เมื่อวันเสาร์ผมได้มีโอกาสอ่านบทความชื่อ ambigram อักษรซ่อนกล ในคอลัมน์ กฎพิสดารปรากฎการณ์พิศวง ของคุณบัญชา ธนบุญสมบัติ ซึ่งตีพิมพ์ในเสาร์สวัสดี (ฉบับวันที่ 8 ก.ค. 2549) ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เนื้อหาของบทความนี้เป็นดังนี้ครับ
ใครที่ชอบเข้าร้านหนังสือ อาจจะเคยสะดุดตากับปกนิยายของแดน บราวน์ เรื่อง Angels & Demons เพราะการออกแบบลายเส้นและรูปร่างตัวอักษร ทำให้สามารถอ่านแบบกลับหัว-กลับหางก็ยังเหมือนเดิม ลักษณะของตัวอักษรอย่างนี้แหละที่ฝรั่งเรียกว่า แอมบิแกรม (ambigram) ซึ่งมาจากภาษากรีก ambi (จากทั้งสองด้าน) + gram (ตัวอักษร)
ศิลปินในวงการนี้มีหลายคน แต่ที่โดดเด่นระดับเซียนเหยียบเมฆมี 2 คน คือ จอห์น แลงดอน (John Langdon) และสก็อต คิม (Scott Kim)
เซียนคนแรกคือ จอห์น แลงดอน เป็นเพื่อนสนิทของพ่อของแดน บราวน์ และผลงานของเขานี่เองที่ดลใจแดน บราวน์ ให้สนใจศิลปะแขนงนี้ เขายังออกแบบแอมบิแกรมในหนังสือ Angels & Demons (เทวากับซาตาน) อีกด้วย ไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหมล่ะที่แดน บราวน์ ยืมนามสกุลแลงดอนไปใช้กับ โรเบิร์ต แลงดอน ตัวเอกในเรื่อง รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code)
ส่วนเซียนอีกคนหนึ่ง คือ สก็อต คิม นั้นก็เก๋าไม่แพ้กัน เพราะทำงานนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 นานพอๆ กับแลงดอน นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่าในวงการคณิตศาสตร์จะให้เครดิตกับคิมมากกว่าแลงดอนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สก็อต คิม นั้น เรียกผลงานตัวอักษรศิลป์แบบนี้ว่า การผกผัน (inversion) แถมยังเคยเขียนหนังสือชื่อ Inversions ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518) โดยออกแบบให้คำว่า Inversions-Scott Kim เป็นแอมบิแกรม และยังใช้แอมบิแกรมนี้ในนามบัตรของเขาด้วย แสดงว่าเขาน่าจะภาคภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้มากทีเดียว (คิมเล่าไว้ว่ากว่าจะได้ดีไซน์นี้มาเขาต้องร่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายสิบแบบ)
แอมบิแกรมไม่ได้มีแค่หมุนแล้วอ่านเหมือนเดิมเท่านั้น บางแบบอาจจะเป็นภาพกระจกสะท้อนซ้ายขวา (ไม่ต้องหมุน) บางแบบก็เรียงอยู่บนเส้นรอบวงของวงกลม แต่แอมบิแกรมที่น่าทึ่งอีกแบบหนึ่งคือ แบบที่ก่อนหมุนเป็นคำหนึ่ง พอหมุนกลับหัวแล้วได้อีกคำหนึ่ง เช่น True-False ของจอห์น แลงดอน เป็นต้น (ลองหมุนดูสิครับ)
ได้เห็นเสน่ห์และความงดงามของแอมบิแกรมพอเป็นตัวอย่างแล้ว ก็คงจะรู้สึกได้ทันทีว่างานอย่างนี้น่าจะขายได้ เรื่องนี้น่ายินดี เพราะศิลปินที่ออกแบบแอมบิแกรมเก่งๆ อาจรับจ้างออกแบบโลโก้ให้กับบริษัทต่างๆ (เช่น Sun Microsystems ซึ่งมีโลโก้เป็นแอมบิแกรม) ไปจนถึงโลโก้ของดาวเทียมนาซา (เช่น โครงการ GOES เป็นต้น)
สรุปว่าถ้าเก่งจริง ก็ไม่เป็นศิลปินไส้แห้งแน่ แถมเผลอๆ อาจจะรวยน้องๆ คุณเฉลิมชัยก็เป็นไปได้นะ…ขอบอก!
ขุมทรัพย์ทางปัญญา
เมื่อได้อ่านจบ ผมก็เกิดความตื่นเต้น และอยากจะทำบ้างขึ้นมาทันที ก็เลยใช้ฝีมือที่ไม่ค่อยจะมีลองร่างลายเส้นชื่อของตัวเองเป็นภาษาอังกฤษที่สามารถอ่านได้ทั้ง 2 ด้าน เมื่อหมุนคำ 180 องศา หรือคว่ำหัวอ่าน 555
ลองชมฝีมือผมดูนะครับ คงไม่ค่อยสวยงามเท่าไร แค่ทดลองทำเพื่อการศึกษาครับ