ในเขตชนบทจะขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่กันอย่างไร


ทำอย่างไรที่จะพัฒนางานอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทให้มันดีกว่านี้ เนื่องจากประชากรมากกว่าครึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในเขตชนบท หากขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่กันแต่ในเขตเมืองที่มีความเจริญ แล้วพี่น้องที่อยู่เขตชนบทจะเป็นอย่างไร

          อีกครั้งของการนำเสนอเรื่องราวประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุข วันนี้ผมจะขอเสนอเรื่อง การขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ (อนามัยสิ่งแวดล้อม)ในเขตชนบท ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือจะทำอย่างไรที่จะพัฒนางานอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชนบทให้มันดีกว่านี้ เนื่องจากประชากรมากกว่าครึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในเขตชนบท หากขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่กันแต่ในเขตเมืองที่มีความเจริญ แล้วพี่น้องที่อยู่เขตชนบทจะเป็นอย่างไร  สิ่งนี้เป็นความท้าทาย แล้วคนชนบทจะได้รับโอกาสนี้หรือไม่  เป็นที่แน่นอนแล้วว่า อปท.ต้องเป็นเจ้าภาพหลักที่มีหน้าที่ตามภารกิจ เราชาวสาธารณสุขเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง  ผมพึ่งจะมารับผิดชอบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมราวๆ 2 ปี เปรียบเทียบแล้วพบว่า ก่อนไม่มี อปท. และหลังมี อปท. มีความเจริญขึ้นแต่ก็ไม่มาก ก็พอจะเข้าใจได้ว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่อยากแลกเปลี่ยนก็คือแนวทางการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่จะเป็นรูปแบบใด จะเป็นเหมือนกับเขตเมืองหรือไม่  คำตอบก็คือ ไม่มีทางจะเหมือนกับใครทั้งนั้น ถึงแม้จะมีหลักการที่เหมือนกันหรือคล้ายกันก็ตาม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานของผมเพื่อใช้ขับเคลื่อนงานก็คือ

          1) เราควรมีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ถ้าไม่มีควรหาแบบบันทึกหรือแบบสำรวจ จะช่วยให้ท่านมีข้อมูลเพื่อใช้พัฒนางาน หรืออาจขอความร่วมมือให้ อปท.ประเมินตนเองว่า อปท. มีส่วนขาดเรื่องอะไร(เมืองน่าอยู่ด้านสิ่งแวดล้อม)

          2) นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาส่วนขาด หรือข้อที่เป็นปัญหาหรือทำไม่ได้ ได้แก่เรื่องอะไรบ้าง

          3) เมื่อหาส่วนขาดได้แล้ว เราก็เติมเต็มในจุดนั้นๆ โดยวิธีจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หรือโดยวิธีจัดอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ  หรือ การพาไปศึกษาดูงานที่เขาประสบความสำเร็จในเรื่องที่เราขาด หรือวิธีการเรียนรู้อื่นๆที่เหมาะสม

          4) ติดตามเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและลงบันทึกไว้ว่ามีการพัฒนาเรื่องอะไรเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องพัฒนาหรือไม่

          5) การให้กำลังใจ การยกย่องเชิดชู ถึงแม้ว่า อปท. จะพัฒนาไปเพียงเล็กน้อยแต่ก็ต้องทำเพื่อเสริมแรง

          6) ควรจัดเวทีให้ อปท.ทุกแห่ง ทั้งอำเภอ ได้มานำเสนอ มาแสดงพลังว่าตนเองทำเรื่องอะไรได้ดี เชื่อว่าทุก อบต.ต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม เมื่อได้รับการยอมรับ การเชิดชู ก็จะมีกำลังใจที่จะพัฒนางานสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆต่อไป

          สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ก็เป็นเพียงบางสิ่งบางอย่างแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ก็ลองพิจารณาจากประสบการณ์ที่ทุกท่านมี ในปัจจุบันอาจใช้ได้ผลแต่เมื่อเวลาเปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยน  ก็คงต้องเรียนรู้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 388179เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2010 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท