กระจกเงาสะท้อนความสำเร็จ


กระจกเงาของความสำเร็จเริ่มสะท้อนให้เห็นในวันงานคืนสู่เหย้าของโรงเรียน ผู้เรียนที่เรียนจบออกไป มีทั้งผู้ที่ได้ศึกษาต่อ ผู้ที่ต้องออกไปประกอบอาชีส่วนตัวเพราะพ่อแม่ไม่มีทุนให้เรียนต่อ มาพูดคุยกับข้าพเจ้าด้วยความดีอกดีใจถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมี่ทำให้เขาเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
 

จากประสบการณ์สอน  35  ปีที่ผ่านมา  ทำให้มองเห็นว่าในปัจจุบันนี้ผู้เรียนในระดับที่ไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  เขามาเรียนเพื่อทำตามหน้าที่เท่านั้น  ยังไม่มีเป้าหมายของอนาคตที่แน่นอนเพราะมองว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้นที่จะกำหนด  จากการสอบถามดูน้อยคนนักที่จะตอบได้

                ดังนั้น  จึงเป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนนั้นเกิดการสะสมทุนความรู้ติดไว้ในสมองของเขาให้มากที่สุด  พร้อมที่จะดึงออกมาใช้ได้เมื่อถึงคราวจำเป็น  ถ้าให้ผู้เรียนศึกษาจากตำรา  หรือเอกสารต่าง ๆ เพียงอย่างเดียวโดยขาดการปฏิบัติจริงก็คงจะจดจำได้เพียงในระยะสั้น ๆ ไม่สามารถนำไปติดไว้ในสมองได้

                สิ่งนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิดหาวิธีการและเรื่องต่าง ๆ ที่จะให้ผู้เรียนนำไปเป็นทุนความรู้ติดไว้ในสมองให้มากที่สุดโดยเฉพาะเรื่องที่ต้องปฏิบัติจริง 

                ทุนความรู้ที่ติดในสมองของข้าพเจ้าจึงถูกนำออกมาใช้ประโยชน์บ้าง  นั่นคือ  เรื่องของดนตรีไทย  ดนตรีสากล  การหล่อกระถางคอนกรีต  การทำบล็อกทางเท้า  การทำเหล็กดัดประตู  หน้าต่าง  มุ้งลวด  การผูกผ้าประดับตกแต่งสถานที่ต่าง  การเดินสายไฟภายในอาคาร  เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ในรูปของโครงการเสริมให้ผู้เรียนนอกเวลาเรียนบ้าง  เรียนในรายวิชาโครงงานบ้าง

                กระจกเงาของความสำเร็จเริ่มสะท้อนให้เห็นในวันงานคืนสู่เหย้าของโรงเรียน  ผู้เรียนที่เรียนจบออกไป มีทั้งผู้ที่ได้ศึกษาต่อ  ผู้ที่ต้องออกไปประกอบอาชีส่วนตัวเพราะพ่อแม่ไม่มีทุนให้เรียนต่อ  มาพูดคุยกับข้าพเจ้าด้วยความดีอกดีใจถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมี่ทำให้เขาเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้  นั่นคือ  ผมกำลังศึกษาต่อวิศวโยธาครับ  ผมทำงานอยู่ที่โรงงานครับ  หนูทำงานที่บริษัทค่ะ  ผมเปิดร้านทำเหล็กดัดประตู  หน้าต่าง  มุ้งลวดครับ    ผมทำกระถางปูน  ทำเสาปูนขายครับ  เสียงพูดคุยถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ทุนความรู้ไปติดอยู่ในสมองของเขาดังขึ้นแทบจะไม่มีคนฟัง  แต่เป็นเสียงที่ทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขที่สุด

                สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นทำให้ข้าพเจ้าได้คิดทบทวนถึงวิธีการทำงานว่าเราทำอย่างไรที่ทำให้เกิดกระจกเงาสะท้อนกลับมาอย่างนี้  สรุปคือใช้ยุทธศาสตร์ในการทำงานแบบ  4  ห้าม  3  ให้                  4  ห้าม  คือ

                ห้ามที่  1  ห้ามคิดแทนเด็ก  นั่นหมายถึงอย่าตัดสินใจแทนเด็กในขณะที่เรายังไม่ได้ให้เขาทำ  ยังไม่ได้ให้เขาคิด  ซึ่งเรามักจะเห็นอยู่ว่าเมื่อไปเห็นเรื่องอะไรใหม่ ๆ หรือใครมานำเสนออะไรใหม่ ๆ ครูมักจะบอกว่าเด็กฉันคงทำไม่ได้  หรือถ้าจำเป็นต้องให้เด็กทำสิ่งนั้นเพราะได้รับการมอบหมาย  ครูมักจะตัดสินใจคิดเอง  ทำเองแทนเด็กโดยเด็กไม่ได้คิดอะไรเลย

                ห้ามที่  2  ห้ามรำคาญ  เมื่อเราให้ผู้เรียนเขาทำงานอะไรก็ตาม  งานนั้นอาจจะมีถูกบ้างผิดบ้าง  หรืออาจจะไม่ถูกเลยก็ได้เพราะเขายังไม่รู้ ครูก็ต้องคอยให้คำแนะนำ  หรือครูอาจต้องเรียนรู้ร่วมกันกับผู้เรียน  อย่าเกิดความรำคาญในการทำงานของผู้เรียน  ไม่เช่นนั้นผู้เรียนจะไม่ได้อะไรเลย

                ห้ามที่  3  ห้ามกลัว  เมื่อครูอยากจะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ต้องห้ามกลัว  เช่นกลัวเครื่องคอมพิวเตอร์เสียห้ามเด็กเล่น  กลัวเครื่องดนตรีพัง  กลัวอันตรายจะเกิดขึ้น  กลัวเด็กไม่เรียน  ถ้าครูมีความกลัวผู้เรียนก็ไม่ได้เรียนรู้แน่นนอน  จึงห้ามกลัวแต่อย่าประมาทในเรื่องนั้น

                ห้ามที่  4  ห้ามตำหนิ  เมื่อผู้เรียนทำอะไรไม่ถูกต้อง  ทำไม่ได้  ครูต้องไม่ตำหนิผู้เรียนเพราะจะทำให้เขาเกิดความท้อถอย  เหตุที่เขาทำสิ่งนั้นไม่ได้  ทำผิด  เพราะเขาไม่รู้  ครูต้องให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ

                3  ให้  คือ

                ให้ที่  1  ให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ  ครูต้องสร้างให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในเรื่องนั้น  ถ้าผู้เรียนเกิดความสนใจการเรียนจะงายขึ้น  เกิดการเรียนรู้ได้เร็ว  เช่น  ครูตีระนาดในห้องดนตรีเวลาพักกลางวัน  เมื่อเด็กได้ยินจะเกิดความสนใจ  มาดู  เมื่อดูแล้วเกิดการอยากเล่น  หรือครูพาผู้เรียนไปศึกษาดูงานในเรื่องนั้นจากที่เขาประสบผลสำเร็จว่าเป็นอย่างไร  มีผลอย่างเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ

                ให้ที่  2  ให้เวลากับผู้เรียน  เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  ถ้าครูไม่ให้เวลากับผู้เรียน  ผู้เรียนก็คงไม่อยากเรียนและไม่เกิดการเรียนรู้แน่นอน  การให้เวลากับผู้เรียนทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียนนี้ถ้าครูทำสิ่งนี้ได้มากเท่าไหร่ความเป็นกัลยานมิตรยิ่งเกิดขึ้นมากเท่านั้น  นั่นหมายถึงเกิดความรัก  ความผูกพัน  ความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน  แล้วจะเกิดเป็นกระจกเงาให้กับตัวครู  ถ้าไม่เกิดสิ่งนี้ในใจของผู้เรียน  กระจกเงาอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้

                ให้ที่  3  ให้ผู้เรียนทำบ่อย ๆ ครูต้องหาโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำในสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้นั้นให้มาก ๆ  ให้ทำซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้  และจะนำไปสู่ความมั่นใจในการกระทำ   เช่น  พาผู้เรียนซ้อมดนตรี  พาออกฝึกงานนอกสถานที่  พาไปศึกษาดูงานจากของจริง  การกระทำในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อย่าให้ผู้เรียนไปทำกันเอง  ครูต้องเป็นผู้พานักเรียนทำ

                สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้วเกิดความสุข  ความภูมิใจและเกิดกำลังใจในการที่จะทำงานต่อไป  ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจนำไปใช้ก็มิได้หวงห้ามแต่ประการใด  หรือมีความคิดเห็นอย่างไรขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้เลยนะครับ
คำสำคัญ (Tags): #คิดค้น#ทดลอง
หมายเลขบันทึก: 38930เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2006 05:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท