เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว ตอนที่ 12 ฝึกหัดอย่างไรไปไม่ถึงมืออาชีพ (มองที่ผู้สอน)


เพลงอีแซวจะไม่มีวันดับสูญหากมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่า

เรียนรู้วิธีการฝึกหัดเพลงอีแซว

จากจุดเริ่มต้นจนถึง

ขั้นการแสดงอาชีพ

ตอนที่ 12 ฝึกหัดเพลงอีแซวอย่างไร

ไปไม่ถึงมืออาชีพ (มุมมองที่ผู้สอน)               

โดย ชำเลือง มณีวงษ์   กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

เครือข่ายนันทนาการต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1

          มีเด็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ได้รับความรู้ ได้ฝึกหัดเพลงอีแซวอันเป็นเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ผมได้ร่วมงานกับพี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) เผยแพร่วิธีการแสดงเพลงอีแซวให้กับเด็ก ๆ ในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษารวมทั้งคุณครูผู้ที่มีความสนใจที่จะนำความรู้ไปสอนนักเรียนที่โรงเรียนของตนเอง ให้มีความรู้มีวิธีการฝึกหัดเพลงอีแซวที่ถูกต้องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เราทำไป ไม่ได้ติดตามตัวครูไปยังสถานศึกษานั้น ๆ หรือติดตัวครูและนักเรียนไปได้น้อยมาก เพราะหลังจากที่เราให้ความรู้พวกเขาไปแล้วได้พบว่าที่แสดงออกมา ไม่ตรงกับวิธีการแสดงที่เราให้ไว้ในห้องปฏิบัติการ (หรืออาจเป็นเพราะของเก่าเชยมาก)

          ผมพยายามชี้ให้พี่เกลียว เสร็จกิจได้เห็นความเบี่ยงเบน ความผิดเพี้ยนที่ดูแล้วฟังแล้วเป็นคนละเพลงกับการแสดงพื้นบ้านที่ชื่อว่า “เพลงอีแซว” ไปมาก ๆ ไม่ได้คิดอย่างนี้เฉพาะผมเท่านั้น มีหลายเวทีที่เด็ก ๆ ขึ้นไปแสดงท่านผู้ชมพูดว่า “นี่เขาเล่นเพลงอะไรกัน” ข้อแตกต่างหรือการนำเสนอที่เพี้ยนไปมีหลายจุด ได้แก่

          1. คำร้องเกริ่นขึ้นต้นเพลงอีแซว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเพลงพื้นบ้านแต่ละอย่าง ผู้แสดงรับเอาลีลาการร้องเกริ่นที่เพี้ยนมาก็พากันร้องเพี้ยนไปตาม ๆ กัน

          2. ท่ารำ ที่เริ่มออกท่าทางรำกันตั้งแต่ร้องเกริ่นแล้วรำกันทุกคนทั้งทีม (ทั้งผู้ร้องนำและผู้แสดงประกอบ รำสวยน่ารัก ความจริงเขาโชว์เสียงร้อง)

          3. ตะโพนตีรัว จังหวะเร็วตามเสียงร้องเกริ่นของผู้ร้องนำกลบเสียงร้องซึ่งในความเป็นจริงควรปล่อยเสียงร้องล้วน ๆ ออกไปจะน่าฟังมากกว่า

          4. นักร้องนำร้องพร้อมกัน (แบบประสานเสียง) แทนที่จะร้องทีละคน โดยแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง

          5. การแยกส่วนผู้แสดงเป็นผู้ร้องตลอดการแสดง ผู้รำ รำตลอดการแสดง ไม่มีการประสานสัมพันธ์กัน ในอันที่จะแสดงถึงเป็นเพลงวงเดียวกัน ทำเหมือนว่าต่างคนต่างหน้าที่

          6. ใช้เครื่องให้จังหวะที่ตายตัวคือ ตะโพน ฉิ่ง กรับเท่านั้น แทนที่จะเปิดกว้างเป็นกลอง ฉิ่ง ฉาบ และกรับ หรือ กลองชุด กลองทอม กลองไฟฟ้าซึ่งทั้งหมดนี้ก็ไม่เคยมีมาในอดีตเป็นการนำเอามาเพิ่มเมื่อปี 2524 เป็นต้นมา (ตรงนี้น่าจะมีการประยุกต์บ้าง)

          7. เครื่องแต่งกายที่ประยุกต์มาเป็นผ้านุ่งโจงกระเบนแบบสำเร็จสวมใส่ได้โดยไม่ต้องนุ่งอย่างสมัยโบราณ รายการนี้พอรับได้ แต่ควรทีจะตัดให้ดูคล้ายโจงกระเบนให้มากที่สุด (แต่ดูแล้วเหมือนนุ่งกางเกงมากกว่า)

          8. สำนวนการพูดจา ที่ใช้ในการสนทนาของผู้แสดง ใช้คำว่า พ่อจ๋า แม่จ๋า พ่อจ๊ะ แม่จ๊ะ ฟังแล้วไม่เป็นธรรมชาติเหมือนในสมัยก่อนเพราะคนเก่า ๆ เขาใช้คำว่า เอ็ง ข้า แก

          9. การร้องรับลงเพลงของลูกคู่เสียงที่เอื้อนรับคำลง ไม่มีในนักเพลงรุ่นครู คนสมัยก่อนเขาร้องลงเพลงว่า “เอย..” คำเดียวเท่านั้น แต่บนเวทีการแสดงเพลงอีแซวเด็ก ๆ จะลงเพลงว่า “ว่า เอิ้ง เงอ เอิง เอ๊ย” ที่น่าเป็นห่วงคือการยุกต์ปรับเปลี่ยนไปในทางเกินพอดี (พอได้ฟังซ้ำ ๆ กันมาก ๆ ก็ไม่ราบรื่น..) 

          ผมนำเอาความเบี่ยงเบนในบางแง่มุมมากล่าวโดยเฉพาะการแสดงเพลงอีแซวที่ผมไม่เคยได้เรียนรู้มาจากครูเพลงเก่า ๆ เลย ก็ไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้หลุดลอดมาจากใครได้อย่างไร ผมยืนยันได้ว่าผมร่วมงานกับพี่เกลียว เสร็จกิจ สิ่งที่ผิดของเดิมไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร บางครั้งพี่เขายังบอกผมว่า “ชำเลือง ร้องอย่างนี้ไม่ถูกต้องนัก แต่ก็มีคนร้องแบบเธอมากเหมือนกัน” ผมหยุดและไม่นำเอามาใช้อีกเลย การที่เราได้รับอะไรมาไม่ชัดเจนแล้วถ่ายทอดไปสู่ผู้เรียนจะเป็นการยัดเยียดสิ่งที่ผิดให้ติดตัวเขาไปอีกนานและยากนักที่จะตามไปแก้ไขได้

          ถ้าจะถามว่าแล้วมันผิดด้วยหรือที่คนอื่นจะทำอย่างนั้น ผมเคารพด้วยสิทธิ ตอบได้เลยว่า "ไม่ผิดแน่เพราะศิลปะการแสดงเมื่อมีโอกาสได้ขึ้นไปนำเสนอบนเวที ท่านผู้ชมคือผู้ตัดสิน หากท่านชอบแบบเก่า ๆ ก็ไปชมคณะที่เล่นแบบเก่า หากชอบประยุกต์ก้ไปที่วงเพลงที่เขาประยุกต์ขึ้นมาใหม่" ต่างจิตต่างใจ แต่ ณ พื้นที่แห่งนี้ เป็นเพียงมุมมองมุมหนึ่งเท่านั้นที่อาจใช้เป็นแหล่งข้อมูลได้

          

          

          

           ฝึกหัดเพลงอีแซวอย่างไรจึงไปไม่ถึงอาชีพ คำกล่าวนี้อาจจะสูงเกินเอื้อมมาก แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานว่า “เราสามารถทำได้สุดแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น” การที่มีผู้สอนและผู้เรียนศิลปะการแสดงเพลงอีแซวแล้วไปไม่ถึงระดับมืออาชีพ ผมมองว่า มาจากสาเหตุหลายประการ ผมขอยกเอาประเด็นสำคัญ ๆ มากล่าวไว้ ดังนี้

          1. ผู้สอนขาดความรู้ความเข้าใจในศิลปะการแสดงเพลงอีแซวที่ถูกต้องแท้จริง

          2. ผู้สอนไม่ได้ฝึกหัดเพลงอีแซวมาจากครูเพลง เป็นแต่เพียงจำ ๆ กันเอามาสอน

          3. ผู้สอนไม่มีประสบการณ์ตรง ไม่เคยได้แสดงเพลงอีแซวบนเวทีมาก่อน

          4. ผู้สอนไม่มีความรอบรู้ เป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งแต่ยังขาดความเข้าใจในอีกหลายด้าน  

          5. ผู้สอนมิใช่ศิลปินนักแสดง ไม่มีอาชีพทางการแสดง เป็นเพียงผู้สอนเท่านั้น

1. ผู้สอนขาดความรู้ความเข้าใจในศิลปะการแสดงเพลงอีแซวที่ถูกต้องแท้จริง

          ผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้การแสดงเพลงอีแซวที่เรียนรู้จากตำรา จากการบอกเล่าและชมการแสดง เก็บเกี่ยวความรู้นำเอามาสอนผู้เรียน จะทำได้ในระดับเรียนรู้ บอกได้ อธิบายได้เท่านั้น เพราะการแสดงเพลงพื้นบ้านทุกชนิดต้องให้ชีวิตจิตวิญญาณแก่ผู้เรียนไปด้วย มิได้สอนการแสดงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสร้างสรรค์ความมีเสน่ห์ในการแสดงให้เกิดให้มีขึ้นให้จงได้ จึงวจะเรียนว่าเป็นนักแสดง (ขอสนับสนุนให้คุณครูหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปอีก)

2. ผู้สอนไม่ได้ฝึกหัดเพลงอีแซวมาจากครูเพลง เป็นแต่เพียงจำ ๆ กันเอามาสอน

          ผู้สอนประเภทนี้ไปไม่ถึงต้นกำเนิดเพลง ไม่ไปตั้งต้นที่รากเหง้าที่แท้จริง เพราว่าถ้าไปพบครูเพลงตัวจริง ไปพบ 10 ท่านก็จะได้มา 10 วิธีการแสดง ที่คล้ายคลึงกันแต่มีเสน่ห์ต่างกันมาก นักแสดงแต่ละท่านมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เวลาท่านแสดงท่านก็จะนำเอาความสามารถที่โดดเด่นของท่านออกมานำเสนอทำให้ผู้ชมติดใจ ผู้สอนบางคนกล้าที่จะปฏิเสธการแสดงของครูเพลงรุ่นเก่า ๆ อย่างไม่น่าให้อภัย (ลองไปพบครูเพลงบางท่านกันบ้างแล้วจะได้อะไร ๆ อีกมาก)  

3. ผู้สอนไม่มีประสบการณ์ตรง ไม่เคยได้แสดงเพลงอีแซวบนเวทีมาก่อน

          ตรงนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพที่ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้น เพราะการแสดงบนเวที ไม่เหมือนกับห้องฝึกซ้อม ไม่เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดข้างล่าง บนเวทีการแสดงมีปัญหาให้ต้องแก้ไขมากมาย เพลงบางวงต้องหยุดเล่นเพราะไม่มีคนดู เพลงอีแซวบางวงเพลงต้องเล่นท่ามกลางความว่างเปล่าที่หน้าเวที เหตุการณ์เหล่านี้สามารถแก้ไขได้ถ้าผู้สอนมีประสบการณ์ (หาโอกาสร่วมงานแสดงกับวงเพลงอาชีพได้)

4. ผู้สอนไม่มีความรอบรู้ เป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งแต่ยังขาดความเข้าใจในอีกหลายด้าน   

          คำว่าต้องไม่มีความรู้รอบด้าน เช่น รำไม่เป็น ให้จังหวะไม่ถูกต้อง เสียงร้องไม่คมชัดสดใสพอ ขาดการคิดสร้างสรรค์คิดมุขการแสดงนำเอามาป้อนทีมงาน เริ่มต้นที่การรำ การแสดงเพลงอีแซวมีรำบ้างแต่โดยความจำเป็นแล้วเป็นการทำท่าทางมากกว่า ส่วนการให้จังหวะโดยเฉพาะตะโพนการฝึกหัดตีตะโพนใช้เวลาไม่มากนักเพียง 1-2 วันก็ทำได้ เท่าที่เห็นนำเสนอมีการให้จังหวะเพียงทำนองเดียวคือจังหวะยืนพื้นตลอดการแสดง เสียงร้องก็สามารถบังคับเสียงได้  ส่วนความคิดสร้างสรรค์มุขการแสดงมีความสำคัญไม่น้อยที่จะช่วยเสริมให้การแสดงมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น (วงที่มีมาตรฐานจะมีครูสอนเพลงเพียงคนเดียว)

5. ผู้สอนมิใช่ศิลปินนักแสดง ไม่มีอาชีพทางการแสดง เป็นเพียงผู้สอนเท่านั้น

          ผู้ที่มีอาชีพทางการแสดงจะมีความเชื่อมั่นในการแสดงออกของตนเองมาก มีความมั่นใจและแสดงออกมาได้อย่างมีเสน่ห์และเป็นธรรมชาติ การก้าวไปสู่ชีวิตศิลปินมีงานจ้างวานเรียกหาไปแสดง จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาความสามารถทุก ๆ ด้านจะต้องฝึกฝนตนเองกับครูที่เก่ง หลาย ๆ ท่าน มีประสบการณ์ในการแสดงมามาก จนเป็นที่ยอมรับของผู้ชม เมื่อไปทำการแสดงก็จะมีคนดูมาให้กำลังใจและมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะไม่มากขนาดปีละ 100 งานก็ถือความต่อเนื่องว่าเป็นมืออาชีพได้อย่างภาคภูมิ  ในความเป็นจริงศิลปินทุกท่านมีช่วงเวลาของความสูงส่งและตกต่ำ เรียกว่ามีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา ในช่วงที่มีชื่อเสียงงานก็จะเข้ามามาก แต่พอชื่อเสียงตกลงไปงานก็ลดตามไปด้วย อย่างไรก็แล้วแต่ตลอดช่วงเวลาที่นานพอสมควร อาจจะนับได้ 10 ปี หรือหลายสิบปีย่อมที่จะได้มีการสะสมประสบการณ์นำเอามาเป็นต้นแบบให้ผู้เรียนรู้ได้ฝึกปฏิบัติไปสู่ตำแหน่งที่ครูผู้สอนเคยยืนอยู่ตรงจุดนั้นได้ (จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและให้เวลากับงานนี้ยาวนาน)

         

         

         

          ผมได้นำเอาปัญหาและแง่มุมของการแสดงเพลงอีแซวมาให้ได้รับรู้ในบางประเด็น จะเห็นได้ว่า ในการถ่ายทอดความรู้ด้านการแสดง ผู้ที่มีหน้าที่ทำการถ่ายทอดจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ (ใฝ่หาค้นหา) ยิ่งถ้าเป็นการสอนการแสดง ผู้สอนจะต้องเป็นนักแสดง มิเช่นนั้นการเดินทางต่อไปของทีมงานก็จะหยุดนิ่งอยู่เพียงแค่การเรียนรู้ หรืออย่างมากก็แค่ปฏิบัติได้ การที่เด็ก ๆ ของเราทำได้ในระดับเรียนรู้และปฏิบัติได้ มิได้ช่วยให้ศิลปะการแสดงนั้น ๆ คงอยู่ได้ เพราะยังคงเป็นความสูญเสียอยู่ในระดับเดิม แต่เมื่อไรที่เราฝึกนักแสดงออกมาเป็นนักแสดงอาชีพได้จริง ๆ นั่นแหละคือ "การต่ออายุ ต่อชีวิต ต่อลมหายใจของนักเพลงอีแซวมิให้ต้องสูญสิ้นไป" ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะยิ่งมีผู้สอนมากมาย แต่ขาดความเป็นศิลปินนักแสดงที่แท้จริง การฝึกปฏิบัติจะไม่ช่วยรักษาศิลปะการแสดงของท้องถิ่นให้คงอยู่ได้นาน ๆ แต่ก็อีกนั่นแหละครับเราไม่อาจที่จะปฏิเสธความเจริญหรือสังคมโลกในยุคปัจจุบันได้ เพราะในที่สุดไม่ว่าคนเราจะคิดจะทำสิ่งใด ยิ่งเป็นศิลปะการแสดงด้วยแล้ว จะต้องยึดผู้ชมด้วย ยึดกระแสของสังคมด้วย บางครั้งจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปบ้าง เพื่ออาชีพและความอยู่รอดในวันข้างหน้า ขอร่วมสนับสนุนความคิดที่มีหลายช่องทางดีกว่ามีทางตันอยูเพียงทางเดียว

          วิธีการที่ดีและถูกต้อง ตามที่ผมได้เรียนรู้จากครูเพลง อย่างแม่บัวผัน จันทร์ศรี  ป้าอ้น จันทร์สว่าง ลุงหนุน กรุชวงษ์ ฯลฯ ท่านบอกกับผมว่า “เพลงอีแซวจะไม่มีวันดับสูญ หากมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่าได้” คงจะต้องฝากไปตีความต่อด้วยว่า จะแทนที่ได้อย่างไรแค่ไหน ในเมื่อบุคคลรุ่นครูเพลงท่านเป็นศิลปินนักแสดงตัวจริง สร้างชื่อเสียงทางเพลงอีแซวมานานเกือบ 100 ปี ต่อไปจะเหลือเพียงชื่อเพลง หรือเหลือร่องรอยให้สืบค้นหาได้ หรือยังคงเหลือสภาพที่เป็นเอกลักษณ์แบบเก่า แบบใหม่ (ประยุกต์บ้าง) ก็สุดแล้วแต่ความสามารถของคนรุ่นหลังที่จะทำได้

ติดตามตอนที่ 13 ฝึกหัดเพลงอีแซวอย่างไรไปไม่ถึงมืออาชีพ (มุมมองที่ผู้เรียน)               

หมายเลขบันทึก: 398610เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพลงอีแซวมีกำเนิดที่สุพรรณหรือ อยากได้เนื้อเพลงบ้าง อยากเรียนรู้บ้าง ผมชอบลำตัด การนำเพลงอีแซวมาเล่นเข้ากับลำตัดได้ไหม อะไรที่มันผิดจากของเดิมบ้างก็เรียกว่าประยุกต์ หรือต้องการของเดิม ๆ เท่านั้น

เรียนท่านIco64ที่นับถือ

   ชอบเพลงอีแซวมากค่ะ คำร้อง ทำนองสนุกสนาน น่าติดตามค่ะ

ตอบความเห็นที่ 1 คุณปภินวิช

  • เพลงอีแซวมีถิ่นกำเนิดที่วัดป่าเลไลยก์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี แต่มีผู้เล่นเพลงนี้อยู่แถบ อ.สามโก้ อ.พนมทวน อ.เลาขวัญ อ.บางเลน อ.บ้านไร่ ที่ติดกับสุพรรณฯด้วย
  • เรียนรู้ได้ในบล็อก "เพลงอีแซว" มีอยู่ 128 บันทึก และเรียนรู้ได้ในบทความนี้ ตอนที่ 1-12 (ยังไม่จบ) ส่วนเนื้อเพลงมีมากครับ สามารถพริ้นท์เอ้าออกไปใช้ได้เลย
  • เพลงอีแซวนำเอามาแสดงเข้ากับลำตัดและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ได้แบบผสมผสานกัน
  • ที่ว่าผิดเพี้ยนไปก็ดังที่นำเสนอเอาไว้ในบทความนี้ 9 ประเด็น ความจริงยังมีที่เปลี่ยนไปจนหารูปแบบเดิมไม่ได้เลย การประยุกต์ทำได้แต่จะต้องไม่ให้เสียเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ศิลปะการแสดงทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามกาลเวลาแต่ผู้ที่ปรับเปลี่ยนจะต้องมีความรู้จริงย้อนไปศึกษาจากต้นฉบับบ้าง
  • ติดตามชมการถ่ายทอดสดทางช่อง NBT ในวันที่ 28 กันยายน 2553 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ลำตัดสายเลือดสุพรรณฯของผมจะแสดงโชว์และรับโล่รางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ จากฯพณฯนายกรัฐมนตรี

สวัสดี ครับคุณยาย

  • ขอบคุณที่ชอบเพลงอีแซว คำร้องสนุกและแฝงเอาไว้ด้วยคติสอนใจผู้ดูผู้ฟังด้วย
  • คุณยายติดตามชมได้ในคลิบการแสดงสดที่บล็อกนี้หรือจะเข้าไปในเว็บ youtube.com ค้นหาคำว่า "เพลงอีแซว" มี 244 ตอน ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท