อ. เปี๊ยก


       จังหวัดเลยเป็นเมืองเล็กๆที่ถูกรายล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่สุดลูกหูลูกตา สร้างให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว ดังสโลแกนที่ว่า “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม สาวงามสามฤดู”

       จังหวัดเลยมีสถาบันการศึกษาที่สร้างนักศึกษาที่มีคุณภาพ ป้อนให้กับประเทศอยู่หลายแห่ง เช่น โรงเรียนศรีสงครามพิทยาคม โรงเรียนเลยพิทยานุกูล หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย แต่สำหรับนักเรียนส่วนหนึ่งที่มุ่งมั่นที่จะนำวิชาความรู้ไปประกอบสัมมาอาชีพโดยเร็ว ก็เห็นจะมีวิทยาลัยอาชีวะศึกษาเลยเพียงแห่งเดียว ที่เปิดคณะศิลปกรรมเพื่อรองรับเด็กนักเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นลูกชาวไร่ชาวนา นำมาฝึกฝนขัดเกลาให้กลายเป็นช่างศิลป์ที่มีคุณภาพ ก่อนที่จะจบออกไปทำงานตามแต่ความถนัดของตนเอง

       ตั้งแต่ก่อตั้งคณะศิลปกรรมหรือว่าอาจจะนานกว่านั้น นักศึกษาศิลปะแทบทุกรุ่นไม่มีใครเคยลืมผู้ชายตัวเล็กๆที่ชื่ออาจารย์ มนูญ  เณรโต หรืออาจารย์ “เปี๊ยก” ผู้ที่เคยพาพวกเขาขึ้นเหนือ ล่องใต้ ผ่านร้อนผ่านฝน ผ่านความยากลำบากคละเคล้าไปกับเสียงหัวเราะ แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียนที่ไหนในโลกนอกเสียจากในชีวิตจริง

     และวันนี้ก็เหมือนครั้งก่อนๆหลังจากที่ผมนั่งรอ จนอาจารย์หมดชั่วโมงสอนในช่วงเช้า อ.เปี๊ยกจึงชวนผมและน้องๆนักศึกษาที่ไม่ติดธุระหรือติดเรียนในช่วงบ่าย ไปช่วยอาจารย์ให้อาหารหมูที่”บ้านสวน” บ.น้ำค้อ อ.วังสะพุง (ระยะทางห่างจากวิทยาลัยฯราวๆ 50 ก.ม.)  “ไปแวะกินข้าวเที่ยงสักพักเดียวเดี๋ยวก็กลับ” ประโยคที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ไม่มีใครเชื่อตามนั้น แต่ลูกศิษย์ก็พร้อมใจกันกระโดดขึ้นรถกันทุกคน

         จากนั้นเกือบสองชั่วโมง เพราะลักษณะถนนหนทางในชนบทที่ค่อนข้างคดเคี้ยว เพราะต้องหลบหลีกภูเขา ผสมกับการแวะซื้ออาหารการกินทั้งของคนและของหมูอยู่เป็นระยะ ในที่สุดรถก็มาจอดที่หน้าบ้านพักหลังเล็กๆ แขวนป้ายชื่อ “เฮือนหำน้อย” บอกถึงอารมณ์ขันของผู้เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี

 

ทั่วทั้งบริเวณระงมไปด้วยเสียงนกเสียงไก่ไม่ขาดระยะ วัวยืนกินหญ้าตามหน้าที่ หมูป่าแม่ลูกอ่อนให้นมลูกอยู่ในเล้า “กกเอากุญแจกับครูไปเปิดบ้าน หนุ่มกับต้นเอาน้ำเอาลำไปให้หมู คนอื่นช่วยกันก่อไฟทำอาหาร” เสียงสั่งการอย่างเป็นระบบ บอกให้ลูกศิษย์แยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเองอย่างคุ้นเคย

       “กกครูว่าเราเอาเครื่องดื่มลงมานั่งคุยกันก่อนดีกว่า” ผ่านไปไม่ถึงสิบนาที บทสนทนาผ่านแก้วระหว่าง อ.เปี๊ยกกับผมก็เริ่มต้นขึ้น

       “หลายคนเห็นว่าอาจารย์คือคนที่หาดูได้เฉพาะในหนังสือนิยาย เป็นคนในอุดมคติ เป็นตัวแทนของความเป็นลูกผู้ชายทั้งบุคลิก วิถีชีวิต หน้าที่การงาน แล้วอาจารย์คิดว่าตัวเองเป็นคนยังไงครับ” คำถามแรกของผมเรียกเสียงหัวเราะจาก อ.เปี๊ยกได้ในทันที

        พื้นเพครูเป็นคน อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู สมัยก่อนมันเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่เด็กบ้านนอกสักคนจะได้เรียนสูงๆ มันต้องดิ้นรนด้วยตัวเองแทบจะทั้งหมด ถ้ามีงานวัดก็ขึ้นไปต่อยมวยบางทีก็ต้องยอมแบกน้ำหนักเพราะเราตัวเล็ก ชกแพ้บ้างชนะบ้างได้เงินมาก็เก็บเล็กผสมน้อย เอาไว้ซื้อสีซื้อกระดาษมาหัดเขียนรูป เพราะเรามีเป้าหมายไว้แล้วว่าต้องเข้าเรียนที่เพาะช่างให้ได้ จนสุดท้ายก็ได้เข้าเรียนสมใจ

      สมัยก่อนวัยรุ่นนิยมอ่านหนังสือนวนิยายกันมากครูก็เหมือนกัน เราเป็นเด็กบ้านนอกอยู่ป่าอยู่เขามาก่อน หนังสือเล่มโปรดก็หนีไม่พ้น “ล่องไพร”ของน้อยอินทนนท์ ถัดมาก็จะเป็น “เพรชรพระอุมา” ของพนมเทียน พระเอกมันชื่อ รพินร์ไพรวัล ครูชอบมากเห็นว่าไอ้นี้มันเก่งทั้งล่าสัตว์ทั้งสู้กับเสือ คือชีวิตมันผจญภัยไง เราก็เลยคิดว่าสักวันหนึ่งถ้ามีการมีงานทำก็อยากใช้ชีวิตแบบนี้บ้าง เป็นงานอดิเรก

       “เมื่อก่อนบ้านสวนอาจารย์หลังเล็กกว่านี้ใช่ไหมครับ” ผมมองไปที่เฮือนหำน้อยแล้วตั้งข้อสังเกต

      ใช่เมื่อก่อนมันเป็นเหมือนกระท่อมหลังเล็กๆใช่เก็บของเก็บถ้วยชาม นั่งกินข้าวกินเหล้าก็พอได้แต่ก็ไม่ค่อยสะดวก ทั้งปลวกทั้งมอดรุมกินสองสามปีแทบจะไม่เหลือ พอดีว่าช่วงนั้นครูสอนออกแบบตกแต่งเด็กปีสาม ก็เลยถือโอกาสปรับเปลี่ยนบ้านสวน คือว่าอยากให้ลูกศิษย์ได้เห็นของจริง ได้ลงมือทำ ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน พอครูเขียนแบบเขียนอะไรเสร็จก็ใช้รถกระบะคันที่เรานั่งมานี้แหละขนปูน ขนไม้ ขนเหล็ก ขนลูกศิษย์มาจากในเมือง ช่วยกันสร้างช่วง เสาร์-อาทิตย์ เดือนกว่าๆก็เสร็จ คือใช้ที่นี้เป็นห้องเรียนภาคปฏิบัติ ปกติการเรียนในห้องนักเรียนได้แค่เขียนแบบส่งครู แต่อยู่ที่นี้กลายเป็นได้สร้างบ้านเป็นหลัง ช่วยกันทำอาหารการกิน สรุปว่านักศึกษาได้ชีวิตร่วมกันได้ช่วยเหลือกัน

 

 

        “แนวความคิดที่ทำให้อาจารย์มีความแตกต่างจากครู อาจารย์คนอื่นๆ มันมีที่มาหรือเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ” ผมป้อนคำถามให้กับอาจารย์ พร้อมกับป้อนเครื่องดื่มให้กับตัวเอง

“อืม......อาจารย์ก็อยากจะพูดอยู่พอดี” อ.เปี๊ยกยิ้มด้วยใบหน้าที่เริ่มจะเป็นสีชมพู 

         ย้อนไปเมื่อสักยี่สิบกว่าปีก่อนช่วงที่อาชีวะฯเริ่มเปิดสอนศิลปะใหม่ๆ เวลานั้นแผนกศิลปกรรมยังไม่มีอาคารเรียนเป็นของตัวเอง ต้องไปอาศัยห้องเรียนของแผนกอื่นไปพลางๆ บริเวณของโรงเรียนก็ยังเป็นป่ารกทึบแม่น้ำเลยที่ไหลผ่านด้านข้างก็ยังใสสะอาดและยังไม่เซอะตลิ่งเข้ามาลึกเหมือนปัจจุบัน ทำให้ความเป็นอยู่ของนักศึกษาและอาจารย์เป็นไปอย่างพึ่งพิงธรรมชาติแทบจะไม่ต้องซื้อหาอะไร นอกจากอุปกรณ์การเรียนการสอนและเครื่องดื่ม นักศึกษามันอยู่กันสบาย เรียนกันสบายก็เลยไม่ค่อยจะกลับบ้านกัน หนักเข้าก็เลยช่วยกันสร้างกระท่อมบ้านพักขึ้นมาหนึ่งหลัง ริมฝั่งแม่น้ำเลยใกล้ๆกับบ้านพักครู อยากกินอะไรก็หามาปลูกทั้งพริก มะเขือ พืชผักสวนครัวชนิดว่าไม่ต้องซื้อหาอะไรกันเลย(ข่าวว่าผักขึ้นสวยกว่าในตลาดเสียอีก) เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อต่างๆ ปลากระป๋อง ไข่ไก่ บ้านใครมีอะไรก็เอามาช่วยกัน ครูก็หิ้วไปฝากอยู่บ่อยๆเพราะต้องอยู่ต้องกินกับนักเรียนแทบทุกวัน ต้องดูแลสอดส่องกันตลอด ถึงจะเป็นเวลาสนุกสนานก็ต้องให้อยู่ในขอบเขตไม่เลยเถิด มีอะไรช่วยทางวิทยาลัยฯได้ก็ต้องช่วยไม่ให้ใครตำหนิ เช่นเย็นวันหนึ่งครูสาวสวยมาบรรจุใหม่ เรียกให้เราไปช่วยจับ ”ตุ๊กแก”ในบ้านพักครู ค่ำวันนั้นเราจึงมี ”หมกกับแก้”ให้กินกันอย่างไม่ต้องแย่งกัน เมนูพิเศษนี้เป็นได้ทั้งกับข้าวและกับแกล้มรสเด็ด เรียกว่า 2in1      

 “น่าอิจฉารุ่นพี่จริงๆคงจะสนุก” ผมพูดไปยิ้มไป

              “สนุกกันอยู่ได้เกือบสองปีก็เริ่มมีปัญหา” อ.เปี๊ยกหยุดพูดพลางสาดน้ำสีสวยลงคอ    

              พอพ้นสายตาเราเขาจะสนุกกันเกินไปรึเปล่าเราก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆร้องเพลงดีดกีต้าร์มันมีให้เห็นกันทุกวัน แต่ก็ไม่น่าจะรบกวนใคร เพราะรอบข้างก็มีแต่ป่าแต่น้ำ แต่ ผ.อ. เขาไม่คิดแบบเราเพราะแกเป็นผู้ใหญ่ก็เลยเป็นห่วง กลัวนานๆเข้าจะกลายเป็นแหล่งมั่วสุม ก็เลยเรียกครูไปตักเตือนเพราะเห็นว่าเราอยู่กับลูกศิษย์ตลอด ครูก็พยายามอธิบายชี้แจงอยู่นานเพราะเรามีเหตุผลที่ดี ประกอบกับตอนนั้นครูยังหนุ่มเลือดร้อนเราเลยไม่ยอมใครง่ายๆ แต่สุดท้ายก็ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ครูพูดมากไปกว่านี้มันจะไม่ดี

                เหมือนใกล้จะถึงช่วงเวลาสำคัญ ใบหน้า อ.เปี๊ยก บอกอารมณ์เคร่งเครียด ก่อนที่จะหยุดล้างคอแบบหนักๆเหมือนกลัวว่าจะไม่สะอาด

             เช้าวันต่อมาไม่มีใครอยู่ในกระท่อมทุกคนออกไปเรียนกันหมด  ครูก็เลยทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดแล้วในตอนนั้นโดยการเผากระท่อมหลังนั้นด้วยตัวเองซะเลย ไม่ต้องรอให้ใครมารื้อเดี๋ยวมันจะเสียความรู้สึก ไม่นานลูกศิษย์กลับมาเห็นบางคนก็ร้องไห้บางคนก็ยืนงง พอสอบถามรู้ว่าครูเป็นคนเผาก็เลยเข้าใจกัน(มารู้ทีหลังว่าเด็กที่ร้องไห้เพราะมันเสียดายกีต้าร์ อ.เปี๊ยก ลืมเอาออกมาจากในกระท่อม) หลังจากนั้นครูก็เลยพยายามชดเชยด้วยการพานักศึกษาออกไปเที่ยวขึ้นเขาลงห้วย เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะ ฝึกให้รุ่นพี่รุ่นน้องรักกันดูแลกัน โดยทั้งหมดที่ครูพูด มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในห้องเรียนของที่ไหนในโลก

             “ผมสังเกตว่าตั้งแต่ศิลปกรรมรุ่นหนึ่งจนถึงเด็กรุ่นปัจจุบันก็ยังรู้จักกันดูแลกันตลอด” ผมพูดเสริมขึ้นบ้าง

          “ใช่เพราะครูพยายามพารุ่นน้องไปเยี่ยมบ้านรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ให้พี่บอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานให้น้องๆฟัง ครูตั้งใจให้เป็นเหมือนวิชาแนะแนวนอกสถานที่” สีหน้าอาจารย์บอกถึงอาการลื่นไหลอย่างมีความสุข

            “อ่าว.....กับข้าวเสร็จพอดี กกไปตามน้องๆมากกินข้าวกัน” อ.เปี๊ยก บอกกับผมหลังจากหันไปสังเกตการณ์ในครัว

เป็นอันว่าขอจบการสัมภาษณ์ไว้แต่เพียงเท่านี้

 “ชีวิตจริง  ยิ่งกว่าในห้องเรียน”

คำสำคัญ (Tags): #ประว่ง ประวัติ
หมายเลขบันทึก: 393156เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชีวิตของอาจารย์คนนึงที่จะสามารถนำพาลูกศิษย์ไปถึงฝั่งฝันนั้นมันแสนยากแต่อาจารย์ที่ให้แนวทางการใช้ชวิตการดำเนินชีวิตมันยากกว่า การที่อาจารย์ได้เข้าไปใกล้ชิดนำพาชีวิตนักเรียนออกสู่ภายนอกจากห้องเรียนมันสามารถให้ประสบการณ์ชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่มาก น่าชื่นชมและคอยให้กำลังใจอาจารย์เปี๊ยกสู้ต่อไป เพื่ออาจารย์และสิ่งที่อาจารย์รักครับ

อ.เปี๊ยกคนนี้ น่าจะใจดีมากเลยนะค่ะ

การเรียนศิลปะเนี้ย ดีจังเลย ครูกับนักเรียน มีความสนิทสนมคุ้นเคย น่าอิจฉาจริงๆค่ะ

ผมเป็นอีกคนที่ภูมิใจและดีใจมากที่ได้พบได้รู้จักได้เป็นลูกศิษ์ ผู้ชายตัวน้อยๆคนนี้เป็นทั้งอาจารย์เป็นทั้งพ่อ รักมาก ขอบคุณมากกกกกกครับ อ.เปี๊ยก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท