มังคุดท่ามะพลากินได้ทุกลูก


มังคุดท่ามะพลากินได้ทุกลูก

มังคุดท่ามะพลากินได้ทุกลูก 

              อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้ชื่อว่าเป็นเมืองผลไม้โดยเฉพาะมังคุดอายุเป็นร้อยปี ผลผลิตมังคุดจำหน่ายผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปีละหลายพันตัน บางปีเป็นหลายหมื่นตัน ผู้คนทั่วไปรู้จักดี วันนี้ขอแนะนำวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดท่ามะพลา ผู้กล้าประกาศ มังคุดท่ามะพลากินได้ทุกลูกเขาทำกันอย่างไร

              ผมมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชม ร่วมประชุม ร่วมเสวนา กับกลุ่มนี้หลายครั้งส่วนหนึ่งก็สนใจว่าทำไมเขาทำได้ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 หลังจากไปเก็บภาพร่องรอยการผลิตมังคุดรอบ 2 ช่วงนี้เป็นช่วงดูแลดอกและผลอ่อนซึ่งต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องฉีดพ่นสารเคมีกำจัดหนอน เพลี้ยไฟ ไรแดง และปุ๋ยทางใบ ช่วงพัก มานั่งคุยกันที่บ้านกำนันเชาวลิต พุ่มขจร ผู้ร่วมวงนอกจากเจ้าของบ้าน ก็มีพี่อุไรวรรณ รื่นฤทัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบตำบลท่ามะพลา คุณสมพงษ์ จินาบุญ ประธานกลุ่ม คุณสิทธิพงษ์ อรุณรักษ์ รองประธาน จากการพูดคุยกันทำให้ทราบว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดท่ามะพลา เดิมเป็น กลุ่มมังคุดคุณภาพหมู่ 7 ท่ามะพลา โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตตามมาตรฐาน GAP ตั้งแต่ปี 2547 และสมาชิกทุกคนได้รับการรับรองแหล่งตามมาตรฐาน GAP  (Q) ทุกแปลง แต่ผลที่ได้รับสมาชิกก็ยังขายผลผลิตได้ราคาเท่ากับเกษตรกรทั่วไป คุณสมพงษ์ เล่าว่า เราต้องขายมังคุดให้ได้ราคา โดยทำมังคุดเกรดส่งออก ผิวมันหูเขียว การผลิตต้นทุนค่อนข้างสูงถ้ามีข้อผิดพลาดขาดทุน เนื่องจากต้องหมั่นดูแลและป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดงและสารเคมีที่ใช้ต้องปลอดภัยกับผู้บริโภค ซึ่งมีราคาแพง ทำไปได้ 1 ฤดูกาลสมาชิกลดลงเหตุผลเนื่องจากค่อนข้างจะเป็นเกษตรประณีต ประกอบกับพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบในการคัดเกรด ผลผลิตราคาสูง เบอร์ 1 สัดส่วนน้อย เบอร์ 2 มากและสืบทราบมาว่าพ่อค้าซื้อแล้วไปคัดที่ล้งจากเบอร์ 2 ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ “ต้องทำให้ได้” จากคำพูดของรองประธาน คุณสิทธิพงษ์ โดยที่ตัวเองเข้าไปศึกษาการคัดเกรดมังคุดเกรดส่งออก คัดออกมาเป็น 6 เกรด และเป็นมาตรฐานของกลุ่มจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

มังคุดเบอร์1          :               มังคุดผิวมันหูเขียวขนาดน้ำหนัก 80 กรัมขึ้นไป

มังคุดเบอร์2          :               มังคุดผิวมัน

มังคุดเบอร์3          :               มังคุดผิวมันหูเขียวขนาดน้ำหนัก 56-79 กรัม

มังคุดเบอร์4          :               มังคุดผิวมันลาย 100% ขนาดน้ำหนัก 56 กรัมขึ้นไป

มังคุดเบอร์ดอก    :               มังคุดขนาดน้ำหนัก 55 กรัมลงมา

มังคุดเบอร์ดำ        :               มังคุดที่มีสีคล้ำถึงดำ

               คุณสิทธิพงษ์ เล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรก คณะกรรมการกลุ่ม 3 คนช่วยกันคัดมังคุดจากสมาชิกจำนวน 10 ตัน ตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึง 2 โมงเช้าอีกวันหนึ่ง 3 วันติดต่อกันคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ถ้าจะไม่ไหวเลยให้สมาชิกช่วยกันคัด แล้วให้หัวหน้าชุด 1 คนคุมสมาชิก 5 คน ปัจจุบันสมาชิกทุกคนสามารถคัดเกรดมังคุดออกเป็น 6 เบอร์ได้ทุกคนมาตรฐานใกล้เคียงกันทำให้ไม่มีปัญหาการคัดเกรดในช่วงการประมูล การประมูลของที่นี่ประมูลทุกเบอร์ เริ่มประมูลเวลา 5 โมงเย็น ผมถามประเด็นในการดูแลรักษาในการผลิตว่ามีการจัดการกันอย่างไรนอกจากการประชุมกันบ่อยครั้งแล้ว กลุ่มยังมีผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะคุณสิทธิพงษ์ คุณสมพงษ์ และท่านกำนันเชาวลิต เล่าให้ฟังว่านอกจากนักวิชาการเข้ามาแนะนำแล้วก็ไปดูงานในสถานที่ต่างๆที่ผลิตมังคุดคุณภาพเช่น นครศรีธรรมราช แล้วนำมาพัฒนา มีประเด็นหนึ่งที่ผมประทับใจ ท่านบอกว่าสมาชิกไม่เข้าใจว่าเพลี้ยไฟ ไรแดงมันอยู่อย่างไร ลักษณะ เพราะไม่เคยเห็น พ่นสารเคมีแบบคาดเดาเอา คุณสิทธิพงษ์ บอกว่าหลังจาการประชุม พาสมาชิกไปที่ต้นมังคุด โดยพกกระดาษขาว และแว่นขยายไปด้วย แล้วไปเคาะที่ลูกมังคุด ใช้แว่นขยายส่งดูแล้วบอกว่า “ตัวที่คลานคือเพลี้ยไฟตัวที่กระโดดคือไรแดง” ผมแอบภูมิใจว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของรุ่นพี่ได้มาแนะนำไว้ โดยเฉพาะพี่ล็ก อุไรวรรณ รื่นฤทัย อีกประเด็นหนึ่งถ้าพบว่าเป็นช่วงภาวะเสี่ยงจะพ่นสารเคมีพร้อมกัน เพราะมิฉะนั้น สวนที่ไม่ได้ฉีดจะเสียหายหนัก ศัตรูพืชสองชนิดนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำมังคุดผิวมัน ผมทราบข่าวก็เลยเข้ามาเก็บภาพร่องรอยไว้ในช่วงรุ่นแรกมาเก็บภาพไม่ทัน และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2553 มีการประชุมกลุ่มฯและรับสมาชิกเพิ่ม มีผู้มาสมัครเพิ่ม 36 ราย คาดว่าผลผลิตชุดนี้จะเก็บเกี่ยวได้ปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2553 ผลผลิตภายในกลุ่มประมาณ 200 ตัน และรับประกันว่า “มังคุดท่ามะพลากินได้ทุกลูก”

ร่องรอยของความมุ่งมั่น 

                 ปี 2553 ผลผลิตน้อยเปิดประมูลวันเว้นวัน ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2553-17 สิงหาคม 2533 ได้ราคาสูงสุดเบอร์ 1 กิโลกรัมละ 51 บาทเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2553 จำนวน 1238 กิโลกรัม จากผลผลิตที่นำเข้าประมูล 1645 กิโลกรัมและต่ำสุดเบอร์ 1 กิโลกรัมละ 19 บาทเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 จำนวน 855 กิโลกรัม จากผลผลิตที่นำเข้าประมูล 6132 กิโลกรัม ผลผลิตที่ประมูลของกลุ่มทั้งหมด 115477 กิโลกรัม แยกเป็น เบอร์ 1 จำนวน 30341 กิโลกรัม เบอร์ 2 จำนวน 8503 กิโลกรัม เบอร์ 3 จำนวน 14035 กิโลกรัม เบอร์ 4 จำนวน 13550 กิโลกรัม เบอร์ ดอก จำนวน 39666 กิโลกรัม เบอร์ ดำ จำนวน 9382 กิโลกรัม โดยมีผู้มาประมูลสูงสุด 13 รายใน 1 วัน คุณสิทธิพงษ์ เสริมว่า “สมาชิกกลุ่มฯไม่ทราบเลยว่าราคาข้างนอกเขาซื้อขายกันอย่างไร”เพราะนำผลผลิตมาประมูลที่กลุ่มฯทั้งหมด

การได้รับการสนับสนุน 

-          จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด สร้างอาคารศูนย์รวบรวมผลผลิต

-          จากงบพัฒนาจังหวัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัด สนับสนุนตะกร้าพลาสติกหูเหล็ก

                       

ช่วงใบอ่อนและผลอ่อนเป็นช่วงสำคัญต้องมีการพ่นสารเคมีกำจัดหนอน เพลี้ยไฟ ไรแดง

                       

                 การคัดคุณภาพผลผลิตจากสวนของสมาชิกโดยสมาชิก

                       

                              นำผลผลิตมาที่กลุ่มเพื่อรอการประมูล

                       

                                              เปิดประมูล รอลุ้น

                         

                                              การประชุมกลุ่ม

                         

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของร่องรอยการค้นหาความจริง กระบวนกลุ่มได้สร้างแนวคิด ทางออก จากการแลกเปลี่ยนประการณ์ ด้วยจิตอาสาและความมุ่งมั่น ความสามัคคีคือทางรอด “มังคุดท่ามะพลากินได้ทุกลูก” ไม่ใช่คำพูดลอยๆ

 

ประสงค์ บุญเจริญ

หมายเลขบันทึก: 394276เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นายวิโรจน์ แสงบางกา

1. พี่ขอแสดงความชื่นชมในจิตวิญญาณ และการกระทำของน้องประสงค์ ที่ทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่กำหนดยุทธศาสตร์ (พี่เคยอ่านยุทธศาสตร์มังคุดของน้อง) การแปลงยุทธศาสตร์ลงสู่การปฏิบัติ การติดตาม การถอดองค์ความรู้ รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการเผยแพร่ในลักษณะเล่าความข้างบนนี้ ดีมาก ทำให้มองเห็นภาพที่ทำมาทั้งกระบวนการ ซึ่งผู้อ่านสามารถวิเคราะห์ศักยภาพและปัญหา และเสนอแนะแนวทางการการแก้ปัญหา และวางแผนพัฒนาต่อยอดได้ง่าย

2. ขอชื่นชมน้องเล็กอุไรวรรณ ที่สร้างงาน/สานฝันด้วยความขยันมาถึงวันนี้

3. ขอชื่นชมคณะกรรมการกลุ่มที่ช่วยกันพัฒนามาอย่างเป็นขั้นตอน และหวังว่าจะเป็นแม่ข่ายในการพัฒนามังคุด ให้ทุกทิศ ทั่วไทย เมื่อคิดถึงมังคุดทีไร ต้องคิดถึงมังคุดท่ามะพลา หรือมังคุดหลังสวนก่อน (มังคุดท่ามะพลากินได้ทุกลูก , มังคุดท่ามะพลา มังคุดเต็มกิโล)

พี่เชื่อมั่นว่า การพัฒนา เดินมาถูกทางทั้งการพัฒนากลุ่มและการพัฒนากิจกรรม (ธุรกิจ) โดยเฉพาะการผลิต การคัดเกรด และการควบคุมคุณภาพ

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การรับสมาชิกใหม่ จะต้องให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของกลุ่มและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นด้วย และควรจะมีระยะทดลองหรือทดสอบสมาชิกใหม่ก่อนที่จะรับเข้าเป็นสมาชิกสามัญ

มีอะไรที่คิดว่าพี่พอที่จะช่วยได้ โปรดอย่างเกรงใจ โทร.081-319-4435 ได้ตลอดเวลา (รวมทั้งทุกท่านที่อ่านกระดานข่าวนี้)

วิโรจน์ แสงบางกา

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร

  • สวัสดีครับพี่ประสงค์
  • ไม่ได้เจอกันนาน
  • สบายดีนะครับ

มังคุดที่นี้มีพ่อค้ามาชื้อเพื่อทำการส่งออกใหมค่ะ? ถ้าจะติดต่อชื้อส่งออกควรทำอย่างไรและติดต่อใคร? ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท