งาน การหางาน การสร้างงาน การทำงาน ผลงาน และผลของงาน (ตอนที่ ๓)


มีคนส่วนน้อย ที่หนีวงจรมายาพื้นฐานของชีวิต ไปสู่การ “ทำงาน” ที่ไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ และการหาเงิน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เริ่มตกผลึกทางความคิดของชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์โดยเฉพาะเรื่อง “การทำงาน” ที่ผมได้คิดไต่ตรองมาหลายปี

สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการแยกแยะ การทำงาน ออกจากการหาเงิน และออกจากการเลี้ยงชีพ

ที่ผมรู้สึกว่า คนจำนวนมากสับสน จนไม่ทราบว่าที่ผ่านมา หรือขณะนี้ตัวเองกำลังทำอะไรกันแน่

ทำให้

  • กระบวนการดำรงชีวิต
  • การพัฒนาคุณภาพชีวิต และ
  • การสร้างคุณค่าให้กับชีวิต

ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ถึงกับผิดพลาดก็มีอยู่มากมาย

เกิดและอยู่มาจนแก่ จนเฒ่า จนตายไปกับ

  • การหาเลี้ยงชีพ
    • ที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง กระท่อนกระแท่นตามดวง ตามจังหวะ
  • การหาเงิน
    • ที่คนจำนวนมากในสังคมไทย ทำทุกอย่างในระดับที่ว่า "วิ่งหาเงินกันตลอดชีวิต" 
    • หาในบ้านไม่ได้ ก็ไปในเมือง ในเมืองไทยไม่ได้ ก็ไปต่างประเทศ ขายได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งขายตัว (ถ้ามีคนซื้อ)
    • แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ผลของการหาเงินตลอดชีวิตจนถึงวันตาย คนส่วนใหญ่ที่วิ่งหาเงินแบบนั้น ก็ยังไม่มีเงิน 
    • มักจบลงที่มีเงินน้อยลงกว่าตอนที่เกิดมาลืมตาดูโลก
    • โดยการเป็นหนี้แบบท่วมหัว มากกว่าเดิม ในระดับที่มองไม่เห็นทางล้างหนี้ก่อนตาย
  • มีคนส่วนน้อย ที่สามารถพัฒนาตัวเอง
    • หนีวงจรมายาขั้นพื้นฐานของชีวิต
    • ไปสู่ "การทำงาน” "การสร้างผลงานที่ดี มีประโยชน์ต่อทุกชีวิต
    • ที่ผันผ่านไปบนพื้นฐานขั้นต้นของ "การเลี้ยงชีพ และการหาเงิน"แบบ "กินอยู่แต่พอดี"ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    • ไปสู่เป้าหมายของชีวิต ที่มีคุณค่ามากกว่า
  • แต่ ปัจจุบัน (ผมยังรู้สึกว่า) คนส่วนใหญ่ก็ยังมีพัวพัน "นัวเนีย" ไม่รู้อะไรเป็นอะไร
  • หรือ ที่สำเร็จมา ก็อาจได้แบบ “บังเอิญ” โดยไม่มีการคาดคิด หรือวางแผนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันมาก่อน

ที่เป็นที่มาของความผิดพลาดในการดำเนิน และดำรงชีวิต

นับได้ว่า กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายไปเสียแล้ว

ต้องมาใช้คำว่า “ถ้ารู้อย่างนี้....” ให้เสียความรู้สึกกันบ่อยๆ

เพราะการวางเป้าหมายที่ผิดพลาดแล้ว จะเปลี่ยนหรือต่อยอดในบั้นปลายนั้น เป็นเรื่องที่ทำแทบไม่ได้ หรือทำได้ยากจริงๆ

ดังนั้น

ผมจึงคิดว่า น่าจะรวบรวมความคิดที่พอจะตกผลึกมาให้เห็นแนวทางสำหรับคนที่คิดจะทำงาน หางาน สร้างงาน และคิดที่สร้างผลงานฝากไว้กับสังคม ก่อนที่จะจากไป”

ที่ผมได้ทบทวนความจำเป็น และเขียนบันทึกนี้ เป็นลำดับที่ ๓ เพื่อตอบสนองระดับความคิดของคนระดับต่างๆในสังคม (สำหรับตอนที่ ๑ และ ตอนที่ ๒ นั้น เป็นการสะกิดให้คนคิดในระดับขั้นต้นและระดับกลาง ตามลำดับครับ)

แต่ ในส่วนตัวผมเอง ผมใช้หลักที่ตกผลึก และคิดแค่ว่า ปรัชญาและเป้าหมายของ "การทำงาน" ของผม

ก็เพียงเพื่อ “ขอให้ผมได้มีโอกาส"

  • ตอบแทนบุญคุณของโลก ทรัพยากร และสังคม ที่ให้กำเนิด และเป็นที่อยู่อาศัยของผม และ
  • ได้ใช้หนี้ และดอกเบี้ย (ถ้ามี) จากการใช้และการยืมทรัพยากรต่างๆของโลกและจักรวาล มาใช้ในชีวิต” มาอย่างดี ตลอดชีวิต
  • "ทำงาน" เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตตัวเอง
  • และสัญญาว่า ผมจะคืนทุกสิ่งที่ผมยืมมาให้หมดทุกอย่าง อย่างแน่นอน ในวันสิ้นลม

อย่างอื่นๆ ที่อาจได้มาในระยะที่มีชีวิตและ "ทำงาน" ในโลกนี้ ถือว่าเป็นผลพลอยได้ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

 

ณ วันนี้ ผมมาได้ข้อสรุปสำคัญว่า

งาน คือ สิ่งที่เมื่อทำแล้วเกิดผลอย่างยั่งยืน ตามหลักกลศาสตร์ว่า เท่ากับ แรง (ที่ออก) คูณด้วย ระยะทาง(สุดท้ายและยั่งยืน)

  • การไม่ออกแรงเลย ถือว่ายังไม่ได้ทำงาน แม้จะเกิดผลใดๆ ก็ “ไม่ใช่ผลงานของเรา”
  • ถ้าออกแรงมาก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเคลื่อนที่ใดๆ ย่อมเท่ากับ “ไม่ได้งาน”
  • ถ้ามีคนมาช่วยจนงานสำเร็จ ได้ผลที่เป็นรูปธรรม แสดงว่าเป็นผลงานร่วมกัน ไม่ควรอ้างว่าเป็นงาน “ของเราแต่เพียงผู้เดียว” แบบที่มักบันทึกไว้ในชีวะประวัติ ประวัติศาสตร์ และพงศาวดาร (ที่ไม่น่าจะจริง)
  • ถ้าเป็น "งาน" ที่ต้องออกแรงมาก และเกิดผลการเปลี่ยนแปลงมาก ถือว่า “ได้งานมาก”
  • แต่ถ้างานที่ไม่ต้องใช้แรงมาก เพียงใช้ความรู้ที่มีกับแรงเล็กน้อย ก็ได้ผลแล้ว ผมถือว่า "ได้งานมาก"
  • ในทางตรงกันข้าม การออกแต่แรงแบบไม่ใช้ความรู้ หรือใช้ความรู้น้อย ที่มัก "ไม่ค่อยได้งาน" ผมถือว่า เป็นการทำงานของคนที่ความรู้ไม่พอใช้ ควรได้รับการพัฒนา

การสร้างงาน คือการทำให้เกิดผลต่างๆที่จะทำให้เกิดการทำงาน

  • ที่มีความหมายทั้งทางบวก และทางลบต่อสังคม
  • เช่น การสร้างชุมชน สร้างหมู่บ้าน ฯลฯ ก็เป็นการสร้างงานในเชิงบวก
  • แต่การก่อการร้าย การแพร่เชื้อโรคร้ายแรง วางเพลิงเผาเมือง การไม่เคารพกฎจราจร การทิ้งขยะไม่เป็นที่ การไม่รู้จักรักษาสุขภาพ การบริโภคสารพิษ สารเสพติด ฯลฯ ก็เป็นการสร้างงานในเชิงลบ
  • เพราะ จะทำให้เกิดความต้องการของสังคมใน “การทำงาน”
  • แต่ในสังคมของเราเวลามอง คำว่าสร้างงาน มักเข้าใจว่าเป็นทางบวกอย่างเดียว ที่ไม่น่าจะจริง

การทำงาน คือการดำเนินตามขั้นตอน

  • ด้วยความรู้
  • ความสามารถ และ
  • ทรัพยากรของตนเอง จน สามารถทำให้เกิดผลตามทิศทางที่กำหนดไว้
  • ไม่ใช่แค่คิด หรือชี้นิ้วสั่งให้คนอื่นคิดหรือทำแทนตัวเอง
  • หรือ นั่งฝันเอา
  • หรือ คอยดูว่าใครทำได้ดี ก็ไปขโมยหรือลอกงานเขามาอ้างเป็นของตนเอง

ผลงาน คือ ผลที่เกิดขึ้นตามทิศทางที่กำหนดไว้ในแผนการทำงาน

  • ไม่ใช่ผลโดยบังเอิญ หรือ
  • ผลที่ไม่เป็นไปตามทิศทางและเป้าหมาย แม้จะเกิดผลใดๆ ก็ถือว่า “ยังไม่ได้งาน”
  • จนกว่าจะมีการกำหนดเป้าหมายใหม่ จึงจะสามารถอ้างอิง “ผลงาน” ย้อนหลังได้
  • การทำงานสามารถเกิดผลที่มีประโยชน์ หรือมีโทษก็ได้ จึงต้องระวังให้ดี เพราะ การทำงานที่มีโทษต่อใครก็ตาม ระดับสังคมทั่วไป ยังถือว่า “ไม่ได้งาน” ไม่ว่าจะเป็นผลต่อตนเอง ครอบครัว และคนใกล้ชิด หรือต่อชุมชน สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม

ผลการทำงาน ที่นับถือกันทั่วไปนั้น

ต้อง “ยั่งยืน”

ไม่เป็นแบบ “การก่อเจดีย์ทรายบนชายหาด

ที่ไม่นานน้ำทะเลก็จะพัดพังหายไป ไม่เหลือร่องรอยอะไร

ดังนั้น ผลงานที่ได้ จึงอาจแบ่งได้เป็น

  • ผลงานระยะสั้น มีผลจริงๆเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี
  • หรือ อาจเป็นผลงานระยะกลาง แค่ชั่วชีวิตของผู้ทำ
  • หรือระยะยาว ไปถึงภพหน้า

ผลกระทบ ของการทำงาน ก็มีทั้งในระดับ

  • วงแคบ
  • วงกว้าง
  • ไม่จำกัดวง
  • ไร้ขอบเขต

ที่ผู้ทำสามารถกำหนดเป้าหมายและดำเนินการให้เป็นไปตามนั้นได้ ตั้งแต่เริ่มขั้นตอนแรกของการทำงาน

ถ้ารู้ ตระหนัก และเข้าใจหลักการ ขั้นตอน และการดำเนินงาน จนกระทั่งคอยประเมินผลเป็นระยะๆ ก็สามารถทำให้การทำงานบรรลุผลได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ทรัพยากรและเวลาที่มีของชีวิต

ที่จะทำให้เรา

  • ก้าวผ่านและพ้นระดับการเลี้ยงชีพของตัวเอง และครอบครัว รวมทั้งอนุเคราะห์ญาติพี่น้องอย่างราบรื่น และ
  • ที่ไม่สับสนกับการหาเงินที่อาจต้องใช้ในการเลี้ยงชีพ แบบไม่ต้องเอาเป็นเอาตาย (ที่บางคนยอมสละได้ทุกอย่าง แม้ชีวิตและศักดิ์รี เพียงขอให้ได้เงิน)
  • ไปสู่ "การทำงานที่มีประโยชน์มากกว่าโทษ" และมีความหมายต่อชีวิตของเราทั้งภพนี้และภพหน้าครับ

ขอให้มีความสำเร็จในชีวิตทุกท่านครับ

หมายเลขบันทึก: 395717เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณมากครับกับประสบการณ์ดีๆ

ขอแชร์ความคิดนะครับ กับคนที่มีประสบการณ์อันน้อยนิดอย่างผม

เมื่อวางเป้าหมายที่ดีแล้วก็ต้องทำงานด้วยจิตว่าง ตามที่ท่านพุทธทาสสอนไว้ครับ

ผมว่าทำงานในทางโลก(หาเลี้ยงชีพ)ก็ควรจะได้ในทางธรรม(ปฏิบัติทางจิต)ด้วย หมายถึงการหาเลี้ยงชีพใดๆก็ควรหวังผลในทางธรรมด้วย (มรรค8) "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" (ท่านพุทธทาส)

ส่วนผลงานก็ควรยกให้กับความว่างดีกว่าครับ สบายใจ เพราะที่สุดแล้วอะไรๆก็ว่างไปหมด แม้แต่ตัวเรา

ที่ว่ามาเป็นธรรมขั้นสูง มีน้อยคนที่จะสามารถเข้าถึงได้

ปุถุชนทั้วไปยังมีกิเลสหนาแตกต่างกัน ผมคิดว่าคงต้องมีระดับแตกต่างในทางปฏิบัติครับ แม้ว่างก็คงต้องมีระดับแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

การแยกแยะเป้าหมาย น่าจะทำให้การดำเนินชีวิตชัดเจนและน่าจะผิดพลาดน้อยลงครับ

ทั้งงาน และการทำงาน และความหวังในผลงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท