ไปเป็นองค์ปาฐก...ยาเสพติด


 

ไปเป็นองค์กปาฐก  ยาเสพติด

        เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ปปส) ได้เชิญผมไปเป็นองค์ปาฐก ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ทางออกการป้องกันยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ"

        ผมได้นำเสนอไว้หลายประเด็น แต่สรุปได้โดยสังเขป ดังนี้

        1.สังคมไทยผ่านการฉีดยาแรง ด้วยการยิงทิ้งผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตายไป 2,500 คน ในจำนวนนี้เป็นการฆ่าตัดตอน 1,400 คน วิธีนี้ถูกนานาประเทศประณามและกำลังถูกสอบสวนอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นวิธีหนึ่งที่เน้นการปราบปราม ได้ผลชั่วคราว

         2.กฎหมายไทย เปลี่ยนบริบทให้ผู้เสพยาไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามกฎหมาย แต่ให้ถือว่าเป็นผู้ป่วย ทั้งทุ่มงบประมาณเข้าบำบัดรักษา ทั้งแบบสมัครใจและแบบบังคับบำบัดมานานหลายปี พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 กลับไปเสพยาซ้ำ

         3.ปรับกฎหมายให้รุนแรงถึงขั้นยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดและผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็พบว่าขั้นตอนการเอาผิดยึดทรัพย์นั้นมีปัญหามาก ทำให้กฎหมายด้อยประสิทธิภาพกว่าเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ผู้ค้ายาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องจึงไม่ค่อยเกรงกลัว

         4.งบประมาณที่ใช้ในด้านนี้ ปี 2552 ใช้งบทั้งสิ้นกว่า 4,800 ล้านบาท กระจายลงที่ ปปส. ตำรวจ ทหาร มหาดไทย ก.ยุติธรรม เป็นหลัก  พิจารณาแล้วงบกว่าร้อยละ 80 ถูกใช้ไปเพื่อการสะกัดกั้นยาเสพติดจากชายแดน  ใช้เพื่อการปราบปราม เพื่อการบำบัด เหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ใช้เพื่อการป้องกัน

         ข้อเสนอจึงต้องเริ่มที่

         1.ปรับเพิ่มงบประมาณ โดยไม่ตัดทอนงบสะกัดกั้น งบปราบปราม งบบำบัดลงแต่อย่างไร เพราะงานด้านต่างๆหล่านี้ยังจำเป็น  แต่ขอให้เพิ่มงบเพื่องานด้านการป้องกันเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ายาเสพติด (แต่ละปี จะมีเยาวชนตกเป็นทาสยาเสพติดประมาณร้อยละ 20 )

         2.ปรับงาน ปปส.ให้กลายเป็นงานสนับสนุนพื้นที่ ที่ขณะนี้มี  สภาองค์กรชุมชนกว่า 30,000 แห่ง มีสภาเด็กและเยาวชนทุกอำเภอและทุกจังหวัด  มีฐานกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ถูกลดบทบาทลง  ให้ได้คิด ได้นำเสนอและดำเนินการจัดทำโครงการ มาตรการ กิจกรรมป้องกันเยาวชนให้พ้นจากยาเสพติด สังคมจะได้มีแนวร่วมทำงานป้องกันมากขึ้น

         3.กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. เทศบาล อบจ. ได้กันงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นงบประจำเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนทำกิจกรรมให้มาก พร้อมสนับสนุนพื้นที่ที่ดีให้มีเพิ่มขึ้น  เยาวชนทำกิจกรรมมากเท่าไหร่ จะได้พัฒนาตนมากขึ้นเท่านั้น ยาเสพติดจะห่างไกลและเจาะเข้ามายังกลุ่มได้ยากขึ้น

          โดยสังเขปก็เป็นเช่นนี้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 390015เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2010 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะทั้ง 3 ข้อครับ และต้องสนับสนุนให้ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ครับ เราะกลุ่มคนที่กล่าวมานั้นใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายยาเสพติดมาก ๆ ครับ ถ้าสามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนดังกล่าวได้จะช่วยให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดดีขึ้นตามลำดับครับ

คุณศุภชณัฏฐ์ครับ จริงครับ หลักของเครือข่าย การมีส่วนร่วมด้วยการลงที่พื้นที่ชุมชน คือหัวใจที่ต้องทุ่มเทจริงจังครับ จึงเอาชนะได้

สวัสดีค่ะ

สมัยนี้คนทำความผิดมีกันมากมายค่ะ

อาจเป็นเพราะกฎหมายไม่แข็มงวดใชมั้ยค่ะ

ถ้ากฎหมายไทยเด็ดขาดคนก็ไม่กล้าทำผิดหลอกค่ะ

และเห็นด้วยกับข้อเสนอนะค่ะ

อยากให้สังคมไทยสงบสุขคะ

(ขอบคุณที่นำสาระดีๆมาฝากคะ)

                ***  สรุปประเด็นปัญหาได้ชัดเจนและเสนอแนวทางการแก้ไขที่สามารถปฏิบัติได้จริง  ***   

                                                  

คุณเสาวนีย์ครับ กฎหมายไทยค่อนข้างดีในเกือบทุกเรื่อง ที่แย่คือผู้รักษากฎหมายไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำยังคุ้มครองคนผิดหรือทำผิดเสียเองด้วย ปัญหาจึงแก้ไม่ได้สักที

K.Pually ครับ ขอบคุณสำหรับคำชม ผมพยายามจะนำเสนอให้สั้นและเข้าใจง่ายๆ ครับ รายละเอียดต่างๆ จึงตัดทอนลงไป

ในนามของประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูน

ขานรับข้อเสนอที่คุณครูหยุย สรุปประเด็นไว้ พื้นที่สภาฯและพื้นที่สวัสดิการชุมชน มีองค์ความรู้ในการจัดการเรื่องยาเสพติด

ที่อบต.ควนรู จังหวัดสงขลา อบต. ร่วมกับกระบวนชุมชน ป้องปรามและเฝ้าระวังอย่างได้ผล ผมไปถอดบทเรียนให้กับมูลนิธิภูมพลังไทย มีงานเชิงประจักษ์ที่บอกต่อได้ครับ

ขอบคุณมากครับท่านประธานสภาองค์กรชุมชน "วอญ่า....." ดีใจครับที่ช่วยถอดบทเรียนความสำเร็จให้แก่มูลนิธิภูมิพลังไทย จะได้ช่วยกันขยายผลต่อไปครับ

ผมเคยทำงานร่วมกับองค์กรเด็กของตำบล พบว่าหากให้ความใส่ใจในเด็กที่ขาดโอกาสมากๆ

ให้ความรู้ และจัดเวทีหรือพื้นที่สาธารณะ พวกเขาเหล่านั้นก็จะมีเวลาไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดน้อยลง

และยังเป็นการค้นหาความสามารถเฉพาะตัว อีกทางหนึ่งด้วยครับ

กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. เทศบาล อบจ. ได้กันงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นงบประจำเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนทำกิจกรรมให้มาก พร้อมสนับสนุนพื้นที่ที่ดีให้มีเพิ่มขึ้น  เยาวชนทำกิจกรรมมากเท่าไหร่ จะได้พัฒนาตนมากขึ้นเท่านั้น

 

ตรงใจเลยค่ะ

และที่สำคัญคือ บุคลากรของท้องถิ่น ต้องมองเห็นความสำคัญและทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำใหญ่โต ในข่วงแรก แล้ว ค่อยๆ ลดหายลง

งบหายไปไหน ก็ไม่รู้

เห็ดโคนดัง...ครับ ขอบคุณที่นำประสบการณ์มาช่วยยืนยันบทบาทของเด็กๆ จริงครับหนุนเนื่องให้เขาทำกิจกรรมที่ดี ยาเสพติดห่างหายไปเองครับ

กระติกครับ ตรงประเด็นมาก บุคลากรท้องถิ่นต้องตระหนักและใส่ใจเป็นสำคัญ ท้องถิ่นที่ป้องกันและแก้ปัญหาได้ล้วนแต่ใส่ใจในคุณค่าของชีวิตทุกชีวิตในชุมชนนั้นๆ

ผมมีข้อมูลจาก ปปส.มาประกอบเพื่อท่านที่สนใจจะได้ใช้ค้นคว้าอ้างอิงได้ 3 ข้อสั้นๆ

1.ผลการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดระหว่างมกราคม-มิถุนายน 2552 จับได้รวม 21,145 คน เป็นกลุ่มอายุ 20-29 ปีถึงร้อยละ 45.9

2.ผลการสำรวจปี 2551 พบว่ามีประชากรถึง 2 ล้าน 6 แสนคน เคยเสพยาเสพติดประเภทใดประเภทหนึ่ง (ไม่เกี่ยวกับบุหรี่และสุรา)

3.กลุ่มเป้าหมายรายใหม่ที่เข้ามาเสพยาอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปีถึงร้อยละ 70

อ่านแล้ว หนาวถึงขั้วหัวใจไหมครับ

แวะเข้ามาอ่าน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องยาเสพติด ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือ ยาเสพติดกับเด็กในระดับชั้นม.ต้นและม.ปลาย โดยเฉพาะเด็กๆมักอ้างเรื่อง การต้มน้ำโคโลฟิน ซึ่งเป็นเรื่องน่าหนักใจมากๆในจ.นครศรีฯ อยากให้ครูหยุยช่วยเสนอแนะหน่อยค่ะ

ครูมาลีพันธุ์ครับ ก่อนอื่นต้องขอความรู้เรื่อง ต้มน้ำโคโลฟิน ส่วนทางป้องกันนั้น ทาง ปปส เขามีสื่อที่ให้เด็กดู เป็นสารคดีที่เห็นภาพผู้ติดยาที่ทุกข์ลำบากทรมาน เด็กได้ดูจะดีกว่าการอธิบาย อีกวิธีหนึ่งคือให้เขารวมกลุ่มพูดคุยถึงเรื่องนี้กันบ่อยๆ เขาจะเรียนรู้เท่าทันได้ครับ

สัวสดีคะครูหยุย ผู้รักษากฏหมายไม่บังคับใช้กฏหมายเพราะสาเหตุอะไรคะ

ทุกอย่างต้องมีสาเหตุคะ ผู้นำไม่เข้มแข็ง จริงจังในการควบคุม หรือสาเหตุจากระบบการศึกษาไทยล้มเหลวคะ

คุณสาลีครับ เจ้าหน้าที่กฎหมายไม่บังคับใช้กฎหมายมาจากหลายสาเหตุ

1.เป็นผู้กระทำผิดเอง โดยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

2.เจออิทธิพล เลยไม่กล้า เพราะกลัวเจอตอ

3.ไปทำการรีดไถในรูปแบบต่างๆ ได้เงินดีกว่า

เหตุที่เป็นเช่นนี้ คงเพราะขาดจริยธรรม เพราะระบบการศึกษาที่สอนคนได้ไม่ดีพอ

ดีครับมีข้อมูลที่เป็นเนื้อหาสาระดีมากๆเลยคับ

และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำมากๆนะครับ

  • สวัสดีครับ
  • ปัญหายาเสพติด คงต้องร่วมกันทำหลายๆ ฝ่าย ปัจจุบันก็มี 5 รั้วป้องกัน
  • รั้วที่สำคัญที่สุดคือ รั้วครอบครัวครับ ทำอย่างไรให้เด็กรู้จักรักตัวเอง สามารถพาตนเองให้พ้นจากยา กล้าปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ดี นั่นก็คือ ให้เด็กรู้ว่าตนเองมีคุณค่า โดยได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างเพียงพอ ไม่กลายเป็นผู้เสพรายใหม่  ถ้าไม่มีผู้ใช้ เขาก็ขายไม่ออกหรอกครับ  

สวัสดีค่ะ

*** สังเกตว่าแต่ละองค์กร ต่างคนต่างทำ ขาดการประสานให้เป็นเครือข่ายที่ชัดเจน มีข้อกำหนดเรื่องงบประมาณมากกว่าเหตุผลอื่น ผลที่ได้จึงไม่สมบูรณ์ งบป้องกันเป็นสัดส่วนที่ควรปรับที่สุด....การล้อมรักจากบ้านถึงโรงเรียน....เป็นรั้วที่น่าจะแข็งแรงและจะยิ่งแข็งแรงถ้าองค์กรท้องถิ่นช่วยเหลือในการจัดกิจกรรมมากขึ้น

เด็กสังคมครับ ผมพยายามนำเสนอสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ครับ ขอบคุณทีมาเยี่ยมเยือนนะครับ

แนวทาง 5 รั้วที่คุณชำนาญเอ่ยถึงนั้น โดยหลักการใช่ครับแต่วิธีปฏิบัติยังไม่เห็นแผนชัดเจน อย่างไรก็ตามสำคัญที่ครอบครัวจริงตามพูดครับ

จริงดังีที่คุณกิติยาพูด ต่างคนต่างทำแผนเอางบประมาณ จริแล้ว ปปส.จะต้องมีอำนาจชัดเจนในการกำหนดแผนแล้วกระจายให้หน่วยต่างๆ ดำเนินการจะได้ผลมากกว่า

ทำอย่างไรให้ชุมชน/หมู่บ้าน สนใจติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานในระดับพื้นที่ว่าให้ความสนใจเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดหรือไม่  การวิเคราะห์ให้ตรวจสอบสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่มีหรือไม่ ที่ตรวจสอบและอ้างอิงได้ คือ ผลการจับกุมดำเนินคดีในพื้นที่ ถ้าผู้กระทำผิดเป็นคนในพื้นที่ ผู้นำ/ข้าราชการ ทั้งท้องถิ่น/ท้องที่ จะต้องตระหนักว่าเป็นโจทย์ที่จะต้องเร่งแก้ไขหาคำตอบโดยเร่งด่วน หากจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรีบสนับสนุนทันที ถ้าไม่มีงบประมาณ (ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้ออ้าง) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นตัวหลักในการประสานงานจัดทำเวทีประชาคมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขในทันที (การประชาคมไม่ต้องใช้งบประมาณและต้องชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่าไม่มีงบประมาณมาดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดเนื่องจากเหตุใด) ถ้าไม่มีการดำเนินใดๆเลย จะถือว่าผู้เกี่ยวข้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่  สรุป ประชาชนในพื้นที่จะต้องแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ หากประชาชนเข้มแข็ง ยาเสพติดในพื้นที่น่าจะหมดสิ้นไป

ป.โก๋ ครับตอนหลักการกระจายอำนาจได้ถูกพูดถึงและส่งผลให้มีกฎหมาย กระทั่งอำนาจกระจายลงสู่ระดับท้องถิ่นไปทั่ว ก็เพราะเชื่อในหลักการมีส่วนร่วม คนยิ่งใกล้ยิ่งเห็น หลายชุมชนที่ยึดหลักประโยชน์ชุมชนจึงทำได้ผล แต่หลายแห่งยังตกอยู่ในการครอบคลุมของผลประโยชน์ ปัญหาจึงหนักกว่าเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท