0853..ความรู้กับการทำนา


“ได้มากก็เสี่ยงมากกว่าด้วย คือต้องพูดประโยคนี้ เสี่ยงมากก็ขาดทุนมาก ถ้าอากาศไม่ดีก็เสี่ยงมาก”

การจัดการความรู้เรื่องการทำนา

      ชาวนาถือเป็นคำเรียกกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย อาชีพทำนาไม่ใช่อาชีพยอดนิยม แต่นาเป็นชีวิตของคนไทยมาช้านาน  ปัจจุบันการทำนาและมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากหรือไม่ต้องอ่านหนังสือ “ชีวิตชาวนา” ของ “เสถียรโกเศศ”  เวลาอ่านก็เพลินนึกภาพของชีวิตในสมัยเด็กก็วิ่งเล่นตามทุ่งนา เสียงและกลิ่นไอสมัยนั้นยังฟุ้งอยู่ในใจเสมอ 

     จากคำบอกเล่าของเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการทำนา  คุณชัยพร  พงษ์พันธ์เรียนจบ ป. 4 คุณพ่อทำนา ตอนเด็กก็ช่วยพ่ออยู่บ้าง  แต่หลังจากเรียนก็ไปอยู่อู่ซ่อมรถยนต์เพื่อจะได้มีรายได้ช่วยครอบครัว  สุดท้ายก็กลับไปช่วยพ่อทำนาเพราะไม่มีใครทำ  ซึ่งตอนนั้นทำแบบที่เขาทำกันทั่วไป ทำอยู่ 6 ปีไม่มีกำไรและคอยจะขาดทุน  คุณเดชา ศิริพัตร์ ซึ่งอยู่บ้านรั้วติดกันก็มาแนะนำให้พ่อใช้สมุนไพรแต่พ่อไม่ได้ทำต้องไปทำให้เห็นว่าดีจึงนำมาทำกับที่นาของตน 8 ไร่ที่มีตอนนั้น ปรากฏว่าช่วงทดลองใช้ครั้งแรกก็ได้เกี่ยวข้าวในขณะที่แปลงอื่นๆ 200 กว่าไร่ ไม่ได้เกี่ยวเพราะเพลี้ยลง นั่นเป็นจุดเปลี่ยนของการทำนา

     การทำนาตามหลักวิชาการเขาว่าอย่างไร   คำแนะนำของกรมการข้าว การทำนาแบ่งออกได้เป็น 3  แบบ คือ นาดำ นาหว่าน นาหยอด  คุณชัยพรจัดว่าทำนาหว่านข้าวงอก  แบบน้ำตม ในเขตชลประทาน  โดยหลังจากเตรียมดินเป็นเทือกดีแล้วระบายน้ำออกหรือให้เหลือน้ำขังบนผืนนาน้อยที่สุด นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่งอกขนาด “ตุ่มตา” หวานลงไป แล้วคอยดูแลควบคุมการให้น้ำ

     ทำนาหว่านน้ำตมจะให้ได้ผลดีพื้นที่นาต้องเสมอ มีคันนาควบคุมน้ำได้ เตรียมดินเช่นเดียวกับนาดำ หลังเกี่ยวข้าวปล่อยให้เมล็ดข้าวร่วงในนางอกเพื่อลดปัญหาข้าวเรื้อ ข้าววัชพืช แล้วจึงไถดะ ปล่อยน้ำเข้าพอให้ดินชุ่ม 5-10 วัน เพื่อให้วัชพืช งอกเป็นต้นอ่อนจึงปล่อยน้ำเข้าแล้วไถแปรและคราด ใช้ลูกทุบตี ช่วยทำลายวัชพืช ทำเช่นนี้ 1-2 ครั้งหรือมากกว่า ห่างกันประมาณ 4-5 วัน หลังจากไถดะไถแปร และคราดแล้ว ขังน้ำไว้ 3 สัปดาห์ให้วัชพืชน้ำ เช่น ผักตบ ขาเขียด ทรงกระเทียม ผักปอดและพวกกกเล็ก เป็นต้น งอกเสียก่อนจึงคราดให้ละเอียดลูกหญ้าจะลอยไปติดคันนาใต้ทางลมช้อนออกได้หมด จึงระบายน้ำออกและปรับเทือกให้เสมอ สำหรับผู้ที่ใช้ลูกทุบหรืออีขลุก ย่ำฟางให้จมในดินแทนการไถ เอาน้ำแช่ไว้ ให้ฟางเปื่อยหมดความร้อน อย่างน้อย 3 อาทิตย์ จึงย่ำใหม่ เพราะแก๊สเป็นอันตรายต่อต้นข้าว ทำให้รากข้าวดำไม่สามารถหาอาหารได้ จึงระบายน้ำออกเพื่อปรับเทือก  ควรทำก่อนหว่านข้าวหนึ่งวัน เพื่อให้ตะกอนตกก่อน แล้วแบ่งกระทงนาออกเป็นแปลงย่อยๆ ขนาดกว้าง 3-5 เมตร ยาวตามความยาวของนา ถ้าคนหว่านชำนาญอาจแบ่งให้กว้าง ใช้วิธีแหวกร่อง หรือใช้ไหกระเทียมผูกเชือกลากให้เป็นร่องก็ได้ เพื่อให้น้ำตกลงจากแปลงให้หมด และร่องยังใช้เป็นทางเดินหว่านข้าว หว่านปุ๋ย และพ่นสารเคมี

     พันธุ์ข้าวจะมีผลต่อระยะการเก็บเกี่ยว  ถ้าเตรียมดินดีเมล็ดใช้เพียง 7-8 กิโลกรัมหรือ 1 ถังต่อไร่  นาที่เป็นดินทรายตะกอนน้อยหลังทำเทือกแล้วควรหว่านทันที กักน้ำไว้หนึ่งคืนแล้วจึงระบายออก จะทำให้ข้าวงอกและจับดินดียิ่งขึ้น และระดับน้ำจนถึงแตกกอไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร หลังแตกกออาจเพิ่มน้ำแต่ไม่ควรเกิน 10 เซนติเมตร  และใส่ปุ๋ยให้ถูกต้องตามความต้องการของข้าว

 กลับมาว่าถึงการทำนาของคุณชัยพร  มี  การจัดการความรู้  สู่ความสำเร็จอย่างไร

1. เรียนรู้ ความสำคัญของการเตรียมดิน   เน้นว่าต้องเป็น “กะทิ”

เป้าหมาย

     ต้องทำนา ในพื้นที่ 102 ไร่  ให้เสร็จพร้อมกับพื้นที่รอบข้าง

ผลที่ได้จากการเรียนรู้

     - ปล่อยน้ำออกเป็นอาทิตย์ดินไม่แห้ง ทำให้หญ้าและข้าวดีดไม่ขึ้นลดปริมาณหญ้าได้

     - ดินเปียกนกก็ไม่ลงกิน  ไม่ต้องไล่นก

     - ได้เทือกเป็น กะทิ ตามต้องการ พื้นนาเรียบ จัดการน้ำ วัชพืช แมลงศัตรูง่าย

     - ทำเทือกเองจะประหยัดเงิน 50,000-60,000 บาท

     - ถ้าทำเอง  ต้องทำด้วยกำลังของสองคนตา-ยาย  ใช้ระยะเวลามาก  ถ้าทำเองต้องทำทั้งกลางวันถึงมืดค่ำ อย่างน้อย 18 วัน

ต้องใช้อะไร

     - ต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพกว่าชาวนาทั่วไป

     - เครื่องมือที่ใช้ต้องมีลักษณะเป็นกล่องลูบ แทนกระดาน      เพื่อสามารถเก็บดินและปล่อยดินได้ตามต้องการ

     - ตัวเปิดปิดดินต้องใช้กระดานหน้า 12 นิ้ว เพื่อเก็บดินได้มากๆ

     - เครื่องมือต้องสามารถทำงานกลางคืนได้ แล้วนายังดูเรียบเหมือนกลางวัน

เรารู้อะไร

     - การดัดแปลงเครื่องมือทำนาด้วยวิชาความรู้ด้านช่าง

     - จ้างคนไล่นกวันละ 150 บาท 

     - ดินเป็นกะทิหมายถึงเป็นโคลนจัด นกไม่สามารถยืนได้

     - ค่าจ้างทำเทือกไร่ละ 600 บาท  ถ้าทำเทือกเองจะประหยัดกว่า

     - การจ้างทำเทือก ผู้รับจ้างจะใช้คาดเอากระดานแปะๆ ย่ำไม่ทั่ว ดินเป็นดิบๆคือดินเป็นก้อนๆ พอหว่านข้าวไปเปิดน้ำแห้ง 3 วันดินก็แตกหัวระแหงก็ทำให้หญ้าขึ้น

     - รู้จัดตนเองรู้ความสามารถ  ถ้าต้องทำด้วยกำลังของสองคนตา-ยาย  ต้องทำทั้งวันถึงมืดค่ำ ประมาณ 18 วัน จึงจะทันนารอบข้าง

เสถียรโกเศศ เล่าว่า ชาวนาจะใช้คราดเป็นซี่ๆไถกลับไปมาจนเป็นเทือก ทิ้งไว้คืนสองคืนจนดินเลนนอนน้ำแล้วจึงนำข้าวไปปักดำ เด็กก็เล่นโคลนหาปูหาปลา  การทำนาคนสมัยก่อนใช้ควาย กับคันไถ  นาอันแบ่งเป็นสองส่วนหรือสองงาน ช่วงเช้าไถได้ 1 งานพักเหนื่อย ช่วงบ่ายก็ลงมือไถงานที่สองต่อไป มักถามว่านาอันนี้ไถกี่งานจึงจะแล้วเสร็จ น่าเป็นที่มาของมาตรวัดไร่และงาน

 2. เรียนรู้เรื่องปุ๋ย

เป้าหมาย

     ลดการใช้ปุ๋ย ผลผลิตมาก ลงทุนน้อย สภาพแวดล้อมดี สุขภาพดี

ผลที่ได้จากการเรียนรู้

     - ถ้ามีการเตรียมดินล่วงหน้าก่อนน้ำท่วมเพื่อกักเก็บธาตุอาหารในระยะน้ำท่วม ดูทิศทางลมที่พัดธาตุอาหารมาให้

     - ใช้ขี้หมูใส่นาข้าว จะทำให้ลดการใช้ปุ๋ย

     - ขี้หมูไม่ต้องหมักเพราะไม่ได้กินหญ้า  ต้องใช้แบบแห้งเพราะเอาไปลงที่นาได้เลย ต้องเลือกฟาร์มที่ไม่ใช้โซดาไฟ

     - ขี้หมูถ้าหว่านให้ทั่วก่อนที่จะลูบเทือก จะไม่งามเป็นกระจุก ถ้าไม่พอใส่เป็นที่ๆ

     - การหว่านปุ๋ยใช้เครื่องสะพายประหยัดเวลากว่าการหว่านด้วยมือ

     - เครื่องเก่าญี่ปุ่นราคาถูก และทนทาน

     - ข้าวบริเวณที่ไม่งอกงามตอบสนองปุ๋ยน้ำหมักได้ดี

     - ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถใช้แทนปุ๋ย 16-20-0 ได้ใช้แล้วไม่ต่างกัน

     - ปุ๋ยอินทรีย์ตันละ 6,000 บาท ถูกกว่าปุ๋ยเคมี

     - ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ข้าวไม่งามมาก หนอนไม่ชอบ ไม่ทำลายเสียหาย

ต้องใช้อะไร

     - ใช้รถไถพลิกหน้าดินกลบฟาง ทำให้ดินเป็นช่องว่าง

     - เครื่องยนต์เก่าญี่ปุ่น เครื่องมือสอง

     - ใช้ตะข่ายในรอนสามารถทำเป็นที่ดักปลาและหอยเชอรี่

     - ปุ๋ยอินทรีย์

เรารู้อะไร

     - ทิศทางลมช่วงหน้าน้ำท่วม

     - วิชาช่างแปลงเครื่องยนต์ญี่ปุ่น

     - ปลาและหอยเชอรี่ มีมากเวลาปล่อยน้ำออกจากแปลง

     - วิธีการหมักปลาและหอยเชอรี่ เป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ

เสถียรโกเศศ เล่าว่านาน้ำฝนต้องเผาฟางเพื่อเป็นธาตุอาหารให้ข้าวเพราะไม่อาจได้รับขี้ตะกอนของน้ำที่ท่วมลบฝั่งช่วยเป็นปุ๋ยได้

3. เรียนรู้หลักการจัดการ

เป้าหมาย

     เพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารเคมี  เพื่อความเหมาะสมของแรงงาน ลดต้นทุน

ผลที่ได้จากการเรียนรู้

     - วางแผนการปลูกตาลระยะเวลาที่เหมาะสม

     - เครื่องฉีดยาคลุมวัชพืชสามารถช่วยลดระยะเวลา และแรงงานได้ดี

     - วัชพืชน้อย  โตไม่ทันข้าว ไม่ต้องใช้ยากำจัด ไม่เปลืองแรงงาน

     - ข้าวแตกกอดี รายหยั่งลึก  ลำต้นแข็งแรง

     - มีปุ๋ยจากฟางข้าวของตนไร่ละ 1 ตัน

     - ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ทำให้ข้าวงอกงาม  ประหยัดเงินและแรงงาน

     - ใช้สมุนไพรแทนสารเคมี

     - ข้าวงอกดี  ไม่มีการเข้าทำลายของเชื้อรา

     - ไม่ต้องกำจัดศัตรูข้าว เพราะมีสมดุลธรรมชาติของแมลง

     - ป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา

ต้องใช้อะไร

     - การสังเกตการเจริญเติบโตของข้าว ความแตกต่างของข้าวในแต่ละจุด ความขยัน

     - การนำเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ผ่อนแรง

     - การเรียนรู้  และการยอมรับวิชาการ และการทดลอง

เรารู้อะไร

     - ช่วงอากาศร้อนข้าวไม่ชอบ การเก็บเกี่ยวช่วงฝนตก จะทำให้ได้ผลผลิตน้อย ช่วงหน้าหนาวก็จะทำปลายหนาวหว่านประมาณกลางๆธันวาคม เกี่ยวต้นร้อนพอดี ประมาณปลายมีนาคม เมษายนร้อนมากเกินไป

     - ฉีดยาคุมระยะที่เหมาะที่สุดคือ 6 วันจึงจะคลุมหญ้าได้ดี เพราะวัชพืชยังเล็กอยู่ ไม่ต้องใช้ยามาก ข้าวก็จะไม่ได้รับผลกระทบ

     - เครื่องฉีดยาคลุมต้องเป็นเครื่องที่ฉีดยาออกมาล้วนๆ ละเอียด และแรงจะทำงานไว

     - เมื่อเอาน้ำเข้าภายในวันที่ 8 จะสามารถลดวัชพืช

     - ระยะแตกกอของข้าว  ประมาณวันที่ 25 ถ้าเอาน้ำออกเริ่มควบคุมน้ำ ข้าวเริ่มเหี่ยวก็จะวิดน้ำใส่ ข้าวจะแตกกอดี

     - รู้จักการหมักฟาง ตอซังข้าวเป็นปุ๋ย  การป้องกันแก๊สจากการหมักฟาง ต้องปล่อยน้ำให้แห้งหลังข้าวตั้งตัวได้แล้ว

     - การทำน้ำหมักชีวภาพจากนมสดเพื่อใช้เป็นฮอร์โมนร่วมกับกราดน้ำ   จะทำให้ข้าวแตกกก

     - น้ำมากข้าวไม่แตกกอ  และมีการเติบโตทางต้นและใบ อ่อนแอ เกิดเพลี้ย หนอน

     - การวิดน้ำปล่อยน้ำไหลท่วมครึ่งเดียวของแปลงน้ำจะพอกับความต้องการของข้าวระยะแตกกอ

     - แช่ข้าวในรองน้ำผสมเชื้อ โครเดอร์ม่า สามารถคัดข้าวลีบทิ้ง ข้าวจะงอกดี

     - จุลินทรีย์บางชนิดสามารถย่อยสลายฟางข้าวได้ในเวลารวดเร็ว

     - สมุนไพรจากพืชที่หาได้ง่ายสามารถป้องกันศัตรูข้าวได้

     - ปุ๋ยน้ำชีวภาพทำจากสามารถทำจากปลาและหอยใส่ขณะวิดน้ำจะประหยัดเวลาแรงงาน

     - การกำจัดศัตรูข้าวด้วย  ตัวห้ำและตัวเบียน รู้วงจรชีวิต ตำแหน่งที่เกาะ  เช่นถ้าบริเวณไหนมีแก้ปัญหาโดยใช้น้ำมันขี้โล้ว 3 ลิตรและโซล่า 2 ลิตร ผสมให้โดยเขย่าแกลลอนให้เข้ากันเป็น แล้วนำไปหยด ถ้าเป็นแค่แอ่งก็หยดล้อมแอ่งเลย และถ้าเป็นแปลงนาก็ผ่ากลางแล้วปล่อยไว้หนึ่งคืน น้ำมันจะวิ่งไปทั่ว เปิดน้ำทิ้งน้ำมันเครื่องไปทั่วก็เปิดน้ำออกน้ำยุบลงน้ำมันก็ยุบไปตามน้ำแล้วน้ำมันก็จะไปจับอยู่ที่โคนต้นข้าวถ้ามีตัวอ่อนไปจับผิวข้าวมีน้ำมันเครื่องก็จะโดดลงพื้นผิวน้ำก็จะตายเพราะน้ำมันเครื่องจะจับและถ้าเป็นตัวเต็มวัยมีปีกก็ไม่โดดก็จะขึ้นยอด เป็นอาหารนก

     - ลักษณะปกติ และไม่ปกติของการเจริญเติบโตข้าว  และวัชพืชนอกแปลง

เสถียรโกเศศ เล่าว่า  ชาวนารู้จักดินเป็นอย่างดี รู้ว่าจะปลูกอะไร แต่เรื่องน้ำ เรื่องฝน ภัยศัตรูต้องอาศัยการคุ้มครองจากสิ่งที่นับถือ การทำนาจึงมีพิธีกรรมก่อนทำนา  ศัตรูโดยมากได้แก่ นก ปู ตั๊กแตน ในพื้นนาแต่ก่อนมีน้ำใส มีผัก ปลา แมงดา ชาวนาใช้เป็นอาหาร

 4. การจัดการคัดพันธุ์ข้าว

เป้าหมาย

     ลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ได้ผลผลิตดีตามความพอใจ ลดค่าดูแลรักษา

ผลที่ได้จากการเรียนรู้

     - มีพันธุ์ข้าวปลูกใช้เอง สามารถลดต้นทุน

     - ดูแลรักษาง่าย

     - มีพันธุ์ข้าวปลูกจำหน่าย

     - สร้างภูมิคุ้มกันโดยการผลิตข้าวหลายพันธุ์เพื่อป้องกันโรคแมลง

ต้องใช้อะไร

     - แรงงาน  การกำจัดวัชพืช

เรารู้อะไร

     - การใช้ข้าวหว่านมากถึง 3-4 ถังต่อไร่  ข้าวจะขึ้นแน่นเต็มมากไป ถ้า 2 ถังต่อไร่จะแน่นพอดีแล้ว ถ้าแน่นมากจะแตกกอไม่ดี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็ไม่เห็นผล ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพราะแย่งกันกิน และต้นข้าวมากอ่อนแอเพลี้ยชอบ

     - หว่านเมล็ดพันธุ์มากต้นทุนค่าพันธุ์สูง ค่าใช้จ่ายตามมามาก “ได้มากก็เสี่ยงมากกว่าด้วยคือต้องพูดประโยคนี้ เสี่ยงมากก็ขาดทุนมาก ถ้าอากาศไม่ดีก็เสี่ยงมาก”

     - ทำพันธุ์ข้าวใช้เองลดต้นทุนเงินสดได้ไร่ละ 210 บาท หรือประมาณ 42,000 บาท

      -  ลักษณะการเติบโตของข้าวแต่ละสายพันธุ์  ความต้านทานโรคของข้าวแต่ละสายพันธุ์

     - ตลาดต้องการข้าวสายพันธุ์ใดของโรงสี ราคาของข้าว  ความต้องการข้าวพันธุ์ของคนในพื้นที่

     - การเกี่ยวข้าวของรถรับจ้าง  การให้บริการ

     - ความแตกต่างของข้าวที่ดีและไม่ดี  การคาดการผลผลิตของข้าว

เสถียรโกเศศ  เล่าว่าชาวนาสมัยก่อนมีการเก็บพันธุ์ข้าว และให้ความสำคัญมากโดยจะปลูกข้าวทำพันธุ์ในนาอันแรก  มีพิธีกรรมก่อนปลูก หลักปลูก รวมทั้งการเก็บเกี่ยว และวิธีการเก็บรักษาเป็นการเฉพาะ

 5. เรียนรู้จัดการเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

เป้าหมาย

     ต้องการให้การทำนาสามารถทำได้ง่าย เร็ว ใช้แรงงานน้อย ประหยัด ได้ผลผลิตคุ้มค่า

ผลที่ได้จากการเรียนรู้

     - มีรถไถทุกขนาดมีประสิทธิภาพ ลุยงานได้ตามสภาพนา

     - มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการไถเตรียมดิน

     - มีอุปกรณ์หว่านปุ๋ย หว่านข้าว

     - มีพาหนะขนย้าย

     - ปุ๋ยชีวภาพ  ฮอร์โมน  เชื้อราที่เป็นประโยชน์  สมุนไพร

ต้องใช้อะไร

     - เครื่องมือช่าง

     - การสังเกตขณะใช้อุปกรณ์ ประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้

     - การยอมรับการเปลี่ยนแปลง

     - ความกล้าตัดสินใจ กล้าทดลอง

     - ความขยันในการศึกษาหาความรู้

เรารู้อะไร

     - ความรู้ด้านช่าง

     - วิธีการทำปุ๋ยชีวภาพ  การทำฮอร์โมน  การทำสมุนไพรไล่แมลง การต่อเชื้อรา  ประโยชน์ การใช้งาน

เสถียรโกเศศ ว่าเครื่องไถเหล็กอย่างฝรั่ง ชาวบ้านว่าหนักวัวควายลากไม่ไหว ราคาแพง และตามธรรมดาของชาวบ้านไม่อยากเปลี่ยนแปลงเพราะไม่ไว้ใจ กลัวเดือดร้อนเสียหาย นอกจากมีใครทำให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน และเล่าว่ากรมการอำเภอถูกสั่งให้แนะนำชาวบ้านป่าให้รู้จักใช้ไถอย่างฝรั่ง พอใช้จริงไถก็กินดินลึกจนถึงดินดาน ชาวบ้านรู้ว่าดินดานปลูกอะไรไม่งามก็เลยไม่ยอมรับ ถูกขู่มากเข้าก็หนีหายเข้าป่าไป

 

สรุปความว่า

คุณชัยพรเป็นคนขยัน ใฝ่รู้ ศึกษา เรียนรู้ตลอดเวลา ยอมรับการเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจ แล้วนำมาใช้ไม่ใช่รู้ไว้รกสมอง ช่างสังเกต เช่น นำจุลินทรีย์มาใช้โดยสังเกตว่า “ต้นไม้ใหญ่ยังนิ่มแล้วฟางจะไปเหลืออะไร” ( ว่าแต่พวกจุลินทรีย์ที่กินต้นไม้จะกินฟางเป็นหรือเปล่า? ) เสียดาย  ยังขาดการจดบันทึกองค์ความรู้  จึงไม่สามารถนำความรู้มาทำการประมวล เพื่อการแบ่งปัน ถ่ายทอดให้ลูกหลานและผู้เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะความรู้ที่ฝังลึกเป็นทักษะที่เราผู้สอบถามพูดคุยไม่สามารถเรียนรู้ได้  เท่ากับหมดโอกาสในการนำไปพัฒนาต่อยอด  และยากที่จะมีชาวนาที่ชื่อชัยพรคนที่ 2 , 3 ,4 ….

                                                                                                                                                ขวัญชัย 

หมายเลขบันทึก: 392309เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2010 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณคุณขวัญชัยมากครับ
  • ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติม
  • มีอะไรพอช่วยได้ยินดีครับ
  • ครั้งก่อนแวะไปช่วยพี่เดชามา
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/234167
  • เรียนกับอาจารย์ตุ้มใช่ไหมครับ

อ่านแล้วได้ความรู้ และสะท้อนใจดีครับ

ขอบคุณที่อ่านครับ..

ผมประเภทมวยวัด ปกติชกในวัดรอบนี้ขึ้นเวทีใหญ่ ต้องขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท