เศรษฐศาสตร์ : คืออะไร? และ ศึกษาอะไร?


             ถ้าจะกล่าวถึงวิชาเศรษฐศาสตร์เมื่อเทียบกับ วิชารัฐศาสตร์ หรือปรัชญา วิชากฎหมาย แล้ววิชาเศรษฐศาสตร์จัดได้ว่าเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่ แต่ในปัจจุบันวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ถูกจัดให้เป็นบิดาของวิชานี้คือ อดัม สมิท (Adam Smith’cx) ค.ศ. ๑๗๒๓-๑๗๙๐) โดยสมิทได้แต่งตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่จัดได้ว่าเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ฉบับแรกของโลกมีชื่อว่า “An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nation” ซึ่งมีเนื้อหาในบางตอนกล่าวถึงในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในเรื่องของมูลค่า (value) ในเรื่องเศรษฐทรัพย์ต่าง ๆ การค้าระหว่างประเทศ การคลังสาธารณะ รวมไปถึงการเก็บภาษีอากร

              คำว่าเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นคำมาจากภาษกรีก ๒ คำคือ Oikos ซึ่งแปลว่าบ้าน หรือครอบครัว และคำว่า Nomos ซึ่งแปลว่ากฎระเบียบ ดังนั้นคำว่าเศรษฐศาสตร์ในความหมายแบบดั้งเดิมนั้นจึงแปลว่า การจัดระเบียบในบ้าน หรือครอบครัว แต่ในนิยามที่มักจะใช้กันอยู่ทั่วไปคำว่าเศรษฐศาสตร์ (economics) มีความหมายว่า เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรทั่วไปที่มนุษย์นำมาใช้ในการบริโภค (consumption) โดยเป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วไปมาใช้ในการบริโภค ซึ่งในปัจจุบันทรัพยากรที่มีอยู่นั้นนับวันจะลดลงเรื่อย ๆ จึงทำให้มีการพัฒนาวิธีการจัดการหรือจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดให้ได้มากที่สุด ซึ่งคำว่าเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะมีความหมายที่แตกต่างจากคำว่าเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐศาสตร์นั้นมีความหมายรวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากร แต่คำว่าเศรษฐกิจ (economy) นั้นหมายถึง การจัดการครอบครัว หรือการดำรงชีพของประชาชนในชุมชนและสังคมนั้น ๆ แต่โดยสรุปแล้วก็ยังคงไม่มีผู้ใดที่ให้ความหมายของคำว่าเศรษฐศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีบุคคลผู้รู้ที่ได้ให้นิยามของคำว่าเศรษฐศาสตร์ไว้มากมายหลายท่าน อาทิ

                อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวถึงความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ในหนังสือ Principle of Economics ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการดำรงชีพ (business of life) ให้ได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของเพื่อยังชีพให้ได้รับความสมบูรณ์พูนสุข (material requisties of well-being)

                รูดอลลิฟ ดับบลิว. เทรนตัน (Rudolliph W. Trenton) ได้กล่าวถึงความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบสนองความพึงพอใจในสิ่งที่มนุษย์ต้องการ

                พอล แอนโธนี แซมมวลสัน  (Paul Anthony Samuelson) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ๒๕๑๓ ได้ให้คำนิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า คือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการของมนุษย์และสังคมว่า จะเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ และสามารถแจกจ่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาแล้วส่งไปยังประชาชนทั่ว ๆ ไปในสังคมเพื่อบริโภคในปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างไรโดยที่มนุษย์และสังคมนั้นจะมีการใช้เงินหรือไม่ก็ตาม

                  ไลโอเนล รอบบิ้นส์ (Lionel Robbins) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ An Essay on the Nature and Significance Science ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาถึงการเลือกหาหนทางที่จะใช้ปัจจัยการผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่มีอยู่อย่างนับไม่ถ้วน

                 ประยูร เถลิงศรี ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หลักเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศึกษาที่เกี่ยวกับการศึกษาว่า มนุษย์จะเลือกตัดสินใจอย่างไร ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอเพื่อผลิตสิ่งของ และบริการพร้อมทั้งแบ่งปันสิ่งของ และบริการเหล่านั้นเพื่ออุปโภค และบริโภคระหว่างบุคคลต่าง ๆ ในสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต

                 ธรรมนูญ โสภารัตน์ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และหายาก ในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด และความอยู่ดีกินดีของประชาชาติ ในภาวะปัจจุบันและอนาคต

                  มนูญ พาหิระ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจมาทำการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองหรือบำบัดความต้องการของมนุษย์

 

                 หากพิจารณาตามคำนิยามต่าง ๆ ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ไว้ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า

 

          “เศรษฐศาสตร์ คือ ศาสตร์ (วิชา) ที่ศึกษาหาหนทางในการเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด สำหรับการผลิตสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด”

 

             ในข้อสรุปของนิยามทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว จะพึงสังเกตได้ว่ามีคำสำคัญที่มีนัยควรอธิบายขยายความเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในบริบททางเศรษฐศาสตร์ได้ครบถ้วน คือ

              ๑. การเลือก (Choice) เกี่ยวเนื่องจากทรัพยากรการผลิตต่าง ๆ นั้น สามารถที่จะนำพามาใช้ประโยชน์ในการผลิตได้หลายทาง โดยที่มีความจำกัดของทรัพยากรและความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์ เป็นแรงบีบคั้น บังคับที่สำคัญในการทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจในการเลือกผลิตสินค้าและบริการดังกล่าว และจะพึงสังเกตเพิ่มเติมได้ว่า ก่อนที่จะถึงกระบวนการเลือกสรรนั้นย่อมมีทางเลือกก่อเกิดเป็นเสมือนคู่แฝดตามติดกันมากับกระบวนการเลือกนั้นด้วย เช่น  

            สมมติว่า : มีที่ดินอยู่ ๑ แปลง เรามีทางเลือกในการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นหลายทาง เช่น

                 ทางเลือกที่ ๑ ทำเกษตรกรรม                 คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน   ๑ ล้านบาทต่อปี

                 ทางเลือกที่ ๒ สร้างโรงงาน                    คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน   ๕ ล้านบาทต่อปี

                 ทางเลือกที่ ๓ สร้างที่พักตากอากาศ         คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน   ๔ ล้านบาทต่อปี

                 ทางเลือกที่ ๔ ให้เช่าที่ดิน                      คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน   ๓ ล้านบาทต่อปี

 

             จะพึงสังเกตได้ว่า ทรัพยากร (ที่ดิน) ที่เรามีอยู่ ๑ แปลงนั้น บ่งชี้ถึงความจำกัดที่มีอยู่ ดังนั้นเราไม่สามารถนำที่ดินดังกล่าวไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ทั้ง ๔ ทางเลือก เราจึงต้องมี การเลือก หาหนทางที่คาดว่าจะเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการใช้ที่ดินดังกล่าว

            จากตัวอย่างข้างต้นของทางเลือกและการเลือกดังกล่าวนั้น สามารถที่จะอธิบายขยายความกินลึกเพิ่มเติมไปถึงคำสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์อีกคือ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส”

           ๑.๑ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) คือ คุณค่าหรือมูลค่า (value) ของทางเลือก (choice) ที่ดีที่สุดในบรรดาทางเลือกทั้งหลายที่มีอยู่ที่ต้องสละไป (the best alternative forgone) เมื่อมีการตัดสินใจในการเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตไปในทางใดทางหนึ่ง

             ในทางเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนค่าเสียโอกาสถือเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เกี่ยวเนื่องจากการเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตทุกครั้งจะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นเงาตามติดมาด้วย

             พิจารณาจากกรณีตัวอย่างดังกล่าว :

             ๑.๑.๑ หากว่าเลือกกรณีที่หนึ่ง คือ ใช้ที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรม นั่นย่อมแสดงว่า เราได้สละทางเลือกที่สอง, สาม และสี่ ทิ้งไป จากนัยของ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” ที่บอกว่า เป็นมูลค่าของทางเลือกที่ดีที่สุดที่ต้องสละไป ดังนั้น หากว่าเราเลือกกรณีที่หนึ่ง ต้นทุนค่าเสียโอกาสของหนทางที่ไม่ได้เลือกจะประกอบไปด้วย

               - เสียโอกาสในการสร้างโรงงาน                ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทน  ๕ ล้านบาทต่อปี

               - เสียโอกาสในการสร้างที่พักตากอากาศ     ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทน  ๔ ล้านบาทต่อปี

               - เสียโอกาสในการให้เช่าที่ดิน                  ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทน  ๓ ล้านบาทต่อปี

            จาก “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” ที่กล่าวไว้ว่า เป็นมูลค่าของทางเลือก ที่ดีที่สุด ที่ต้องสละไป ดังนั้นในกรณีดังกล่าวที่เราเลือกกรณีที่หนึ่งนี้จึงมีต้นทุนค่าเสียโอกาสคือ ๕ ล้านบาท

            ๑.๑.๒ ในทำนองเดียวกันหากว่าเราเลือกใช้ที่ดินไปในกรณีที่สอง (สร้างโรงงาน) ดังนั้นต้นทุนค่าเสียโอกาสก็คือ มูลค่าสูงสุด ของทางที่เราไม่ได้เลือก (ทางที่หนึ่ง, สาม และสี่) ซึ่งก็คือ ๔ ล้านบาทนั่นเอง

 

               ๒. ทรัพยากรการผลิต (production resources) หรือ ปัจจัยการผลิต (factors of production) คือ ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งความหมายในทางเศรษฐศาสตร์สามารถแบ่งปัจจัยการผลิตเป็น ๔ ประเภท

                    ๒.๑ ที่ดิน (land) ซึ่งใช้เป็นที่ของอาคารโรงงานที่ทำการผลิต รวมถึงทรัพยากรที่อยู่ในดิน โดยผลตอบแทนของที่ดินได้แก่ ค่าเช่า (rent)        

                       - ทรัพยากรธรรมชาติ (natural resources) เป็น สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์สามารถนำทรัพยากรเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ได้ ทรัพยากรธรรมชาติแบ่งออกได้เป็น (๑) ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (nonrenewable resources) ได้แก่ ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปเลย หรือไม่สามารถทดแทนขึ้นมาได้หรือต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างทดแทนขึ้นใหม่ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และ (๒) ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนใหม่ได้ (renewable resources) เช่น ป่าไม้ ดิน สัตว์ป่า น้ำ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้หากมีการจัดการในการใช้อย่างถูกวิธีจะสามารถเกิดขึ้นหรือทดแทนขึ้นใหม่ได้

                    ๒.๒ แรงงาน (labor) คือ ความคิดและกำลังกายของมนุษย์ที่ได้นำไปใช้ในการผลิต โดยส่วนใหญ่มีผลตอบแทนคือ ค่าจ้าง (wage or salary) ในประเทศไทยโดย ธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.)ได้แบ่งแรงงานออกเป็น

                       - ผู้มีงานทำ ได้แก่ บุคคลที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจเป็นผู้ (๑) ทำงานอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง โดยได้รับค่าจ้าง เงินเดือน ผลกำไร เงินปันผลหรือค่าตอบแทนที่มีลักษณะอย่างอื่น สำหรับผลงานที่ทำ (๒) ไม่ได้ทำงานเลย แต่ยังคงมีตำแหน่งหน้าที่การงาน ธุรกิจ ไร่นาเกษตรของตนเอง ได้หยุดงานชั่วคราวเนื่องจากเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ หยุดพักผ่อน สถานที่ทำงานปิด ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย นอกฤดูกาลหรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ เช่น การปิดที่ทำงานชั่วคราวโดยไม่คำนึงว่าจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างระหว่างที่ไม่ได้มาทำงานหรือไม่ก็ตาม จะต้องมีกำหนดว่าภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่สถานที่ทำงานปิดจะได้กลับมาทำงาน ณ สถานที่ทำงานนั้นอีก หรือ (๓) ทำงานอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวิสาหกิจ หรือไร่นาเกษตรของหัวหน้าครัวเรือน หรือของสมาชิกในครัวเรือน

                        - ผู้ว่างงาน ได้แก่บุคคลที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจไม่ได้ทำงานใด ๆ เลยแม้แต่ ๑ ชั่วโมง ไม่มีงานทำ ไม่มีธุรกิจ หรือไร่นาเกษตรของตนเองแต่พร้อมที่จะทำงาน ซึ่งหมายถึงบุคคล (๑) ผู้ซึ่งหางานทำภายใน ๓๐ วัน นับถึงวันแจงนับ (๒) ผู้ซึ่งไม่ได้หางานทำเนื่องจากเจ็บป่วย หรือไม่ได้หางานทำ เพราะคิดว่าหางานที่เหมาะกับตนทำไม่ได้ รอที่จะเริ่มงานใหม่ รอฤดูกาล หรือเหตุผลอื่น ๆ

                        - กำลังแรงงาน ได้แก่ บุคคลทุกคนที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีงานทำหรือว่างงาน หรือรอฤดูกาลที่เหมาะสมเพื่อที่ จะทำงานและตามปกติจะทำงานโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในไร่นาเกษตรหรือธุรกิจซึ่งทำกิจกรรมตามฤดูกาลโดยมีหัวหน้าครัวเรือนหรือ สมาชิกคนอื่น ๆ ในครัวเรือนเป็นเจ้าของหรือผู้ดำเนินการ

                      ๒.๓ ทุน (capital) ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง เงินทุน (money capital) และสินค้าประเภททุน (capital goods) ซึ่งให้ผลตอบแทนในรูปของ ดอกเบี้ย (interest)

                        - เงินทุน (money capital) คือ ปริมาณเงินตราที่เจ้าของเงินนำไปซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าจ้าง ค่าเช่าและดอกเบี้ย

                        - สินค้าประเภททุน (capital goods) คือ สิ่งก่อสร้างรวมถึงเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต

                    ๒.๔ ผู้ประกอบการ (entrepreneurship) คือ บุคคลที่สามารถนำปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาดำเนินการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการบริหารจัดการที่ดี การตัดสินใจจากข้อมูลหรือจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างรอบคอบ รวมถึงความรับผิดชอบ ซึ่งผลตอบแทนอยู่ในรูปของ กำไร (profit)

 

            ๓. การมีอยู่อย่างจำกัด (scarcity) ทรัพยากรการผลิตทุกอย่างบนพิภพโลกนั้นล้วนมีอยู่อย่างจำกัด เกี่ยวเนื่องจาก ทรัพยากรบางอย่างใช้แล้วหมดไปไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ และทรัพยากรบางอย่างใช้ไปแล้วสามารถที่จะสร้างขึ้นมาทดแทนได้ แต่ ก็มีแรงบีบคั้น บังคับในด้านเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะต้องใช้เวลานานในการสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ไปทดแทน ดังนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์จึงถือว่าทรัพยากรการผลิตทุกอย่างนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ทรัพยากรทางธรรมชาติ เครื่องจักรเทคโนโลยี รวมถึงแรงงาน เป็นต้น เมื่อนำทรัพยากรดังกล่าวมาเข้าสู่กระบวนการผลิต ก็จะได้ผลผลิตทางสินค้าและบริการในปริมาณที่มีจำกัดเช่นกัน

 

            ๔. สินค้าและบริการ (goods and service) คือ ผลิตผลที่ได้จากการทำกิจกรรมร่วมกันของปัจจัยการผลิต (ที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ) เป็นผลิตผลที่สามารถสร้างความพึงพอใจและสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยผลิตผลดังกล่าวมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่พึงมีต่อบุคคล สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม เช่น ยารักษาโรค อาหาร บ้าน เสื้อผ้า บุหรี่ เหล้า เป็นต้น  

         ซึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการสามารถแบ่งสินค้าออกเป็น ๒ ประเภท คือ

               - สินค้าและบริการสาธารณะ (public goods) เป็นสินค้าและบริการที่มีลักษณะสำคัญ ๒ ประการ

                     ประการแรก เป็นสินค้าและบริการที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ (non-exclusion) คุณสมบัติข้อนี้คือ เมื่อผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาแล้วไม่สามารถที่จะแบ่งแยกการบริโภคหรือกีดกันไม่ให้คนหนึ่งคนใดบริโภคได้ หรือถ้าจะกีดกันต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก เช่น การถ่ายทอดทีวี หรือการกระจายเสียงวิทยุ เป็นการยากที่จะป้องกันหรือกีดกันไม่ให้คนหนึ่งคนใดไม่ให้บริโภคได้

                       ประการที่สอง เป็นสินค้าและบริการที่ไม่มีคู่แข่งขันในการบริโภคหรือไม่เป็นปริปักษ์ในการบริโภค (non-rival in consumption) คุณสมบัติข้อนี้คือ การบริโภคสินค้าและบริการของคนหนึ่งคนใดจะไม่กระทบกระเทือนหรือไปลดประโยชน์ของอีกคนหนึ่งที่ได้บริโภคสินค้าและบริการชนิดนั้นอยู่แล้ว คือ เป็นลักษณะการบริโภคร่วมกัน (collective consumption) เช่น ผู้เปิดทีวีและวิทยุกระจายเสียง จะไม่ทำให้ผู้ชมหรือผู้รับฟังรายอื่นได้รับประโยชน์หรือข้อมูลนั้นน้อยลง และต้นทุนต่อผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจะมีค่าเท่ากับศูนย์ (zero marginal cost) เพราะเมื่อมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นก็จะไม่ทำให้ต้นทุนของการออกอากาศของสถานีเพิ่มขึ้น

          - สินค้าเอกชน (private goods) เป็นสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเอกชน มีลักษณะที่สามารถแบ่งแยกการบริโภคออกจากกันได้ (excludability) และมีคู่แข่งขันในการบริโภค (rival in consumption) คือ (๑) สินค้าที่เมื่อคนหนึ่งคนใดได้บริโภคแล้วจะเป็นเหตุให้อีกคนหนึ่งไม่ได้รับบริการสินค้านั้นหรือได้รับในปริมาณที่น้อยลง (๒) ทำให้ผู้อื่นที่ร่วมใช้สินค้านั้นได้รับประโยชน์และความพอใจจากการใช้ร่วมกันนั้นน้อยลง และ(๓) ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินซื้อหามาเพื่อสินค้าและบริการนั้น ซึ่งการผลิต การจำแนกแจกจ่าย และการบริโภคสินค้าและบริการเอกชนนั้นโดยส่วนใหญ่จะมีกลไกของราคา (price mechanism) ทำหน้าที่ในการจัดสรร เช่น เสื้อผ้า อาหาร บ้าน คอนโด เป็นต้น

  

              ๕. ความต้องการที่ไม่จำกัด (unlimited wants) หากพิจารณาตามความเป็นจริงในพฤติกรรมของมนุษย์โดยส่วนใหญ่แล้ว จะพึงสังเกตได้ว่า มวลมนุษยชาติส่วนใหญ่อุดมไปด้วยความโลภ อยู่ที่ว่าจะโลภมากหรือโลภน้อย ความโลภดังกล่าวสะท้อนออกมาทาง “ความอยาก” ซึ่งถือเป็นรากเหง้าของปัจจัยเหตุที่ก่อให้เกิดทุกข์โดยตรงประกอบด้วยความอยาก ๓ อย่าง โดยในทางพุทธศาสนาท่านได้จำแนกไว้ในเรื่องของอริยสัจจ์ข้อที่สองของ อริยสัจจ์ ๔ ในฐานะที่เป็นมูลเหตุให้เกิดทุกข์โดยตรง ซึ่งความอยากทั้ง ๓ อย่างนั้น คือ

            - กามตัณหา คือ อยากในสิ่งที่ตนรักใคร่พอใจ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ได้แต่ต้องเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่พอใจ                      

            - ภวตัณหา คือ ความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากจะเป็น

            - วิภวตัณหา คือ ความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ตามที่ตนอยากจะไม่ให้เป็น

             ความอยากของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุดตราบเท่าอายุขัย วันนี้อยากได้สิ่งนี้ วันต่อไปอยากได้สิ่งนั้น เป็นวัฏจักรหมุนเวียนอยู่ในวังวนแห่งความอยากนี้ ถึงแม้ว่าความอยากจะเป็นเรื่องที่ยากแก่การควบคุมของมนุษย์ปุถุชน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องรู้เท่าทันในกิเลสเพื่อนำพาไปสู่การบริหารจัดการความอยากให้อยู่ในระดับที่พอประมาณ สมเหตุสมผล และสมดุลกับชีวิตของตัวเอง เพื่อก้าวให้ข้ามพ้นผ่านซึ่งกับดักแห่ง “ลัทธิบริโภคนิยม” ที่เชี่ยวกรากอยู่ในภาวะปัจจุบันนี้     

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395962เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 01:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท