นักศึกษาพยาบาลมีศักยภาพเป็นแกนนำการสร้างเสริมสุขภาพ และอีกหนึ่งประทับใจคือการทำงานสร้างเสริมสุขภาพไม่ใช่เป็นเรื่องครูสอนศิษย์ พยาบาลสอนผู้รับบริการ แต่เป็นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในแนวขนานร่วมกันระหว่างเครือข่าย

เพ็ญจันทร์ เลิศรัตน์

หมายเลขบันทึก: 399181เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ตามมาอ่าน
  • เอาเรื่องของสมุทรสาคร
  • มาฝากอาจารย์ด้วยครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/397569

ขอบคุณอาจารย์ขจิตค่ะ ได้ตอบคำถามของโหน่งแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท