ไปคุยกับนายกรัฐมนตรีเรื่องระบบวิจัย และระบบการศึกษา ที่เป็นพลังขับเคลื่อนบ้านเมือง


          คนออกความคิดเรื่องไปพบและเสนอแนะต่อท่านนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ ศ. ดร. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ   และท่านนายกฯ ก็รับนัดในวันจันทร์ที่ ๑๖ ส.ค. ๕๓   โดยที่เอาเข้าจริงท่านให้นัด ๒ คณะมาคุยพร้อมกัน   คือคณะของเรามี รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล  นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  ศ. ดร. สุพจน์  และผม

          อีกคณะหนึ่งมี รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์    และท่านนายกฯ ได้บอกเจ้าหน้าที่ให้เชิญผมด้วย   กลายเป็นว่าผมอยู่ ๒ คณะในเวลาเดียวกัน   โดยผมไม่ทราบว่าทีม ดร. สุธีระ จะมาเสนอเรื่องอะไร   ทราบเลาๆ ว่าน่าจะเป็นเรื่องการวิจัยตอบสนองความต้องการของสังคมไทย

          คณะของ ศ. ดร. สุพจน์ นัดคุยกัน ๑ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑๑ ส.ค.   โดย ดร. สุพจน์ ยกร่างแนวคิดไว้   แล้วหลังจากคุยกันแล้ว ท่านก็ได้รับมอบหมาย (ในฐานะที่อาวุโสน้อยที่สุด) ให้ยกร่างข้อเสนอ   ท่านยกร่างเป็น ppt ส่งทาง อี-เมล์ ให้สมาชิกช่วยให้ความเห็นเพิ่มเติม   และได้ppt ชุดตัวจริง ที่จะใช้นำเสนอความคิด

          เรื่องระบบวิจัยนี้ผมมีจุดยืนที่ชัดเจนมาก   เพราะทำมากับมือ   แต่ผมก็สะท้อนใจมาก ว่าบ้านเมืองของเราไม่มีกลไกในการพัฒนาระบบเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองจริงๆ   กระบวนการเพื่อพัฒนาระบบหลายครั้งสะดุดตอ   ตอนี้คือผลประโยชน์ส่วนย่อยของหน่วยงาน หรือผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่มีอำนาจ    ผมตีความว่า นี่คือ คอรัปชั่นเชิงระบบหรือเชิงนโยบาย    ผมไม่มีความสามารถที่จะเอาชนะตอแบบนี้    

          ดังนั้น การไปคุยกับท่านนายกฯ จึงเป็นการไปทำหน้าที่ที่ผมไม่ถนัด   ผมไม่มีความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจ “ตอ”   ที่ร้ายคือ ผมรังเกียจและไม่อยากเข้าไปเกลือกกลั้วกับ “ตอ” เหล่านี้ 

          ผมเป็นคนโง่ ไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์   เมื่อวันที่ ๑๑ ส.ค. หมอสมศักดิ์เล่าความหลังตอนช่วยกันกับผมทำเรื่องปฏิรูประบบวิจัย โดยรัฐบาลจัดเงินมาให้ทำกระบวนการ ๑๔ ล้าน   ในราวๆ ปี ๒๕๔๖ แล้ว รมต. ที่ดูแลเรื่องนี้บอกว่าข้อเสนอไม่ประทับใจ    ผมเพิ่งเข้าใจว่าจะให้ประทับใจ ต้องเสนอแบบให้ประโยชน์หรืออำนาจแก่เขา  

          เรื่องระบบวิจัยนี้มีหลักง่ายๆ คือ มันเป็นการลงทุนสร้างความเข้มแข็งระยะยาวให้แก่ประเทศ   ถ้าไม่ลงทุน และจัดการอย่างถูกต้อง ประเทศจะพัฒนายาก   เพราะเราจะอยู่ในสภาพทำงานแบบไม่ใช้ความรู้ หรือใช้แบบไม่ฉลาด ไม่ทันยุคสมัย    แต่สังคมไทยเป็นสังคมสายตาสั้น มองสิ่งต่างๆ แบบมุ่งผลระยะสั้นเท่านั้น    และมองการลงทุนวิจัยว่าเป็นค่าใช้จ่าย เป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น   งบวิจัยจึงมักจะโดนตัดก่อนงบอื่นๆ 

          ปัญหาสำคัญคือ เราไม่แยกแยะระหว่างเงินลงทุนวิจัยที่แสนจะคุ้มค่า   กับเงินวิจัยแบบผลาญเงิน   ซึ่งตัวสำคัญอยู่ที่การจัดการระบบ และติดตามประเมินผลการใช้เงินวิจัย   ในสังคมที่มีการเล่นพวกพ้องสูง งบวิจัยจะถูกเอาไปตอบแทนพวกพ้องได้ง่ายมาก

          ผมมีความภูมิใจในชีวิต ที่ได้วางรากฐาน สกว. ไว้ให้เป็นหน่วยงานจัดการทุนวิจัยที่ใช้เงินแบบเกิดประสิทธิผลคุ้มค่าอย่างยิ่ง    ประเมินกี่ครั้งๆ ก็จะได้รับคำชมอย่างมาก   แต่ก็แปลก ที่ สกว. ได้รับส่วนแบ่งงบประมาณวิจัยแบบที่ไม่แยกแยะเลย   ว่า สกว. แตกต่างจากหน่วยงานที่เอางบวิจัยไปจัดการแล้วไม่ชัดเจนว่าเกิดประโยชน์คุ้มค่า    นี่คือความเป็นจริงในสังคมไทย ที่ยึดหน้าตาของหน่วยงานโดยไม่คำนึงถึงผลงาน  

          เอาเข้าจริง ดร. สุธีระมาคนเดียว และเป็นคนเดียวที่มีนัดอย่างเป็นทางการกับท่านนายกฯ    ท่านจึงได้เป็นผู้นำเสนอก่อน ใน ๒ เรื่อง คือเรื่องการศึกษากับเรื่องวิจัย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พันกันอยู่ดี   ประเด็นคือการศึกษาต้องปลดปล่อยมนุษย์ออกจากพันธนาการ ให้เกิดความมั่นใจตนเอง และสร้างศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์   โดยที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันก่อผลในทางตรงกันข้าม   แต่ สกว. ก็ได้ริเริ่มส่งเสริมการวิจัยในวงการศึกษา    และได้ผล ๒ ข้อดังกล่าว    คือได้แสดงให้เห็นวิธีจัดการงานวิจัยด้านการศึกษาที่ฉีกแนวไปจากที่วงการศึกษาศาสตร์ใช้   ระหว่างที่นั่งฟัง ดร. สุธีระพูดอยู่นี้ ผมนึกว่า นี่คือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา

          ด้านการวิจัย ดร. สุธีระ เสนอให้เน้นการวิจัยที่ตั้งอยู่บนฐานบริบทของสังคม   ไม่ใช่ตั้งอยู่บนฐานวิชาความรู้   การวิจัยบนฐานบริบทของสังคมจะทำให้ได้ผล ๒ ประการข้างบน   และเข้าใจอัตตลักษณ์ของตนเอง    งานวิจัยกลุ่มนี้ได้แก่ ยุววิจัยเศรษฐกิจชุมชน   วิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  วิจัยยางพารา  วิจัยไม้ผล เป็นต้น

          ศ. ดร. สุพจน์ เสนอแนวทางปรับระบบวิจัยของประเทศ   เพื่อให้ภาค “ผู้ใช้” ผลงานวัจัยเข้ามามีบทบาทมากขึ้น    เกิดความเข้มแข็งของระบบวิจัย   ทั้งประเทศมีการลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น   สนับสนุนทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ   เอาเงินไปสนับสนุนกิจการที่ก่อคุณประโยชน์ต่อประเทศจริงๆ

          ดร. สุธีระ บอกว่าจะให้นักวิจัยทำงานสนองบ้านเมืองจริงๆ ต้องเปลี่ยนกติกาเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพนักวิชาการ/วิจัย   ให้มีการยอมรับผลงานวิจัยเพื่อสนองฝ่ายผู้ใช้ด้วย    ไม่ใช่ให้การยอมรับเฉพาะผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 

          ท่านนายกฯ ไม่ทราบว่านโยบายสนับสนุนการวิจัยของท่านไม่ไปสู่การปฏิบัติ   ท่านไม่ทราบว่างบประมาณวิจัยที่เสนอไว้ในงบประมาณแผ่นดินโดนตัดในขั้นตอนกรรมาธิการเป็นรายการแรก   ท่านบอกว่าทางรัฐบาลให้ความยืดหยุ่นคล่องตัวแก่มหาวิทยาลัย สมาชิกของมหาวิทยาลัยก็ไม่เอา   เวลานี้มหาวิทยาลัยในกำกับฯ สามารถวางแนวทางความก้าวหน้าทางวิชาการโดยคิดรูปแบบการยอมรับของตนขึ้นมาได้   แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ทำ   ข้อตำหนิส่วนหลังนี้ผมเห็นด้วยว่าเป็นความจริง

          เราสรุปว่ามีประเด็นใหญ่ ๒ ประเด็น ที่จะช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทย ในเรื่องการวิจัย คือ คนกับระบบ

          เรื่องคน เราพูดกันว่าจะต้องมีองค์กรให้นักวิจัยอยู่นอกมหาวิทยาลัยหรือไม่   ทำให้ผมนึกถึงเรื่อง Max Planck Insitute ของเยอรมัน   ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความอ่อนแอด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยในเยอรมันเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว   และมีผลให้มหาวิทยาลัยเยอรมันปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยขึ้นมา

          เรื่องระบบจะไปเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวที่ วช. ตั้งงบประมาณ ๒๐ ล้าน ให้ สคช. จัดกระบวนการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ    และเชื่อมโยงกับ สกอ. – สศช. ในโครงการ ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย

          มติชนออนไลน์ลงข่าวการไปพบนายกฯ ที่นี่ 

          หลังจากท่านนายกฯ ออกจากห้องประชุมสีทอง ไปห้องอื่นเพื่อคุยกับกลุ่มอื่นต่อไป    เรา AAR กันแบบไม่เป็นระบบว่าจะต้องรีบดำเนินการให้เกิดกิจกรรม ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย   และน่าจะทำสัก ๒๐ จังหวัด เพื่อให้ได้ critical mass    โดยใช้งบประมาณปรองดอง   ผมแนะว่าควรทำงานไปพร้อมกับพัฒนาระบบ    ใช้เงินร้อยละ ๘๐ ทำงาน อีกร้อยละ ๒๐ ทำระบบ   ระบบในที่นี้คือระบบวิจัย/วิชาการ รับใช้สังคมไทย   และระบบการตีพิมพ์เผยแพร่วิชาการรับใช้สังคมไทย   จะต้องมีการจัดกระบวนการเพื่อจัดการแบบมีส่วนร่วม ให้เกิดการพัฒนาทักษะในมหาวิทยาลัย ให้มีการ organize หรือจัดระบบงานใหม่เอี่ยมนี้   และมีการพัฒนาคนขึ้นมาทำงานจัดการหรือประสานงานเชิงรุก
          ผมกลับมาบ้าน AAR กับตัวเองว่า งานนี้เราไม่ได้ไปขอเงิน  ไม่ได้ไปเสนออะไรเพื่อตัวเองหรือเพื่อหน่วยงานที่เราเกี่ยวข้อง   เราไปคุยเพื่อช่วยกันทำงานให้ชาติบ้านเมือง 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ส.ค. ๕๓
   
          
                  
         
                 

หมายเลขบันทึก: 395999เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กระบวนของท่าน อาจารย์นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีเยี่ยม ครับ องค์ความรู้เกิดจากตัวบุคคล องค์ความรู้ของบุคคลเกิดจากสถาบัน ผมมองว่าสถาบ้นการศึกษาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ทุกภาคส่วนของสังคมควรให้ก้าวเดินทาไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือเรื่องของหลักอาศัยกันและกันของคนในสังคม ผมมองว่า สถาบันการศึกษาไม่น้อยเห็นการศึกษาเป็นเรื่องธุรกิจ แต่ทั้งหมดทั้งมวล เกิดจากคนที่กำหนดทิศทางสถาบันมากกว่า ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท