มุมที่คนลืมมอง(3)


              สุภาษิตจีนบอกว่า “ หากท่านให้ปลาหนึ่งตัวแก่คนคนหนึ่ง เขาจะยังชีพได้เพียงหนึ่งวัน แต่ถ้าท่านสอนวิธีให้เขาจับปลาได้ เขาจะสามารถดำรงชีพได้ตลอดชีวิต....พูดง่ายๆว่าสอนวิธีทำมาหากินให้เขาดีกว่าเอาของให้เขา ในบางครั้งการที่เราให้อะไรใครที่เป็นวัตถุแต่ไม่สอนให้เขาทำมาหากินเป็น เขาอาจเป็นคนขี้ขอตลอดชีวิตหัวใจคนนั้นยากแท้หยั่งถึงลึกลับ ปากพูดอย่างแต่ใจคิดอีกอย่างก็มี
           เมื่อราวพฤษภาคม 2547 ผู้เขียนขึ้นเครื่องจากดอนเมืองมาลงอุดรแล้วต่อรถรีโมซีนเข้าหนองคาย แต่ก่อนขึ้นเครื่องต้องนั่งคอยเวลาที่เครื่องบินจะออก เลยอ่านหนังสือพิมพ์ไปด้วย หยิบหนังสือพิมพ์บางกอกโพส มาอ่านพบคำคมของคนดังคนหนึ่งพูดว่า “ผมจะไม่ให้ปลาแก่ประชาชนแต่จะสอนวิธีจับปลาแก่เขา(I don't give people for fish but I will train them to catch it)”( จำภาษาอังกฤษผิดก็ขออภัย ใครจำได้เขียนให้ด้วย)
             เวลา 18.45 น. ก็ขึ้นเครื่องจากดอนเมืองมาอุดรและนึกเสมอว่า คำว่า “หากท่านให้ปลาหนึ่งตัวแก่คนคนหนึ่ง เขาจะยังชีพได้เพียงหนึ่งวัน แต่ถ้าท่านสอนวิธีให้เขาจับปลาได้ เขาจะสามารถดำรงชีพได้ตลอดชีวิต” เป็นสุภาษิตของฝรั่งเพราะอ่านในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ มาร้องอ๋อก็ตอนที่เจอหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อปี2550 ที่ร้านซีเอ็ด ผมจึงได้รู้ว่าเป็นสุภาษิตว่า”ผมจะไม่ให้ปลาแก่เขา แต่จะสอนวิธีจับปลาแก่เขา ” เป็นสุภาษิตของจีน
 
               เวลาว่างๆผมไปยืนอ่านหนังสือที่ร้านซีเอ็ดชั่วโมงบ้างสองชั่วโมงดีจะตายประหยัด... มีเพื่อนอ่านเยอะเลยเป็นเด็กๆ.. ไปอ่านบ่อย นานๆจะซื้อหนังสือให้เขาที แต่ถ้าซื้อก็เดือนละหลายร้อยเพราะมีบัตรส่วนลดด้วย …
              การให้ปลาหรือให้ข้าวของเงินทองที่เรานิยมให้กันอยู่ในปัจจุบันก็ดีอยู่ในระยะหนึ่ง แต่คนที่ฉลาดย่อมสอนวิธีการดำเนินชีวิตให้เขาด้วย  พ่อแม่ที่ร่ำรวยเอาแต่เงินให้ลูกเช่นพอลูกสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังได้ก็ซื้อรถให้เป็นคัน แต่ไม่เคยสอนลูกให้เห็นคุณค่าของชีวิตเลย ต่อไปภายหน้าเด็กก็ไม่เข้าใจว่าตนเองควรทำอย่างไรในการดำรงชีวิต  จะรู้ก็เพียงการใช้เงินที่พ่อแม่ให้อย่างเดียว จนเด็กเสียผู้เสียคนก็มีมากให้เห็นในสังคมปัจจุบัน
                นึกถึงนิทานพ่อแม่รังแกฉัน ซึ่งตอนสมัยเรียนมัธยมต้นนิทานนี้เขียนเป็นบทกลอนแต่ถอดความได้ว่ามี เศรษฐีคนหนึ่ง มีลูกคนเดียวต้องการให้ลูกฉลาดมีความรู้ที่จะดูแลกิจการของพ่อแม่ได้จึงจ้างครูฝีมือดีมาสอนที่บ้านตนเอง แต่ลูกชายกลับขี้เกียจไม่ชอบเรียนชอบเที่ยวเล่นเสเพลกับเพื่อนๆ จึงหาเรื่องตำหนิครูต่างๆนานา ไม่ยอมเรียนทำให้ครูที่มาสอนเอือมระอาหนีไป พ่อแม่จ้างครูคนใดมาสอน เด็กก็ทำเหมือนเดิมคือตำหนิครูเรื่อยไปว่าไม่ดีใจร้ายด่าเก่ง ตีลูกแรงมาก พ่อแม่ก็ชังครูและเลิกจ้างครู ช่างเหมือนสมัยปัจจุบันที่พ่อแม่แจ้งความจับครูที่ตีนักเรียนที่ดื้อ แต่พ่อแม่บอกว่าลูกผมไม่ดื้อนะ อยู่ที่บ้านเรียบร้อย นิสัยดี น่ารัก....
                อยู่มาวันหนึ่งมีครูคนหนึ่งแกเห็นลูกเศรษฐีไม่สนใจเรียนแกก็ตามใจ ลูกเศรษฐีถูกใจมากเลยเพราะอยากทำอะไรก็ได้ทำ จึงได้สอนอยู่นาน ลูกชายขอเงินพ่อไปเล่นทุกวันๆ  ต่อมาไม่นานเศรษฐีก็ตาย ลูกเศรษฐีก็คบเพื่อนเลวๆ พามาเลี้ยงเหล้าและอื่นๆ จนไม่ถึงสิบปีเงินก็หมดลง สุดท้ายต้องขายบ้านและที่ดินจนสิ้นเนื้อประดาตัว จนต้องขอทานและเดินไปบ้านหมอดูคนหนึ่งหมอดูเห็นลักษณะแล้วรู้ได้เลยว่ามิใช่ลูกคนจน จึงถามว่าท่านเป็นลูกคนรวยมิใช่หรือ ลูกเศรษฐีได้ยินดังนั้นน้ำตาซึมร้องไห้และพูดออกมาว่า “พ่อแม่รังแกผม” เพราะตอนเด็กผมทำผิดอะไรก็ไม่เคยว่าตักเตือน ผมใช้เงินฟุ่มเฟือยก็ไม่ว่าอะไร ผมจึงไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ผลาญเงินจนหมดตัว ปานกับคนขับสามล้อรับจ้างที่เมืองไทยเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว เขาถูกล๊อตเตอรี่ 24 ล้านบาทใช้เงินสามเดือนก็หมด ผมก็ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีจึงใช้เงินหมดเช่นกัน  ท่านหมอดูช่วยบอกวิธีทำมาหากินให้ผมด้วย  หมอดูจึงบอกให้เขาตั้งใจขยันทำมาหากินเพื่อแลกกับข้าวปลาอาหาร รู้จักเก็บออมแล้วท่านจะกลับมามีอยู่มีกินได้  นิทานจบลงแค่นี้โดยไม่รู้ว่าลูกเศรษฐีกลับเป็นเศรษฐีได้อีกไหม
                 แต่เราก็ได้แง่คิดว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้สบายไม่ให้ทำอะไร ตามใจทุกอย่าง ลูกขาดวินัย  เล่นเกมส์ ไม่รู้คุณค่าเวลา ไม่รู้คุณค่าเงิน...  ปัจจุบันพ่อแม่หลายคนกำลังทำการรังแกลูกโดยไม่รู้ตัว  บางรายพอลูกดื้อครูลงโทษแล้วก็ไปแจ้งความขอค่าสินไหมจากครู แล้วสังคมไทยเราตอนนี้พ่อแม่รังแกลูกหรือรักลูกกันแน่….
                    ท่านผู้อ่านคิดว่าสังคมไทยในปัจจุบัน พ่อแม่รักลูกถูกทางไหม? หรือพ่อแม่กำลังรังแกลูกของตนเองอยู่ไหม?  ถ้าท่านเป็นพ่อแม่ท่านมีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไร จึงจะไม่เกิดเป็นการเลี้ยงลูกแบบรังแกลูกหรือแบบพ่อแม่รังแกฉัน

คำสำคัญ (Tags): #พ่อแม่รังแกฉัน
หมายเลขบันทึก: 398608เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท