Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

สะสมเงิน เป็นทุนชีวิต


“เมื่อเพื่อนๆมีเงินที่ได้มาจากการทำงานโดยสุจริต  เพื่อนๆใช้จ่ายเงินอย่างไรค่ะ”  วันนี้แพรนำแนวคิดการบริหารจัดการเงินแนวพุทธศาสนา  มาฝากเพื่อนๆค่ะ  เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในชีวิตที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่เพื่อนๆ ค่ะ

  แล้วมันเกี่ยวกับการทอดกฐินยังไงหรือค่ะ  แหม..ไม่อยากบอกเลยค่ะว่า “เกี่ยวอย่างแรงนิ” มาค่ะ  มาทางนี้แพรจะอธิบายให้ฟังค่ะ  ซึ่งแพรก็ได้ค้นข้อมูลจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  มาบอกเล่าให้เพื่อนๆฟังเลยนะคะ

 

เพื่อนๆรู้ไหมค่ะ  บุคคลที่จะเรียกได้ว่า รู้จักหา  รู้จักใช้ทรัพย์ หรือหาเงินเป็น  ใช้เงินเป็นนั้น  จะต้องเป็นบุคคลทำมาหากินที่ดี  มีอาชีพที่ดี  ตั้งตัวสร้างหลักฐานได้และใช้ทรัพย์สมบัติให้เป็นประโยชน์  จะต้องปฏิบัติตนตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา  ตามขั้นตอนดังนี้ค่ะ

  ขั้นที่ ๑ หาทรัพย์และรักษาสมบัติ

       โดยการปฏิบัติตามหลักธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน หรือหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตสังวัตตนิกธรรม 4 ประกา (หัวใจเศรษฐี) ได้แก่

 1. “อุฏฐานสัมปทา”  ถึงพร้อมด้วยความหมั่น (อุ) คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และการประกอบอาชีพที่สุจริต (สัมมาอาชีวะ) ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตรา หาวิธีการที่เหมาะที่ดี จัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี

 2. “อารักขสัมปทา” ถึงพร้อมด้วยการรักษา  (อา) คือ รู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย

 3. “กัลยาณมิตตตา” คบหาคนดีเป็นมิตร (กะ) คือ รู้จักเสวนาคบหาคน ไม่คบไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลือกเสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถือ และมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน

 4. “สมชีวิตา” เลี้ยงชีวิตแต่พอดี (สะ) คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เป็นอยู่พอดีสมรายได้ มิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้

 

  ขั้นที่ ๒  จัดสรรทรัพย์

เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้ว รู้จักจัดสรรทรัพย์นั้นโดยถือหลักการแบ่งทรัพย์เป็น 4 ส่วน เรียกว่า "โภควิภาค 4 "(การแบ่งโภคะเป็น 4 ส่วน, หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น 4 ส่วน - fourfold division of money) คือ

          1. เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย (1 ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์ - On one part he should live and do his duties towards others.)  คนที่ควรบำรุงนั้นขอยกตัวอย่างตามหลักธรรม  ทิศ 6 คือ หลักธรรมที่สอนให้เราปฏิบัติต่อบุคคลรอบด้าน ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแบ่งบุคคลที่อยู่รอบตัวเราออกเป็น 6 ด้าน เปรียบเสมือนทิศทั้ง 6 ประกอบด้วย 

  1. ทิศเบื้องหน้า หรือ ทิศตะวันออก หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง บุตร และ บิดา มารดา

  2. ทิศเบื้องขวา หรือ ทิศใต้ หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง ศิษย์ และ ครูบาอาจารย์

  3. ทิศเบื้องหลัง หรือ ทิศตะวันตก หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง สามี และ ภรรยา

  4. ทิศเบื้องซ้าย หรือ ทิศเหนือ หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง เพื่อน และ มิตรสหาย

  5. ทิศเบื้องบน หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง ฆราวาส และ สมณะ

  6. ทิศเบื้องล่าง หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา

 

          2 - 3. ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย  (2 ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน - With two parts he should expand his business.)  ถ้าเป็นพ่อค้าที่ดี ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญ ๆ ด้วยกัน ๓ ประการ ที่เรียกว่า ปาปณิกธรรม ๓ คือ ๑) จักขุมา เป็นคนหูไวตาไว ๒) วิธูโร มีความขยันขันแข็ง ๓) นิสสยสัมปันโน ให้ความสำคัญแก่ลูกค้า

 

         4. จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย (อีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น - And he should save the fourth for a rainy day.) เช่น เมื่อทำธุรกิจประสบปัญหาหรือขาดทุน หรือประสบอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม รวมถึงอาจเสียภาษีย้อนหลัง ให้นำทรัพย์จากส่วนนี้มาใช้ได้ ค่ะ

 

  ขั้นที่ ๓ จับจ่ายใช้สอย  

บุคคลต้องเข้าใจและคำนึงไว้เสมอว่า การที่เราเพียรพยายามแสวงหา รักษาและครอบครองโภคทรัพย์ไว้นั้น ก็เพื่อจะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น ถ้าไม่ใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดคุณประโยชน์แล้ว การหาและการมีทรัพย์สมบัติก็ปราศจากคุณค่าหาความหมายอันใด ๆ มิได้ (ขนาดนั้นเชียวหรือค่ะ) ดังนั้น เมื่อมีทรัพย์หรือหาทรัพย์มาได้แล้ว พึงปฏิบัติต่อทรัพย์หนึ่งส่วนแรกในขั้นที่ ๒ ตาม "หลักโภคอาทิยะ หรือ โภคาทิยะ 5" (uses of possessions ) คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ หรือ เหตุผลที่อริยสาวกควรยึดถือ ในการที่จะมีหรือครอบครองโภคทรัพย์ (benefits one should get from wealth; reasons for earning and having wealth) 5 ประการ ดังพุทธพจน์ว่า

 

 “อริยสาวกแสวงหาโภคทรัพย์มาได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยทางสุจริตชอบธรรมแล้ว”

 

 1. เลี้ยงตัว มารดาบิดา บุตร ภรรยา และคนในปกครอง

ทั้งหลายให้เป็นสุข  (to make oneself, one’s parents, children, wife, servants and workmen happy and live in comfort)

 2. บำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงาน

ให้เป็นสุข (to share this happiness and comfort with one’s friends)

 3. ใช้ป้องกันภยันตราย

(to make oneself secure against all misfortunes)

 4. ทำพลี 5 อย่าง

(to make the fivefold offering) คือ สละเพื่อบำรุงและบูชา 5 อย่าง

     ๑. ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ (to relatives, by giving help to them)

     ๒. อติถิพลี ต้อนรับแขก (to guests, by receiving them)

     ๓. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ (to the departed, by dedicating merit to them)

     ๔. ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น (to the king, i.e., to the government, by paying taxes and duties and so on)

     ๕. เทวตาพลี ถวายเทวดา* คือ สักการะบำรุงหรือทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชา ตามความเชื่อถือ (to the deities, i.e., those beings who are worshipped according to one’s faith)

              ในจูฬนิทเทส ท่านอธิบายความหมายของ “เทวดา” ไว้ว่า ได้แก่สิ่งที่นับถือเป็นทักขิไณย์ของตนๆ (เย เยสํ ทกฺขิเณยฺยา, เต เตสํ เทวตา -- พวกไหนนับถือสิ่งใดเป็นทักขิไณย์ สิ่งนั้นก็เป็นเทวดาของพวกนั้น) และแสดงตัวอย่างไว้ตามความเชื่อถือของคนสมัยพุทธกาล ประมวลได้เป็น 5 ประเภท คือ

            1. นักบวช นักพรต (ascetics) เช่น อาชีวกเป็นเทวดาของสาวกอาชีวก นิครณถ์ ชฎิล ปริพาชก ดาบส ก็เป็นเทวดาของสาวกนิครนต์เป็นต้นเหล่านั้นตามลำดับ

            2. สัตว์เลี้ยง (domestic animals) เช่น ช้างเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาช้าง ม้า โค ไก่ กา เป็นต้น ก็เป็นเทวดาของพวกถือพรตบูชาสัตว์นั้นๆ ตามลำดับ

            3. ธรรมชาติ (physical forces and elements) เช่น ไฟเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาไฟ แก้ว มณี ทิศ พระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชาสิ่งนั้นๆ ตามลำดับ

            4. เทพชั้นต่ำ (lower gods) เช่น นาคเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชานาค ครุฑ ยักษ์ คนธรรพ์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชานาคเป็นต้นเหล่านั้นตามลำดับ (พระภูมิจัดเข้าในข้อนี้)

             5. เทพชั้นสูง (high gods) เช่น พระพรหม เป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาพระพรหม พระอินทร์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชาพระอินทร์ เป็นต้น

            สำหรับประชาชนที่ยังมีความเชื่อถือในสิ่งเหล่านี้ พระพุทธศาสนาสอนให้เปลี่ยนแปลงเพียงแค่เลิกเซ่นสรวงสังเวยเอาชีวิตบูชายัญ (การเอาชีวิตคนหรือสัตว์ไปฆ่าหรือสังเวย  มันผิดศีลข้อ 1 ค่ะ) หันมาบูชายัญชนิดใหม่ คือ บริจาคทานและบำเพ็ญกุศลกรรมต่างๆ อุทิศไปให้แทน คือ มุ่งที่วิธีการอันจะให้สำเร็จประโยชน์ก่อน ส่วนการเปลี่ยนแปลงความเชื่อถือเป็นเรื่องของการแก้ไขทางสติปัญญา ซึ่งประณีตขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะนักบวชในประเภทที่ 1 แม้สาวกใดจะเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำให้อุปถัมภ์บำรุงนักบวชนั้นต่อไปตามเดิมค่ะ

  5. อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ และเหล่าบรรพชิต 

หรือ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมาในกิเลส

เมื่อได้ใช้โภคทรัพย์ทำประโยชน์อย่างนี้แล้ว ถึงโภคทรัพย์จะหมดสิ้นไป ก็สบายใจได้เลยค่ะว่า ได้ใช้โภคทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ถูกต้องตามเหตุผลแล้ว ถึงโภคทรัพย์เพิ่มขึ้นก็สบายใจ เช่นเดียวกัน เป็นอันไม่ต้องเดือดร้อนใจในทั้งสองกรณี

           การใช้จ่ายใน 5 ข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อแจกแจงรายการที่พึงจ่าย ให้รู้ว่าควรใช้ทรัพย์ทำอะไรบ้าง ไม่ได้หมายความว่าให้แบ่งส่วนเท่ากันไปทุกข้อนะคะ นอกจากนั้น  การใช้จ่ายใน 5 ข้อนี้ ยังกล่าวเฉพาะรายการที่พึงจ่ายเป็นประจำสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าผู้ใดมีความสามารถก็ควรบำเพ็ญประโยชน์ให้มากขึ้นไปอีกตามหลัก สังคหวัตถุ ๔ เป็นต้นค่ะ

  นอกจากนั้นนะคะ  ภาษิตไทยโบราณได้สอนเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพย์ไว้ ๕ ส่วน คือ  เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้ว  ควรแบ่งทรัพย์ไว้จับจ่ายใช้สอย ใน ๕ ส่วน  ดังนี้ค่ะ

             ๑) ใช้หนี้เก่า

หมายถึง ให้ใช้จ่ายดูแล  เลี้ยงดูบิดา  มารดา ทดแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ ครูอาจารย์ ผู้ให้โอกาส และผู้ช่วยเหลือเรา  ให้เค้ามีความสุขสบายค่ะ  แสดงถึงความกตัญญู กตเวทีค่ะ

             ๒) ใส่ปากงูเห่า

หมายถึง ใช้จ่ายดูแล  เลี้ยงดูภรรยา  สามี  และบุตร ธิดา ให้เค้ามีความสุขสบายค่ะ

             ๓) ฝังดินไว้

หมายถึง การทำบุญ  สร้างกุศล  สละทรัพย์เป็นทาน  ในการสร้าง  การส่งเสริม  การทำนุ บำรุงรักษาพระพุทธศาสนา  หนทางในสังสารวัฏยังอีกยาวไกลนะคะ ชาตินี้เรายังไม่บรรลุโสดาบัน  ชาติหน้าก็ยังต้องเดินทางอีกไกล  การทำบุญจึงเหมือนการฝังดินเอาไว้  เป็นการเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวค่ะ ในภายหน้าค่ะ 

  สะสมอะไรก็ไม่เท่าสะสมอริยทรัพย์ค่ะ ลงทุนอะไรก็ไม่เท่าลงทุนในบุญค่ะ  เพราะนี้เป็นทุนชีวิตของแท้และแน่นอนที่จะติดตามเราไปทุกภพ ทุกชาติค่ะ

images ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้กับสุทัตตะ ว่า  

 

“ดูก่อนสุทัตตะ สังสารวัฏนี้หาเป็นเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้นตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาคือ ความแก่ชรา ความเจ็บป่วยทรมาน และความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ

 

อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคที่เทียมเกวียนแล้ว จะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์สังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจของสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบล้ออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว

             ๔) ทิ้งลงเหว

หมายถึง ใช้กิน ใช้จ่าย ในแต่ละวัน พวกนี้เป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้แล้วหมดไป ไม่ส่งผลตอบแทนค่ะ

             ๕) ให้เขายืม

หมายถึง ให้บุตรธิดาใช้จ่าย ขณะที่เขาไม่สามารถมีรายได้  ใช้เลี้ยงชีพไปก่อนค่ะ

 

  เห็นไหมค่ะเพื่อนๆ  แค่คิดจะสะสมเงินตอนนี้ สำหรับทอดกฐินที่วัดป่าเจริญราช ตอนปลายปี  เพื่อสร้างอุโบสถ  เพื่อนๆจะได้อะไรมากกว่าที่คิดอีกค่ะ  ไม่ใช่แค่บุญธรรมดานะคะ  สิ่งที่เรากำลังทำด้วยกันเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่เราสามารถร่วมแรงร่วมใจกันทำได้อย่างดีเลยค่ะ  เป็นกฐินสามัคคีค่ะ  สนใจไหมค่ะทำบุญครั้งหนึ่งในชีวิต  ด้วยการรับเป็นเจ้าภาพกฐินสามัคคีสัก 1 กองค่ะ 555

 

 บรรณานุกรม

         A.III.45 องฺ.ปญฺจก. 22/41/48.

         Ndii 308  ขุ.จู. 30/120/45.

         D.III.188.  ที.ปา. 11/197/202

             

 

  ขอให้บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองทุกคนนะคะ

 เพื่อนๆสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบุญกฐินกับแพร  ได้ที่นี่ค่ะ

 ชื่อบัญชีบุญ  แพรภัทร  ยอดแก้ว

 เลขที่  159-2-05143-5

 สาขา  ม.สยาม  บัญชี ออมทรัพย์

 ธนาคาร ทหารไทย

 images สาธุ  สาธุ  สาธุ อนุโมทามิ

 

 โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ

 

 อ่านบันทึกการสะสมบุญที่ผ่านมาได้ที่นี่ค่ะ 

 

 เริ่มต้นแห่งศรัทธา

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/386592

 บัญชีบุญ

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/386630

 บุญพิเศษกับงานพิเศษ

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/386848

  ญาติธรรมใจบุญ

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/387458

 มารไม่มี บารมีไม่เกิด

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/388815

 บำเพ็ญบารมี 10 ทัศ

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/389697

 อานิสงส์ของการถวายผ้า

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/390329

 ปาฏิหาริย์แห่งการอธิฐานจิต

http://gotoknow.org/blog/kathinceremony/394853

หมายเลขบันทึก: 391824เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วมีเนื้อหาที่ดีมากค่ะขอบคุณนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท