ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม


ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม

ความยากจนกับการเข้าถึงความยุติธรรม

ความนำ
ความยากจน (poverty) การเข้าถึงความยุติธรรม (access to justice) กับ กระบวนการยุติธรรม (criminal justice process) เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมสองสามอย่างที่มีความสัมพันธ์กันทั้งโดยภาพลักษณ์ที่ปรากฏและโดยข้อเท็จจริง เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งสังคมแห่งนี้

"ความยากจน" กับ "การเข้าถึงความยุติธรรม" เป็นปัจจัยที่ต่างก็เป็น "เหตุ" และ "ผล" แก่กัน กล่าวคือ เพราะเหตุที่ยากจนจึงทำให้ผู้คนเหล่านั้นไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมได้ตามสิทธิอันควร เฉกเช่นพลเมืองคนหนึ่งของรัฐ หรือไม่เท่าเทียมกับที่ผู้อื่นที่ "ไม่ยากจน" สามารถกระทำได้ ทางหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม เมื่อกลับเอา"การเข้าถึงความยุติธรรม"เป็นเหตุ จะพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่ว่า เพราะเหตุที่ผู้คนมีความต้องการ"เข้าถึงความยุติธรรม" ซึ่งมักเกิดความต้องการนี้ขึ้นเมื่อ"ได้รับความ อยุติธรรม" หรือ ประสบกับความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือ ถูกเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเกิดความประสงค์จะ "เข้าถึงความยุติธรรม" อันเป็น "เหตุ" ขึ้นแล้ว ผู้คนเหล่านั้นจะต้องใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากเพื่อการนั้น ทำให้เกิด "ผล" คือ ความยากจน ขาดแคลน ขาดสภาพคล่องตามมา

หรือบางคนได้เห็นถึงความยุ่งยากซับซ้อนของช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรม ที่เป็นแบบแผนพิธีการซึ่งต้องดำเนินการผ่านกระบวนวิธีที่ต้องใช้จ่ายเงินทองจำนวนมาก จนเกิดเป็นภารกิจใหม่อีกภารกิจหนึ่ง คือ กู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการต่อสู้คดี จึงอาจเลือกใช้"กระบวนการยุติธรรมนอกระบบ" ซึ่งรวดเร็วกว่า ย่อมเยากว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อกฎหมายมากกว่าก็ตาม

ในกรณีหลังนี้จึงเป็นเรื่องที่มี"กระบวนการยุติธรรม" เป็นตัวแปรแทรกซ้อนเข้ามาร่วมอธิบายและจัดกระทำด้วย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า "ความยากจน" กับ "การเข้าถึงความยุติธรรม" เป็นสองสิ่งที่ต่างก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกัน"ความยากจน" กับ "กระบวนการยุติธรรม" ก็เป็นปรากฏการณ์อีกคู่หนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อกันในรูปของ"ปัญหาอาชญากรรม" ตามตัวเลขทางสถิติที่บันทึกไว้ ซึ่งในสังคมมีความเชื่อที่ว่า การว่างงาน-ตกงาน และความยากจนก่อให้เกิดอาชญากรรม และ บ้างก็เชื่อว่า "ความหิวเป็นบ่อเกิดของความผิดทางอาญา" (hunger is the mother of criminality) ซึ่งทำให้บรรดาผู้คนในสังคมพากันคาดหวังว่า "เมื่อหมดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อใด อาชญากรรมก็จะลดลงเมื่อนั้น" (come the end of the depression, crimes will decrease)

และเมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้นมา หรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมขึ้น "รัฐ" จึงต้องสร้าง"กระบวนการยุติธรรม" เพื่อเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้ โดยมี "กฎหมาย" และ "กระบวนวิธีการ" ตลอดจน "บุคลากรที่ประกอบวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรม" เข้ามีส่วนร่วมเป็นตัวแปรสำคัญในระบบคิดชุดนี้ด้วย แต่ความยากจนเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอาชญากรรมหรือไม่ คำถามข้างต้นนี้ เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนจะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในช่วงต่อไป

ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนประสงค์ที่จะนำเสนอ "วงจรความสัมพันธ์ระหว่าง ความยากจน การเข้าถึงความยุติธรรม กับ กระบวนการยุติธรรม" ในบริบทสังคมไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดระบบและรูปแบบบริการในกระบวนการยุติธรรมไทยที่เหมาะสมกับ "ผู้รับบริการ" ที่มีความหลากหลาย รวมทั้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยฐานะทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า "คนยากจน" เหล่านี้ต่อไป

"ความยากจน" เป็นอย่างไร
หากจะตั้งคำถามต่อพระพุทธองค์ว่า "ความยากจนเป็นอย่างไร" นั้น ก็จะได้คำตอบที่ว่า "ทพิท.ทิยํ ทุก.ขํ โลเก" ซึ่งมีความหมายว่า "ความยากจนเป็นทุกข์ในโลก"

ในทางสังคมวิทยาอธิบายว่า "ความยากจน" หมายถึง การที่มีสภาพการครองชีพต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ซึ่งชี้วัดด้วยภาวะโภชนาการ สุขภาพอนามัย และ ที่พักอาศัย ความยากจนมีสองประเภท คือ ความยากจนอย่างสุดๆ (absolute poverty) หมายถึงการที่ผู้คนมีระดับการครองชีพต่ำ ดำรงชีพอยู่ได้อย่างแร้นแค้น ยากแก่การรักษาสุขภาพและชีวิต และ ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ (relative poverty) คือการที่ถูกจัดว่ายากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นในสังคมที่มีฐานะดีกว่า

ความยากจน: ปัญหาสังคมของทุกสังคม
"ความยากจน" ได้ชื่อว่าเป็น"ปัญหาสังคม"ปัญหาหนึ่ง ซึ่งปัญหาสังคมเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่คู่สังคมทุกยุคสมัยโดยมีระดับรุนแรงของปัญหามากน้อยแตกต่างกันไป เป็นเรื่องของสภาพความไม่เป็นระเบียบของสังคม เป็นสถานการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนจำนวนมากที่รู้สึกถูกคุกคามต่อมาตรฐานค่านิยมเหล่านั้น และประสงค์จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ดีขึ้น หรือขจัดให้หมดไปโดยเชื่อว่าคนในสังคมของตนสามารถกระทำได้

"ความยากจน" ถูกจัดว่าเป็นปัญหาสังคมประเภท "ปัญหาทางเศรษฐกิจ" เพราะถูกนำไปพ่วงกับเกณฑ์ชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า "เส้นความยากจน" (poverty line) ซึ่งเป็นเครื่องมือสากลในการพิจารณาว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนจนหรือไม่ โดยธนาคารโลกเป็นผู้ริเริ่มนำเทคนิคการคิดคำนวณเส้นความยากจนมาใช้ในประเทศไทยครั้งแรกในปีพ.ศ.2513

และต่อมาพบว่าเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ใน ปี พ.ศ. 2539 ไทยมีเส้นความยากจนเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ 737 บาท ต่อคนต่อเดือน มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 11.4 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีจำนวน 6.8 ล้านคน แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจสัดส่วนคนยากจนกลับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.9 คิดเป็นจำนวนคนจน 9.9 ล้านคนในปี พ.ศ.2542 คือเพิ่มขึ้นจำนวน 3.1 ล้านคน (คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2544, น.23) และ ตัวเลขเส้นความยากจนของไทยล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2542 คือ 911 บาทต่อคนต่อเดือน

หลักการสำคัญของการกำหนดมาตรฐานเส้นความยากจน คือ การพิจารณาความจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิต ที่ได้คิดคำนวณจากความเพียงพอในการบริโภคโดยเฉลี่ย (ทั้งด้านอาหารและสินค้าอุปโภค) ของคนไทย (ศาสตราจารย์นานัค คัควานี และ รองศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว ผู้เชี่ยวชาญผู้คิดคำนวณ) จากนั้นจึงได้มีการนำเส้นความยากจนของไทยไปใช้ประโยชน์ในการประเมินภาวะทางเศรษฐกิจสังคมในระดับสากลต่อไป

แต่ความยากจนในฐานะที่เป็นปัญหาสังคมนั้นมีความหมายมากกว่าการมีรายได้น้อยไม่เพียงพอแก่การยังชีพเพียงประการเดียว ความยากจนหมายรวมถึง ภาวะทุโภชนาการ ความเสื่อมโทรมแห่งสุขภาพอนามัยและมีการศึกษาต่ำอีกด้วย และมิใช่คนยากจนทุกคนจะประสบกับภาวะทุกประการดังกล่าว ทั้งยังไม่มีความลงตัวอย่างชัดเจน ในการขีดเส้นแบ่งระหว่างการเป็นคนยากจนออกจากคนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งยังไม่มีวิธีการที่ถูกต้องเป็นปรนัยใดๆเพียงหนึ่งเดียว ที่ใช้ในการคำนวณเปรียบเทียบรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่ใช้ได้กับทุกกาลเวลาและทุกสถานที่ในสังคมโลกแห่งนี้

ดังจะเห็นได้ว่า ในเมืองใหญ่เส้นความยากจนจะสูงกว่าในชนบท และเส้นความยากจนในประเทศหนึ่งจะสูงกว่าในอีกประเทศหนึ่ง ความแปรเปลี่ยนไม่คงที่ของเครื่องชี้วัดดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึง "อำนาจ" ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดว่า อย่างไรคือความยากจนหรือไม่ยากจน ซึ่ง "ความยากจน" หรือ "ไม่ยากจน" กลายเป็น "สถานภาพ" ที่ถูกกำหนดให้โดยผู้มีอำนาจ และจากสถานภาพดังกล่าวทำให้มีผลกระทบต่อการถูกเลือกปฏิบัติตามมาเป็นลำดับ

อ้างอิงจาก

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเลขบันทึก: 393159เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาาจารย์ครับ

ถ้าเช่นนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ทุพโภชนาการ ความเสื่อมโทรมทางสุขภาพอนามัย เป็น "ความยากจนทางสุขภาพ" ได้ไหมครับ

หรือก็อาจเพิ่มประเด็น การเข้าถึงบริการสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน ฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท