วัฒนธรรมศึกษา


วัฒนธรรมการเรียนรู้
สรุปการเรียนรู้จากหัวข้อ วัฒนธรรมการเรียนรู้              ตามที่นักศึกษาทั้ง 6 กลุ่มนำเสนอ อภิปราย ซักถาม  และเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจาก ดู VCD การจัดการความรู้เครือข่ายเกษตรปลอดสารพิษ จ.พิจิตร และการจัดการความรู้ รพ.บ้านตาก    สามารถสรุปสาระการเรียนรู้ได้ดังนี้              1.การจัดการเรียนรู้ในชุมชนใดก็ตาม ปม/ประเด็น ในการหยิบยกมาจัดการนั้นต้องเป็น ปม/ประเด็นที่  คนในชุมชน/องค์กรนั้นประสบปัญหา เป็นทุกข์ เป็นความลำบากเดือดร้อน ทั้งนี้เพราะ คนใน จะเป็นผู้รู้ว่าชุมชน/องค์กรตนต้องการอะไร  ขาดเหลืออะไรที่แท้จริง นอกจากนี้เมื่อมีการจัดการความรู้ คนใน ที่เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ตกในที่นั่งเดียวกัน ก็มักช่วยเหลือร่วมแรงร่วมใจ เกิดเป็นพลังสามัคคี นำพาหมู่เหล่าให้ รอด จากวิกฤตได้   โดยที่ คนนอก ชุมชน/องค์กร ต่าง ๆ เป็นเพียงพี่เลี้ยงเติมเต็มในสิ่งที่ คนใน ขาด หรือ คนใน จำเป็นที่จะได้รับปัจจัยเสริมเพื่อให้ก้าวพ้นวิกฤต                                                          2.การจัดการเรียนรู้ที่ คนนอก หยิบยื่นให้ไม่ว่าเป็นวิธีปฏิบัติใหม่ นวกรรมใหม่ องค์ความรู้ใหม่ ฯลฯ คนใน ต้องนำมาปรับใช้ให้พอเหมาะ พอดี พอสมควร นั่นหมายความว่า ต้องทำสิ่งใหม่กับสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ผสานกัน  เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่ขัดเขินกับวิถีปฏิบัติ    ภูมิประเทศ    ชีวิตและความเป็นอยู่              ข้อควรระวังของสังคมไทย คือ การขาด/ลืม/ผ่านเลยไปว่า ผู้รู้/ปราชญ์ท้องถิ่นนั้นมีอยู่ และไม่รู้วิธีที่จะกะเทาะความรู้จากผู้รู้/ปราชญ์ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์            อนึ่งการจะผสานความรู้จนกระทั่งถึงภาวะของการตกผลึกได้นั้น ย่อมมีมิติหนึ่งเกิดขึ้นคือความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย  ชุมชนต้องมีการเรียนรู้ในการดำรงตนท่ามกลางความแตกต่าง  มองความต่างเป็นความงาม ความเข็มแข็ง แล้วทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน   ลดความถือรั้น  มุ่งหาความถูกต้อง เมื่อเข้าใจถูกต้อง มันก็จะตรงกัน            3.นำความรู้ใหม่ที่เกิดจากความรู้ของ คนใน และ คนนอก มาปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร เป็นความปกติในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นการแบกภาระเพิ่ม เมื่อไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ เป็นความยุ่งยาก ก็จะส่งผลให้เกิดเป็นความปกติธรรมดา                 4.องค์ความรู้ที่ชุมชนได้ลองซ้ำจนเห็นผลในเชิงประจักษ์ ก็ควรได้นำความรู้นั้นมาเผยแพร่แก่ชุมชนอื่นที่มี ปม/ประเด็น ใกล้เคียงกับชุมชนของเรา ด้วยเหตุผลที่ว่าชุมชนอื่น ๆ จะไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก และเป็นการขยายเครือข่ายเพื่อประโยชน์ของภูมิภาค ของชาติต่อไปเท่ากับเป็นการไม่หยุดนิ่งแช่แข็งความรู้  แต่เป็นการต่อยอดความรู้นั้น ๆ             5.ทุกคนต้องตระหนักว่า แม้องค์ความรู้หนึ่งองค์ความรู้ใดที่รับมา เมื่อเวลาผ่านไปมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ชุมชนขยายขึ้น การคมนาคมสะดวกขึ้น หรืออื่นใดก็ตาม องค์ความรู้นั้นต้องถูกปรับให้เข้ากับบริบท เข้ากับสภาพการ เข้ากับช่วงเวลา ฉะนั้น ชุมชนต้องไม่ยึดติด เพราะสิ่งที่ดีหรือเหมาะสมในวันนี้ แต่อาจจะยังไม่ดีพอสำหรับอนาคต นั่นคือ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา            6.สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการจัดการความรู้ คือ ต้องหมั่นตรวจสอบวิถีปฏิบัติของตนอยู่เสมอ และเปิดใจกว้างยอมรับการประเมินจากผู้มีส่วนร่วมทุกคน ทุกระยะ พร้อมกันนั้น ก็นำมาปรับปรุงแก้ไข เท่ากับว่าการจัดการความรู้ทำได้ไม่รู้จบ                       7.อย่างไรก็ตามองค์ความรู้จะเกิดและบริบูรณ์ได้นั้น ต้องมีหลายฝ่ายที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน อาทิ            - ผู้นำ การจะขับเคลื่อนคนหมู่มากจำต้องมีผู้นำ และผู้นำนั้นควรเป็นผู้ที่เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ นอกจากนี้ต้องเป็นผู้ที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพศรัทธา            - ลูกทีม ผู้นำเพียงคนเดียวย่อมไร้แรงที่จะผลักดัน/ขับเคลื่อน วิถีปฏิบัติของชุมชนได้ ต้องมีคณะทำงานช่วยกันคนละฝ่าย คนละด้านที่ตนถนัด ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงแม้จะรู้ว่าปลายทางคือความสำเร็จเกิดประโยชน์ แต่ย่อมต้องมีผู้ต่อต้าน ผู้ไม่เห็นด้วย หรืออาจมีอุปสรรค อื่นใดที่คาดไม่ถึง เนื่องจากเป็นการทำงานกับคน ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้หากผู้นำและลูกทีมไม่เข้มแข็งย่อมไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้                       8.ชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องมีการบริหารจัดการในลักษณะ down to top คือทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็น จนเป็นความสอดคล้องต้องกัน            9.การจัดการใดที่เป็นการจัดการเกี่ยวกับคนไม่มีทฤษฎีใดที่ตายตัว แต่ต้องรู้จักเรียนรู้ นั่นคือเรียนรู้ในการปรับตัว  ปรับฐานคิด วิธีการในการมองโลก จึงสามารถดำรงตนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้             การจัดการความรู้นั้นไม่มีทฤษฎีที่เป็นประดุจคัมภีร์ที่ต้องเดินตาม แต่ชุมชนนั้นๆเองต้องทำตัวดุจเป็นช่างศิลปะ แต่งแต้ม   วาดเส้น     ลงสีเองตามที่ธรรมชาติของท้องถิ่นของตนเห็นว่าดี ว่างาม                                              -------------------------------------------
คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 39827เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท