เด็กผู้หญิงกับไอซีที ความเสี่ยง และ โอกาส


แนวคิดพื้นฐานในการจำแนกปัญหาความเสี่ยงและโอกาสด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) เนื้อหาของสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) พฤติกรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ (๓) วัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

บทคัดย่องานวิจัย (ดาวน์โหลดเอกสารเต็ม)
 
จากการศึกษาวิจัยในประเด็นเรื่อง เด็กผู้หญิงกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาใน ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) เพื่อศึกษาถึง สถานการณ์ ทัศนคติ อันเป็นปัญหาความเสี่ยง และ สถานการณ์ด้านโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กผู้หญิง  (๒) เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวคิดพื้นฐาน และ มาตรการในการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มโอกาส (๓) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงในการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


ในส่วนของวิธีการในการศึกษาประกอบด้วย ๔ วิธีการ กล่าวคือ (๑) การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง (๒) การจัดทำสนทนากลุ่มย่อย หรือ focus group ในกลุ่มเด็กผู้หญิง และ เด็กผู้ชาย ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง กล่าวคือ  จังหวัด กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ระนอง และ เชียงราย (๓) การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหา ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ และ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ (๔) การเก็บข้อมูลจากการสำรวจผ่านระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์


ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเด็กมีด้วยกัน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และ เกมคอมพิวเตอร์


ในแง่ของลักษณะในการใช้งาน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กผู้หญิงในเขตเมืองและนอกเมืองมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในเขตนอกเมือง กล่าวคือเชียงรายและระนอง จะมีอัตราส่วนในการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด รองลงมาคือ อินเทอร์เน็ต และ เกมคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เขตในเมือง มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต มากที่สุด รองลงมาคือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ เกมคอมพิวเตอร์


จากการศึกษา ได้สังเคราะห์แนวคิดพื้นฐานในการจำแนกปัญหาความเสี่ยงและโอกาสด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) เนื้อหาของสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) พฤติกรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ (๓) วัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


ในส่วนความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจำแนกตามช่วงวัย พบว่า

            (๑) ในส่วนของอินเทอร์เน็ต ในช่วงของวัยเด็กผู้หญิง ปัญหาความเสี่ยงจากเนื้อหาในการเข้าถึงสื่อที่ผิดกฎหมาย และ สื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะในเรื่องของเนื้อหาทางเพศ เป็นปัญหาความเสี่ยงมากที่สุด รองลงมาก็คือ

            (๒) ปัญหาในเชิงวัฒนธรรมในการใช้งาน ที่เกี่ยวกับการใช้มากจนอาจถึงขั้นการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบได้น้อยกว่าในกลุ่มเด็กผู้ชาย ในขณะที่

            (๓) ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นผู้หญิง ปัญหาความเสี่ยงจากพฤติกรรมในการใช้งาน เป็นปัญหาความเสี่ยงในลำดับต้นๆ กล่าวคือ การออกไปพบกับคนแปลกหน้าที่ได้รับการติดต่อจากการสนทนาออนไลน์ การถูกล่อลวง การถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางมิชอบ โดยเฉพาะ ในเว็บไซต์ลามกอนาจาร รวมทั้ง การถูกหมิ่นประมาทให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ในขณะที่

            (๔) เด็กผู้หญิงในเขตนอกเมือง ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากกกว่าอินเทอร์เน็ต และ ระบบการสนทนาออนไลน์ เพราะมีความสะดวกมากกว่า โดยใช้พูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ได้เบอร์ติดต่อจากระบบการสนทนาออนไลน์ และยังส่งผลต่อปัญหาเรื่องของค่านิยมในการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปัญหาเรื่องการค้าประเวณี และ ปัญหาเรื่องการค้ายาเสพติด


ด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า

         (๑) เด็กผู้หญิงและวัยรุ่นหญิงทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ภายใต้กิจกรรมด้านการศึกษาที่ได้รับมอบหมาย ทั้งในระบบการเรียนการสอนในห้องเรียน และ ระบบการทำงานกิจกรรมนอกห้องเรียน

        (๒) ส่วนของโอกาสในเชิงพฤติกรรมจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในกลุ่มเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นหญิงทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง มีการใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ เกมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี และ ทักษะทางภาษาในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติ ไม่เพียงเท่านั้น

        (๓) ในด้านวัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีกลุ่มเด็กผู้หญิงในเขตนอกเมืองและในเมือง กล่าวคือ เชียงรายและชลบุรี มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ให้กับตนเอง รวมทั้ง ชุมชน และ ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคม ยกตัวอย่างเช่น นักข่าวพลเมืองประจำท้องถิ่น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อการศึกษา และ เพื่อเศรษฐกิจชุมชน กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยใช้เครื่องมือด้านไอซีที

เมื่อศึกษาลงลึกถึงปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่ความเสี่ยงและการใช้โอกาส พบว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ ๕ ประการ กล่าวคือ

           ประการที่ ๑ ตัวเด็กเอง ว่าเป็นเด็กผู้หญิงนั้นมีภูมิคุ้มกันในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมากน้อยเพียงใด 

           ประการที่ ๒  บุคคลรอบข้าง ทั้ง พ่อแม่ ครู หรือ พี่เลี้ยง ว่ามีความเข้าใจ และมีบทบาทในการคุ้มครองและสนับสนุนมากน้อยเพียงใด 

          ประการที่ ๓  มีการเปิดพื้นที่ และ โอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาและสร้างระบบการคุ้มครองระหว่างเครือข่ายเด็กด้วยกันเองมากน้อยเพียงใด

          ประการที่ ๔  มีการสนับสนุนเครื่องมือในการทำงาน และ ความรู้ในการใช้งานไอซีที อย่างถูกต้องหรือไม่ และ

         ประการที่ ๕ ระบบการจัดการกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด


พบว่า มาตรการในการจัดการเพื่อจัดการความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถจำแนกได้เป็น ๓ ส่วนกล่าวคือ

            ส่วนแรก การจัดการความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสก่อนที่เด็กจะเข้าบริโภคสื่อ ทั้งเรื่อง กติกาพื้นฐานในการใช้งาน การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ และ เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการกลั่นกรองเนื้อหาเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม

           ส่วนที่สอง การจัดการความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในขณะที่เด็กเข้าใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวคือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างการเรียนรู้เท่าทันสื่อ การสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ อีกทั้ง การส่งเสริมเนื้อหาเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ในระบบสารสนเทศและการสื่อสาร และ

           ส่วนที่สาม การจัดการความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสหลังจากที่เด็กบริโภคสื่อ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต และ การดำเนินคดีกับผู้ละเมิดต่อเด็กที่เข้าไปใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ซึ่งมาตรการในทั้งสามลักษณะนั้นพบอุปสรรคสำคัญใน ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) น้ำหนักของการจัดการเน้นการปราบปรามด้านความเสี่ยงมากกว่าการสร้างความเข้มแข็งและการเพิ่มโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๒) การขาดความต่อเนื่องในการจัดการ (๓) ขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และ ความไม่เพียงพอของกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ กฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมด้านโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


จากการศึกษาได้บรรลุถึงข้อเสนอในการจัดการที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยเสนอข้อเสนอแนะหลักในเชิงเนื้อหา ๔ ประการ กล่าวคือ

       ประการที่ ๑ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้ กรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการความเสี่ยง

       ประการที่ ๒ พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อภาคประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังและทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคนโยบายและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

      ประการที่ ๓  พัฒนาวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในสื่อใหม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน พ่อแม่ ครู และ ชุมชน

      ประการที่ ๔ ผลักดันกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนกลไกในการพัฒนาโอกาสในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์

หมายเลขบันทึก: 391714เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 07:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ สำหรับงานวิจัยดี ๆ เข้ากับยุคสมัยเลยทีเดียวครับ

ประมาณเดือน พฤศจิกายน 2553

อ.โก๋ อาจได้มาเที่ยวเชียงราย นะครับ

ไปทำไมหรือครับ จะไปวันที่ ๘ นี้ครับ ไปอบรมหลักสูตรไอซีทีเพื่อชุมชนโดยชุมชน ที่แม่จันครับ

ขอบคุณสำหรับงานวิจัยดีๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท