เพลงพื้นบ้าน 3 รูปแบบ ตอนที่ 2 เพลงฉ่อย วันพาณิชย์


ติดตามชมภาพการแสดงเพลงฉ่อยสด ๆ ได้ในคลิบวีดีโอด้านล่างนี้

เพลงพื้นบ้าน 3 รูปแบบ

ตอนที่ 2 เพลงฉ่อย

งาน 9 ทศวรรษ กระทรวงพาณิชย์

20 สิงหาคม 2553

        เมื่อสิ้นเสียงลูกคู่ร้องรับสร้อยเพลงลำตัด นักร้องนำ 2 คน คือ ท็อป-ธีระพงษ์ พูลเกิดกับแป้ง-ภาธิณี นาคกลิ่นกุลก็กล่าวกับท่านผู้ชมว่า “ขอเปลี่ยนแนว นำเสนอเป็นเพลงฉ่อยกันบ้าง นะครับ” สำหรับเพลงฉ่อยนี้ ผมตัดลงเอามาเฉพาะทำนองร้องรับ เอ่ ชา...โดยมิได้ให้เด็ก ๆ ร้องเกริ่นก่อนเพราะเกรงว่าจะช้าเสียเวลามากไปอีก บนเวทีมีแสงสีเสียงที่ตื่นตาน่าชมมาก แสงไฟฟ้าที่ส่องไปยังผู้แสดงมีการควบคุมและนำเสนออย่างเร้าใจ

        พูดถึงเพลงพื้นบ้าน ในบรรดาเพลงที่ใช้ร้องเล่นทั้งหมด ผมว่าเพลงฉ่อยเป็นเพลงที่ค่อนข้างจะร้องได้ยาก ร้องให้ไพเราะจริง ๆ ยาก เพราะเพลงฉ่อยมีวิธีการร้องของฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงที่ต่างกัน เรียกว่าทำนองเพลงชาย ทำนองเพลงหญิง บางทีนักแสดงก็นำเอามาใช้ปะปนกันโดยไม่รู้ตัว และการร้องเพลงฉ่อยที่ถูกต้องเขาจะต้องร้องทำนองเกริ่นก่อน เป็นการร้องช้า ๆ และมีลูกคู่รับเนื้อร้องลงยาวสักหน่อย ถ้าไม่รู้กันก็จะรับลงไม่ได้ แต่ทั้งหมดนี้ผมได้สอนเด็ก ๆ เอาไว้แล้ว พวกเขามีความสามารถร้องเล่นได้ตามระเบียบโบราณ

        

        

        

        แต่ที่เวทีวันพาณิชย์ ผมตัดเข้าสู่เนื้อหา ว่ากันแบบความรู้เป็นเชิงวิชาการ บอกกล่าวเล่าเรื่องราว บทบาทหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ต่อจากเพลงลำตัด นักแสดงยังมีตื่นเต้นบ้างบางรายเพราะเป็นมือใหม่ ไม่เคยร้องเพลงฉ่อยในงานใหญ่ ๆ อย่างนี้มาก่อนเลย บทร้องที่ผมเขียนไว้ร้องในงานนี้  มีดังนี้

(บทร้องเพลงฉ่อย)

          เอิง เงิง เงอ...  เอ่อ เอิง เอ๊ย....

          เปลี่ยนทำนอง ร้องบ้าง      ฟังเพลงฉ่อย

          ไม่ค่อยได้ยินบ่อย ๆ       ณ จะบอกให้

          จากลำตัดเปลี่ยนทำนอง ร้องกันเสียบ้าง

          เพลงเก่าไม่ล้าหลัง        ยังพอฟังได้

          เพลงฉ่อยเก่าแก่           มีมาแต่โบราณ

          วันนี้ได้มาร่วมงาน         ภาคภูมิใจ

(ลูกคู่)  เอ่ ชา... เอ้ ช้า ชา... ชะ ฉ่า ชา...  หน่อยแม่...

          เอ๊ย....วันนี้ได้มาร่วมงาน กระทรวงพาณิชย์

          ชวนผู้ฟังให้คิด          เวลาที่ผ่านไป

          จากวันนั้นถึงวันนี้          90 ปี แล้วท่าน

          ได้สั่งสมประสบการณ์    มานานหลาย

          สร้างเศรษฐกิจการค้า     พาให้แข็งแกร่ง

          เกิดความเข้มแข็ง          ในสังคมไทย

          ได้อยู่ดีกินดี                กันทั่วทุกคน

          ได้ช่วยเหลือประชาชน   ตลอดไป

(ลูกคู่)  เอ่ ชา... เอ้ ช้า ชา... ชะ ฉ่า ชา...  หน่อยแม่...

          เอิง เงิง เงอ...  เอ่อ เอิง เอ๊ย....

          ขอพูดให้เข้าใจ         ได้ข้อคิด

          ว่ากระทรวงพาณิชย์       สำคัญไฉน

          ต้องดูแลราคา              สินค้าเกษตร

          ทั่วทั้งประเทศ              ให้อยู่ได้

          ราคาสินค้า                  ว่าอุปโภค

          ทั้งสินค้าบริโภค           ก็ต้องคุมไว้

          ดูไข่ดูนม                    แล้วอกตรมขมขื่น

          เราก็ยังยิ้มระรื่น             ขจัดปัญหาได้ (เอ๊ย...ดูไข่ใคร ดูนมใคร)

          จะขึ้นสูงลงต่ำ              ตามต้นทุน

          ห้ามเก็งราคากักตุน        ค้าก็กำไร

(ลูกคู่)  เอ่ ชา... เอ้ ช้า ชา... ชะ ฉ่า ชา...  หน่อยแม่...

          เอ๊ย.... ห้ามกักตุนสินค้า  ประเภทผักสด

          ผักที่ขายไม่หมด           ห้ามเก็บไว้

          โดยเฉพาะชองแช่         และของดอง

          ต้องดูแลปากท้อง         คนส่วนใหญ่

          ช่วยประหยัดพัฒนา       ค่าของเงิน

          ร้านธงฟ้าขอเชิญ          อุดหนุนกันได้

          ทำให้คนเดินดิน           กินข้าวแกง

          ไม่ต้องจ่ายเงินแพง        เกินไป

(ลูกคู่)  เอ่ ชา... เอ้ ช้า ชา... ชะ ฉ่า ชา...  หน่อยแม่...

          เอิง เงิง เงอ...  เอ่อ เอิง เอ๊ย....

          ฉันสงสัยเสียจัง            ยังครุ่นคิด

          เรื่องของธุรกิจ              ทั้งน้อยใหญ่

          กระทรวงพาณิชย์ดูแล    แก้ปัญหา

          เรื่องทะเบียนการค้า       เชิญมาจดได้

          ยกเว้นทะเบียนสมรส      กับทะเบียนหย่า

          ไม่ต้องตรงเข้ามา          เราไม่จดให้ (ไม่จดให้ดอกหรือ)

          แล้วทรัพย์ทางปัญญา    ถ้าละเมิดสิทธิ์

          ทางกระทรวงพาณิชย์     ทำไฉน

          ให้ความคุ้มครอง           สอดส่องดูแล

          ช่วยป้องกัน ช่วยแก้       และทำลาย

(ลูกคู่)  เอ่ ชา... เอ้ ช้า ชา... ชะ ฉ่า ชา...  หน่อยแม่...

          เอ๊ย.. เรื่องของความอดอยาก เรื่องของปากท้อง

          ประชาชนก็ต้อง            เอาใจใส่

          คนระดับรากหญ้า          ของแผ่นดิน

          ที่ไม่มีจะกิน                 อีกมากมาย

          กระทรวงพาณิชย์          เข้าไปดูแล

          ช่วยเหลือช่วยแก้          ปัญหาให้

          ส่งเสริมการค้า              ในและต่างประเทศ

          ยกระดับอัพเกรด           สูงขึ้นไป

(ลูกคู่)  เอ่ ชา... เอ้ ช้า ชา... ชะ ฉ่า ชา...  หน่อยแม่...

        ข้อที่ที่น่าสังเกตอีกนิดหนึ่ง คือ คำต่อท้ายในวรรคหลัง ควรมี 3 คำ ถ้ามี 4 คำจะต้องร้องรวบคำซึ่งจะเป็นการยากสำหรับเด็ก ๆ และในคำลง ควรมี 2-3 คำท้ายเท่านั้น หากมี 2 คำจะร้องลงได้ง่ายกว่า 3 คำ เช่นบทร้องในวรรคสุดท้ายที่ว่า “ยกระดับอัพเกรด สูงขึ้นไป” คำว่า “สูงขึ้นไป” คือคำลงให้ลูกคู่ร้องรับ เอ่ ชา ตรงนี้ใช้คำลงเพียง 2 คำก็ได้ คือ ที่ว่า “ยกระดับอัพเกรด ขึ้นไป” ติดตามชมภาพการแสดงสด ๆ ได้ในคลิบวีดีโอด้านล่างนี้ ครับ

                             

        ส่วนความสามารถของเด็ก ๆ เขาก็รวบคำกันได้ ตรงไหนยาวไปก็ให้ตัดเนื้อร้องออกไปได้บ้าง เมื่อจบบทร้องเพลงฉ่อยก็มาถึงเพลงที่พวกเราถนัด เป็นช่วงสุดท้ายของการแสดง ติดตามชมการแสดงเพลงอีแซวได้ ในตอนที่ 3 เพลงอีแซว

ชำเลือง มณีวงษ์  รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงอีแซว (ด้นสด) จังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2525

                       ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

                       โล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดิน รายการโทรทัศน์ ช่อง 5 ปี 2549

                       โล่รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงพื้นบ้าน ระดับประเทศ ปี 2552

                       ประธานกลุ่มกิจกรรมนันทนาการเพลงอีแซว ต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1 ปี 2553

หมายเลขบันทึก: 388278เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท