หลักการทำให้เกิดความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย (Principle cause internal validity and the external validity of research) (ครั้งที่ 11)


เรียนให้สนุก...จะเครียดไปทำไมจริงไหม

หลักการทำให้เกิดความตรงภายในและความตรงภายนอกของการวิจัย
(การควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน)

(Principle cause internal validity and the external validity of research)

            ในการวิจัยเชิงทดลองนั้นย่อมมีตัวแปรแทรกซ้อนเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งผู้วิจัยจะต้องควบคุมตัวแปรชนิดนี้ให้หมดไป เพื่อจะได้ทราบว่าตัวแปรตามเป็นผลมาจากตัวแปรอิสระอย่างแท้จริง การควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนนิยมใช้หลักการควบคุมที่เรียกว่า Max-Min-Con Principle ดังต่อไปนี้

            1. เพื่อความแปรปรวนที่เป็นระบบให้มากที่สุด (Maximized systematic variance) เป็นการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนโดยการเพิ่มความแปรปรวนระหว่างกลุ่ม หรือความแปรปรวนเนื่องมาจากการทดลองให้สูงสุด ซึ่งทำได้โดยการกำหนดวิธีการทดลองให้กับกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมให้แตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันกันและ ตลอดจนควบคุมเวลาและสภาวะของการทดลองให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถจัดกระทำกับตัวแปรอิสระให้ส่งผต่อตัวแปรตามมากที่สุด

            2. ลดความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนให้น้อยที่สุด (Minimized error variance) เป็นการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนโดยการทำให้ค่าความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนมีค่าน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ ซึ่งความคลาดเคลื่อน (Error) แบ่งได้เป็น 2 ชนิดดังนี้

                        1) ความคลาดเคลื่อนอย่างมีระบบ (Systematic error) เป็นความคลาดเคลื่อนที่มีผลต่อกลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ความบกพร่องของเครื่องมือวัด การจับเวลาทดสอบผิดพลาด เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยสามารถแก้ไขความคลาดเคลื่อนนี้ได้ กล่าวคือ ถ้าทราบว่าเครื่องมือวัดมีความบกพร่องก็แก้ความคลาดเคลื่อนได้โดยการสร้างเครื่องมือวัดให้มีความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นสูง ตลอดจนให้มีความเป็นปรนัย และมีประสิทธิภาพสูงด้วย

                        2) ความคลาดเคลื่อนอย่างสุ่ม (Random error) เป็นความคลาดเคลื่อนที่เกิดกับกลุ่มตัวอย่างบางส่วน ทำให้เกิดความไม่เท่ากันของโอกาสในการเกิดขึ้นของตัวแปรแทรกซ้อน เช่น ความเหนื่อย ความประมาทเลินเล่อ การเดาของผู้ถูกทดลอง ความสนใจ อารมณ์ สุขภาพร่างกาย ฯลฯ ความคลาดเคลื่อนชนิดนี้สามารถแก้ไขโดยใช้กฎการแจกแจงปกติ (Normal distribution law) คำนวณหาค่าสถิติเพื่อจัดกระทำกับความคลาดเคลื่อนนี้

            3. ควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนที่ส่งผลอย่างมีระบบ (Control extraneous systematic variance) เป็นการควบคุมหรือขจัดให้ตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทดลองออกให้หมด เพื่อให้ตัวแปรตามที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากตัวแปรอิสระเท่านั้น มีวิธีการทำดังนี้

                        1) การสุ่ม (Randomization) วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เป็นการกระทำให้กลุ่มตัวอย่างที่สุ่มออกมาจากกลุ่มประชากรมีคุณสมบัติด้านต่าง ๆ พอ ๆ กัน จึงสามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนได้เป็นอย่างไร

                        2) การเพิ่มตัวแปร (Add to the design) ในกรณีที่ตัวแปรแทรกซ้อนบางตัวควบคุมได้ยาก ก็ให้เอาตัวแปรนั้นเพิ่มเข้าไปโดยถือว่าเป็นตัวแปรอิสระที่จะต้องศึกษาด้วย

                        3) การจับคู่ (Matching) เป็นการใช้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน คือ ให้มีลักษณะของตัวแปรแทรกซ้อนในระดับที่เท่า ๆ กัน การจับคู่มี 2 แบบคือ

                        - จับกลุ่ม (Matched group) เป็นการจัดให้ทั้ง 2 กลุ่มมีคุณสมบัติเหมือนกัน โดยมิได้คำนึงถึงว่าสมาชิกในกลุ่มจะเท่ากันเป็นรายบุคคลหรือไม่ ซึ่งทำได้โดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่มแล้วนำทั้ง 2 กลุ่มหรือหลาย ๆ กลุ่มมาทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (`X ) และความแปรปรวน (S2) ถ้าพบว่าแตกต่างกัน ก็ต้องจัดกลุ่มใหม่เพื่อได้กลุ่มตัวอย่างที่มีค่าเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกัน

                        - จับคู่รายบุคคล (Matched subjects) เป็นการจัดให้บุคคลที่มีความเหมือนกันหรือเท่าเทียมกันมาจับคู่กัน แล้วแยกออกเป็นคนละกลุ่ม ทำเช่นนี้จนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ ก็จะได้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีคุณสมบัติทุกด้านเหมือนกัน นำ 2 กลุ่มนี้มาทดสอบดูนัยสำคัญเชิงสถิติเพื่อดูความแตกต่างของค่าเฉลี่ย และความแปรปรวนเช่นเดียวกับการจับกลุ่ม

            4. การใช้สถิติ (Statistical control) เทคนิควิธีการทางสถิติที่สามารถนำมาควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนได้ก็คือ การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (Analysis of covariance) จะสามารถปรับคุณสมบัติที่แตกต่างกันของกลุ่มตัวอย่างได้ ทำให้ผลที่ปรากฏเป็นผลจากการทดลองเท่านั้น

            5. การตัดทิ้ง (Elimination) เป็นการขจัดตัวแปรที่คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดลองออกไป เช่น ถ้าคิดว่าความสนใจเกี่ยวข้องกับการทดลองและจะไม่เอามาเป็นตัวแปรอิสระ จำเป็นจะต้องตัดตัวแปรนี้ออกไป วิธีการก็คือเลือกเอากลุ่มตัวอย่างที่มีความสนใจเหมือน ๆ กัน เป็นต้น

 สรุป หลักการควบคุมความแปรปรวน (Max Min Con Principle)

            1. ทำให้ความแปรปรวนของตัวแปรตามอันเป็นผลเนื่องมากจากตัวแปรต้น หรือตัวแปรที่สนใจมีค่ามากที่สุด (Maximize Systematic Variance) ทำได้โดยเลือกตัวแปรต้นให้มีความ แตกต่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น จะทดลองเปรียบเทียบวิธีการสอน วิธีการสอนทั้งสองนั้นจะต้องมีความแตกต่างกันผู้วิจัยคาดหวังว่าจากการสอนด้วยวิธีสอนสองวิธีนั้น จะให้ผลแตกต่างกัน เหตุผลที่ต้องพยายามทำให้ความแปรปรวนอันเป็นผลเนื่องมาจากตัวแปรต้นมีค่ามาก ที่สุด เพราะว่าจะทำให้ผลสรุป ที่ได้มีความชัดเจน กล่าวคือ ถ้าพบความแตกต่างระหว่างตัวแปรตามจะสรุปได้ว่ าเป็นผลเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างตัวแปรต้น นั่นเอง
            2. ทำให้ความแปรปรวนของตัวแปรตามอันเป็นผลเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนต่าง ๆ มีค่าน้อยที่สุด (Minimize error Variance) ความคลาดเคลื่อนต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างบุคคล ความไม่คงที่ของสมาชิกในกลุ่มตัวอย่างแต่ละคน เช่น ในการทดลองเกี่ยวกับวิธีการสอน ใช้ครูคนเดียวกันในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล การลดค่าความแปรปรวนที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนต่าง ๆ นั้นทำได้โดยปรับปรุงคุณภาพของเครื่องมือให้มีความตรง (Validity) และความเที่ยง (Reliability) ให้สูง และพยายามเพิ่มความแม่นยำในการบันทึกรวบรวมข้อมูล
            3. ควบคุมความแปรปรวนของตัวแปรตามอันเป็นผลเนื่องมาจากตัวแปรเกินให้มีค่า ต่ำสุด (Control extraneous Systematic Variance) ซึ่งทำได้โดยพยายามควบคุมหรือกำจัด ตัวแปรเกินต่าง ๆ ออกไปจากงานวิจัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551) ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ในห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์
ความคิดเห็นของเพื่อนในห้องเรียนที่ช่วยกันอภิปราย
ภาพอ้างอิงมาจาก http://learners.in.th/file/preaw2910/nudnun2u110847907_diary_R8-3.jpg

หมายเลขบันทึก: 395951เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาเรียนรู้ เพิ่มเติมความรู้

สรุปอ่านง่าย..น่าสนใจ

นำความรู้แบบนี้เข้ามาเรื่อย ๆ นะ

เป็นกำลังใจให้นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท