ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย (Factors affecting the reliability of internal and external validity of research) (ครั้งที่ 10)



วิจัยนั้นไม่ยาก...ทนลำบากได้สมหวัง..

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย
(Factors affecting the reliability of internal and external validity of research)

ปัจจัยที่มีผลต่อความตรงภายในของการวิจัย
            ปัจจัยต่อไปนี้หากเกิดในงานวิจัยใด ๆ แล้ว จะทำให้ผลการวิจัยนั้นสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลของตัวแปรที่เราทำการศึกษาอย่างแท้จริงหรือไม่ คำตอบการวิจัยที่ได้แม้ว่าจะตอบคำถามการวิจัยได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นคำตอยที่ถูกต้องเพียงใด
            1. ประวัติพร้อง (Contemporary history) คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแบบที่ไม่คาดคิดซึ่งเกิดขึ้นแทรกระหว่างการทดลองและมีอิทธิพลต่อตัวแปรตาม เช่น จะทดลองส่งเสริมเจตคติด้านประชาธิปไตยของประชาชน ขณะที่ทำการทดลองเกิดมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลจัดให้มีการประชาสัมพันธ์จูงใจประชาชน ดังนั้นการเก็บข้อมูลจากการทดลองก็จะมีความคาดเคลื่อนได้

            2. กระบวนการทางวุฒิภาวะ (Maturation process) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการศึกษาหรือการทดลอง โดยเฉพาะการทดลองที่ใช้เวลานาน กลุ่มตัวอย่างที่ทำการทดลองอาจมีการพัฒนาการด้านความรู้ ประสบการณ์ เจตคติ ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและส่งผลต่อตัวแปรตาม ทำให้ได้ผลการวิจัยที่ไม่ชัดเจน

            3. แนวทางการการทดสอบก่อน (Pretesting procedures) การทดลองที่มีการทดสอบก่อนและทดสอบหลัง ผลการสอบหลังที่ได้คะแนนสูงขึ้นอาจจะเป็นเพราะจำแบบทดสอบก่อนได้เมื่อมาทำทดสอบหลังจึงทำได้ ไม่ใช้เกิดจากความรู้ที่ฝึกอบรม (นวัตกรรมที่ใช้ทดลอง)

            4. เครื่องมือการวัด (Measuring instruments) การใช้เครื่องมือและวิธีการที่ไม่ดีหรือไม่มีคุณภาพในการสังเกต สอบวัด เก็บรวบรวมข้อมูลของตัวแปรที่ทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างหรือแหล่งข้อมูลในการวิจัย จึงอาจส่งผลทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงและนำไปสู่การสรุปผลการวิจัยที่ผิดพลาด เช่น กลุ่มตัวอย่างรู้ตัวว่ากำลังถูกทดลองจึงอาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นจริงออกมา ส่งผลทำให้ผลการวิจัยคลาดเคลื่อน

            5. การถดถอยทางสถิติ (Statistical regression) การที่ความเที่ยงตรงลดน้อยลงจะเกิดขึ้นกับการทดลองกับกลุ่มที่มีคะแนนสูงและคะแนนต่ำที่มีการวัดในครั้งแรก แต่เมื่อมีการวัดในครั้งหลังอาจจะเป็นไปได้ที่กลุ่มที่ได้คะแนนสูงอาจจะได้คะแนนลดลงแต่กลุ่มที่ได้คะแนนต่ำจะได้คะแนนสูงขึ้น ทำให้ผลที่ได้มีความดลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงทำให้มีผลต่อการวิจัยได้

            6. การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่าง (Differential selection of subjects) เกิดจากการลำเอียงในการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่นำมาควบคุมและทดลอง โดยไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของประชากร ขาดความเท่าเทียมกัน ผลที่ได้อาจไม่ใช่เพราะการทดลองหรือตัวแปรที่ศึกษาแต่เป็นเพราะคุณลักษณะที่ต่างกันของกลุ่มตัวอย่าง

            7. การขาดหายไปจากการทดลอง (Experimental mortality) การทดลองที่ใช้เวลานานกลุ่มตัวอย่างมีโอกาสสูญหายได้ หรือไม่สามารถเข้ารับการทดลองครบตามที่กำหนด ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ครบหรือขาดหายไป

            8. ปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกับปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา (Interaction of selection and maturation. selection and history. Etc.) ในการวิจัยถ้าใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยที่ไม่ดีย่อมทำให้เกิดผลจากปัจจยัอื่น ๆ ที่ติดมากับกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกได้มาร่วมส่งผลต่อตัวแปรตามที่ศึกษาด้วยเสมอ

ปัจจยัที่ส่งผลต่อความตรงภายนอกของการวิจัย
         
1. ปฎิสัมพันธ์ของความลำเอียงในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกับตัวแปรอิสระที่ต้องการศึกษา (Interaction effects of selection biases and X) ในกรณีกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาไม่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากร เมื่อนำกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวมาใช้ในการวิจัยและได้ผลการวิจัยเป็นเช่นไรการจะสรุปไปยังประชากรจะมีความผิดพลาดเป็นอย่างมาก เช่น ในกรณีเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้น ป.5 ในโรงเรียนประจำอำเภอ และนักเรียนมีความพร้อมด้านการเรียน หลังจากการทดลองพบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น ผู้จัยจะสรุปว่า นักเรียนชั้น ป.5 ของทุกโรงเรียนในระแวกนั้นเมื่อได้รับการสอนโดยใช้นวัตกรรมแล้วจะมีผลการเรียนดีขั้นจะไม่ถูกต้อง เพราะ บริบทของนักเรียนไม่เหมือนกัน
            2. ปฎิสัมพันธ์ร่วมจากการทดสอบก่อน (Reactive or interaction effect of pretesting) ในกรณีงานวิจัยที่มีการทดสอบก่อนเรียน ผลการทดสอบก่อนเรียนนี้อาจจะทำให้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้เกิดการเรียนรู้หรือมีความฉลาดขึ้นจากการทดสอบ (Test wise) หรืออาจจะมีการวิตกเกรงกลัวการสอบ เมื่อผู้วิจัยทำการสอบหลังเรียน ย่อมอาจส่งผลร่วมกับตัวแปรอิสระอันจะทำให้ผลการทดสอบของตัวสแปรตามเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ดังนั้น การจะสรุปผลจากการวิจัยลักษณะนี้ไปสู่ประชากรที่ไม่พบกับสถานการณ์สอบก่อนเรียนย่อมจะมีความคลาดเคลื่อนในการสรุปอ้างอิงได้
            3. ปฎิกิริยาร่วมจากวิธีดำเนินการทดลอง (Reactive effects of experimental procedures) ถ้างานวิจัยที่มีวิธีดำเนินงานที่ทำให้กลุ่มตัวอยบ่างในงานวิจัยรู้ตัวว่า นักวิจัยต้องการข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามปกติของกลุ่มตัวอย่าง ก็จะทำให้กล่มตัวอย่างเสแสร้งและแสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ เพื่อให้นักวิจัยพึงพอใจหรือเป็นไปตามที่นักวิจัยต้องการและถ้านักวิจัยยอมรับเชื่อถือในข้อมูลและพฤติกรรมดังกล่าว ก็จะทำให้ผลการวิจัยที่ไม่ตรงกับความจริง ซึ่งก็ไม่สามารถสรุปไปสู่ประชากรที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่รู้ตัวว่าผู้วิจัยต้องการข้อมูลพฤติกรรมใด จึงทำให้เกิดความตลาดเคลื่อนของข้อมูลได้
            4. การรบกวนหรือสับสนเนื่องจากเงื่อนไขการทดลองที่มีมาก (Multiple-treatment interference) ในกรณีที่งานวิจัยมีการให้เงื่อนไขการทดลองหลาย ๆ เงื่อนไขกับกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยกลุ่มเดียวและกลุ่มเดิมจะทำให้อิทธิพลของเงื่อนไขการทดลองแต่ละเงื่อนไขเข้ามาพัวพันหรือส่งผลต่อตัวแปรตามจนยากแก่การจำแนกได้ว่า ผลที่เกิดจากตัวแปรตามนี้เกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขการทดลองเงื่อนไขใดกันแน่

            เป็นอย่างไรบ้างครับปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในและความตรงภายนอก คงจะไม่ยากจนเกินไปนะครับ สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดกับงานวิจัยของเราแล้วล่ะก็จะส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนของงานวิจัยได้อย่างมากเลยครับ ฉะนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่ามีปัจจัยใดบ้างก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงนะครับ...
            ในครั้งหน้าเราจะมาเรียนรู้กันในเรื่อง หลัการทำให้เกิดความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัยกันนะครับ....

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551) ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ในห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์
ความคิดเห็นของเพื่อนในห้องเรียนที่ช่วยกันอภิปราย
ภาพอ้างอิงมาจาก http://www.centuryboy.com/images/main_1228200835/M6691276-1.jpg

หมายเลขบันทึก: 395948เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริง ๆ ปัจจัยที่ส่งมีมากขนาดนี้เลย..

เวลาเราทำวิจัยต้องระวังให้มากค่ะ

ขอบคูณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท