การวัดและประเมินผลทางการศึกษาพยาบาล: ตอนที่ 1 ภาคทฤษฎี


การวัดและประเมินผลทางการศึกษาพยาบาล

     การวัดและประเมินผลการศึกษาพยาบาล มีหลักการเช่นเดียวกับการวัดผลทั่วไป โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การวัดและประเมินผลภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยภาคปฏิบัติถือว่าเป็นหัวใจของการศึกษาพยาบาล แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะปฏิบัติได้ดี ถูกต้องนั้น ต้องมีพื้นฐานทางทฤษฎีที่ดี ในตอนที่ 1 นี้จะกล่าวถึงการวัดและประเมินผลภาคทฤษฎี ในเรื่องของการวัดผลด้วยข้อสอบ ข้อสอบที่ใช้ทางการศึกษาพยาบาลเป็นข้อสอบทั้งแบบปรนัยและแบบอัตนัยซึ่งมีหลายลักษณะ ในตอนนี้จะกล่าวถึงข้อสอบปรนัย

1.1           การสอบ ส่วนใหญ่มีการสอบโดยเป็นการสอบเพื่อประเมินพัฒนาการ เป็นการสอบระหว่างดำเนินการจัดการเรียนการสอน แต่ในนัยนี้ก็เป็นการสอบเมื่อสิ้นสุดการเรียนรู้ในหน่วยต่าง ๆ แล้ว นำเนื้อหามาสอบรวมกัน การสอบยังมีการนำไปใช้ในระหว่างการสอนแต่ละครั้งค่อนข้างน้อย เช่น การสอบก่อนสอนและหลังสอนทันที ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บคะแนนแต่เป็นการประเมินความรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างเรียน อาจารย์พยาบาลยังมีการออกข้อสอบเพื่อวัตถุประสงค์นี้ค่อนข้างน้อย ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ถูก/ผิด แบบเลือกตอบหลายตัวเลือก (multiple choice) การตอบแบบสั้น (short answer) การเติมคำ เป็นต้น จึงสนับสนุนให้อาจารย์พยาบาลได้วางแผนการสอน รวมทั้งวางแผนการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในการสอนแต่ละครั้งด้วย (teacher made test)

1.2           ข้อสอบ การสอบส่วนใหญ่นิยมใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบหลายตัวเลือก ซึ่งสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้ถึงขั้นสังเคราะห์ (Taxonomy ของ Bloom, 1976) ซึ่งการเขียนข้อสอบ (item writing) เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมีการฝึกฝนจึงจะทำให้ได้ข้อสอบที่มีคุณภาพ ผู้ออกข้อสอบจึงต้องมีทั้งความรู้ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สอน (content) และความรู้เกี่ยวกับการเขียนข้อสอบที่ดี จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ออกข้อคำถามได้ดี แต่การเขียนตัวเลือก (ประกอบด้วยตัวถูก และตัวลวง) ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก (ประเมินได้จากผลการวิเคราะห์ข้อสอบ) ซึ่งจะกล่าวถึงการวิเคราะห์ข้อสอบในตอนต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่ามีนัย ที่มีความสำคัญซ่อนอยู่ในค่าสถิติที่ได้จากการวิเคราะห์ ซึ่งข้อสอบปรนัยนี้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งการสอบแบบ formative, summative ในระดับภาคการศึกษา การสอบรวบยอด (comprehensive) และการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้นผุ้เกี่ยวข้องในทุกระดับทั้งการสอบแบบ small scale และ large scale จึงต้องมีการประกันคุณภาพในการออกข้อสอบทั้งกระบวนการ

             นอกจากนั้นอาจต้องมีการทบทวนวิธีการกำหนดจำนวนข้อสอบ ในหลายสถาบันใช้การออกข้อสอบตามจำนวนหน่วยกิตของรายวิชา เช่น รายวิชาการพยาบาลมี 3 หน่วยกิต จึงออกข้อสอบชั่วโมงที่สอน ชั่วโมงละ 3 ข้อ คูณด้วยจำนวนชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติ จะพบว่ามีอุปสรรคว่าไม่เหมาะสมกับสภาพจริง ดังนั้นจึงต้องมีการนำหลักเกณฑ์นี้ไปใช้อย่างระมัดระวัง

หมายเลขบันทึก: 398604เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท