สิงคาลกสูตร (๗)


พระสูตรอันเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของผู้ครองเรือน

มิตรมีใจดี

[๒๖๐] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกนี้ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี (มิตรแท้) คือ

๑.มิตรมีอุปการะ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี

๒.มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี

๓.มิตรแนะนำประโยชน์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี

๔.มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี

[๒๖๑] คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว

๒.ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว

๓.เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้

๔.เมื่อมีกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ก็ช่วยโภคทรัพย์ให้ ๒ เท่าของทรัพย์ที่ต้องการในกิจนั้น

คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล

[๒๖๒] คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.บอกความลับแก่เพื่อน

๒.ปิดความลับของเพื่อน

๓.ไม่ละทิ้งในยามอันตราย

๔.แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์ของเพื่อนได้

คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล

[๒๖๓] คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.ห้ามมิให้ทำชั่ว

๒.แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

๓.ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๔.บอกทางสวรรค์ให้

คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล

[๒๖๔] คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.ไม่พอใจความเสื่อมของเพื่อน

๒.พอใจความเจริญของเพื่อน

๓.ห้ามปรามคนที่นินทาเพื่อน

๔.สนับสนุนคนที่สรรเสริญเพื่อน

คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล

[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

บุคคลที่เป็นมิตรมีใจดี ๔ จำพวกนี้ คือ

(๑)มิตรมีอุปการะ (๒) มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข

(๓)มิตรแนะนำประโยชน์ (๔) มิตรมีความรักใคร่

บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว

พึงเข้าไปคบหาด้วยความจริงใจ

เหมือนมารดาคบหาบุตรผู้เกิดแต่อกฉะนั้น

บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ

เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์ย่อมอยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง

โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น

ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น

คฤหัสถ์ในตระกูล ผู้สามารถ

ครั้นรวบรวมโภคทรัพย์ได้อย่างนี้แล้ว

พึงแบ่งโภคทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน

คือส่วนหนึ่งใช้สอย ๒ ส่วนใช้ประกอบการงาน

ส่วนที่ ๔ เก็บไว้ด้วยหมายใจว่าจะใช้ในยามมีอันตราย

จึงผูกมิตรไว้ได้

(ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 387326เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • แวะมาทักทายคุณพี่ก่อนไปทำงานค่ะ
  • เช้านี้ได้รับเรื่องราวดีๆก่อนไปทำงานวันแรก
  • สัปดาห์นี้คงมีความสุขในการทำงานมากมายเลยนะคะ
  • ขอบพระคุณเรื่องราวดีๆที่นำมาแบ่งปันค่ะ

 

                       

                        มิตรแท้ด้วยเมตตาตามหลักพุทธ

                       เป็นที่สุดแห่งความสุขไม่ทุกข์หนอ 

                       มีแต่ให้ไม่รอรับเพราะเพียงพอ

                       เพียงจิตขอเธอหลุดพ้นจากวังวน

             

                                   

                       

                       

                          

อ่านแล้ว.. ได้สติไตร่ตรองดีมากครับ เมื่อพิจารณาแล้ว ผมมีมิตรใจดีอยู่จำนวนไม่น้อยเลย

สวัสดีค่ะพี่ณัฐรดา

เป็นคำสอนที่ดีมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดามาอ่านสาระ มิตรมีใจดี เพื่อใช้ในการครองเรือน ขอบคุณค่ะนำดอกไม่มาฝากค่ะ

เพื่อนคือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต

กัลยาณมิตรคือน้ำทิพย์ปลอบโยนใจ

 

คู่ครองและคนของครอบครัว ก็คือ มิตรแท้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท