ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม ต่อ ...1


ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม

ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม

"คนจน": สถานภาพที่สังคมกำหนดให้หรือติดตัวมาแต่กำเนิด
กล่าวกันว่า "ความยากจน" เป็น "สถานภาพ" (status) ประการหนึ่งที่สังคมกำหนดขึ้นภายหลังให้แก่ผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกับสถานภาพการเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย สถานภาพการเป็นผู้นำประเทศ ฯลฯ ที่ถูกกำหนดโดยหลักเกณฑ์กลไกทางสังคมชุดหนึ่งๆ และมีกฎระเบียบรองรับความมีอยู่จริงของสถานภาพนั้น

ทั้งนี้เพราะความยากจนมิใช่สถานภาพที่ได้รับติดตัวมาแต่กำเนิด (ascribed status) เช่น สถานภาพการเป็นชาย-หญิง ผิวดำ-ผิวขาว ฯลฯ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะถือกำเนิดมาในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง หรือ ครอบครัวที่ยากจนข้นแค้นก็ตาม

และเมื่อ "ความยากจน" มิใช่สถานภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้ว ความยากจนจึงเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงได้ในตัวเองไม่ว่าจะนำไปสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยอื่นใดในสังคมก็ตาม ซึ่งวิธีการมองปัญหาความยากจนดังกล่าวเป็นการมองตามแบบทฤษฎีโครงสร้างนิยม คือปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนดปัญหาความยากจนขึ้น นี้เป็นนัยในการมองปัญหาความยากจนลักษณะแรก

แต่อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (Judith Chafel, 1997, p.434) กลับมองปัญหาความยากจนอีกลักษณะหนึ่งว่า เป็นเรื่องของการผสมผสานกันระหว่างปัจจัยทางชีววิทยาและวัฒนธรรม หรือเป็นเรื่องที่เกิดจากเหตุปัจจัยภายในตนเองมากกว่าเหตุปัจจัยภายนอก

เช่นเดียวกับที่ Michael Harrington (1963, 21) เชื่อว่า ความยากจนเป็นเรื่องที่ติดตัวมาแต่กำเนิด คือเกิดผิดที่ เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เกิดมาจากพ่อแม่ที่ยากจน อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผิด และในท้องถิ่นที่ผิดที่ผิดทางของประเทศ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นคุณลักษณะที่ถูกจัดจำแนกไว้เรียบร้อยแล้ว (ก่อนที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดมาท่ามกลางสิ่งเหล่านี้) เรียกว่าเป็น "การแบ่งแยกเชิงสถาบัน" (institutional discrimination) ดังนั้นจึงควรต้องตำหนิเรื่องของ "ความยากจน" แต่ไม่ควรจะตำหนิ "คนยากจน" เพราะสถานภาพทางสังคม เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงเลื่อนชนชั้นได้ภายหลัง

ความยากจนกับ "วัฒนธรรมความยากจน" (culture-of-poverty)
วิธีการอธิบายเรื่อง "ความยากจน" ที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง คือการอธิบายความยากจนด้วยการตำหนิเหยื่อว่ายากจนเพราะรับเอา "วัฒนธรรมความยากจน" (D. Stanley Eitzen and Maxine Baca Linn, 2000,p.198-199) มาเป็นของตน โดยคำอธิบายตั้งอยู่บนฐานที่ว่า คนยากจนมีคุณภาพของค่านิยมและวิถีชีวิตผิดแผกแตกต่างจากธรรมเนียมค่านิยม และวิถีชีวิตของคนชนชั้นอื่นๆในสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนี้เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมรอง (subculture) รูปแบบหนึ่ง คือ "วัฒนธรรมความยากจน" ซึ่งเชื่อว่ามีการถ่ายทอดวัฒนธรรมความยากจนผ่านกระบวนการขัดเกลาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานด้วย ลูกหลานของคนยากจนจึงได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักดำรงชีพตามอัตถภาพ ขณะเดียวกันก็รอคอยโชคชะตามาพลิกผันชีวิตให้แปรเปลี่ยนไป

ความยากจนทำให้คนประกอบอาชญากรรมจริงหรือ ?
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่ยังมีปัญหาความยากจนปรากฏอยู่มาก โดยมีประชากรร้อยละ 15.1 ถูกจัดว่าเป็นคนยากจนอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.1993 และมีสถิติอาชญากรรมในคดีเกี่ยวกับทรัพย์ในอัตราที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยประเทศอื่นๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากการที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งๆที่มีระบบสวัสดิการสังคมรองรับผู้คนกลุ่มนี้อย่างดียิ่ง

ขณะที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่มีความยากจนปรากฏอย่างชัดเจน กลับถูกสอนให้ยอมรับในสภาพความขาดแคลนของชีวิต และไม่มีปัญหารุนแรงที่เกิดจากช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยเช่นเดียวกับประเทศที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยแต่อย่างใด

เชื่อกันว่า ความยากจนเป็นปัจจัยนำไปสู่การเกิดพยาธิสภาพแก่ปัจเจกบุคคล และมีผลกระทบต่อส่วนรวม เช่น การเกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นนำไปสู่การเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ การฆ่ากันตาย ยาเสพติด และเมาสุรา ซึ่งทำให้คนจนกระทำผิดและติดคุกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เมื่อสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สถิติอาชญากรรมน่าจะลดลง

แต่การณ์มิได้เป็นดังที่คาดหมาย เพราะยังปรากฏว่ามีคดีอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตขาว (white-collar crime) ซึ่งกระทำโดยคนชั้นสูง ข้าราชการและนักการเมืองเกิดขึ้นมากมาย พอๆกับอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตน้ำเงิน (blue-collar crime) ซึ่งกระทำโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงาน คนยากจนที่หาเช้ากินค่ำ และยังปรากฏว่ามีคดีขึ้นโรงขึ้นศาลอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้ชำนาญการทั้งหลายไม่สามารถใช้คำพูดเก่าๆที่ว่า "ความยากจนเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม" (poverty is the mother of crime) ได้อีกต่อไป และทำให้คนยุโรปสร้างคำกล่าวใหม่ขึ้นว่า "ความยากจนเป็นความเลวทรามและความร่ำรวยเป็นความทุจริตที่ชั่วช้า" (poverty degrades and wealth corrupts)

คำถามน่าสนใจที่เกิดขึ้น คือ "ความยากจนทำให้คนประกอบอาญากรรมจริงหรือ?" หรือว่าความยากจนเป็นเพียงความสัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์กับปัญหาอาชญากรรมและสาเหตุของปัญหาอาชญากรรมที่แท้จริง น่าจะเป็นเรื่องของปัจจัยภายในจิตใจ ที่มีความโลภ โกรธ หลง มีความอยาก ความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดมากกว่าเพราะเหตุแห่งความยากจนหรือไม่ อย่างไร

การเดินทางสู่ "ความยุติธรรม" ของ "คนยากจน"
กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมในลักษณะ "รัฐสวัสดิการ" (state welfare) รูปแบบต่างๆเพื่อประกันการว่างงาน ประกันสังคม และจัดสวัสดิการสงเคราะห์ให้กับผู้คนกลุ่มต่างๆรวมทั้งคนยากจน ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง

แต่สำหรับ "การจัดบริการของรัฐด้านงานยุติธรรม" เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสมาชิกสังคม ที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ผู้ด้อยโอกาส และคนชายขอบของสังคมแล้ว นับว่ายังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนใดๆเกิดขึ้น ทั้งในด้านทัศนคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและในรูปของสวัสดิการที่เป็นรูปธรรม โดย "คุก" ก็ยังได้ชื่อว่า "มีไว้ขังคนจน" เช่นเดิม

หรือว่า "ความยุติธรรม" ในความคิดคำนึงของคนยากจนนั้นขัดแย้งกับ "กฎหมาย" หรือว่า กฎหมายถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับสถานภาพบางสถานภาพว่าถูกต้อง เหนือกว่าอีกสถานภาพหนึ่งๆ เช่น กฎหมายไม่ได้กำหนดความผิดฐานข่มขืนไว้สำหรับชายที่ข่มขืนภรรยาของตน เพราะสถานภาพการเป็น "สามี" อยู่เหนือสถานภาพการเป็น "ภรรยา" ในทางกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่มีสถานภาพเป็นรองย่อมรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม เช่นเดียวกับที่ "ความยุติธรรม" ของคนยากจนผู้มีสถานภาพต่ำกว่าคนอื่นๆในสังคมนั้นอาจขัดหรือแย้งกับ "กฎหมาย" ก็เป็นได้ กรณีที่กฎหมายนั้นมีลักษณะเป็น positive law ที่มุ่งปกป้องบรรทัดฐานสังคม นโยบายแห่งรัฐ และคนส่วนใหญ่ที่ไม่ยากจนมากเกินไป

ดังนั้น "การเดินทางสู่ความยุติธรรมของคนยากจน" จึงมีลักษณะแตกต่างไปจากการใช้บริการของรัฐด้านอื่นๆ เช่น การขอรับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ด้านการศึกษา หรือด้านที่พักอาศัย เป็นต้น โดยการรับบริการด้านงานยุติธรรมเป็นบริการที่มิใช่ความต้องการขั้นมูลฐานของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ว่าเมื่อได้รับบริการก็จะได้รับการตอบสนองอันเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง

ทั้งการบริการด้วยการให้สวัสดิการเหล่านี้เป็นการเริ่มต้นรับรอง "ความเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของมวลมนุษยชาติ" ซึ่งเป็นความคิดเชิงบวกในตัวเอง แต่ การรับบริการด้านความยุติธรรมมีลักษณะที่ทำให้ผู้รับบริการส่วนใหญ่ตกอยู่ในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ" และตกอยู่ในสถานภาพที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลการพิจารณาพิพากษาคดีไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าผู้รับบริการจะเป็นผู้กระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนบรรทัดฐานของสังคมจริงหรือไม่ก็ตาม

การเข้ารับบริการด้านความยุติธรรมในมิตินี้จึงเป็นเสมือน "การลดทอน" หรือ "ตัดออก" จากการเป็นสมาชิกของสังคมมนุษย์อย่างเป็นทางการและค่อนข้างถาวรมากกว่า เพราะในทางปฏิบัติแล้วผู้ที่มีใบแดงแจ้งโทษจะไม่สามารถเข้ารับราชการได้ รวมถึงการกลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่นที่พักอาศัยเดิมของตนภายหลังการพ้นโทษนั้น ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆที่จะเชื่อได้ว่าเพื่อนบ้านจะ "ยอมรับความมีตัวตน" ของเขาหรือไม่ เพียงใด

หรือแม้แต่ "ผู้ถูกกล่าวหา" หรือ "จำเลย" ที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น บ่อยครั้งที่ยังได้รับการพิพากษาและตราหน้าจากสังคมไปเรียบร้อยแล้วว่า กระทำผิดก่อนที่ศาลจะพิพากษาจริงเสียอีก ซึ่งเหล่านี้เป็น "กลไกป้องกันตนเองของสังคม" ที่พยายามจะมอบสถานภาพหนึ่งๆให้กับบุคคลกลุ่มนี้อันเป็นการ "ตัดออกไปจากสังคม" ด้วยการประจานว่าเป็นผู้กระทำผิด มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม และทำให้คนที่เหลือของสังคมรู้สึกรวมตัวเป็นพวกเดียวกัน และกลายเป็นกลุ่ม "คนดี" อีกครั้งหนึ่ง

 

อ้างอิงจาก

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเลขบันทึก: 393160เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท