“โฮจุน” จิตสำนึกของหมอที่สะท้อนถึงครูมืออาชีพ


"ครูก็เหมือนหมอ เพราะคนไข้ของครูก็คือนักเรียน"
       ดูละครเกาหลีเรื่อง “คนดีที่โลกรอหมอโฮจุน” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตอนที่มีคนเป็นหมอหลายคนกำลังเดินทางไปสอบเพื่อเป็นหมอหลวง โดยแต่ละคนต่างมุ่งมั่นท่องตำรา ใฝ่หาความรู้เพื่อจะสอบให้ได้
      ระหว่างนั้นมีชาวบ้านที่เจ็บป่วยและยากจนทราบข่าวว่ามีหมอหลายคนเดินทางมาพักในหมู่บ้าน ก็พากันมาขอให้ช่วยรักษา แต่หมอเกือบทั้งหมดจะไม่สนใจ เพราะไม่เห็นประโยชน์ใดใดจะเกิดขึ้นกับตน และเสียเวลาในการดูหนังสือเตรียมสอบ
      มีหมอโฮจุนคนเดียวที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นคนไข้มาขอร้องให้รักษา ทั้งๆที่เป้าหมายของตัวเองก็เหมือนกับคนอื่น คือต้องการไปสอบเป็นหมอหลวง ซึ่งเป็นความหวังสูงสุดของมารดาและภรรยาด้วย
       การกระทำของโฮจุนทำให้หมออีกสองคนเกิดความศรัทธายอมไปร่วมขบวนการช่วยรักษาคนไข้ด้วย แต่เมื่อเห็นว่าคนไข้มีมากขึ้น ก็เริ่มถอดใจละทิ้งอุดมการณ์และปล่อยให้โฮจุนอยู่ดูแลรักษาคนไข้เพียงลำพัง จนเกิดเหตุการณ์ต่างๆกับโฮจุนมากมาย และทำให้โฮจุนไปสอบไม่ทัน แต่เขาก็กลายเป็นขวัญใจของคนไข้และชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งตอบแทนล้ำค่าที่เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะได้
       ภาพที่ปรากฎในฉากละคร สะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกในการดูแลคนไข้ กับประโยชน์และเกียรติยศศักดิ์ศรีที่ตนเองจะได้รับของหมอแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
       เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผมคิดถึงบรรยากาศในโรงเรียน ซึ่งครูก็เหมือนหมอ เพราะคนไข้ของครูก็คือนักเรียนที่จะต้องดูแลช่วยเหลือเขาอย่างดีที่สุด ซึ่งทั้งสองวิชาชีพต่างก็มีจรรยาบรรณวิชาชีพที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไม่ต่างกัน
      หากหมอคนใดที่ไม่ใส่ใจดูแลคนไข้ แต่มุ่งเอาประโยชน์ส่วนตนและหวังลาภยศศักดิ์ศรี ก็ไม่รู้จะเรียกหมอได้อย่างไร เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดก็น่าจะต้องทำเพื่อดูแลรักษาคนไขั
      ครูก็เช่นเดียวกัน ถ้ามุ่งเอาแต่ความก้าวหน้าส่วนตน โดยคิดแต่จะทำผลงานทางวิชาการให้ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว(ทำซี) โดยละทิ้งนักเรียน หรือเอาเปรียบเพื่อนครูที่เขาทุ่มเทให้กับนักเรียนจริงๆ ก็ไม่รู้จะเรียกว่าครูอย่างเต็มปากได้หรือไม่    

      ดังนั้นระบบของการประเมินเป็นหมอหลวงและระบบประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครู น่าจะต้องมีการทบทวนเสียใหม่เพื่อให้หมอและครูที่มีจิตสำนึกอย่างกับหมอโฮจุน ได้เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง
     นั่นคือ…ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนที่ “ควรจะได้” มีโอกาสสูงกว่า “คนที่อยากจะได้” อย่างเดียว คนที่ทำความดีจะได้มีกำลังใจ ดังพระราชดำรัสของในหลวงของเรา
หมายเลขบันทึก: 39293เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2006 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมก็ดูเหมือนกันครับ และมีความรู้สึกลุ้นตลอด อยากให้ไปสอบให้ทัน คงเป็นเพราะความดีงามของหมอโฮจุน จึงทำให้เกิดความรู้สึกร่วม และอยากจะให้ได้พบกับความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามนับถือจิตใจมากครับ เพราะการที่เราทำอะไร อุทิศอะไรเพื่อคนอื่นได้ขนาดนี้ต้องถือว่าไม่ธรรมดาครับ ในท้ายที่สุดถ้าย้อนกลับมามองตัวเรา ถ้าเราเลือกที่จะทำอะไร เป็นอะไรแล้ว ทุ่มเทตั้งใจสุดๆ เมื่อสิ่งที่เราทำได้ส่งมอบถึงผู้ที่ต้องการได้รับแล้ว เราก็จะมีความรู้สึกอิ่มเอมใจไปด้วย

ทุกครั้งที่ผมเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เพื่อนร่วมงานนำไปใช้งาน ผมจะมีความรู้สึกดีทุกครั้งที่คนนำไปใช้แล้ว ทำให้เขาเหล่านั้นมีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จากความเหนื่อยยากของเราเพียงครั้งเดียว นึกถึงทีไรนึกยิ้มกับตัวเองทุกทีครับ

จะแข่งกันไปถึงไหนกัน....

ชื่นชมในอุดมการณ์ของหมอโฮจุน  ในชีวิตจริงก็มีบุคคลเหล่านี้อยู่ไม่น้อย

ผมมองว่า การที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ทำให้คนอื่นมีควา่มสุข ปลดทุกข์ที่เขามี

ป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่...ที่เราได้รับโอกาสที่ได้ทำด 

 

เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่...ที่เราได้รับโอกาสที่ได้ทำดี 

 

    ดีใจที่เห็นคนทำความดีแล้วช่วยกันยกย่องเสริมแรง  คนทำความดีจะได้มีกำลังใจทำความดีต่อไป ที่จริงความสุขในการทำงานที่แท้จริงของคนเราน่าจะอยู่ที่ผลสำเร็จของงาน  หรือความพึงพอใจของผู้รับบริการ  ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางวัตถุ หรือตำแหน่งยศศักดิ์ใดใด  แต่เรากลับไปยึดติดกันตรงนี้ จนบางครั้งเกิดการแก่งแย่งชิงดีกัน ทำให้ขาดจิตสำนึกในวิชาชีพของตนเอง   อย่างกับที่ หลวงวิจิตรวาทการ ท่านเคยกล่าวไว้เป็นบทกลอนว่า
     *สุขของฉันอยู่ที่งานหล่อเลี้ยงจิต
     สุขของฉันอยู่ที่คิดสมบัติบ้า
     คิดทำโน่นทำนี่ทุกเวลา
     เมื่อเห็นงานก้าวหน้าก็สุขใจ
     *งานยิ่งมีมากจริงยิ่งเป็นสุข
     งานยิ่งชุกมันสมองยิ่งผ่องใส
     เมื่องานทำได้เสร็จสำเร็จไป
     ก็สุขใจปลาบปลื้มลืมทุกร้อน...

โฮจุนเป็นตัวแทนของคนดีแต่โลกเราก็มีดอกบัวอยู่หลายเหล่า...มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนเราต้องแข่งขัน..การแข่งขันบางครั้งคือการทดสอบคือการสั่งสมประสบการณ์เพื่อนำมาพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น..เหมือนแดจังกึมต้องแข่งทำอาหารเพื่อช่วงชิงอำนาจจากมือของคนเลวไงคะ..รางวัลคือผลพลอยได้และคือดาบสองคม..มีคำบอกอยู่ว่า''อย่ากลัวว่าใครจะไม่รู้ว่าท่านเก่ง แต่เมื่อเขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งท่าน..ท่านมีความเก่งและความสามารถสมกับที่เขายกย่องหรือยัง.''...ถ้าเป็นคนดีและคนเก่งแล้วไม่ว่าคุณจะมีรางวัลรองรับหรือไม่คุณก็มีประโยชน์ต่อโลกและบ้านเมือง..เป็นครูค่ะและไม่เคยคิดทำอาจารย์3แต่ไม่เคยต่อต้านระบบนี้..เพราะการที่นักเรียนชอบเรียนวิชาของเรา..รักเราก็เป็นรางวัลสำหรับครูในทุกๆ วันอยู่แล้ว

นายภัสรพงศ์ พุ่มเฉลิม

กล่าวถึงหมอโฮจุนท่านเป็นบุคลที่น่ายกย่องสำหรับผม เพราะท่านได้สอนปรัญญาหนึ่งให้กับผม...

"ใจเป็นสิ่งสำคัญในการคิด"

"ใจเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต"

"ใจเป็นสิ่งสำคัญในการรัก"

"ใจเป็นสิ่งสำคัญในการชัง"

"ใจเป็นสิ่งสำคัญในการข่มขวัญ"

"เเละใจก็เป็นสิ่งสำคัญในการปลอบโยน"

"ถ้าตนไม่มีใจเเล้วสิ่งไดๆก็มิอาจทำสำเร็จ"

  พอผมดูถึงตอนจบหมอโฮจุนก็ไม่ได้ละทิ้งจิตใจในการใจใส่คนไข้เลยจนวาระสุดท้ายของชีวิต เเม้นิ้วจะจับเข็มไว้เเน่ก็ตาม......

ดูแล้วใจเป็นสุขมากๆครับพยามจะยึดเป็นแบบอย่างครับ(ศรัทธามากครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท