การจัดการชั้นเรียนด้วย self management


ภาพของห้องเรียนที่น่าเรียนรู้ คือภาพที่เด็กทุกคนมีงานทำ และวุ่นวายอยู่กับงานการเรียนรู้ แทนที่จะวุ่นวายอยู่กับตัวเอง หรือกับเพื่อน แต่ก่อนที่ภาพเช่นนี้จะปรากฏขึ้นได้ ผู้เรียนต้องเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับตัวเองก่อน

 

บันทึกต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตจากการใคร่ครวญที่คุณครูโอ่ง - นฤนาท สนลอย พบจากการได้เข้าไปสอนนักเรียน ชั้น ๓ ซึ่งเป็นที่มาของความคิดในการทำ class management ด้วย self management

 

" คำว่า self management เป็นศัพท์ที่ประมวล สังเคราะห์มาจากประสบการณ์การสอนนักเรียนในวิชาจินตทัศน์ ในระดับชั้นประถมต้น เนื่องจากในปีการศึกษานี้ครูโอ่งมีโอกาสดีที่ได้มาเรียนรู้การสอนที่แปลกใหม่ในช่วงชั้นที่ ๑ เพราะครูหนึ่งชวนให้มาช่วยสอนวิชาจินตทัศน์ ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะการคิด การคิดเป็นภาพแบบต่างๆ

 

...ในการสอนครั้งแรกเมื่อถึงเวลาสอน เด็กๆ ยังเดินไปเดินมา คุยเล่นกัน หรือจดการบ้านอยู่ ต้องใช้เวลาในการเข้าสู่การเรียนหลายนาที ทำให้รู้สึกว่าทำไมภาวะของห้องจึงดูวุ่นวายคล้ายกับภาวะภายในของเราจัง

 

จากนั้นจึงได้พิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง หรือเรายังขาดการทำอะไรกับห้อง ปัญหานี้น่าจะเกิดจากการใช้ self หรือความเป็นตัวตนของแต่ละคนไปตามสามัญสำนึกหรือความเคยชินของตนเอง จึงได้คิดว่า การแก้ปัญหานี้ต้องใช้ pattern หรือกิจวัตรที่สม่ำเสมอมาปรับ self ของเด็กแต่ละคนให้อยู่ในแบบแผนเดียวกันด้วยการจัดลำดับขั้นในการเรียนให้ชัดเจน

 

เมื่อถึงชั่วโมงสอนครูจะเตรียมอุปกรณ์การสอนให้พร้อม และไปถึงห้องก่อนเวลาเพื่อเฝ้าสังเกตเด็กๆในช่วงก่อนเริ่มเรียนด้วย เมื่อถึงเวลาจึงเข้าไปนั่งรอที่พื้นที่ว่างแล้วให้เด็กๆที่สังเกตทยอยมานั่งเป็นวงกลมจนครบทั้งห้อง จากนั้นจึงทำกิจกรรมภาวะพร้อมเรียน กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย จนไปถึงการพาให้เด็กๆ กลับไปนั่งวาดเส้นบริเวณโต๊ะเรียน แล้วจบด้วยการนำผลงานมาแสดงบนพื้นที่วงกลมอีกครั้งหนึ่งเพื่อปิดชั่วโมง โดยวิถีชีวิตเช่นนี้ เมื่อทดลองทำเสร็จแล้วครูให้เด็กๆ บอก pattern ของการเรียนในแต่ละชั่วโมงว่ามีลำดับอย่างไรเพื่อย้ำให้ชัดมากขึ้น เมื่อได้การจัดการกับ self แรกคือ self ของการอยู่ร่วมกันแล้ว self ต่อไปที่จะเข้าถึงคือ self ของเด็กวัย ป.๓

 

self ของเด็กวัย ป.๓ ในช่วงวัยนี้เด็กๆ เริ่มที่จะสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ส่งผลให้มีการใช้คำพูดที่กระทบกระเทือนใจของเพื่อนในห้อง ช่วงแรกของการนั่งวงกลมเด็กๆ มักจะเตือนเพื่อนให้นั่งให้เรียบร้อย ขยับที่นั่ง และเมื่อคุณครูบอกเงื่อนไขกับบางคนไม่ให้นั่งติดกัน ก็จะเริ่มมีเสียงเตือนจากเพื่อเสริมขึ้นอีก ทำให้เด็กคนที่ถูกเตือนบ่อยๆ เริ่มที่จะหงุดหงิด และหัน self ด้านลบเข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ เช่น คุยมากขึ้น เล่นมากขึ้น และคนที่เตือนเพื่อนก็ไม่ได้สังเกตว่าตนเองทำได้ดีหรือยัง

 

คุณครูจึงเริ่มหาทางสอน โดยการเล่านิทานเซนในเรื่องที่เกี่ยวกับการสอนตนเอง เช่น เรื่องเกี่ยวกับพระเซนที่เตือนกันเรื่องการคุยในที่สวดมนต์ แต่ไม่ได้พิจารณาว่าการที่ตนเองเตือนเพื่อนก็รบกวนผู้อื่นเช่นกัน หรือเน้นให้เด็กเห็นความสำคัญของตนเองในการเกิดเป็นมนุษย์ที่สามารถพัฒนาได้ เช่น เรื่องโอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์ทางความเชื่อของศาสนาพุทธ และคุณครูจะพยายามย้ำเตือนให้เด็กดูแลตนเองให้ได้ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ทำให้เด็กบางคนที่มักจะถูกเพื่อนว่า เช่น ทำอะไรช้า นั่งไม่เรียบร้อย เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น

 

ด้านต่อไปที่คุณครูมักจะใช้เป็นมุขในการคุยกับเด็กๆ คือการย้อนไปในช่วงที่เป็นเด็กอายุเท่านักเรียน คุณครูมีความคิด ความรู้สึก การกระทำ การตัดสินใจอะไรที่ช่วงวัยของเด็กๆ จะทำการแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับเด็ก คือการปอกเปลือกให้เห็น self ของครูว่ามีความคิดความรู้สึกเช่นไรต่อการกระทำของนักเรียน เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เพื่อนในห้องมักจะว่าเพื่อนคนหนึ่งในห้องเรื่องการทำงานช้า คุณครูก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกว่าถ้าคุณครูถูกคนว่าเรื่องเดิมซ้ำๆ จะรู้สึกอย่างไร และย้อนไปในวัยเด็กที่คุณครูมักถูกเพื่อนล้อว่าตัวดำ ตอนนั้นคุณครูรู้สึกแย่มากและไม่อยากที่จะตัวดำเลย แต่เมื่อคิดได้ก็ทำเป็นไม่สนใจเพื่อที่เพื่อนจะได้ไม่ล้ออีก เป็นการทำให้คนที่ถูกเพื่อนว่าไม่เกิดอาการท้อแท้ ท้อถอยในการเรียนและการทำงาน และพยายามหาจุดดีของเด็กคนนั้นเพื่อลบจุดด้อยที่เพื่อนว่า ซึ่งจะนำไปสู่ self สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ self ของเด็ก

 

self ของเด็กคือส่วนที่สำคัญที่สุด การที่ครูรู้จัก self หรือตัวตนของเด็กได้ชัดเจนจะช่วยดึงตัวตนด้านที่ดีของเด็กคนนั้นออกมา ครูจะสังเกตเห็นได้ว่าเด็กจะพยายามหัน self ด้านบวกมาใช้ในห้องเรียนมากขึ้น และจะลดการใช้ self ด้านลบในห้องเรียนลง

 

คุณครูมักจะพูดเรื่องความแตกต่างของแต่ละบุคคล ให้เด็กเริ่มมองหาข้อเด่นของตนเองเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถนั้นๆ ขึ้น ส่วนที่เป็นข้อด้อยก็พยายามปรับปรุงมัน เพราะถ้าเรามองเห็นทั้งข้อเด่นและข้อด้อยของเรา เราจะพัฒนาตนเองได้

 

เมื่อเด็กเริ่มเข้าใจว่าคุณครูชอบมองหาจุดดีของพวกเขา เด็กก็เริ่มที่จะมองหาหาจุดดีของตนเอง จนมีเด็กคนหนึ่งเดินมาหาแล้วบอกว่า คุณครูหนูเก่งด้านการออกแบบนะ  คุณแม่บอกว่าหนูร้อยสร้อยเก่ง หนูช่วยคุณแม่ร้อยสร้อยขายด้วย

 

...คุณครูอยากให้เด็กๆ ทุกคนพัฒนาตนเองจากจุดที่เก่ง และปรับปรุงจุดที่ยังต้องแก้ไข เพื่อพากันไปสู่การเป็นคนดี ที่มีพลังกาย  ใจ และ สติปัญญาในการสร้างความดี มีเจตจำนงในการดูแลและพัฒนาตนเองเพื่อการเป็นพลเมืองและพลโลกที่ดีกันเถอะนะ "

 

                                                                                                                                       ครูโอ่ง นฤนาท  สนลอย 

วันอังคารที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 399172เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลย ขอเป็นกำลังใจนะคะ

เป็นวิธีการที่น่าสนใจครับ น่าจะนำมาเผยแพร่ เพื่อพัฒนา EQ เด็กไทยครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท