บทเรียนจากการทำงานกับชุมชน: ความยากและอุปสรรคในการพัฒนาชุมชน


อาการที่เป็นอยู่คือ ความฟุ้งเฟ้อกับบริโภคนิยม หมุนหนี้ใช้หนี้ และการใช้เงินในอนาคตกำลังเฟื่องฟูอย่างสุดๆ จากการเช่าซื้อ ผ่อนส่ง แบบหาทุกวิถีทางที่จะทำให้คนเข้าไปติดในกับดักให้ได้

ช่วงนี้ผมอยู่ในขั้นวางแผนงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรยากจน

ตามเงื่อนไขของโครงการที่กำลังพัฒนาโครงร่าง ที่ถ้าได้รับการอนุมัติจริงจะต้องเริ่มงานภายในปลายปีนี้

เงื่อนไขที่สำคัญคือ

เป็นเงินกู้ระยะยาว แบบปลอดต้น ๒ ปี ปลอดดอก ๑๐ ปี เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนางานได้ โดยไม่ต้องพะวักพะวนกับการจ่ายดอกรายปี

เนื่องจากประสบการณ์ของกลุ่มเกษตรกรที่กู้เงินจากภายนอกไปทำงาน พบว่า

ดอกเบี้ยเงินกู้มาทำงานมักจะเท่าๆกับกำไรที่ได้ในแต่ละปี ทำให้เท่ากับทำงานฟรี

แค่ได้เงินจ่ายดอกให้ธนาคารเท่านั้น ไม่มีทางพัฒนาอะไรต่อได้เลย ไม่ขาดทุนก็ถือว่าเคราะห์ดีแล้ว

จึงคาดว่ากองทุนพัฒนาเกษตรกรแบบนี้จะช่วยให้เกษตรกรพัฒนาได้ดีกว่าเดิม

เพื่อทำงานกับชุมชนที่มีความพร้อมที่จะนำร่องทำงานเป็นแกนนำและตัวอย่างในการพัฒนา โดยใช้ความรู้ ทักษะ และความสมารถในการบริหารจัดการของชุมชน

อันเนื่องมาจากผลการทำงานพัฒนาที่ผ่านมานั้น ได้เกิดผลทางบวกต่อโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ แต่กลับส่งผลลบต่อชุมชนมากมาย ทำให้ชุมชนส่วนใหญ่อ่อนแอ

มีกองทุนเข้ามาช่วยอย่างต่อเนื่อง ก็กลับกลายเป็น “กองทุกข์”

ที่ทำให้ชาวบ้านใช้วิธีกู้หนี้ใช้หนี้ แบบเดียวกับคนจนในเมือง

จนทำให้หนี้สินพอกพูนเรื่อยๆแบบหาทางออกยาก นอกจากขายที่ ส่งลูกหลานไปตายดาบหน้า ในโรงเรียน สถาบันการศึกษา ทำงานโรงงาน บริษัท บริการสารพัดรูปแบบ

รวมถึงการพยายามที่จะทำงานต่างประเทศ ที่ได้รับการยกย่องระดับชาติว่าช่วยดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามา

แต่หลังจากนั้นก็แทบไม่มีใครคิดว่ามีข้อควรระวังหรือพึงแก้ไขใดๆ ที่ต้องทำบ้าง

สิ่งที่ผมพยายามรวบรวมจากประสบการณ์ตรงกับการทำงานกับชุมชนมากว่า ๒๕ ปี พบว่า

ปัจจุบันชุมชนทั้งในชนบทและในเมืองอ่อนแอลงอย่างมาก

ระดับครอบครัวและปัจเจกก็วิ่งตามและเป็นเบี้ยล่างของกระแสเศรษฐกิจที่ใหญ่ว่าเป็นชั้นๆ

อาการที่เป็นอยู่คือ ความฟุ้งเฟ้อกับบริโภคนิยม หมุนหนี้ใช้หนี้ และการใช้เงินในอนาคตกำลังเฟื่องฟูอย่างสุดๆ จากการเช่าซื้อ ผ่อนส่ง แบบหาทุกวิถีทางที่จะทำให้คนเข้าไปติดในกับดักให้ได้ ตั้งแต่

  • ซื้อแบบไม่ต้องมีเงินดาวน์ ทั้งๆที่แต่ก่อนจะซื้ออะไรต้องดาวน์ครึ่งหนึ่ง ลดลงมาเป็นหนึ่งในสี่ ลดลงมาสิบเปอร์เซ็นต์ ห้าเปอร์เซ็นต์ จนปัจจุบันไม่มีดาวน์
  • จนกระทั่งบางครั้งมีเงินสดแถมให้ด้วย เช่น เงินติดล้อ เงินค่าซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเป็นต้น
  • การรับจำนำโฉนด ทะเบียนรถต่างๆ ฯลฯ
  • การจำนำตำแหน่งการงานและเงินเดือนในอนาคต โดยกลุ่มบริการเงินด่วนทั้งหลาย

ความผิดพลาดในการใช้ชีวิตในเมืองของลูกหลาน ก็จะกลับมาสร้างภาระให้กับชุมชนชนบทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะค่านิยมความฟุ้งเฟ้อจะเชื่อมโยงกันไปหมด

ในชนบทก็อยู่แบบมีทางเลือกให้กับตัวเองน้อย จากความเชื่อที่ไม่สร้างสรรค์ที่อาจเคยเป็นประโยชน์ในอดีต และความเคยชินที่ล้าสมัย  ที่เป็นเหตุให้มีการทำตามกันไปเรื่อยๆโดยไม่คิด

แต่กลับต้องมาเผชิญปัญหาใหม่ๆ ทำให้ความรู้ไม่พอใช้ แต่ไม่ค่อยคิดสร้างใหม่ กลับไปนิยม ชื่นชมกับการพึ่งพาภายนอก ไม่พยายามพึ่งตนเอง มีความคิดแบบสุขนิยมที่หลงทาง ชอบทำงานน้อย อยากได้มาก ได้เร็ว คิดว่าสบาย

นอกจากนี้ในระบบสังคมใหญ่ ยังมีการโฆษณาเผยแพร่ ของทั้งทางราชการและธุรกิจเอกชน ให้เชื่อว่าการพึ่งคนอื่น พึ่งภายนอกเป็นเรื่องสบาย

เช่น รถไถ รถหว่าน รถดำ ฉีดสารเคมีสารพัดชนิด รถเกี่ยว รถนวด และสุดท้ายที่โรงสีข้าว ที่ถือว่าเป็นชีวิตที่สะดวกสบาย โดยไม่ดูผลกระทบด้านอื่นๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากร สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาที่สนับสนุนอยู่บ้างก็เป็นแบบแยกส่วน กระทบทำลายส่วนอื่นๆ อย่างมากมาย ก็มักขาดการประเมินที่เป็นจริงเพื่อการปรับปรุง แต่ก็ประเมินเพื่อให้แล้วๆไปมากกว่า

เพราะการทำงานต่างๆนั้น มักสนับสนุนโดยวิชาการสายเดี่ยว การพัฒนางานวิชาการแยกส่วน หรือแม้กระทั่งการพัฒนางานวิชาการครึ่งทางและหรือหลงทาง

โดยขาดการพิจารณาว่า สภาพชนบทปัจจุบันนั้น ทรัพยากรมีน้อยและจำกัดแทบทุกด้าน และยังอยู่กับความแปรปรวนของธรรมชาติ ที่มีอัตราเสี่ยงสูง ทรัพยากรส่วนใหญ่มีอัตราเสื่อมโทรมสูง และใช้ประโยชน์ได้น้อยลงเรื่อยๆ

แต่ เกษตรกรทั่วไปก็ยังเน้นการผลิตเพื่อขาย ที่สนใจเฉพาะปริมาณที่ได้ โดยแทบไม่มีโอกาสคิดถึงคุณภาพ ความยั่งยืน และความปลอดภัยของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

 เนื่องจากระบบการผลิตนั้น เน้นการใช้สารพิษ สารเคมีที่ทำลายระบบความเข้มแข็งของทรัพยากร

นอกจากนี้เกษตรกรทั่วไปยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และหลักในการรักษาสุขภาพที่ถูกต้อง มีการบริโภคสารเสพติด

แม้จะยากจน แต่เวลามีงานอะไรก็ยังติดค่านิยมความฟุ้งเฟ้อ อวดโอ้ รักษาหน้าแบบเสียเท่าไหร่ไม่ว่า ทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว

สุดท้ายก็มาถึงจุดที่หนียาก คือ การนับถือเงินเป็นเป้าหมายหลักของชีวิตและครอบครัว ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน แม้แต่การขายตัว(ถ้ามีคนซื้อ) ขายศักดิ์ศรี ยอมทำทุกอย่างขอเพียงแค่ได้เงิน

เรื่องความยากจนได้แทรกเข้าไปในการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ตั้งแต่การเมืองท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. จนกระทั่งการเมืองระดับชาติ ทำให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ที่มีผลกระทบต่อปัญหาการขัดแย้งในชุมชน แม้แต่ในเครือญาติกันเอง

กลายเป็นสังคมที่เน้นการเอาเปรียบมากกว่าการพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันเอง การรวมกลุ่มต่อรองหรือสร้างพลังมีน้อย มีแต่กลุ่มเล็กๆในระหว่างเพื่อนสนิทและญาติใกล้ชิด

ทุกอย่างอยู่ในสภาพพันกันนัวเนียไปหมด ที่การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความเข้าใจระบบชุมชน และสนับสนุนหรือปล่อยให้ชุมชนแก้ไขและพัฒนาตัวเองจึงจะได้ผลที่ยั่งยืน

ฉะนั้น จากบทเรียนที่พบมา จึงน่าจะพอหาทางออก ได้คร่าวๆ ดังนี้

  • การสนับสนุนให้ชุมชนมีโอกาสทำความเข้าใจตนเอง ชุมชน และสังคมที่เกี่ยวข้อง
  • สนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนเข้าใจทรัพยากร ขีดจำกัดและศักยภาพของทรัพยากรที่มี
  • เน้นการฟื้นฟูและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการพึ่งตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ในทุกด้าน
  • และสุดท้าย และสำคัญมากคือ การน้อมนำระบบเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในชีวิตและกิจกรรมประจำวัน ทั้งในระดับปัจเจก ครัวเรือน และชุมชน
  • ก็อาจจะเป็นแนวทางในการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนเข้มแข็งได้

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับชุมชน ระดับกลุ่ม และระดับปัจเจก ในการทำงานพัฒนาชุมชนครั้งนี้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 392088เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เราปล่อยปละละเลยกันมานานแล้ว เรื่องสร้างคน คนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด เราใช้วิธีใส่กล่องเขย่าๆ แล้วบอกว่านี้คือการพัฒนาการศึกษา เพื่อเป็นเลิศทางวิชาการ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เสพสุขติดทุนนิยมวัตถุนิยม สื่อทุกสื่อที่ขาดความรับผิดชอบคือตัวกระตุ้นและขยายผลทุนนิยม จนติดยิ่งกว่ายาเสบติด ผู้ติดยาเสบติด ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยกันรักษาเยียวยา คืนคนดีให้สังคมได้บ้าง แต่ติดวัตถุนิยม และทุนนิยมซิใครรับผิดชอบ ภูมิต้านทานทุนนิยมนั้นถูกลืมไปเสียสนิท ไม่มีใครใส่ใจ คิดว่ามีเงินแล้วจะสุขสบาย ทิ้งธรรมชาติ ทิ้งความเป็นตัวตนของตัวเอง ดูแคลนภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นรากเง้าของชาติ แย่งชิงทรัพยากรแบบขาดสติ เพราะติดเสบสุข คิดว่าเสบให้มากที่สุดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ตายไปแล้วจบกัน ไม่มีคำว่าบาปกรรมในชาตินี้และชาติหน้า จึงขาดสติทำร้ายทำลายตัวเองแผ่นดินเกิด.....วิธีแก้มันมี....แต่ใครจะแก้ล่ะ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่เราสามารถทำให้ตัวเราเป็นคนดีได้มิใช่หรือ

"...ความฟุ้งเฟ้อกับบริโภคนิยม หมุนหนี้ใช้หนี้ และการใช้เงินในอนาคตกำลังเฟื่องฟูอย่างสุดๆ จากการเช่าซื้อ ผ่อนส่ง..."

Thailand's 2554 National Budget of THB 2 trillions which includes the highest-ever public debts (some 50% of GDP) is probably the best example of the economic problems you outlined above. We try so hard to live in sufficiency way. We try so hard to make communities strong. But we have politicians who dream of greatness by putting Thailand in high debts. What would be your solution if for every THB 1.00 we earn we have to pay THB 0.50 + interest to our lenders? We could say goodbye to savings, to holidays, to pensions -- in fact if we don't work and earn income for 1 day, we will have to pay back 2 days of loan in the next day. It could mean we don't even have enough to buy food to eat on the next day.

We need to solve the problems on the ground. We have to solve the problems up the top. And we will pray for all those people in between -- may we serve all our lenders so they live happily forever.

OK, cynicism asides, the question is how do make enough money to pay our public debts, to pay for middlemen and service agencies, to earn sufficient living among real producers (farmers and workers)? Productivity and innovation are the common target areas. (Productivity is about producing more at lower costs; Innovation is about producing new high-revenue-low-competition markets.)

Thess answers are well at odds with sufficiency economy of families and communities. The nation needs higher GNP (that is bigger pool to collect taxes); middlemen and service agencies need fast turn-over to make profits and commission; the producers must therefore be pressed to work more and to spend more. Their misery can be exploited further by promises of better life (later or in the next life), better opportunities for their children (higher education or membership of certain institution), and better personification (poor but pure and virtuous). It is unfortunate that these mechanisms do not work well across the range of incomes in society and probably do not apply at all in governments.

In other words, farmers' economic problems have more stakeholders than just themselves. The farmers will always be forced to pay more than their sufficient shares to support other people and governments' policies. We may draw analogy from cock fighting. The cocks will fight to death; the cock owners may win some bets; but the ring masters always make money from cocks.

          ความห่วงใยในปรากฏการณ์นี้มีที่มาจากปัญหาที่เห็นกันอยู่ทุกวันว่า เรามีวิถีชีวิตที่ ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เราคิด เราทำทุกอย่างก็เพื่อเงิน จากเดิมที่ชาวชุมพรปลูกข้าว ทำนา สร้างสวน ฯลฯ เราเดินอยู่บนวิถีของการ ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง เราทำทุกอย่างเพื่อพึ่งตนเองให้อยู่ได้ทั้ง ข้าว ยา อาหาร บ้าน พลังงาน และการกำจัดของเสีย แต่วันนี้เราหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้เคมีในการเกษตร และพึ่งปัจจัยการผลิตเกือบทั้งหมดจากบริษัท เกษตรกรส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะที่ดินที่เป็นของตัวเอง ไม่ถึงกับต้องไปเช่าเขาทำนา-ทำไร่เหมือนกับเกษตรกรในภาคต่าง ๆ ของประเทศ
          <อ่านต่อ> Click : http://gotoknow.org/blog/buildchumphon/385817

เป็นการวิเคราะห์ประเด็นได้ลึกซึ้งและชัดเจนมาก ควรแก่การนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศครับ

แต่ผมสงสัยว่าผู้บริหารจะไม่ค่อยมีเวลาคิดได้ละเอียดขนาดนี้ครับ

สงสัยว่าชาตินี้จะทันหรือเปล่าก็ไม่รู้ อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท