แนวทางการพัฒนาการจัดค่ายอย่างมีส่วนร่วม


การจัดค่ายวิทยาศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม

ชื่อเรื่อง  รายงานผลการวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนาการจัดค่ายวิทยาศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม

                                ของ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดในเขตภาคกลาง

ชื่อผู้วิจัย                นายสินชัย  สุจริตพานิช

ปีที่ศึกษา               2553

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดค่ายวิทยาศาสตร์อย่างมีส่วนร่วมของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดเขตภาคกลาง ใน 3 ขั้นตอนคือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการ  และ ขั้นประเมินผล 

ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือ  เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลางจำนวน 33 คน และ ครูเครือข่ายของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลาง จำนวน 341 คน  สำหรับกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลาง จำนวน 33 คน และ ครูเครือข่ายของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลาง จำนวน 40 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล มี 3 ประเภท คือ การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการสนทนากลุ่ม ซึ่งเป็นเป็นการใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้ทฤษฎีฐานราก (grounded theory)

การเก็บรวบรวมข้อมูล  ผู้วิจัยจะใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมอย่างมีส่วนร่วมทุกครั้งเมื่อมีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ขึ้น เมื่อพบประเด็นที่สามารถตอบคำถามของการวิจัยได้ ผู้วิจัยก็จะสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเพื่อหาข้อมูล  ในการสังเกตและสัมภาษณ์ผู้วิจัยจะคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีวิสัยทัศน์ทันสมัย กล้าแสดงออก กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และกล้าเสนอแนะเข้ามาร่วมในการสนทนา กลุ่ม  ในการนำเสนอผลการวิจัย ผู้วิจัยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

ขั้นเตรียมการ

ขั้นดำเนินการ

ขั้นประเมินผล

สรุปผลการวิจัย พบว่า

ในขั้นเตรียมการกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นที่สอดคล้องกับแนวทางการเตรียมการเพื่อจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสมุทรสาคร

ขั้นดำเนินการ ควรมีลักษณะดังนี้

หลักสูตรของค่ายวิทยาศาสตร์ จะต้องมีการจัดกิจกรรมที่มีรูปแบบการให้ความรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และการสร้างความสามัคคีในการทำงานร่วมกันเป็นทีม  ผ่านฐานความรู้ที่นำเสนอความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของนิทรรศการประกอบ การสาธิต และเกมต่างๆ ที่จะทำให้นักเรียนจะมีความตื่นตัว กระตือรือร้นในการเรียนรู้ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีการบริโภคและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า  เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนต่อการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้าน โรงเรียนและชุมชนใกล้เคียงได้

ขั้นประเมินผล ควรมีลักษณะดังนี้

1) ประเมินผลประจำวันในทุกกิจกรรม รวมถึงการประเมินสถานการณ์โดยทั่วไป เพื่อทราบข้อดี ข้อที่ควรแก้ไขปรับปรุง และนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาในการจัดกิจกรรมสำหรับวันต่อไป การประเมินผลประจำวัน อาจได้จากการประเมินความคิดเห็นของสมาชิกชาวค่าย หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมในแต่ละวัน หรือได้จากการประชุมคณะวิทยากร คณะกรรมการดำเนินงาน ซึ่งต้องมีการประชุมพูดคุยกันในแต่ละวัน ภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมประจำวัน

2) ประเมินผลเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ในวันสุดท้าย เป็นการประเมินโดยภาพรวม โดยใช้แบบประเมินผลกิจกรรมค่าย เก็บข้อมูลจากสมาชิกชาวค่ายเพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ในครั้งต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 399176เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท