LLEN กับการปฏิรูปการศึกษา


 

          ผมบันทึกเรื่อง LLEN ไว้ที่นี่   อ่านเรื่อง LLEN กำแพงเพชรได้ที่นี่   อ่านเรื่องราวของ LLEN ใน Facebook ได้ที่นี่  

 

          วันที่ ๙ ส.ค. ๕๓ มีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง    โดยมีสมาชิกใหม่ของเครือข่าย ๔ จังหวัดมานำเสนอเพื่อขอคำแนะนำจากคณะกรรมการ   คือจังหวัดมหาสารคาม  เชียงใหม่  นครศรีธรรมราช  และพัทลุง   และมี อ. โอฬาร คำจีน มานำเสนอการใช้ Facebook เชื่อมโยงเครือข่าย

 

          โครงการ LLEN นี้ต้องการให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาระดับพื้นฐานในพื้นที่   โดยการดำเนินการเป็นเครือข่ายหลายโรงเรียน  และมีภาคี (stakeholder) ที่หลากหลายในพื้นที่มาร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา    คัว E ใน LLEN นั้น อาจจะเป็น Enrichment หรือ Empowerment ก็ได้

 

          จังหวัดแรกที่นำเสนอคือมหาสารคาม   ดำเนินการโดย มมส.   เมื่อนำเสนอจบ ศ. ดร. สมชัย ฤชุพันธ์ ก็ให้คำแนะนำที่จับใจผมมาก ว่า โครงการ LLEN ต้องเน้นให้ถูกจุด อย่าเน้นผิดจุด  การเน้นผิดจุดคือเน้นพัฒนาครูให้เป็น “นักสอน”   ที่ถูกคือพัฒนาครูให้เป็น “นักเรียนรู้”   คือให้มีทักษะและฉันทะในการเรียน  ปฏิบัติการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา   และส่งผ่านการเป็นนักเรียนรู้ให้เด็ก   ผมคิดว่านี่คือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา

 

          ผมตีความว่า การเรียนการสอนในโรงเรียนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเน้น Learners Mode  ไม่ใช่เน้น Content Mode

 

          หลังฟังการนำเสนอครบทั้ง ๔ โครงการ ผมบอกตัวเองว่า   โครงการเหล่านี้เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่   สังคมไทยในปัจจุบัน และคงจะทั้งโลก ติดอยู่กับวิธีคิดแบบเน้นแก้ปัญหา    เน้นจับผิดหรือจับจุดอ่อน สำหรับเอามาดำเนินการแก้ไข   และวิธีการแก้ไขคือเอาความรู้ หรือวิธีการ จากภายนอกไปให้    ซึ่งวิธีนี้มีข้อจำกัดคือความเป็นเจ้าของโครงการพัฒนาจะไม่ใช่คนในพื้นที่ หรือในกรณีนี้ไม่ใช่ครูในโรงเรียน   เจ้าของโครงการจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำโครงการ   เมื่อเป็นเช่นนี้ความต่อเนื่องยั่งยืนของการพัฒนาก็จะไม่เกิด   ครูในโรงเรียนจะไม่กระตือรือร้น เพราะคิดว่าตนเข้าร่วมเพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยได้ผลงาน

 

          งานพัฒนาหรืองานสร้างการเปลี่ยนแปลง แบบที่พลิกวิธีคิดคือแนวจับถูก หรือจับจุดแข็ง เอามายกย่อง และต่อยอดขยายผล   เป็นแนวที่ผมเรียกว่า “แนว KM”   จะช่วยสร้างกระแสความภาคภูมิใจภายในโรงเรียน   สร้าง engagement ของครูในโรงเรียน   และจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง   การทำงานแนวนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องเข้าไปทำงานหา SS (Success Stories) เอามาจัดเวที SSS (Success Story Sharing)   และชักชวนกันคิด ว่าจะขยาย SS ไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างไร    ผมได้เสนอต่อที่ประชุมให้พิจารณาวิธีดำเนินการแนวนี้  

 

          ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า การออกแบบกิจกรรมของบางจังหวัดยังเน้น Training Mode ซึ่งจะไม่สร้างแรงบันดาลใจหรือความกระตือรือร้นของครูและโรงเรียน   หากหันมาใช้ Learning Mode ทำกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานจริงของครู   โดยเน้น SSS และตีความด้วยทฤษฎีโดยมีนักวิชาการภายนอกมาร่วม   จะได้ใจ ได้ความมั่นใจ และได้ความมุ่งมั่นของครู

 

          นอกจากนั้น ควรทำความเข้าใจว่า unit of commitment / engagement คือครูเป็นรายบุคคล   หรือคือโรงเรียน   ๒ ทางเลือกนี้จะให้ผลที่มีความต่อเนื่องยั่งยืนไม่เหมือนกัน   แบบหลังจะยั่งยืนและงอกงามได้ดีกว่า  

 

          ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ ให้ความเห็นว่าวิธีดำเนินการโดยใช้ความคิดเดิมๆ จะไม่ได้ผล ต้องคิดนอกกรอบหรือสวนทางกับที่คุ้นเคย   และต้องดำเนินการในลักษณะที่ “ได้ใจ” ครู 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ส.ค. ๕๓

 

        

         

        

        

หมายเลขบันทึก: 386089เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2010 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พัฒนาครูให้เป็น “นักเรียนรู้”

ชอบคำนี้มากครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท