อุดมศึกษาไทย : ปัญหาและทางออก


อุดมศึกษา : ผู้ป่วยมะเร็งที่รอการผ่าตัดถ้าต้องการรอด

 

 

 

        อุดมศึกษาไทย ผู้ป่วยมะเร็งที่รอการผ่าตัด (ถ้าต้องการรอดชีวิต)

 

ปัญหาของอุดมศึกษาไทย

           ปัญหาการศึกษาไทยที่วิกฤติอย่างรุนแรงในปัจจุบัน เพราะผู้ด้อยโอกาสที่ควรได้รับการสนับสนุนกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ  แต่ผู้มีโอกาสดีอยู่แล้วกลับได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเต็มที่  และที่สำคัญสถาบันอุดมศึกษาของรัฐไม่ได้จัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพคุ้มกับงบประมาณที่ได้รับมา  ก่อให้เกิดปัญหาความสูญเปล่าทั้งในเรื่องการใช้อาคารสถานที่ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนอุปกรณ์การศึกษา  การใช้บุคลากรที่ไม่คุ้มค่า ใช้อาจารย์ผิดไปจากหน้าที่ที่ควรกระทำ  และมีบุคลากรคุณวุฒิต่ำในสถาบันในอัตราส่วนที่สูงเกินไป  และความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดจากการขาดการประสานงานส่วนกลางในด้านบริหารต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดจากการขยายขนาดจนเกินขีดความสามารถที่จะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ผลผลิตที่ด้อยศักยภาพ

                เมื่อมาพิจารณาถึงโครงสร้างการศึกษาของชาติในปัจจุบัน  อุดมศึกษาคือตัวการก่อปัญหามากที่สุด  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นเป็นระบบกระดาษ  กระดาษปริญญาถูกใช้ไปในการตีค่าเป็นตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินเดือน เป็นขีดขั้นชนชั้นทางปัญญาอย่างเห็นได้ชัดเจนมากกว่าการศึกษาระดับอื่น ๆ  จึงกลายเป็นเป้าหมายที่ทำให้ทุกคนที่อยากมีฐานะทางสังคมสูงกว่าผู้อื่นใช้ความต้องการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นข้ออ้างบังหน้า  โดยแท้ที่จริงแล้วตนเองอาจจะไม่มีความต้องการที่จะศึกษาอย่างจริงจัง

 

การสร้างความเลื่อมล้ำทางสังคม

                การศึกษาระดับอุดมศึกษาในโครงสร้างปัจจุบันถือกันว่าเป็นจุดสูงสุดของการศึกษา  เพราะถือว่าเป็นแหล่งที่รวมนักคิดและผู้มีความสามารถในทางวิชาการแขนงต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน  จึงเป็นเหตุให้ทุกคนจะมุ่งสู่การศึกษาจุดนี้  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อุดมศึกษาเป็นการศึกษาสำหรับผู้กดขี่ผู้ที่เป็นชนชั้นล่างในสังคม  กลายเป็นการสร้างความเลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ

                การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยจึงเป็นการศึกษาของคนที่มีฐานะในทางเศรษฐกิจสูงกว่า  เป็นการศึกษาของคนที่มีโอกาสและได้เปรียบในสังคมอยู่แล้ว  และยังมีความพยายามในการสร้างเงื่อนไขความได้เปรียบให้คงทนถาวรต่อไป  ซึ่งในประเด็นนี้นอกจากจะสร้างปัญหาความเลื่อมล้ำแล้ว  ยังสร้างปัญหาทางสังคมอื่นอีก คือ แทนที่การศึกษาจะช่วยให้คนมีนิสัยขยันขันแข็งและรักการเรียนรู้  แต่รูปแบบการศึกษาดังกล่าวกลับเป็นเครื่องทำให้คนขยันเพื่อจะเอากระดาษแต่เกียจคร้านที่จะทำหน้าที่การงานที่ตนเห็นว่าเป็นงานต่ำต้อย ไม่สมเกียรติฐานะแห่งตน  ผลจึงปรากฏว่าเกิดความสูญเปล่าในการจัดการอุดมศึกษา  เพราะบุคคลเหล่านี้จะเลือกเฉพาะตำแหน่งหน้าที่การงานที่ตนคิดว่าสมเกียรติสมฐานะของตน  โดยที่ตำแหน่งหน้าที่การงานเหล่านั้นมีจำกัด  ถ้าหากจะต้องทำงานต่ำอย่างนั้นขอยอมไม่ทำงาน  หาทางเป็นกาฝากของสังคมหรือที่ร้ายไปกว่านั้นอาจจะเอาความฉลาดที่ร่ำเรียนมา  หาทางเอาเปรียบคดโกงผู้อื่น  เพื่อที่ตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นเพื่อความอยู่รอด  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงน่าจะมีคำถามว่า  นี้หรือคือผลผลิตที่ดีของอุดมการศึกษาของไทย

 

ทางออกของอุดมศึกษาที่ควรจะเป็น

                การวางแผนการศึกษามี 2 ลักษณะคือ  แผนการใช้กำลังคนและแผนการผลิตกำลังคนหรือแผนการศึกษานั่นเอง  แผนทั้งสองแผนถึงแม้จะแยกจากกันได้  แต่ต้องมีลักษณะสอดคล้องกัน  คณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่วางแผนใช้กำลังคน  ส่วนคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาตินั้นทำหน้าที่รวบรวมแผนผลิตของแต่ละหน่วยงานที่ให้การบริการการศึกษามาปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนการใช้กำลังคน

                ในการศึกษาแม้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกแก่ผู้ที่ได้รับการศึกษา  แต่ผู้ที่ได้รับการศึกษาย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมด้วย  ดังนั้นในด้านทุนการศึกษารัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมด้วย  ปัญหาก็คือรัฐจะช่วยเท่าใดจึงจะเหมาะสมและยุติธรรม  เพราะถ้ารัฐช่วยมากเกินไปก็จะทำให้มีความต้องการการศึกษามากขึ้นโดยไม่มีข้อสิ้นสุด

                นอกจากนี้ทำอย่างไรจึงจะทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการลดความเลื่อมล้ำในสังคม  ทำอย่างไรจึงจะทำให้การช่วยเหลือของรัฐบาลไม่ก่อให้เกิดความต้องการการศึกษาจนกระทั่งความล้ำหน้าความต้องการทางเศรษฐกิจอันจะนำไปสู่ความสูญเปล่าในการให้บริการทางการศึกษาในที่สุด

 

      สุดท้ายขอจบด้วยคำกล่าวของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

                    "การจัดการศึกษาสำหรับหมู่คณะ  ถึงจะจัดให้สูงสุดเพียงใด ก็ไม่ใช่กำลังอันแท้จริงของชาติ  บราวนิ่ง  กวีผู้ขึ้นชื่อได้กล่าวไว้ว่า “อย่าเพียรสร้างแต่ยักษ์และเทวดาเลย  จงพยายามยกคนทั้งชาติให้สูงขึ้นพร้อมกันเถิด”  อันนี้เป็นคติสำหรับการศึกษาสมัยนี้  ซึ่งต้องผันแปรเป็นการศึกษาระดับชาติ...เมื่อฐานะแห่งชาติ หรือคนทั้งหมดได้เขยิบสูงขึ้นแล้ว  ย่อมมีกำลังที่จะแข่งขันต่อสู้กับชาติอื่น ๆ ได้ทุกวิถีอาชีพ...”

 

                                                                                                                   

หมายเลขบันทึก: 388024เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2010 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท