KRUJOY (ครูจ่อย)
นาย ทรงศักดิ์ เสือ ภูเก้าแก้ว

พาขวัญ


ศิลปะวัฒนธรรมมรดกอีสาน

 

                                    

 

การสู่ขวัญ

(เด็กเล่าตามผู้เฒ่าบอก)

 

 

                                       พานบายศรีสู่ขวัญ

 

                        ตอนที่ 1   

       ความเป็นมาของพิธี บายศรีสู่ขวัญ

 

                       พิธีบายศรีสู่ขวัญ


     พิธีสู่ขวัญ บางทีเรียกว่า พิธีบายศรี หรือ บายศรีสู่ขวัญ เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ประเพณีสู่ขวัญทำกันแทบทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีเรียกขวัญ ให้มาอยู่กับตัว พิธีสู่ขวัญนี้เป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญจากคณะ ญาติมิตรและบุคคลทั่วไป
ผู้ได้ดีมีโชคหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือมาเยี่ยมเราก็ยินดีจัดพิธีสู่ขวัญให้ ประเพณีสู่ขวัญจึงเป็น ประเพณีทำกันอย่างกว้างขวาง คำว่าขวัญนั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้นและในบางแห่งเรามักแปลว่า กำลังใจ ก็มีคำว่า ขวัญ ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่นเรียกเมียที่รักว่า เมียขวัญ หรือ จอมขวัญ เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า ลูกขวัญ สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า ของขวัญ
   ขวัญ อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ขน หรือผม ที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย พิธีสู่ขวัญเป็นพิธีเก่า แก่ของชาวไทยเราแทบทุกภาค การทำพิธีก็ผิดเพี้ยนกันไปบ้างแต่ก็ยังยึดหลักใหญ่อยู่เหมือนกัน พิธีสู่ขวัญในบทความนี้ จะกล่าวถึงพิธีของชาวอีสานเป็นส่วนใหญ่ การทำพิธีสู่ขวัญเราอาจทำได้ถึง ๒ วิธีพร้อม ๆ กัน คือวิธีทางพุทธศาสนาและวิธีทางพราหมณ์ศาสนา
วิธีทางพุทธศาสนา โดยการนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งบาตรน้ำมนต์ เสร็จแล้วประพรมน้ำมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาถ้ามีศรัทธาพอจะถวายภัตตาหารเช้า หรือเพลพระสงฆ์ด้วยก็ได้ ส่วนพิธีทางพราหมณ์ ก็คือการสู่ขวัญซึ่งจะได้อธิบายให้ละเอียดต่อไป


      การทำพิธีสู่ขวัญต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ หลายอย่างดังนี้...

 

                        พาขวัญหรือพานบายศรี


      คำว่า บายศรี นี้น่าจะมาจากภาษาเขมร คือคำว่า บาย + ศรีข้าว (สุก) ที่เป็นมงคลข้าวนี้จะ เป็นส่วนประกอบของการจัดพานบายศรี จะขาดไม่ได้ การจัดพาขวัญนี้ ปกติต้องจัดด้วยพาน ทองเหลืองและมีสัมฤทธิ์ (ขันลงหิน) หลาย ๆใบ ซ้อนกัน มีใบตอง ดอกไม้สด ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ผูกแขน) ปัจจุบันเริ่มมีการนำเอากระดาษสีต่างๆ แต่ก็ผิดธรรมเนียมของท้องถิ่นไป
     พาขวัญอาจจัดเป็นชั้นๆ จะเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น แล้วแต่ความสามารถ แต่คนเก่าคนแก่ของเมืองอุบล ฯ กล่าวว่าพาขวัญ ๓ ชั้น ๕ ชั้น เป็นของบุคคลธรรมดา ส่วน ๗ ชั้น และ ๙ ชั้นนิยมจัดเฉพาะสำหรับเชื้อพระวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ชั้นล่างของพาขวัญจะเป็นพานมีบายศรี (ทำด้วยใบตอง) ดอกไม้ ข้างต้ม ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ปั้นข้าว เงินฮาง มีดด้ามแก้ว ชั้น ๒ , ๓, ๔ จะได้รับการตกแต่งด้วยใบศรี และ ดอกไม้ซึ่ง มักจะเป็นดอกฝาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูณ ใบยอป่า อย่างสวยงาม ส่วนชั้นที ๕ จะมีใบศรี และด้ายผูกข้อมือ เทียนเวียนหัว (ทำด้วยขี้ผึ้ง) ของเจ้าของขวัญ นอกจากพาขวัญแล้วจะมีเครื่องบูชาและอื่นๆ เช่น ขันบูชา มีพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า ๑ ผืน แพร ๑ วา หวี กระจกเงา น้ำอบ น้ำหอม สร้อย แหวน ของผู้เป็นเจ้าของขวัญ

 

                                        การทำพาขวัญ

 

              คำว่า “ พาขวัญ ” เป็นภาษาอีสาน มีความหมายเช่นเดียวกับ “ พานบายศรี ” มี การแต่งพาขวัญพร้อมเครื่องสังเวยต่างๆ เหมือนกั

                                     การสู่ขวัญ หรือสูตขวัญ

 

          การสู่ขวัญหรือสูตขวัญของชาวอีสาน คงวิวัฒนาการมาจากพิธีพราหมณ์ เพราะบรรพบุรุษเคยนับถือทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ การสู่ขวัญเป็นเรื่องเกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อหาทางก่อให้เกิดขวัญหรือกำลังใจดีขึ้น ชาวอีสานเห็นความสำคัญทางจิตใจมาก ดังนั้น วิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการเรียกร้องพลังทางจิต จะได้ช่วยให้มีพลังใจเข็มแข็ง สามารถฟันฝ่าอุปสรรคหรือภัยพิบัติได้นั้นเอง จึงเป็นประเพณีถือปฏิบัติยั่งยืนมาจากสมัยนี้ การสู่ขวัญเป็นประเพณีโบราณ ที่บรรพบุรุษได้เคยประพฤติ ปฏิบัติสืบต่อๆ กันมาช้านาน โดยเชื่อว่า เป็นสิริมงคลแก่การเป็นอยู่ หรือช่วยให้เกิดมงคลและอยู่ด้วยความสวัสดี มีชัย มีโชคลาภยิ่งขึ้น ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยความราบรื่น และอาจดลบันดาลให้ผู้ที่เคราะห์ร้าย หายจากสรรพเคราะห์ทั้งปวงด้วย แต่การสู่ขวัญต้องอาศัยคนเฒ่าคนแก ่ผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้ฉลาดหรือผู้รู้วิธีทำ ซึ่งเรียกว่า “ หมอขวัญ ” หรือ “ พราหมณ์ ” สู่ขวัญให้ จึงจะเป็นสิริมงคลได้ผลดีสมความปรารถนา ถ้าหากทำไปสักแต่ว่าทำ ไม่มีพิธีการอันแนบเนียนก็จะมีผลน้อย เพราะการทำพิธีนี้เกี่ยวกับจิตวิทยาอย่างหนึ่งด้วย ถ้าผู้ทำเป็นผู้ฉลาดในพิธีการ ตั้งอกตั้งใจทำจริงๆ มุ่งหวังให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้รับขวัญของผู้รับการสู่ขวัญจริงๆ อย่างนี้จึงจะได้รับประโยชน์จากการสู่ขวัญนั้น
             สาเหตุที่มีการสู่ขวัญ เหตุที่จะมีการสู่ขวัญปกติมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ เพราะปรารภในเหตุที่ดีอย่างหนึ่ง และปรารภในเหตุไม่ดีอย่างหนึ่ง การสู่ขวัญเนื่องในเหตุที่ดี ก็ได้แก่ การทำเนื่องในการได้รับโชคลาภ หรือสิ่งที่พึงพอใจ เช่น ไปค้าขายได้เงินทองมามาก ได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ แต่งงานใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ เจ้านายหรือผู้ใหญ่ที่เคารพไปมาหาสู่ จากบ้านไปนานแล้วมาเยี่ยมบ้าน ได้ลาภพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ส่วนเหตุในทางไม่ดี จัดการสู่ขวัญเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้หายเสนียดจัญไรต่างๆ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย หรือหายจากป่วย ได้รับความตกใจหรืออกสั่นขวัญหายจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เคราะห์ร้ายเสียทรัพย์สินเงินทองเกิดถ้อยร้อยความ สัตว์หรือสิ่งของหายแล้วได้คืนมา เป็นต้น ก็ทำการสู่ขวัญเพื่อเรียกขวัญ หรือเชิญขวัญมา เพื่อให้ขวัญผู้นั้นมาอยู่กับเนื้อกับตัว จะได้ทำจิตใจของผู้นั้นมีความสุขสบาย หรือหายจากเคราะห์เข็ญต่างๆ


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    

 

 

คำสำคัญ (Tags): #มรดกอีสาน
หมายเลขบันทึก: 397164เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การทำพานบายศรี ได้ฝึกสมาธิ ความอดทน และต้องประณีตค่ะ ยังประทับใจบายศรีที่อิสานเด้อค่า ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท