นปส.55 (26): ระมัดระวัง


จงเร่งรีบอย่างเชื่องช้าและระมัดระวัง

ปลายสัปดาห์ที่ 9 ของการฝึกอบรมแล้ว เพื่อนๆแต่ละคนที่มาทั้งหมดเป็นผู้บริหารหน่วยงาน (ผู้อำนวยการหรือผู้อำนวยการสำนักหรือนายอำเภอ) เกือบทั้งหมด แม้จะมีคำสั่งให้มาเข้ารับการอบรมแต่ก็มีความจำเป็นต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่สำคัญกันเป็นครั้งคราว แต่ทุกคนก็ต้องพยายามไม่ให้เวลาหยุดเรียนเกินกว่า 20% ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งผู้เข้าอบรมทุกคนก็ต้องบริหารจัดการเวลาของตนเองให้ได้

ตัวผมเองที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานแต่ก็ต้องติดตามภารกิจการงานอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นการฝึกอบรมนักบริการปฐมภูมิในโครงการหมออนามัยติดปีกที่ได้เล่าไปในตอนที่แล้ว อีกงานที่ผมยังคงต้องรับผิดชอบต่อเนื่องคือการเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขตากจำกัด ที่มีสมาชิกพันกว่าคน มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 15 คน แบ่งออกเป็นคณะกรรมการบริหาร 5 คน คณะกรรมการเงินกู้ 5 คนและคณะกรรมการศึกษา 5 คน กรรมการแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปีและเป็นได้ติดต่อกันไม่เกินสองวาระ

ผมเพิ่งเป็นประธานได้ไม่ถึงหนึ่งปี จากการรับรองของที่ประชุมใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ต่อจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากที่ครบสองวาระแล้วตามข้อบังคับ ผมเคยเป็นกรรมการมา 4 สมัยแล้ว เคยเป็นกรรมการเงินกู้ กรรมการศึกษาและรองประธานมาแล้ว และก็ได้หยุดเป็นกรรมการไปเกือบ 5 ปี ผมให้แนวทางการทำงานของผมแก่สหกรณ์ไปว่า “เข้าใจคนกู้ รู้ใจคนฝาก รักษาความมั่นคง โปร่งใสทุกขั้นตอน” สหกรณ์สา’สุขตากเรามีคำขวัญว่า “เก็บออม เกื้อกูล เพิ่มพูน พัฒนา

สหกรณ์เป็นองค์การประเภทที่ไม่หวังผลกำไร (Non-profit organization) แต่ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นองค์การที่ไม่หวังกำไร เพราะการดำเนินงานสหกรณ์ต้องการกำไร แต่ไม่ใช่มุ่งแสวงหากำไรให้ได้สูงสุด (Maximizing profit) แบบธุรกิจทั่วไป สหกรณ์ต้องการกำไรเพื่อให้สามารถดำรงอยู่และเจริญเติบโตได้ รวมทั้งสามารถช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่สมาชิกและช่วยเหลือสังคมได้ด้วย ผมคิดเอาเองว่าต้องเป็นการทำกำไรอย่างเหมาะสม (Optimizing profit)

ทั้งนี้กำไรของสหกรณ์เกือบทั้งหมดมาจากดอกเบี้ยเงินกู้จากสมาชิก รายจ่ายเกือบทั้งหมดมาจากเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืนและดอกเบี้ยเงินฝาก ถ้าส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้เยอะ ก็กำไรเยอะ แต่คนจน (ที่ต้องกู้) จะเดือดร้อนมาก คนรวย (ที่มีเงินฝาก) ก็จะสบาย การกำหนดดอกเบี้ยทั้งสองขานี้จึงต้องเหมาะสมและสมดุล ถ้าดอกเบี้ยต่ำ จะทำกำไรเยอะก็ต้องปล่อยกู้มากๆ ปล่อยกู้ง่ายๆก็จะเสี่ยงต่อภาวะหนี้ท่วมหัวของสมาชิกและอาจมีหนี้สูญหรือส่งเสริมให้สมาชิกเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้

หลักการบริหารการเงินสหกรณ์ไม่คำนึงถึงผลกำไรสูงสุดของสหกรณ์หรือมูลค่าเพิ่มทางตัวเงิน แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และความมั่งคั่งของสมาชิกเป็นสำคัญ ในลักษณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ใช้คำว่า “สหกรณ์มั่นคง สมาชิกมั่งคั่ง” ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการจึงต้องรู้จักบริหารเงินคือรู้ที่มาของรายได้และที่ไปของรายจ่าย อย่างเหมาะสม มีการบริหารความเสี่ยง (แม้จะมีไม่มากเพราะมีการหักค่าหุ้นและจ่ายเงินกู้จากเงินเดือนของสมาชิกที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำ)

ขณะนี้สหกรณ์ออมทรัพย์กำลังถูกคุกคามมากขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าเข้ามาในกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างประจำ ด้วยกลไกเงินฝากระยะยาวดอกเบี้ยสูงและกลไกเงินกู้จำนวนมากในกระบวนการกู้ที่สะดวกและง่ายมากขึ้น เช่น กู้ 1 ล้านบาทโดยใช้คนค้ำประกัน 1-2 คน หรือถ้าเป็นข้าราชการระดับชำนาญการขึ้นไป (ซี7 เดิม) กู้ได้โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกันเป็นต้น

ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ทางสหกรณ์ออมทรัพย์จะรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ รวมทั้งต้องประเมินความเสี่ยงหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญเพื่อหาทางป้องกันโดยไม่จำกัดสิทธิในการกู้หรือทำให้ยุ่งยากมาเกินไปจนสมาชิกลาออกหนีไปกู้ธนาคารกันหมด จนเกิดภาวะวิกฤตทางการเงินได้ โดย “ต้องรักษาความมั่นคงไว้ได้แม้จะต้องเสี่ยงบ้างเพราะHigh risk, High return

พอพูดถึงเรื่องของสหกรณ์ ก็นึกถึงเพื่อนร่วมรุ่นท่านหนึ่งคือพี่เหนอหรือเสนอ ชูจันทร์ หรือ Mr. Presentation ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เคยเป็นสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี เป็นคนใต้โดยกำเนิดแต่ตอนนี้เป็นคนเมืองกาญจนบุรีโดยการสมรส พี่เหนอเป็นคนที่มีอัธยาศัยใจคอดีมาก “มาดดี วจีเด่น เป็นคนมีน้ำใจ ให้ความสนุกสนาน” พิธีกรงานรุ่นบ่อยๆ ตอนที่มีการฝึกพูดพี่เสนอได้รับการเลือกให้เป็นกรรมการวิพากษ์ผู้เข้าประกวดทั้ง 4 ท่าน 1 ใน 3 คนจากชั้นเรียน พีเหนอจะพูดสนุก มีมุกให้สนุกสนานกันเสมอๆ

พิธีกรของรุ่นอีกคนเป็นพิธีกรหญิงของรุ่นคือพี่นัด หรือณัฏฐญา พัฒนะวาณิชนันท์ ผู้ช่วยผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุขเขตราชบุรี เป็นพยาบาลวิชาชีพ เคยเป็นหัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลวังน้อยที่ทำเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมีชื่อเสียงระดับประเทศ ผมได้รู้จักเมื่อสามปีก่อนไปบรรยายในงานประชุมวิชาการระดับชาติเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้วยกัน ต่อมาไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเขต 8 นครสวรรค์ พี่นัดเป็นคนน่ารัก อัธยาศัยใจคอดีมาก สุภาพอ่อนหวาน มีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก ชอบพูด ชอบนำเสนอและออกความคิดเห็น และถูกเลือกเป็นผู้วิพากษ์การนำเสนอด้วยเช่นกัน มีน้ำใจกับเพื่อนๆไปติดต่อโรงพยาบาลโรคทรวงอกมาตรวจสุขภาพให้และไปขอสนับสนุนสายวัดเอวจากสำนักโภชนาการมาแจกเพื่อนๆด้วย รวมทั้งคอยดูแลสุขภาพให้เพื่อนๆที่เจ็บป่วยร่วมกับพี่หมอจุฑาทิพย์

วันพุธที่ 16 มิถุนายน 2553 ช่วงเช้าเรียนรายวิชา การบริหารจัดการในภาวะวิกฤต โดย อาจารย์สุธรรม ส่งศิริ ซึ่งอาจารย์ได้นำเสนอแนวทางและข้อสรุปสำคัญในการจัดการภาวะวิกฤต ที่อาจารย์สรุปเป็นข้อเตือนใจไว้ว่า “จงเร่งรีบอย่างเชื่องช้าและระมัดระวัง” ภาวะวิกฤตเป็นระยะเวลาที่มีความยุ่งยาก อันตรายหรือไม่แน่นอนอย่างยิ่งและสถานการณ์นั้นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและต้องตัดสินใจ หรือ หมายถึง เวลาที่มีปัญหาหรือสถานการณ์อยู่ในจุดที่เลวร้ายที่สุด

องค์ประกอบของภาวะวิกฤต 4 ประการคือ ภาวะที่เกิดขึ้นเป็นภัยคุกคามรุนแรง เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดและไม่แน่นอน มีเวลาน้อยต้องตัดสินใจเร็ว และจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร ดังนั้นหลักการบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือภาวะวิกฤต ต้องรู้ถึงหายนะที่อาจเกิด (Recognize) จัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) และบริหารทรัพยากรเพื่อหยุดยั้งภาวะวิกฤต (Mobilize resources) ในการบริหารการรับมือภาวะวิกฤตต้องมีแผนสำรองคือการตัดสินใจหลายๆทางเท่าที่จะทำได้ต่อภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น คิดอย่างรอบคอบทุกๆทางเลือกรวมทั้งการทดสอบความพร้อม

การวางแผนเพื่อจัดการภาวะวิกฤต มี 6 ขั้นตอนสำคัญคือการจัดตั้งทีม การประเมินสถานการณ์ การพัฒนาแผน การทดสอบแผน การปรับปรุงแผนให้ทันสมัยและการประสานกับสื่ออย่างนุ่มนวล ทั้งนี้ต้องมีปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จคือต้องมีคณะทำงานที่เหมาะสมมาดำเนินงาน ตัดสินใจโดยใช้เสียงส่วนใหญ่ของคณะทำงาน สื่อสารสถานการณ์โดยใช้แรงกดดันและให้อำนาจการดำเนินงานอย่างเด็ดขาดกับคณะทำงานเพื่อตอบสนองสถานการณ์

หลักการรับมือกับภาวะวิกฤต ต้องดำเนินการ 4 ประการคือตอบสนองให้เร็วที่สุด (Quick Response) ใส่ใจในทุกเสียงประชาชน (Care Voice) ควบคุมสถานการณ์ (Control Game) เสนอทางแก้ไข (Solution Oppose)

อาจารย์ให้ผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอประสบการณ์การรับมือภาวะวิกฤตจากการปฏิบัติหน้าที่การงานตามความสมัครใจ พี่ลือชัย เจริญทรัพย์ นายอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ได้เล่าประสบการณ์การรับมือภาวะวิกฤตการเผาโรงเรียนและปัญหาสามจังหวัดชายแดนได้ให้พวกเราฟัง ได้รับทั้งความรู้ ความรู้สึกและทำให้เห็นภาพการทำงานของข้าราชการชายแดนใต้ได้อย่างดีน่าประทับใจมาก เป็นเรื่องเล่าเร้าพลังที่ดีมากเรื่องหนึ่ง พี่ลือชัย เคยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขแล้วสอบเปลี่ยนสายงานข้ามกระทรวงไปเป็นนายอำเภอ เป็นคนยิ้มเก่ง ขันอาสาช่วยเหลือเพื่อนๆโดยเฉพาะการถ่ายภาพ มีน้ำใจ เป็นกันเอง พี่ลือชัยคล้ายๆผมสองอย่างคือผิวคล้ำและมีภรรยาเป็นพยาบาล พี่ลือชัยร้องเพลงได้ดีมาก โดยเฉพาะเพลงของสุรพล สมบัติเจริญและมักจะร้องเพลงรักริงโง ให้พวกเราฟัง

อีกคนหนึ่งที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์คือพี่นัด ที่เล่าเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์ในช่วงเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ เพื่อนคนอื่นๆที่เหลือก็ซักถามกันบ้างและก็เป็นนักฟัง (คนไทย) กันเป็นส่วนใหญ่เหมือนผมที่มักจะslide (หลบหน้าหลบตา), Silence (เงียบ), Sleep (หลับ), Sound (เสียงกรนในบางคน)

ผมนึกไปถึงเรื่องเล่าการรับมือภาวะวิกฤตที่มีผู้ป่วยจำนวนมากจากโรคพิษโบทูลินั่มที่ได้จากการกินหน่อไม้ปี๊บที่จังหวัดน่าน ผู้ป่วยจำนวนมากกล้ามเนื้อไม่ทำงานทำให้หายใจไม่ได้ เครื่องช่วยหายใจที่จังหวัดน่านมีไม่พอ ต้องลำเลียงผู้ป่วยโดยเครื่องบินซี 30 ของทหารเข้ามากรุงเทพฯ พี่อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา สมัยเป็นรองนายแพทย์สาธารณสุขน่านเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

พี่อภิชาติเล่าว่าได้ประยุกต์หลักการรับมือภาวะวิกฤตที่ได้จากการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการแพทย์และการสาธารณสุข (นบส. กระทรวงสาธารณสุข) ของวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุขว่า ใช้หลัก 3C+1I คือ Control, Command, Communication, Information ซึ่งดูแล้วก็คล้ายๆกับหลักการที่อาจารย์สุธรรมสอน แต่จำได้ง่ายกว่า

ผมคิดว่า ภาวะวิกฤตเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ผมจึงขอเสนอการประยุกต์หลักการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) 4 ขั้นตอนมาใช้ได้คือการค้นหาความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การรับมือความเสี่ยง และการประเมินผล

การค้นหาความเสี่ยงหรือภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรือเคยเกิดขึ้นในอดีต นำมาประเมินดูว่ามีโอกาสเกิดมากน้อยแค่ไหน และประเมินความรุนแรงว่าถ้าเกิดแล้วจะส่งผลเสียมากน้อยแค่ไหนทั้งผลทางตรง ผลทางอ้อม ผลกระทบระยะสั้น ผลกระทบระยะยาว ผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ส่วนการรับมือหรือจัดการความเสี่ยงหรือภาวะวิกฤต สามารถดำเนินการได้ 2 ทาง คือ

1. การจัดการเชิงรุก (Preventive crisis Management) เป็นการเตรียมการและป้องกันก่อนที่จะเกิดภาวะวิกฤตขึ้นหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

2. การจัดการเชิงรับ (Passive crisis Management) เป็นการรับมือและแก้ไขภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นเพื่อลดความเสียหาย ความสูญเสียลงให้มากที่สุด ผลออกมาดีที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งอาจใช้หลัก 3C+1I ที่กล่าวไปแล้วก็ได้ หรืออาจจะใช้หลักที่ผมเคยใช้รับมือการระบาดใหญ่ของอหิวาตกโรคที่ชายแดนจังหวัดตากที่มีผู้ป่วยเกือบ 900 คนก็ได้คือใช้หลัก  7C ประกอบด้วย

- Command กำหนดหัวหน้าทีมผู้สั่งการ ผู้ตัดสินใจให้ชัดเจน

- Control กำหนดมาตรการ/เขตควบคุมต่างๆให้เหมาะสมเพียงพอ

- Communication การติดต่อสื่อสาร การให้ข้อมูลข่าวสารให้ทั่วถึงเพียงพอ ในหลายๆช่องทาง ในทุกๆกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

- Coordination ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

- Collection ระดมทรัพยากร เตรียมความพร้อมให้พร้อมปฏิบัติการ

- Correction ลงมือปฏิบัติการแก้ไขอันตราย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งการดูแลระยะเฉียบพลันและการดูแลฟื้นฟูในระยะยาว

- Conference ประชุมพูดคุยติดตามประเมินสถานการณ์ต่างๆและผลการดำเนินงานเพื่อการปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ในยุคสังคมแห่งความรวดเร็ว ทุกอย่างเร็วไปหมด เร็วไปทุกเรื่องและสังคมแห่งการทำลายสิ่งแวดล้อมจนเสื่อมโทรมนี้ เราคงหนีไม่พ้นการเตรียมรับมือภาวะวิกฤตในด้านต่างๆ รวมทั้งภาวะวิกฤตทางด้านสังคมจริยธรรม คุณธรรมด้วย

หมายเลขบันทึก: 388623เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท