บนเส้นทางระหว่างการใช้สติปัญญา-ใช้อารมณ์ และ การทำบุญร่วมกัน-การจองเวรอาฆาตพยาบาท


ผมยังสงสัยว่าเหตุผลที่ไม่ผูกพันกับอารมณ์นั้นมีหรือไม่ เพราะเวลาใครอธิบายเหตุผล มักจะผูกพันกับระดับของอารมณ์ในขณะนั้นเป็นส่วนใหญ่

ในระยะสองสามวันนี้มีการพูดคุยกันมากเรื่องการใช้อารมณ์ กับการใช้สติ และการใช้ความรักกับการแสดงความเกลียดชัง จองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน

ทำให้ผมได้มีโอกาสมานั่งพิจารณาอารมณ์ของตัวเอง ว่ามีความเหมือนหรือต่างกับที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กันมากน้อยเพียงใด

และขั้นตอนของการพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นและแย่ลงนั้นเป็นอย่างไร

โดยสังเกตตัวเองว่า

  • จิตของตัวเองอยู่ห่างจากทางสายกลาง และความเป็น "ธรรมดา" มากน้อยเพียงใด
  • กำลังดีขึ้นหรือแย่ลง

เพื่อที่เราจะได้มีแนวทางในการทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น

จากผลการวิเคราะห์ตัวเอง ผมพบว่า ในอดีตที่ผ่านมา ผมเคยผ่านเส้นทาง ๒ เส้นทางมาพอสมควร คือ

  • การใช้ปัญญา-ใช้อารมณ์ และ
  • การพัฒนาการพึ่งพา (สูงสุดที่ทำบุญร่วมกัน)-การจองเวร

ที่ผมพบว่าระหว่างของขั้วนี้ มีระดับการพัฒนาเป็นขั้นๆ ดังนี้

  • ใช้ปัญญา ในประเภทและระดับต่างๆ
  • มีสมาธิ ความนิ่งในการใช้ชีวิตทุกด้าน
  • มีสติ ที่มีระดับตั้งแต่
    • รู้ตัว
    • รู้ทัน
    • รู้เท่า
    • รู้ก่อน
    • รู้ล่วงหน้า ที่ถือเป็นจุดร่วมที่ดีมากในการพัฒนาชีวิต
  •  การขาดสติ ที่มีระดับตั้งแต่
    • นึกไม่ออก
    • คิดไม่ทัน คิดไม่รอบคอบ หรือรอบด้าน
    • รู้ไม่ทัน รู้ไม่จริง
    • คิดว่าตัวเองรู้แล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ตรวจสอบความจริง ทั้งทางโลกและทางธรรม
    • เชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 
    • ไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นจริง หรือเข้าใจเพียงบางส่วน
    • เข้าใจผิด
    • หลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ
    • นับถือสิ่งหรือบุคคลที่ไม่ควรนับถือ
    • ใช้ความรู้ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ความรู้ผิดชุด ล้าสมัย
    • สับสน
    • หลง
    • มิจฉาทิษฐิ
  • ที่นำไปสู่การใช้อารมณ์ ที่ประกอบด้วย อารมณ์แบบทำลายและรุนแรง ไปจนถึงอารมณ์สุนทรียะและสร้างสรรค์ อันได้แก่

    • พยาบาท
    • จองเวร
    • โกรธ
    • เกลียด
    • ลำเอียง เห็นแก่ตัวและพรรคพวก
    • ไม่ชอบ
    • อึดอัด
    • กังวล
    • ตะขิดตะขวง
    • ธรรมดา ไม่มีอารมณ์ (ทั้งบวกและลบ) ที่น่าจะเป็นจุดร่วมที่ดี และทำให้จิตใจสงบ ใช้ "สติและปัญญา" ได้อย่างเต็มศักยภาพ
    • สบายใจ
    • เห็นด้วย
    • พอใจ
    • ชอบ
    • รัก
    • ผูกพัน
    • พึ่งพา
    • ทำบุญร่วมกัน

 

  • แล้วเราก็ใช้อารมณ์ระดับต่างๆ เหล่านี้มาชี้นำ
  • พร้อมคิดค้นหาเหตุผลต่างๆนานา มาอธิบายประกอบตามอารมณ์ของตนเอง
  • เหตุผลต่างๆ จึงมักมีที่มา และขึ้นอยู่กับระดับของอารมณ์กับระดับสติปัญญาของคนคนนั้น

ในขั้นนี้ ผมยังสงสัยว่า

เหตุผลที่ไม่ผูกพันกับอารมณ์นั้นมีหรือไม่

เพราะเวลาจะอธิบายเหตุผล มักจะผูกพันกับระดับของอารมณ์ (บวก หรือ ลบ )ในขณะนั้นเป็นส่วนใหญ่

ถ้าแบบเป็นความรู้สึกที่ไม่บวกไม่ลบ มักจะนิ่ง ไม่คิด ไม่อธิบายเหตุผลใดๆ เพราะ ก็ "เฉยๆ" อยู่แล้ว

แต่ก็อาจมีการอธิบายเหตุผลแบบไม่ใช้อารมณ์ แบบ "อธิบายข้อดี ข้อเสีย" ที่ส่วนใหญ่จะไม่มีการชี้นำการตัดสินใจ

แต่การตัดสินใจก็มักจะหันกลับไปใช้อารมณ์ "ชอบ ไม่ชอบ" อีกเช่นเดิม

ผมยังไม่เคยพบว่ามีการตัดสินใจโดยไม่ใช้ "ความชอบ ไม่ชอบ" มาปะปน

ในที่สุดก็เป็นการตัดสินโดยใช้อารมณ์เช่นเดิม เพียงแต่ใช้สติปัญญามากขึ้น เท่านั้น

นับได้ว่า

ผมยังไม่เคยทำได้ หรือได้ยินใครพูดถึงเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจโดยไม่มีระดับของอารมณ์ชอบไม่ชอบมาเกี่ยวข้อง

(อาจจะมีในระดับอริยะสงฆ์ ที่ผมไม่มีประสบการณ์ตรงเลย)

ตราบถึงวันนี้ พอคิดไปคิดมา ผมพบว่าผมยังไม่เข้าใจว่า

 “ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ หรืออารมณ์มากกว่าเหตุผล” แปลว่าอะไร

เพราะเหตุผลทั้งปวงก็เกิดมาจากความรู้และประสบการณ์ ที่มี และ "สติ" ในการใช้ความรู้ ความเข้าใจที่มีในขณะนั้น

แล้วนำไปสู่การตัดสินโดยระดับของอารมณ์ ตามเหตุผลที่ "สติ" คิดได้ทัน

จึงอยู่ที่ระดับของการมีสติ และการใช้ปัญญา และอารมณ์ อย่างต่อเนื่องกัน เชื่อมโยงกัน

ดังนั้น ถ้าจะพูดว่า "ใช้สติมากกว่าใช้อารมณ์" แม้จะไม่ถูกต้องทีเดียว ก็ใกล้เคียงกว่า

(แต่ต้องรู้ว่าสติคืออะไร ประกอบด้วยอะไร ใช้ให้ครบทุกส่วนของ "สติ" ที่มี ที่ยังไม่มีก็อย่าผลีผลามใช้ เพราะจะย้อนเกล็ด แสดงว่า "ขาดสติ" )

แต่ มักพบเสมอว่า ในระดับปุถุชนนั้น ก็ต้องใช้คู่กันอยู่ดี

ถ้าไม่มีอารมณ์ก็ไม่ค่อยคิดหาเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุผลใดๆก็ไม่มีอารมณ์อยู่แล้ว

 ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า

ใช้สติ หรือปัญญา (ถ้ามี) มากกว่าอารมณ์ อันนี้น่าจะพอเข้าใจได้ไม่ยากครับ

และคนที่ใช้อารมณ์จนเกิดผลลัพธ์รุนแรงมาก ทั้งทำลายและสร้างสรรค์

ก็มักเริ่มจากขาดปัญญาหรือการขาดสติ หรือทั้งสองอย่างพร้อมๆกัน

คนที่มีสติ และปัญญา ก็จะไม่ตัดสินใช้อารมณ์รุนแรงหยาบๆอยู่แล้วครับ

แต่ก็ยังคงใช้อารมณ์ละเอียด (ใกล้สายกลาง) ที่ยังประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่

มีแต่คนขาดสติเท่านั้นที่ใช้อารมณ์แบบหยาบๆ

อย่างที่เล่าขานกันมาในข่าวต่างๆ

 

นอกจากนี้

บางคนซ้ำร้าย แสดงอาการสาหัสว่าตัวเองกำลังขาดสติ ดังอาการต่างๆที่แจงมาข้างต้น

แต่

บังเอิญโชคดีเคยได้ยินและท่องจำคำศัพท์ทางธรรมะได้คำหนึ่งว่า “สติ” ก็ดีใจ และมั่นใจมาก ระดับที่กล้าไปเที่ยวบอกใครต่อใครว่าให้มี "สติ"

ทั้งที่ควรจะพยายามทำความเข้าใจความหมายของคำว่า "สติ" ให้ชัดเจน

และนำไปพัฒนาตัวเองให้มี "สติ" พอสมควรเสียก่อน

แล้วจึงค่อยบอกคนอื่นต่ออย่างมี "สติ"

และสามารถแนะนำต่อๆไปได้ว่า การมี "สติ"

  • คืออย่างไร
  • ทำได้อย่างไร
  • พัฒนาอย่างไร
  • ประเมินได้อย่างไร

โดยไม่เพียงแต่ท่องได้แบบนกแก้วนกขุนทอง

ประเภทฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียดนี้ก็ยังมีพอสมควรครับ

  • ประเภท มีแต่ความหวังดี
  • แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์กับใคร แม้กระทั่งตัวเอง

น่าสงสารจริงๆ และคงช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะคนประเภทนี้อัตตาสูง ก็ได้แต่แผ่เมตตาให้ได้เท่านั้นแหละครับ

หมายเลขบันทึก: 394038เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับอาจารย์

แหะ แหะ มารับเมตตาที่อาจารย์แผ่ออกมาครับ

ท่านไม่แสดงอาการขาดสติเลยครับ

แต่ผมก็แผ่เมตตาให้กับทุกคนครับ เน้นๆ ก็กับคนที่น่าสงสารครับ

อิอิ

สวัสดีครับอาจารย์

 ..“ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ หรืออารมณ์มากกว่าเหตุผล” ..

  • ผมว่าบางที "อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล"
  • บางช่วงเวลา การพยายามอธิบายด้วยเหตุ-ผล กลับไม่เป็นประโยชน์ เช่น นิทานชาดก..มหาเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์มัทรี ตอนที่ว่า เมื่อพระนางมัทรีกลับถึงอาศรมไม่พบพระกุมารออกมาต้อนรับเช่นเคย แม้ทูลถามพระเวสสันดรพระองค์ก็ไม่คุยด้วย พระนางก็หวาดหวั่นพระทัยและร้องให้คร่ำครวญ
  • พระเวสสันดรทรงเห็นพระนางเศร้าโศกเป็นอันมากจึงหาวิธีตัดความทุกข์โศก โดยแกล้งกล่าวหา ดุด่าว่าพระนางคิดนอกใจหาชายอื่น จึงได้กลับอาศรมค่ำมืดดึกดื่น พระนางทรงคร่ำครวญจนสิ้นสติไป (ไม่รูว่าด้วยความโกรธพระเวสสันดรหรือว่าทรงเป็นห่วงพระกุมาร..^^)
  • กระทั่งพระนางมัทรีได้ฟื้นคืนสติ พระเวสสันดรจึงตรัสเล่าความจริงว่าได้ยกพระกุมารให้แก่ชูชกไปแล้ว พระนางฯจึงได้หายโศกเศร้า
  • ...
  • ผมว่าการใช้อารมณ์ตัดอารมณ์ หรือ "อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล" ในบางกาลก็มีประโยชน์ (ดังตัวอย่างที่ยกมาอ้าง)
  • ปรับอารมณ์ให้อยู่ในสภาวะปกติ แล้วค่อยใช้เหตุผลอธิบาย จึงจะสามารถเจริญสติให้เกิดปัญญารู้แจ้งได้

อารมณ์>เหตุผล
เหมือนตั้งประเด็นการโต้วาทีเลยครับ...

อิอิ

 

บทวิพากษ์น่าสนใจครับ

ผมว่าทุกอย่างมีประโยชน์ ถ้าใช้อย่างรู้ทัน

ก็กลับมาเรื่องสติอีกแล้วครับ

ผมคิดว่าหลายๆอย่างวนอยู่ตรงนี้ครับ

ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาสติ หรือเจริญสติ ที่ต้องทำสม่ำเสมอ ที่ไม่ใช่นั่งท่องคำว่า "สติ" แน่นอน

นี่คือจุดแกนของเรื่องนี้ครับ

  • ครั้งหนึ่งเคยฟังธรรมบรรยายของ อ.โกวิทย์ (ท่านเขมานันทะ) ท่านบอกว่าท่านเป็นคน "ติดคิด" รับรู้อะไรมาก็เอามาคิด มาตีความ เปรียบเทียบ ใส่ความหมาย ตัดสินถูก-ผิด ให้คุณค่ามากกว่า-น้อยกว่า ฯลฯ ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจและสรุปได้ว่าเราก็เป็นคน "ติดคิด" เหมือนกัน
  • ระยะหลังจึงปรับแนวปฏิบัติให้ "ติดคิด" น้อยลงไปเรื่อย ๆ วิธีการหนึ่งที่ชอบใช้ คือ "การดูหนังเงียบ"
  • ได้เรียนรู้วิธีการนี้มาจากหนังสือ "แด่หนุ่มสาว" ของกฤษณมูรติ ตั้งแต่เรียนชั้น ม.ปลาย นำไปทดลองฝึกเอาเองแบบไม่รู้อะไรเลย เพียงแต่เฝ้าดูว่ามีความคิด มีภาพอะไรโผล่ขึ้นมา โดยไม่พากย์ ไม่ใส่บทบรรยาย ไม่ปรุงแต่ง ดูเฉย ๆ เหมือนดูหนังเงียบ ให้รู้ว่ามีความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวมันก็กระโดดไปเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วค่อย ๆ สงบลง สว่างมากขึ้น แล้วก็หลับไป (ผมติดนิสัยชอบดูหนังเงียบเมื่อล้มตัวลงนอน)
  • สำหรับตนเองเมื่อฝึกบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย รู้สึกว่าอาการ "ติดคิด" ค่อย ๆ น้อยลงไปและเราควบคุมได้ดีขึ้นถ้าต้อง Concentrate ในงานที่ต้องใช้ความคิด
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ.

ผมก็คิดว่า "ติดคิด" เหมือนกัน

ถ้ามีช่องว่าง จะไม่มีอะไรผ่านไปโดยไม่คิด

แต่ผมจะใช้ระบบ "วางเร็ว" เมื่อพิจารณาแล้ว ไม่ "ติดยึด" ก็เลยไม่หนักมากนัก

ผมว่าระบบต่างๆ จะมี "ลางเนื้อชอบลางยา" อยู่นะครับ

การหาทางออกแบบนี้จะลด "ความหนัก" ได้เร็ว และมีชีวิตที่เบาขึ้นมากครับ

ขอบคุณด้วยใจ ที่นำสิ่งดีๆมาฝาก

สาธุพันครั้ง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท