แนวคิดการใช้ Scopus เพื่อพัฒนางานวิชาการอุดมศึกษา


 

          เป็นแนวคิดของ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.  ที่น่าจะนำไปสู่การใช้ฐานข้อมูล Scopus ทั้งเพื่อการสร้างสรรค์งานวิชาการ   และเพื่อการยกย่องผลงาน สู่ตำแหน่งวิชาการและการยกย่องอื่นๆ

ข้างล่างนี้คือข้อเขียนของ ดร. สุธีระครับ

 

          มใช้ scopus มาไม่ต่ำกว่า 8 ปีแล้ว  แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมพบว่าเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งคุยในวงอาหารกลางวันว่างานวิจัย CO2 capture ด้วยน้ำที่ความดันสูงจะเป็นงานใหม่  เพราะนักศึกษาค้น literature ไม่พบเลย  ผมเอ่ยลอยๆ ว่า “ผมไม่เชื่อว่าใหม่จริง  เพราะเขาทำน้ำโซดาอัดขวดขายมาเป็น 100 ปีแล้ว  ความรู้ไม่มีเลยหรือ”  ผมเชื่อว่าการดูดซับก๊าซในของเหลวความดันต่างๆ มีคนทำมากแล้ว  เมื่อผมถามว่า “อาจารย์ค้น scopus แล้วหรือยัง”  อาจารย์ท่านไม่รู้จัก  ผมจึงพาไปที่ห้องแล้วสาธิตให้ดู  เขาตื่นเต้นมากว่ามีเครื่องมือนี้ด้วยหรือ

          สองเดือนก่อนหน้านี้เคยมีนักศึกษาต่างภาควิชามาหาผม  บอกว่าทราบว่าผมสอนเรื่องการ review ได้  จึงอยากปรึกษา  เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มงานอย่างไรจึงจะได้ proposal   เมื่อคุยกันผมจึงทราบว่าเขาไม่รู้จัก scopus  ผมจึงเอาที่นักศึกษาผมค้นงานจาก scopus แล้วจัดการเป็นหมวดหมู่ด้วย program mindmap มาให้ดู  วันที่ 25 สิงหาคม นี้ ผมจึงอาสาจัด workshop ให้อาจารย์ใหม่และนักศึกษาบัณฑิตศึกษาปี 1 เกือบ 200 คน หัดเริ่มต้นงานวิจัยให้เป็นด้วย scopus และ mindmap

          เมื่อวานนี้ผมเล่าเรื่องนี้ให้ อ. ปิยะวัติ ฟังที่กระทรวงศึกษาธิการ  และผมเสนอให้ใช้ scopus ให้เป็นประโยชน์กับคุณภาพอุดมศึกษา  ผมบอกง่ายๆ ว่า เมื่อมีระบบที่ใช้พระสังฆราชทั่วโลกตรวจรับรองคุณภาพงานก่อนตีพิมพ์  มีพระสังฆาธิการทั่วโลกเอาไปใช้ (cite)  แล้วทำไมต้องให้มหาเปรียญในประเทศเราตรวจอีก   มันทำให้ผมนึกถึงสมัยก่อนที่สอบบาลีสนามหลวง   อาจารย์ปิยะวัติ get ในทันที 

          ผมเป็นกองบรรณาธิการวารสารสงขลานครินทร์  เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา  บรรณาธิการส่ง manuscript จากอินเดียเรื่องการออกแบบใบพัดกังหันลมด้วยทฤษฎีที่ผมไม่รู้จัก  ผมต้องเสนอรายชื่อคน review เป็นคนไทย 2 คน ต่างชาติ 3 คน  ผมใช้บริการฐานข้อมูล biodata ของ สกว. หามาได้คนเดียวที่เคยมีงานตีพิมพ์เรื่องทำนองนี้ (1-2 paper)  แต่ scopus ช่วยให้ผมหา reviewer ได้จากเดนมาร์ค และอิสราเอล  ได้คนที่มีค่า h สูงๆ เกิน 10 โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที  จะเอาสัก 20 คนก็ยังได้

          วันนี้ผมจึงเขียนบันทึกเสนอความคิดการควบคุมคุณภาพอุดมศึกษาไทย  โดยใช้ scopus ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ

          เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง scopus ผมค้นด้วย google  แล้วเอามาจาก web ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ดังนี้

          “ฐานข้อมูลวิชาการ scopus (www.scopus.com) คือฐานข้อมูลวิชาการที่สำคัญชุดหนึ่งของวงการวิจัยทั่วโลก ให้ข้อมูลการอ้างอิงเป็นชุดแรกของโลก ตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1970 โดยผู้ก่อตั้งและเสนอแนวคิดการประเมินคุณภาพงานวิจัยจากหลักการ Citation analysis คือ Prof. Eugene Garfield  ถือเป็นฐานข้อมูลที่ทรงอิทธิพลต่อวงการวิจัยทั่วโลก  เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการตรวจสอบผลงานวิจัยเพื่อ  พิจารณา ฐานะตำเหน่งทางวิชาการ tenure การให้ทุนวิจัย funding และการให้รางวัล” 

          แต่ทำไมประเทศไทยยังไม่ใช้ scopus ในการพิจารณาผลงานวิชาการ  ทำไมยังติดอยู่กับการพิจารณาในระบบเก่าซึ่งสร้างปัญหามาก  อย่างน้อยก็เกิดคำครหาเรื่องกีดกัน เล่นพวก  และความไม่สม่ำเสมอ  เชื่อถือไม่ได้ในตำแหน่งทางวิชาการที่มาจากต่างสถาบันกัน  ผมไม่ต้องการตอบคำถามนี้ เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มองไปข้างหน้ามากกว่า

          ใน scopus เราสามารถสืบการอ้างอิงต่อกันได้ไม่รู้จบ  มี hyperlink ค้นได้ง่าย  โดยหลักคิดง่ายๆ ว่าหากถือว่าผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติและถูกอ้างอิง คือสิ่งที่มีระบบคุณภาพระดับสากลกำกับแล้ว  เราควรใช้สิ่งที่มีอยู่นี้มาสร้างเป็นระบบกำกับคุณภาพของบุคลากรอุดมศึกษาไทย  มากกว่าการติดอยู่ในระบบเดิมที่เต็มไปด้วยคำถาม  ไม่ใช่หรือ

          ในการค้น scopus ของนักวิจัยคนหนึ่ง เราจะได้ข้อมูลมากมาย  ผมจะเอาเฉพาะที่จะใช้อธิบายเรื่องนี้มากล่าวเท่านั้น คือ  total ciatation (สามารถ exclude self citation ได้)  และค่า h (ถ้า h = 10 มีความหมายว่ามี 10 paper ที่ถูก cite อย่างน้อย 10 ครั้ง)  แค่ 2 ค่านี้ เราก็สามารถเอามาใช้ประเมินคุณภาพงานวิชาการได้ง่ายๆ และเที่ยงธรรมกับทุกคน ทุกสถาบัน

          ผมขอเสนอแนวคิดการใช้ scopus ดังแผนผังนี้

 

 

          X1 เป็นโอกาสถูก cite ที่ขึ้นกับจำนวนตีพิมพ์  อาจารย์ที่อยู่ในคณะที่มีบัณฑิตศึกษามาก (หรืออย่างเดียว) จะได้เปรียบ (โดยเฉพาะเมื่อหลักสูตรบังคับตีพิมพ์ก่อนจบ)  แต่เป็นแค่เชิงปริมาณ  ยังไม่การันตีว่ามีงานที่สำคัญมากน้อยแค่ไหน  Total citation จึงยังไม่พอ

          X2 แสดงจำนวน paper ที่สำคัญว่ามีมากแค่ไหน  ค่านี้จึงเป็นประโยชน์กับคนที่ไม่เน้นปริมาณ  (หรือกระจายประเด็นงานตีพิมพ์)  แต่เลือกทำงานที่สำคัญทางวิชาการ (ในเดนมาร์ค ถ้ามีงาน 10 ชิ้นถูก cite อย่างต่ำชิ้นละ 10 ครั้ง (h = 10) เข้าขั้นเป็นศาสตราจารย์ได้)

          X3 แสดงว่าคนที่ cite เราเป็นคนสำคัญในวงการแค่ไหน  เงื่อนไขนี้เป็นการให้ credit เฉพาะคนที่มีค่า h เทียบเท่าเราเท่านั้น  ไม่นับพวกมือใหม่หัดขับ

          X4 เป็นทางเลือก 2B สำหรับคนที่มี paper น้อย  แต่เป็นงานสำคัญมาก (ค่า Y >> X2  เช่น Y = 10X2) โดย X4 < X2 (เช่น X4 = 0.5X2)

 

          ค่า X ต่างๆ และ Y ขึ้นกับสาขาวิชา  กติกาคือ หากนักวิจัย (อาจารย์) ทำได้ครบ 1-3 ให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการเลย  หากได้ 1-2  ต้องมีตำรา

 

          ผมเสนอให้ ส. คลังสมองฯ ทำวิจัยหาค่า X และ Y ของสาขาต่าง  ในตำแหน่งต่างๆ (ผศ. รศ. และ ศ.) โดยสำรวจผ่าน scopus จากคนที่ได้ตำแหน่ง 10% ล่าสุด หรือ 10 คนล่าสุดของแต่ละสถาบัน (นับเฉพาะผลงานปีก่อนได้ตำแหน่ง) แล้วเอามาการหารือเพื่อสร้างเกณฑ์  วิธีนี้จะทำให้

 

1. Ranking ความยากง่ายการได้ตำแหน่งทางวิชาการ (สะท้อนคุณภาพตำแหน่งทางวิชาการ) ของสถาบันการศึกษาไทย ซึ่งอาจขยายไปทำเปรียบเทียบกับมาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ  มีประโยชน์สำหรับความร่วมมือระดับอุดมศึกษาใน ASEAN

2. หากผลักดันให้ใช้วิธีนี้ได้  การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการจะมีคุณภาพสม่ำเสมอทั่วประเทศ  ทำให้เชื่อถือได้  ซึ่งส่งผลมากมายต่อ credit วิชาการที่จะทำในอนาคต (เช่น ขอทุนวิจัย)  และมีผลต่อบัณฑิตศึกษาด้วย


3. ไม่ต้องปวดหัวกับคำครหาเล่นพวก เล่นสี  การอุทธรณ์ต่างๆ จะลดลง

4. การใช้ X และ Y ต่างกันตามสาขาต่างๆ  ทำให้เกิดการ normalized ที่เท่าเทียมกัน


5. ลดการพยายามเพิ่ม KPI ของสถาบัน โดยหย่อนคุณภาพ (สถาบันมักจะมี KPI การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ)


6. การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการง่ายขึ้น พร้อมกับมีคุณภาพสูงขึ้น  คนทำงานวิจัยรู้เป้าหมายได้ด้วยตัวเอง  สร้างแรงจูงใจให้คนทำงาน


7. เราสามารถ “เล่น” กับค่า X และ Y ได้  เพื่อขับเคลื่อนให้สาขาต่างๆ ทำวิจัยในทิศที่นโยบายต้องการ (เป็นการ manipulate กติกา ที่เรียกอย่างไพเราะว่าการบริหารยุทธศาสตร์)

 

 

          งานวิจัยนี้จะเป็นข้อมูลในการอธิบาย สกอ. ให้เปลี่ยนวิธีการพิจารณาคุณภาพงานวิชาการที่ล้าหลังได้ (เป็นการคุมคุณภาพวิชาการที่ไม่สามารถหลอกได้ง่ายแบบ TQF เพราะตรวจสอบง่ายมากจาก scopus)

          ในอนาคต ผมเสนอให้ ส. คลังสมองฯ outsource ให้ อ. .... เขียน program link ดึงข้อมูลมาจาก scopus เพื่อทำ data mining  จะทำให้เราได้ฐานข้อมูล real time แบบที่ผม create เป็น biodata ที่ สกว.  แต่เน้นเฉพาะงานวิชาการที่ลึก  Data mining ที่ได้มาจะมีประโยชน์มหาศาล

 

สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์
22 สิงหาคม 2553

 

 

          ผมขอย้ำว่า ที่เสนอโดย ดร. สุธีระ นี้ เป็นเรื่องของวิชาการสายนานาชาติครับ   หากจะให้มีใช้กับวิชาการสายรับใช้สังคมไทย เราต้องสร้างระบบข้อมูลของเราขึ้นมาใช้

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ส.ค. ๕๓

 
      


 

หมายเลขบันทึก: 387643เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ใช้ H Index ในการประเมินผลงานของนักวิจัยอยู่เสมอ เตือนผมว่า H Index อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบความสามารถของนักวิจัย อาจมีนักวิจัยบางคนมี H Index สูง แต่ผลงานส่วนใหญ่ได้มาจากการร่วมมือทำงานในลักษณะเข้าทีมก็บนักวิจัยท่านอื่น โดยที่ตนเองไม่ได้แสดงความสามารถหรือเป็นผู้นำทางวิชาการ

วิจารณ์

คุณหมอวิจารณ์

หลังจากส่งเรื่องนี้ออกไป ผมก็นึกได้เช่นกันว่าแผนผังที่เสนอนั้นไม่ได้แยกความเป็นผู้นำ คนที่เป็นผู้แต่งร่วมก็ได้ credit เท่ากันด้วย ผมได้ปรับปรุงใหม่ให้มี factor การเป็นผู้นำ เช่น หัวหน้าโครงการวิจัย (ที่เป็นที่มาของ paper) การเป็น corresponding author โดยมี fcator คูณให้ มีอีกเรื่องที่ควรนำมาคิดคือ credit การเป็น reviewer ให้กับวารสาร ตอนนี้วารสารเขาก็มีระบบเก็บประวัติการทำงานของ reviewer เข้าใจว่ามีการ ranking แต่รู้เฉพาะในทีมทำวารสารเท่านั้น แต่ความถี่การได้รับเชิญก็สะท้อนได้ เราน่าเอามาให้ credit โดยมี IF ของวาสรารนั้นเป็น factor ประกอบ ครับ

สุธีระ

ศ. ดร. ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ มีความเห็นดังนี้

Just a quick response to the views of Dr Suthera on แนวคิดการใช้ Scopus เพื่อพัฒนางานวิชาการอุดมศึกษา.

(1) Having papers cited does not always mean positive credits. Some papers have been cited in negative ways. If this is the case, should these citations account for such credits and promotions?.(2) According to an published article on “Scientific Evaluations of Citation Quality of International Research Articles in the SCI Database: Thailand Case Study - Scientometrics, 66 (3): 521-535” By Sombatsompop et al, most of citations for international journal papers (cited articles) of Thai scholars were in the Introduction sections of the citing articles. This suggests that in general, citations of articles published by Thai scholars do not give sufficient impacts of the academic community relative to world reference value.

(3) Finally, a number of researchers still widely accept that the best way to assess the quality of researchers is to really read their works carefully (peer review system), but this is just time-consuming to do.

Narongrit

ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ ให้ความเห็นดังนี้

Sutheera proposed SCOPUS data and h-index to be used for เพื่อการยกย่องผลงาน สู่ตำแหน่งวิชาการและการยกย่องอื่นๆ . These data bases are useful as we all know for many years now, but we will have to know their limitation including the pros and cons. Most importantly, as you had cautioned at the end of your article, one must use it with extreme care. I can name 20 or 30 “Thai researchers” with very high h-index and high citation - but when one looks at their works more closely one will find that - the high h-index and citation counts resulted from papers (corresponding) authored by their supervisors, “farangs”, and NOT by these researchers at all. etc. etc.

Life is not as simple as proposed by Sutheera krab.

Cheers,

Yod

ดร. สุธีระ มีข้อมูลเพิ่มดังนี้

ผมพยายามหาข้อมูลจากคนที่รู้จักกันที่ DTU เรื่องการประเมินงานวิชาการ ที่ได้มานี้คือคำตอบและแบบ form สำหรับ ผศ. และ รศ. ครับ ดูแบบ form แล้วจะเห็นว่าเขาดูมากกว่างานตีพิมพ์ แต่ดูที่ศักยภาพหลายด้านมากและดูเผื่อไปถึงอนาคตด้วย

ค่า h index และ citation ที่ส่งมานี้เป็นสาขา Biotech ครับ ซึ่งค่าต่างๆ ในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน ต้องเอามา normalized กัน

ผศ H-index มากกว่า 6 จึงจะ applied ได้

รศ H-index มากกว่า 10 จึงจะ applied ได้

ศ H-index มากกว่า 20 จึงจะ applied ได้ หรือ H-index มากกว่า 10 มี 4 paper มี cite สูงกว่า 100 ครั้ง จึงจะ applied ได้

แต่ทีอื่นจะต่ำกว่านี้ครับ ที่เค้าเปลี่ยนหลังจาก ขึ้น top 5 ของ Europe

ดร. สุธีระ เอาแบบฟอร์มขอตำแหน่งวิชาการของ DTU มาให้ ตามที่เอ่ยถึงในความเห็นก่อนหน้านี้ จึงนำมาลงไว้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าเขาไม่ได้ดูเฉพาะ H Index อย่างเดียว

Summary Sheet for application for associate/assistant professorship at DTU Chemistry

Application for: Assistant professorship ___, Associate professorship ___

Name:

Nationality:

Date of birth:

Academic degrees (discipline, year obtained, and institution):

Places of employment after PhD degree (periods and job titles):

h index: __ , Number of publications in Web of Science: ___ , Total citations: ____

References of the five most significant publications with citations:

The five most prestigious lectures given (conference/setting and year):

The five largest research grants obtained as main/accountable applicant (project title, co-applicants, amount, source, and year):

The most prestigious awards or honors received (max. 5, details and year):

Field(s) of research expertise (max. 25 words):

Main research goals for the next five years (max. 50 words):

Experience with research leadership (level of projects and personnel led):

Experience with industrial or government collaboration or consultancy:

Experience with commercialization of research results:

Patents:

Greatest source of personal pride in research career so far:

High school chemistry promotion initiatives:

Undergraduate teaching experience (subject, lecture/laboratory/class room, number of students):

Graduate teaching experience (subject, lecture/laboratory/class room, number of students):

Experience with developing new courses or course materials:

Greatest source of personal pride in teaching career so far:

Formal courses in university teaching attended:

การเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง หากเราเห็นจุดอ่อนแล้วแก้ไข และรักษาจุดแข็งไว้ มันจึงจะเดินไปข้างหน้า ผมเห็นว่าปัจจุบันนี้มีการเปิดบัณฑิตศึกษากันมากมาย โดยเอาตำแหน่งทางวิชาการมาอ้างว่าเข้าเกณฑ์ เราบอกว่าการศึกษา (ขั้นพื้นฐาน) มีปัญหาอยู่ที่คุณภาพครู เราน่าจะถึงเวลาถามตัวเองว่า การศึกษาขั้นบัณฑิตศึกษาก็มีปัญหาแบบเดียวกันใช่หรือไม่? สิ่งที่อาจารย์ยอดหทัยและ อ. ณรงค์ฤทธิ์ มีความเห็นในส่วนจุดอ่อนนั้นก็มีประเด็นที่ควรรับฟัง ดังนั้นต้องกรองออกให้ได้ ผมเพียงแต่ให้แนวคิดในหลักการที่ใช้การตรวสอบคุณภาพจากภายนอกมากรองเบื้องต้น เราจะเพิ่มหรือจะลดอะไรก็ทำตามอัตภาพและความเหมาะสมของเรา แบบที่ DTU ทำ แต่สิ่งที่เราควรเอามาหารือกัน คือ แนวคิดนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ต่างหาก ผมเชื่อว่าหากเอาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมา list จุดอ่อนดูกัน เราก็จะพบมากมายเช่นกัน ไม่ใช่หรือ

วิโรจน์ บุญอำนวยวิทยา

การประเมินตำแหน่งทางวิชาการในประเทศไทย ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอีกมาก เพราะไม่ได้มีการยกเครื่องปรับปรุงมานาน รายละเอียดไม่อยากจะกล่าวถึงมาก

ที่เขียนมานี้ ก็อยากแสดงความเห็นว่าก็ประเมินตำแหน่งทางวิชาการนั้นคงต้องมองหลายมุม มุมที่ท่านอาจารย์สุธีระเสนอมานั้น เป็นการแก้ปัญหาของการประเมินเพื่อให้เป็นการประเมินแบบ objective คนไทยชอบมองอะไรแบบ subjective เพื่อให้เป็นกลางวิธีการใช้ h-index ก็น่าจะดี

นอกจากผลงานวิชาการแล้ว ที่ญี่ปุ่นเขายังดูผลงานในรูปแบบของทุนวิจัยที่ได้มาในอดีตด้วยว่า เคยได้รับทุนวิจัยอะไร เป็นจำนวนทุนเท่าไร ปีอะไรทำนองนี้

และอีกดัชนีหนึ่งคือ ตัวนักศึกษาประเมินอาจารย์ท่านนั้นอย่างไร ดัชนีตัวนี้ค่อนข้างทำได้ยากในประเทศไทย แต่ที่เยอรมันก็มีการทำกันแล้ว ลองไปดูก็ได้ที่ http://www.meinprof.de/ (ย่อมาจาก my professor)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท